เมื่อคำพูดของผู้นำฝรั่งเศส จุดประเด็น 'สหภาพยุโรปควรมีจุดยืนต่อไต้หวันโดยขึ้นกับสหรัฐฯ หรือไม่'

เกิดคำถามในเรื่องที่ว่ายุโรปควรจะสามารถปฏิสัมพันธ์กับจีนได้โดยเป็นเอกเทศโดยไม่ขึ้นกับแนวทางของสหรัฐฯหรือไม่ ในช่วงที่กำลังเกิดความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน หลังจากที่ เอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสพูดถึงเรื่องนี้ไว้ ซึ่งทำให้เกิดการโต้แย้งจากสหรัฐฯ มีการแสดงมุมมองต่อเรื่องนี้จากนักวิเคราะห์ ขณะที่ทูตเยอรมนีพยายามย้ำจุดยืนว่าอียูเป็นห่วงกรณีไต้หวัน

ในตอนที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเอ็มมานูเอล มาครง กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ "อนาคตของยุโรป" ที่เนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เขามีท่าทีสุขุมไม่สั่นไหวไปกับทั้งการประท้วงที่อยู่ด้านนอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงต่อเนื่องเพื่อต่อต้านการปฏิรูปบำนาญฝรั่งเศส และการตกเป็นเป้าสายตาของประชาคมโลก หลังจากที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนโยบายการต่างประเทศที่กลายเป็นสิ่งที่ชวนให้เกิดการโต้แย้งตามมา

สิ่งที่มาครงเคยพูดไว้คือ เขาอยากให้ยุโรปเป็นเอกเทศจากสหรัฐฯ มากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับจีน มาครงไม่ได้พูดขยายความถึงเรื่องนี้ในเวทีที่เนเธอร์แลนด์ เขาบอกเพียงว่า "ผมเป็นนักฝัน" แล้วก็พูดถึงเรื่องที่สหภาพยุโรปต้องมีเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นเอกเทศจากโลกมากขึ้น

ถึงแม้ว่ามาครงจะไม่ได้พูดถึงคำว่า "ไต้หวัน" ออกมาโดยตรง แต่การที่มาครงให้สัมภาษณ์ต่อสื่อโดยบอกว่ากรณีไต้หวัน-จีนนั้นเป็น "วิกฤตที่ไม่ใช่เรื่องของเรา" ในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังมีความตึงเครียดกับจีนมากขึ้นในประเด็นไต้หวัน ก็ทำให้ประชาคมโลกรู้สึกตะลึงกับคำพูดของมาครง ทำให้กลุ่มประเทศอียูเลิกคิ้วใส่อย่างกังขา และทำให้สหรัฐฯ กล่าววิพากษ์วิจารณ์

สื่อดอยย์เวลเล ระบุว่า มาครงและผู้นำยุโรปหลายคนต้องการให้ยุโรปมี "อิสระในเชิงยุทธศาสตร์" ในเวทีโลกมานานแล้ว แต่ทว่าในระดับเวทีโลกแล้วผู้คนจำนวนมากมองว่ามาครงใช้คำอย่างเลินเล่อไม่ระมัดระวัง จากที่สหรัฐฯ มีบทบาทในฐานะผู้ที่หนุนหลังยูเครนรายใหญ่ที่สุดในสงครามที่รัสเซียก่อกับยูเครน

มีนักการเมืองพรรครีพับลิกันหลายคน เช่น ส.ว. มาร์โค รูบิโอ ชี้ให้เห็นว่าการที่สงครามยูเครนอยู่ใกล้กับยุโรป ทำให้อียูต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ อย่างมากในเรื่องความมั่นคง มีนักวิเคราะห์บางส่วนที่บอกว่ามันเป็นเรื่องไม่ฉลากนักที่จะสร้างข้อกังขาต่อพันธะด้านความมั่นคงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจ ไบเดน พยายามฟื้นฟู หลังที่โดนัลด์ ทรัมป์สร้างความยุ่งยากให้กับความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับสหรัฐฯ มาก่อน

มาครงเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี แต่เป็นทูตที่แย่?

เจเรมี ชาปิโร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ กล่าวว่า ถึงแม้สิ่งที่มาครงแสดงความคิดเห็นออกมาจะชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามาครงพูดผิด ชาปิโรมองว่าผู้นำยุโรปส่วนใหญ่อาจจะเห็นด้วยว่าควรจะมีความเป็นเอกเทศจากสหรัฐฯ ในบางส่วน เพื่อให้พวกเขาปฏิสัมพันธ์กับจีนโดยที่มองว่าไต้หวันไม่ใช่ปัญหาของพวกเขาก็ได้

แต่ชาปิโรก็มองว่า ปัญหาในเรื่องนี้ก็คือมาครงพูดออกมาต่อหน้าสาธารณชนโดยไม่ได้ปรึกษาพันธมิตรของเขาก่อน ยิ่งเป็นการพูดในบริบทช่วงเดียวกับที่มาครงไปเยือนจีนในฐานะการพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงซึ่งเป็นที่รับรู้ในวงกว้างและมีประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อูร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน เดินทางไปด้วยแล้ว ก็ยิ่ง ทำให้คนอาจจะมองว่ามาครงพูดในฐานะตัวแทนของโดยอียูทั้งหมด

เรื่องนี้สร้างความปวดหัวให้กับกลุ่มประเทศพันธมิตรของฝรั่งเศส ส.ว. รูบืโอ ของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเป็นนัยว่าถ้าหากอียูไม่มองว่าไต้หวันเป็นปัญหาของตัวเองทางสหรัฐฯ ก็อาจจะโต้ตอบด้วยการเลิกสนับสนุนยูเครนเพราะมองว่าไม่ได้เป็นปัญหาของพวกเขาด้วย ซึ่งชาปิโรมองว่าการขู่แบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำประเทศอียูส่วนใหญ่นอกเหนือจากมาครงรู้สึก "อกสั่นขวัญแขวน" อยู่เหมือนกัน

ก่อนหน้านี้มาครงก็เคยใช้โวหารวิพากษ์วิจารณ์จนเป็นเรื่องมาแล้ว จากเมื่อปี 2562 เขาประกาศว่าพันธมิตรทางการทหารอย่างองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต เป็นพวก "สมองตาย" ซึ่งชาปิโรมองว่าเป็นการใช้โวหารในแบบที่ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ชาปิโรบอกว่ามาครงอาจจะเป็นนักวิเคราะห์ที่ดีที่เหมาะกับองค์กรคลังสมองแต่ "ไม่ได้เป็นทูตที่ดีเท่ากับที่เป็นนักวิเคราะห์"

ทูตเยอรมนีพยายามแก้ความเข้าใจผิดกรณีคำพูดของมาครง

ในวันที่ 12 เม.ย. 2566 รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี แอนนาเลนา แบร์บ็อค ได้เดินทางไปเยือนจีนในฐานะตัวแทนเยอรมนี ซึ่งสื่อ politico มองว่าเป็นการที่เยอรมนีพยายามแก้ไขความผิดพลาดจากสิ่งที่มาครงเคยพูดเอาไว้ โดยที่แบร์บ็อคและเจ้าหน้าที่จากเยอรมนีกล่าวว่าพวกเขามีความห่วงใยเกี่ยวกับไต้หวันและเสถียรภาพในภูมิภาค อีกทั้งยังบอกว่าจีนควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักๆ ในการลดระดับความตึงเครียดโดยการเลิกทำการเคลื่อนทัพ-ซ้อมรบในเชิงก้าวร้าวใกล้กับไต้หวัน

ในวันที่ 13 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นการเยือนวันที่ 2 ของตัวแทนเยอรมนี แบร์บ็อค ได้แสดงออกตีตัวออกห่างจากคำกล่าวของมาครง โดยบอกว่าอียู "ไม่สามารถนิ่งเฉย" ต่อความตึงเครียดแถบคาบสมุครไต้หวันได้ และกล่าวเน้นย้ำว่าพันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีค่านิยมแบบเดียวกันกับอียูอย่างสหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรที่สำคัญ "เมื่อพวกเราต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคง" อย่างรัสเซีย

โดยที่แบร์บ็อคยังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของไต้หวันว่า ร้อยละ 50 ของการค้าโลก และร้อยละ 70 ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (วัตถุดิบสำหรับชิปอุปกรณ์ไอที) ต้องส่งทางเรือผ่านทางช่องทางคาบสมุทรไต้หวัน การสามารถเข้าถึงคาบสมุครไต้หวันได้อย่างเสรีจึง "เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ" ของยุโรปเองด้วย

