Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ แนะรัฐบาลใหม่ควรพัฒนาระบบประชาธิปไตยดิจิทัลและการร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-petitioning) ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ พัฒนาช่องทางต่างๆ ภายใต้เทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) เพื่อพัฒนาการกำหนดนโยบายอย่างมีส่วนร่วม เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการออกกฎหมาย เป็นเครื่องมือในการกำกับนโยบายให้มีประสิทธิภาพและประเมินผลนโยบาย


อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์

16 เม.ย. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนเปิดเผยว่ารัฐบาลใหม่ และ กกต. ต้องร่วมกันสร้างประชาธิปไตยดิจิทัลให้เกิดขึ้น การพัฒนาประชาธิปไตยดิจิทัล มีสองแนวทาง แนวทางหนึ่ง คือ ทำผ่านระบบเลือกตั้ง การออกเสียงหรือลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) ในอนาคต ส่วนในการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ศกนี้ ต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นอิสระ โปร่งใส เสมอภาคและเป็นธรรม ควรมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีดิจิทัลในการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งให้โปร่งใส เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรมด้วย รวมทั้งต้องสามารถประมวลผลการเลือกตั้งแบบ Real Time เพื่อปิดช่องการทุจริตเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงของประชาชน  

แนวทางที่สอง คือ การสร้างการมีส่วนร่วมในการปกครองและการเมืองทุกระดับทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงรัฐบาลส่วนกลางโดยประชาชนทุกระดับ โดยทั้งสองแนวทางนี้ รัฐบาลใหม่ กกต กระทรวงดีอี และ หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องร่วมกันทำให้เกิดองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว (Security and Privacy) การรับฟังเสียงและการตอบสนอง (Responsiveness) การปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน (Deliberation) การเปิดโอกาสให้เสียงของคนทุกกลุ่มได้ถูกผนวกรวม (Inclusion) 

รัฐบาลใหม่ควรพัฒนาระบบประชาธิปไตยดิจิทัลและการร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-petitioning) ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ พัฒนาช่องทางต่างๆภายใต้เทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) เพื่อพัฒนาการกำหนดนโยบายอย่างมีส่วนร่วม เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการออกกฎหมาย เป็นเครื่องมือในการกำกับนโยบายให้มีประสิทธิภาพและประเมินผลนโยบาย เปิดเวทีระดมความเห็นทางออนไลน์ (Online forums) ในเชิงลึก หรือ ระดมความเห็นจากสาธารณชนในลักษณะ Crowdsourcing เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างมากในหลายประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้นส่งเสริมประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากมีการจำกัดเสรีภาพค่อนข้างมาก ซึ่งประชาชน องค์กรและภาคส่วนต่างๆสามารถแสดงความคิดเห็นได้แต่ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นการถกเถียงกันจนถึงจุดที่สามารถนำไปสู่ความเห็นพ้องและแสวงหาทางออกร่วมกันได้ในบางเรื่อง หากต้องการให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ก็ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปทางด้านกฎหมาย ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ด้านวัฒนธรรมและด้านความเป็นพลเมือง เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์นั้นจะส่งเสริมประชาธิปไตยก็ได้ ขัดขวางหรือฉุดรั้งประชาธิปไตยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมีนโยบายหรือกำกับดูแลให้ไปในทิศทางไหน หากพิจารณาปัจจัยกำหนดระดับความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Regulator) ในโลกอินเตอร์เน็ต ถือว่า ประเทศไทยสอบไม่ผ่าน มีระดับความเป็นประชาธิปไตยต่ำ ไม่ว่าจะพิจารณาจากบทบาทของรัฐในการแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความเห็น การเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมและราคายังไม่ถูกพอ มีการใช้รหัสเข้าถึงเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ซอฟต์แวร์การเข้ารหัสลับ (Encryption Software) การใช้ซอฟต์แวร์การกรอง (Filtration Software) เพื่อปิดกั้นเสรีภาพและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน กฎหมายใหม่ในยุค คสช ก็มีลักษณะปิดกั้นมากกว่าส่งเสริมเสรีภาพ   
  
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในรอบเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจสำคัญทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและติดอยู่กึ่งกลางระหว่างเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเปรียบในด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา กับ ประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน การปฏิรูประบบสถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 กำลังมาถึงขีดจำกัดและจำเป็นต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างใหม่เพื่อเป็นฐานสำหรับการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่ควบคู่กับนโยบายประชานิยมและนโยบายสวัสดิการสังคมที่เป็นจุดเน้นในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายประชานิยมสวัสดิการจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีตามโครงสร้างสังคมสูงวัยและตามสภาพที่เรียกว่าเป็น “กับดักประชานิยม” หากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อฐานรายได้ใหม่แล้ว คาดได้ว่า ไทยจะเผชิญปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในอนาคตอย่างแน่นอน 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยอีกว่า จากงานวิจัยของ ดร. วีรชาติ กิเลนทอง และคณะ สอดคล้องกับ งานศึกษาของ Jeong and Townsend พบว่า การพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ช่วยให้ครัวเรือนที่มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้นย่อมจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้นควรเป็นครัวเรือนที่มีความสามารถสูง ดังนั้น นโยบายอุดหนุนดอกเบี้ยต่ำกว่าดอบเบี้ยตลาดมากอาจไม่ใช่นโยบายที่ดีหากทำให้ครัวเรือนที่ไม่มีความสามารถมากพอนำเงินสินเชื่อไปลงทุนแล้วล้มเหลว กลายเป็นหนี้เสีย หรือ อาจมีกิจการที่มีความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากเงินทุนในระบบมีจำกัด การจัดสรรทรัพยากรทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ครัวเรือนที่มีความสามารถอาจไม่ได้สินเชื่ออย่างเหมาะสม ช่องว่างของกำไรลดลง และทำให้ผลของการเข้าถึงแหล่งทุนต่อการขยายตัวของประสิทธิภาพของการผลิตรวมลดลงตามไปด้วย นโยบายสาธารณะที่ดีควรจะต้องออกแบบให้ระบบสถาบันการเงินมีแรงจูงใจหรือสามารถที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ครัวเรือนที่มีความสามารถสูงใช้บริการได้อย่างสะดวก 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อว่า ประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของไทย (Total Factor Productivity of Thailand) นั้นยังมีอัตราการเติบโตต่ำ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูงส่วนใหญ่เป็นโรงงานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่มีการใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการผลิตรวมของไทยขยายตัวต่ำกว่า 1.2-1.3% ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระดับประสิทธิภาพในการผลิต (Productive Efficiency) อยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศที่ใช้แรงงานเป็นหลักและประเทศที่ใช้ทุนเป็นหลักจึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนี้จะยาวนานมากจนกว่าไทยสามารถพัฒนากิจการที่มูลค่าเพิ่มสูง การผลิตใช้ปัจจัยทุนหรือเทคโนโลยีเข้มข้น พร้อมกับ สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตัวเอง ปัจจัยประสิทธิภาพการผลิตนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อพื้นฐานความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากปัจจัยค่าแรง นโยบายสาธารณะ และ อำนาจตลาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและใช้เวลาสั้นกว่ามาก ภาวะการตกต่ำของภาคส่งออกไทยโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมบางตัวจะเกิดขึ้นอย่างยาวนานหากไม่สามารถปรับปรุงผลิตภาพการผลิตได้ จากประสบการณ์ของประเทศที่สามารถก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางได้ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ นั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาระดับความสามารถทางการผลิตของประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลก นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านเช่น Osorio-Rodarte and Braga (2009), นักวิจัยของธนาคารโลก, Caselli and Coleman (2006) เป็นต้น ได้ศึกษาวิจัยและเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แนวทางพัฒนาความสามารถทางการผลิตของอุตสาหกรรมและรูปแบบของนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับระยะห่างหรือความแตกต่างของประสิทธิภาพทางเทคนิคของอุตสาหกรรมนั้นๆเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมลักษณะเดียวกันในระดับโลก 
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อว่า การเติบโตด้วยการขับเคลื่อนจากฐานทรัพยากร (Resource-Driven Growth) และ ฐานแรงงานราคาถูกนั้นได้มาถึงขีดจำกัดจากความทรุดโทรมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นเพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีพและบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ 

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้นขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่ใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกิจการส่งออกล้วนเป็นเทคโนโลยีต่างชาติที่เราซื้อมาทั้งสิ้น การสร้างขึ้นมาเอง หรือพัฒนาต่อยอด สร้างนวัตกรรมสร้างฐานเติบโตใหม่ หากรัฐบาลใหม่ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางโดยอาศัยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลัก รัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสม อุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในแข่งขันสูงและมีผลิตภาพสูง รัฐควรมีนโยบายเชิงรับ เช่น สนับสนุนการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ลดการทุจริตรั่วไหล ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยมีผลิตภาพต่ำแข่งขันได้ไม่ดีนัก ควรใช้นโยบายเชิงรุก เช่น การให้สินเชื่อสนับสนุน การใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในและใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหากจำเป็น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ต้องเน้นการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้ง การปรับระบบภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นผ่านผลิตภาพที่สูงขึ้น  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net