Skip to main content
sharethis

กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น และจำนวนอาจมากกว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนมีการทำกิจกรรมร่วมกันช่วงสงกรานต์ และการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ไทยพบสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 แล้ว 6 ราย - ชวนผู้มีสิทธิบัตรทอง 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ในปี 2566 เริ่ม 1 พ.ค.-31 ส.ค. นี้ หรือจนกว่าวัคซีนฯ หมด

16 เม.ย. 2566 เว็บไซต์กรมควบคุมโรค รายงานว่านายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำสัปดาห์ที่ 15 ปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 9-15 เม.ย. 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วทั้งหมด 435ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 และร้อยละ 36 ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยสัปดาห์ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว จึงขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ สถานบริการจะปรับการให้บริการรูปแบบวัคซีนโควิดประจำปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศโดยเฉพาะประเทศอินเดีย เชื้อสายพันธุ์ล่าสุดนี้มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย. 2566)

นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะนี้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันป้องกันอาการหนักได้แน่นอน แม้จะไม่ได้ป้องกันติดเชื้อได้ 100% พร้อมแนะนำว่า หลังสงกรานต์ขอให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองอย่างน้อย 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากจำเป็นให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เมื่อเริ่มมีอาการป่วย เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวกก็ให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิและตามระดับอาการ ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ขณะที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้ โรงพยาบาล มียา เวชภัณฑ์ เตียงเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ชวนผู้มีสิทธิบัตรทอง 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ในปี 2566 เริ่ม 1 พ.ค.-31 ส.ค. นี้ หรือจนกว่าวัคซีนฯ หมด

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” เป็นสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง 30  ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนของกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาล/สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้จากโรคไข้หวัดใหญ่   

สำหรับในปีนี้ ได้ดำเนินการจัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2566 สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กำหนดช่วงระยะเวลาการบริการวัคซีนฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนฯ หมด  

ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่นำมาฉีดให้กับประชาชนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม สำหรับปีนี้ยังเป็นวัคซีนสายพันธุ์ซีกโลกใต้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) มีประสิทธิผลในการป้องกันและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้    

“ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus)  มีการระบาดเป็นช่วง ๆ ในฤดูฝนและฤดูหนาว คนทั่วไปจะมีอาการไม่มาก เช่น มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวม สมองอักเสบ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนี้ นอกจากนั้นยังลดความสับสนการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ที่มีรายงานพบผู้ป่วยต่อเนื่อง และช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ พร้อมขอย้ำว่า ปีนี้วัคซีนฯ มีจำนวนจำกัด ดังนั้นใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ควรรีบมาฉีดวัคซีนฯ โดยเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก่อนที่วัคซีนฯ จะหมดลง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค  คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี 

นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า  สปสช. ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด เปิดให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ย้ำว่าเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ โดยระบบ เป๋าตัง จะเริ่มเปิดให้จองสิทธิฉีดวัคซีนฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน - 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง ให้ติดต่อได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ แนะนำให้โทรนัดรับบริการล่วงหน้าก่อน เพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีน   

สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถจองผ่านแอปเป๋าตังได้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง 

ขณะนี้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยงนั้น ให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ส่วนสิทธิการรักษาอื่นรอประกาศอีกครั้ง   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net