ถ้ายังไม่มีการแก้ปัญหาไต้หวัน จีนอาจจะกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่สำหรับยุโรป-สหรัฐฯ

นักวิเคราะห์มองว่าแค่ความคิดเห็นของมาครงยังไม่ถึงขั้นทำให้ความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกพังทลายลง บรูโน เลท นักวิจัยจากมูลนิธิเยอรมันมาร์แชล ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นไปได้ว่าจะทูตประเทศต่างๆ อาจจะมีการหารือเพื่อแก้ไขในเรื่องคำพูดของมาครง

นอกจากนี้เลทยังเตือนว่า ในขณะที่ความคิดเห็นของมาครงจะถูกลืมเลือนไปในที่สุด แต่การยกกระดับความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังคงมีอยู่ และอียูจะถูกคาดหวังให้ต้องเลือกข้างมากขึ้นเรื่อยๆ

จีนมองว่าไต้หวันไม่ได้เป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตัวเองแต่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ๆ แยกตัวออกไปจากจีนและควรจะกลับมาเป็นของจีน ในขณะที่ไต้หวันมองว่าตัวเองเป็นประเทศเอกราช ความตึงเครียดระหว่างผู้นำของไต้หวันกับจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีการยกระดับทางการทหารเกิดขึ้น สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวันในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น การขายยุทโธปกรณ์ทางการทหารให้กับไต้หวัน

ทางการจีนได้ทำการซ้อมรบขนานใหญ่โดยรอบไต้หวันเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึง 1 ปี โดยมีการซ้อมรบเป็นเวลา 3 วันด้วยเรือรบและเครื่องบินขับไล่ที่ทำการจำลองการโจมตีเป้าหมายไต้หวัน

นอกเหนือจากเรื่องไต้หวันแล้ว ไบเดน ยังเคยผลักดันพันธมิตรในยุโรปให้มีความแข็งข้อกับจีนมากชึ้น ซึ่งรวมไปถึงเรื่องข้อกล่าวหาที่ว่าจีนดำเนินการทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างไม่เป็นธรรม และเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

เลทบอกว่าการสนับสนุนจากยุโรปที่สหรัฐฯ ต้องการคงไม่ถึงขั้นต้องให้ยุโรปส่งเครื่องบินรบหรือเรือรบมาช่วยต่อสู้ แต่สหรัฐฯ ต้องการการสนับสนุนทางการทูตจากยุโรป เช่น จากในสหประชาชาติเวลาที่มีประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน เลทบอกอีกว่าสหรัฐฯ และยุโรปจำเป็นต้องมีข้อตกลงร่วมกันบางอย่างว่าจะเข้าหาจีนอย่างไร ถ้าหากพวกเขาไม่ทำเช่นนั้น จีนก็จะกลายเป็นวิกฤตถัดไปของภูมิภาคข้ามสมุทรแอตแลนติก ถ้าหากไม่มีการแก้ไขตรงนี้

ชาปิโรบอกว่า ในขณะที่ประเทศอียูอาจจะอยากลดบทบาทตัวเองไม่ออกตัวมากในเรื่องจีน แต่เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้

เลทระบุว่าในช่วงที่ผ่านมานโยบายของยุโรปที่มีต่อจีนนั้นเป็นไปในแนวทางเดียวกับของสหรัฐฯ โดยที่ทั้งอียูและนาโตมีการแข็งข้อมากขึ้นต่อจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในความคิดเห็นของเลทแล้วเขามองว่า "ในตอนนี้อียูพึ่งพิงสหรัฐฯ มากเกินไปในชณะที่สหรัฐฯ ก็เป้นห่วงเกี่ยวกับประเด็นจีนมากเกินไป"

เรียบเรียงจาก
EU and China: Is Taiwan really Europe's problem?, DW, 11-04-2023
Germany aims to ‘set the record straight’ on China after Macron’s Taiwan comments, Politico, 12-04-2023
Germany’s Baerbock stresses alliance with US on Taiwan in riposte to Macron, Politico, 13-04-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท