ปมเลือกนายกฯ 'คำนูณ' ระบุ ส.ว.คงตามเสียง ส.ส.ข้างมาก แต่ขอพื้นที่เผื่อไว้ให้ตัดสิน ณ นาทีนั้น

ส.ว.คำนูณ ยันภารกิจปฏิรูปประเทศของ ส.ว. จบไปแล้ว ระบุ ส.ว.คงเลือกตามเสียงข้างมากของ ส.ส. แต่ขอพื้นที่เผื่อไว้ให้เราตัดสิน ณ นาทีนั้น ด้าน ส.ว.พิศาล ชี้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่นอน และไม่ยุติธรรม ยันจะให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนให้มากที่สุดในวันเลือกตั้ง

17 เม.ย.2566 ประเด็นอำนาจของ ส.ว. จำนวน 250 คน หรือ 33.33% ของ 2 สภารวมกัน ยังสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ยังเป็นประเด็นที่พูดถึงโดยเฉพาะพรรคการเมืองและภาคประชาชนเรียกร้องให้เลือกตามเสียงประชาชนและข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรนั้น รายการตอบโจทย์เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา สัมภาษณ์ 2 ส.ว. คือ พิศาล มาณวพัฒน์ และคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งเคยลงมติรับหลักการปิดสวิตช์ ส.ว. แก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ประเด็นให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ประเด็นนี้เช่นกัน

ต่อคำถามที่จะตัดสินใจจะโหวตนายกฯอย่างไรนั้น คำนูณ กล่าวว่าขอดูผลการเลือกตั้งก่อน แต่เชื่อว่า ส.ว. จะโหวตตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เพราะหากโหวตให้กับเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ รัฐบาลนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะในการบริหารประเทศมันอาศัยสภาผู้แทนฯเป็นหลักวุฒิสภาเพียงเข้าไปเฉพาะกิจ เฉพาะกาลเลือกนายกฯ เท่านั้น พร้อมย้ำด้วยว่า หาก ส.ส. สามารถรวมเสียงได้เกิน 376 เสียง แม้ ส.ส.ของพรรคการเมืองนั้นจะไม่ร่วมรัฐบาลก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาเลยก็จะสามารถทำได้  

ขณะที่ พิศาล มองว่า ส.ว.ไม่ควรจะมีอำนาจในส่วนนี้ ตนต้องยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 113 ที่ว่า ส.ว. ต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใด เพราะฉะนั้นผมก็ทำหน้าที่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ เจตจำนงของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ตัดสินใจในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ประโยชน์ของประชาชน ความผาสุขเจริญก้าวหน้าของประเทศด้วยความสุจริตใจก็ยึดมั่นในมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญหรือกติกานี้

ภารกิจปฏิรูปประเทศของ ส.ว. จบไปแล้ว 

คำนูณ กล่าวด้วยว่า ที่มาของ ส.ว.ชุดแรกเป็นไปตามบทเฉพาะกาลที่ คสช. เป็นผู้ออกแบบมา และก็ออกแบบภารกิจพิเศษให้กับ ส.ว. ซึ่งรวมทั้งการติดตามการปฏิรูปประเทศ และก็รวมถึงการเลือกนายกฯ 

คำนูณ สิทธิสมาน

หากเราย้อนกลับไปดูคำถามพ่วงซึ่งเป็นที่มาของมาตรา 272 หรืออำนาจในการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. นั้น คำนูณ ชี้ว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ ถามว่าควรให้ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือไม่ เขามีเหตุและผลนำร่องก่อนว่าเพื่อความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ คลายกับว่ารัฐบาล คสช. เริ่มปฏิรูปประเทศอยู่และมองว่าการปฏิรูปประเทศนั้นจะเป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ก็ควรหรือไม่เมื่อมี ส.ว.เข้ามาติดตามการปฏิรูปประเทศแล้วควรระให้เขาได้มีสิทธิเลือกคนที่จะมาสานต่อการปฏิรูปประเทศด้วยเหตุผล ณ เวลานั้น และปี 62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกฯมาก่อนก็เข้ามาสาน แต่ปี 2564 ตนเองเริ่มมองว่ามันอาจจะไม่ใช่แล้ว ความจำเป็นของมาตรา 272 ไม่มีแล้ว แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 2-3 ครั้งก็ไม่สำเร็จ จึงอยากจะบอกว่าเหตุผลของการเลือกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าการปฏิรูปประเทศ ข้อมูลที่สื่อควรสนใจติดตามมันไม่มีแล้ว เพราะว่าการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ ทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ก่อนที่จะเป็นคณะรักษาการก็มีมติอนุมัติตามแล้วว่าการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญถือว่าจบแล้ว ณ สิ้นปี 2565 รายงานการปฏิรูปประเทศประจำปี 2565 จะเป็นฉบับสุดท้าย 

ดังนั้นขณะนี้ไม่มีเหตุและผลที่จะรองรับคำถามพ่วงนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม คำนูณ ยังชี้ว่า แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญยังแก้ไม่สำเร็จ ส.ว.ยังมีสิทธิเลือกนายกฯอยู่ มันก็เป็นภารกิจตามรัฐธรรมนูญอยู่ตามมาตรา 114 เราก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ

'ไม่ร่วมเลือก' มีผลเสมือนการใช้สิทธิอย่างหนึ่ง

อีกประการมี ส.ว.บางคนคุยกับตนว่าถึงเวลาจะไม่เลือก ไม่ขอร่วม ไม่ขอใช้สิทธิ หรือจะงดออกเสียอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องคิดทบทวนเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้การได้นายกฯ เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด คือต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งดังนั้นต้องได้ทั้ง 2 สภารวมกันอย่างน้อย 376 เสียง เพราะฉะนั้นหากใครที่จะไม่ร่วมเลือกก็ไม่มีผล แต่จะมีผลเสมือนการใช้สิทธิอย่างหนึ่ง คือ ทำให้ไม่ครบ 376 เสียง 

ส.ว.คงเลือกตามเสียงข้างมากของ ส.ส. แต่ขอพื้นที่เผื่อไว้ให้เราตัดสิน ณ นาทีนั้น

"ผมเชื่อว่าผมจะใช้สิทธิ แต่จะใช้สิทธิอย่างไร ผมว่าเวลานี้เร็วเกินไป คงต้องรอผลการเลือกตั้ง" คำนูณ พร้อมกล่าวว่าโดยทั่วไปก็ควรจะเลือกตามเสียงที่ประชาชนต้องการ "แต่ขอพื้นที่ว่างๆ ไว้ให้ผมได้เผื่อสำหรับสถานการณ์บางอย่างไว้เหมือนกันว่าสามารถทำตามเสียงข้างมากกับสภาผู้แทนฯ ได้หรือไม่.. เวลาเขาให้เลือกตัวบุคคลเราจะพูดแต่ในเชิงหลักการว่า เราไม่มองตัวบุคคล เป็นใคร นาย ก. นายก ข. นางสาว ก. นางสาว ข. นาง ค. อะไรก็ได้ ขอให้รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ได้แล้ว ส.ว.จะเลือกตามนั้นแน่นอน 100% ไม่มีเป็นอื่น ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ เพราะว่าการเลือกตัวบุคคลเราก็ต้องดูตัวบุคคล เราก็ต้องดูการรวมรวมเสียงของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ประกอบกันเข้ามาที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดูนโยบายแต่ละพรรคว่าเรารับได้ เรารับไม่ได้ประการใด และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าก่อนที่จะขานชื่อเลือกเขาจะมีอภิปรายทั่วไปกันก่อน เราก็ต้องฟังก่อน" คำนูญ กล่าว พร้อมย้ำว่าโดยทั่วไปหลักการของ ส.ว.ก็คงต้องเลือกตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ แต่อาจมีบางกรณีที่จะต้องมีพื้นที่เผื่อไว้ให้เราตัดสิน ณ นาทีนั้นพิจารณาผลภาพรวมทั้งหมด

ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่นอน และไม่ยุติธรรม

ขณะที่ พิศาล กล่าวว่า ตนยังคิดอยู่ว่าประชาชนไม่อยากให้ความสำคัญของ ส.ว.ในการเลือกนายกจนเกินไป เรามีหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเราก็จะทำตามให้ให้ดีที่สุด

พิศาล มาณวพัฒน์

"สำหรับผมแล้ว ผมว่ามันไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้นที่คนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ได้มีสิทธิเพียงฝ่ายเดียว แล้วต้องมาร่วมกับคนที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วคนที่มาจากการแต่งตั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับคนที่จะเลือกไม่เลือก อันนี้ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรม ดังนั้นก็จะฟังและก็จะให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนให้มากที่สุดในวันเลือกตั้ง" 

กรณี ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯนั้น  พิศาล ระบุว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท