Skip to main content
sharethis

"เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามควรมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา" ข้อความนี้ถูกระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) ปี 1948 ข้อที่ 26 แต่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในเมืองไทยเมื่อปี 2563-2565 ส่งผลให้การศึกษาของลูกหลานเมียนมาที่อาศัยในชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก เผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และต้องหลุดจากระบบการศึกษา

แม้ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์การเรียนฯ ของนักเรียนเมียนมาจะกลับมาเปิดเรียนตามปกติอีกครั้ง แต่ไฟสงครามอันสืบเนื่องจากการทำรัฐประหารในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า เมื่อปี 2564 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะดับในเร็ววัน ทำให้เด็กเมียนมาที่ตั้งใจกลับไปใช้ชีวิตและเรียนที่ประเทศบ้านเกิดไม่สามารถทำได้ การเรียนในระบบการศึกษาไทยอาจกลายเป็นเส้นทางหลักที่ต้องพิจารณา และถึงเวลาที่รัฐควรสนับสนุนในมิติด้านการเรียนรวมถึงปรับเปลี่ยนมุมมองต่อชาวเมียนมา

รัฐประหารปี ’64 สายน้ำที่กลืนกินอนาคตการศึกษาชาวเมียนมา

"ส่วนใหญ่ผู้ปกครองและครอบครัวเมียนมาเข้ามาที่นี่โดยไม่มีแผน พวกเราออกมาอย่างฉุกเฉินโดยไม่ได้หยิบอะไรมาเลยตอนที่กองทัพฯ บุกเข้ามาในเมือง ไม่มีบัตร หรืออะไรติดตัวมาเลย ไม่มีข้อมูล ไม่ได้อยู่อย่างถูกกฎหมายไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในเมียนมาด้วย เราไม่มีสถานะถูกกฎหมายทั้งสองประเทศ เราแค่วิ่งหนี และพยายามมีชีวิตรอด ผ่านชายแดนและเข้ามาที่แม่สอด"

นี่เป็นเสียงของ 'อะเผ่' ชาวเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทย หลังกองทัพเมียนมาบุกเข้าไปในเมืองเลเกก่อ เมื่อช่วงปลายปี 2564 เพื่อจับกุมฝ่ายต่อต้านกองทัพฯ ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว 

ผลกระทบจากสงครามกลางเมืองรัฐกะเหรี่ยง เมื่อต้นปี 2565 ทำให้ประชาชนต้องอพยพมาอยู่บริเวณริมแม่น้ำเมย ในบริเวณที่เรียกว่า 'No Man Land'

เมื่อปี 2564 กองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ส่งผลให้ประเทศเมียนมาเดินทางเข้าสู่วิกฤตการเมืองครั้งสำคัญ สงครามกลางเมืองกลับมาปะทุอีกครั้งโดยเฉพาะแนวรบฝั่งตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นการรบกันระหว่างกองทัพเมียนมา และกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธุ์ที่ต่อต้านกองทัพฯ มาอย่างยาวนาน

หนึ่งในการรบครั้งใหญ่คือการรบที่เมืองเลเกก่อ จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตรงข้ามชายแดนแม่สอด จังหวัดตากของไทย ขณะนั้นกองทัพเมียนมาต้องการเข้าไปจับกุมฝ่ายต่อต้านที่อยู่ในเมืองเลเกก่อ แต่ทาง KNLA ตอบโต้ด้วยอาวุธจนกลายเป็นการรบพุ่งกันทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ประชาชนเมียนมาต้องหนีการประหัตประหารเข้ามาในไทย

ปัจจุบัน อะเผ่ อยู่ในสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายและขออนุญาตไม่เปิดเผยตัวตน เนื่องจากความกังวลว่าเขาและสมาชิกครอบครัวตัวน้อยอาจถูกตำรวจไทยจับกุม และส่งกลับประเทศที่ยังคงอยู่ในวิกฤตสงครามกลางเมืองหลังรัฐประหารเมื่อ 2564 เป็นต้นมา

การศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ และเพื่อให้ลูกของเขาได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อะเผ่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งลูกเรียนที่ศูนย์การเรียนลูกหลานแรงงานข้ามชาติเมียนมา สถานที่ที่อนุญาตให้เด็กเมียนมาสามารถเข้าถึงการศึกษาได้

ศูนย์การเรียนฯ ไม่ได้เป็นสถานศึกษาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของรัฐไทย แต่ว่าทางการไทยอนุญาตให้เปิดได้ เพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย และช่วยดูแลเด็กๆ เหล่านี้ 

ข้อมูลรายงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ปี 2562 ระบุว่า ศูนย์การเรียนฯ ในไทยเมื่อปี 2561 มีจำนวนทั้งหมด 110 แห่ง โดยกระจายตัวอยู่ตามจังหวัดแนวชายแดนไทย-เมียนมา เช่น ระนอง ตาก กาญจนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ และอื่นๆ โดยจังหวัดที่มีศูนย์การเรียนฯ มากที่สุดคือจังหวัดตาก ซึ่งมีศูนย์ฯ อยู่ 70 แห่ง 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว (MECC) เผยว่า เมื่อปี 2566 ศูนย์การเรียนฯ ใน 5 อำเภอของจังหวัดตาก เหลือเพียง 65 แห่ง ด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 

ศูนย์การเรียนฯ จะสอนด้วยหลักสูตรพิเศษ ทั้งหลักสูตรการศึกษานอกระบบพม่า หรือ กศน.พม่า เพื่อให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติสามารถกลับไปเรียนต่อที่ประเทศบ้านเกิดได้ แต่ในทางกลับกัน มีข้อจำกัดคือวุฒิการศึกษาของศูนย์ฯ จะไม่สามารถศึกษาต่อในโรงเรียนรัฐ หรือระดับมหาวิทยาลัยของไทย

เมื่อถามถึงแผนการศึกษา เพราะว่าห้วงเวลานี้ลูกของอะเผ่ จะยังไม่ได้กลับไปศึกษาต่อในประเทศเมียนมาได้แน่ในระยะสั้น พ่อชาวเมียนมา ระบุว่า เขาวางแผนหลายแบบมาก แต่ไม่มีแบบไหนที่แน่นอน ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์การเมือง แต่เขาอาจจะลองให้ลูกสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย (GED) และเรียนในมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนนานาชาติอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม อะเผ่ บอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสอบ GED ผ่าน ต้องมีระดับภาษาอังกฤษที่ดี ถึงจะสอบไหว และต้องขยันถ้าจะอยู่ที่ไทย

ขณะที่อีกวิธีที่จะทำให้อะเผ่ส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนหลักสูตรไทยได้ คือ เรียนในหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของไทย (กศน.ไทย) ศูนย์การเรียนฯ สามารถเปิดสอนหลักสูตร กศน.ได้ บางแห่งมีระดับประถมศึกษา ขณะที่บางแห่งมีถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเมื่อเด็กเรียนจบสามารถไปต่อระบบการศึกษามหาวิทยาลัยได้

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดเดียวของการเรียนหลักสูตร กศน.ไทย คือนักเรียนต้องมีความรู้ภาษาไทยในระดับอ่านออก และเขียนได้ สื่อสารได้ เงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขเดียวกับการเรียนในโรงเรียนรัฐของนักเรียนเมียนมาด้วย 

ต่างสถานะ ต่างโอกาสทางการศึกษา

เพื่อให้เข้าใจปัญหาของนักเรียนเมียนมามากขึ้น มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เล่าให้ฟังว่า ชาวเมียนมาที่เข้ามาในไทยพวกเขามีสถานะและมีข้อจำกัดและโอกาสทางการศึกษาแตกต่างอย่างไร 

ศูนย์การเรียนสุขขะหรรษา เปิดเรียนเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565

มาลี ระบุว่า ปัจจุบัน ชาวเมียนมาที่เข้ามาในประเทศไทย มี 4 สถานะ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ลูกของคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และมีลูกติดตามมาด้วย คนเหล่านี้ถ้าเข้ามานาน ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และอยากจะอยู่ที่ไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทใหญ่ คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปัญหาการเข้าถึงการศึกษา 

กลุ่มที่ 2 คือ เด็กที่กลุ่มพ่อ-แม่ที่เข้ามาจากเมียนมา และมีความหวังจะกลับไปที่ประเทศบ้านเกิด ก็ให้ลูกเรียนเป็นหลักสูตรเมียนมา แต่ ณ สถานการณ์สงครามกลางเมืองขณะนี้กลับไปไม่ได้ หากต้องการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีอยู่ 2 ทาง คือ เรียน กศน.ไทย หรือสอบ GED เพราะวุฒิการศึกษาเมียนมาเรียนหลักสูตรของประเทศไทยไม่ได้ ถ้าจะเรียนที่ไทย ก็ต้องสอบ GED ให้ผ่าน ซึ่งค่อนข้างยากสำหรับนักเรียนเมียนมากลุ่มนี้ 

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่อยู่ค่ายผู้อพยพ หรือเรียกภาษาทางการว่า ‘พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศเมียนมา’ ซึ่งคนที่ดูแลการศึกษาในศูนย์นี้จะเป็นกระทรวงมหาดไทย เด็กกลุ่มที่เรียนจบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ จะไม่ได้ใบวิทยฐานะ และไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งรัฐไทย-เมียนมา คนกลุ่มนี้เรียนต่อในประเทศไทยเขาจะต้องสอบ GED และเมื่อสอบผ่านแล้วต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง เพื่อทำพาสปอร์ตกลับมาเรียนหนังสือ แล้วกลับมาเรียนตามกฎหมาย

กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่หนีมาใหม่เป็นกลุ่มที่เรียนระดับอุดมศึกษา อาจจะเป็นปี 1-4 และต้องอพยพหนีภัยการทำรัฐประหารของกองทัพฯ และตัวเองไม่ได้เอาอะไรมาสักอย่าง ต้องเริ่มต้นสอบภาษาอังกฤษ หรือ GED เหมือนกับกลุ่มที่ 3 

อนึ่ง เมื่อปี 2560 กระทรวงศึกษาธิการรับรองวุฒิการศึกษา GED คือ การสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับไฮสคูลของระบบการศึกษาประเทศสหรัฐฯ เทียบเท่ากับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของประเทศไทย 

อะเผ่ บอกว่า ถ้าเป็นไปได้เขาอยากให้รัฐไทยจัดสรรการศึกษาให้กับนักเรียนเมียนมาในไทยที่จบจากศูนย์การเรียนฯ โดยอะเผ่ มองว่าอาจจะเป็นการศึกษาระดับไฮสคูล หรือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวุฒิที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย เนื่องจากนักเรียนที่เรียนจบจากศูนย์การเรียนฯ ไม่สามารถเรียนต่อในไทยได้ 

"ถ้าสามารถทำได้ คนรุ่นใหม่สามารถที่จะออกไปทำงานได้ทุกที่ในไทย คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ฉลาด และมีการศึกษา ถ้าเขาได้รับโอกาสที่จะสามารถอยู่ในไทยได้ต่อ พวกเขาจะไม่ไปที่ประเทศอื่น เขาจะอยู่ในไทย ไทยจะมีทรัพยากรที่มีคุณค่า จากนักเรียนที่เป็นผู้ลี้ภัย อนาคตของพวกเขาก็คงจะสว่างไสวขึ้น และเราคงมีความหวังที่จะอยู่ที่นี่ และส่งเงินไปช่วยเหลือที่ประเทศบ้านเกิด" อะเผ่ กล่าว 

สงครามที่ยังไม่จบลงโดยง่าย 

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโคโรนาไวรัส 2019 เป็นต้นมา ศูนย์การเรียนฯ ได้กลับมาเปิดเรียนอีกครั้งเมื่อเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2565 หลังจากปิดชั่วคราวมานานกว่า 2 ปี (2563-2565)ทว่าศูนย์การเรียนฯ กำลังเผชิญกับข้อท้าทายใหม่ คือ สงครามกลางเมือง โดยผลจากสงครามดังกล่าวทำให้ในระยะสั้น ประชาชนเมียนมาไม่สามารถกลับประเทศบ้านเกิดได้ และต้องชีวิตในประเทศไทยยาวนานขึ้น 

ไทม์ไลน์สถานการณ์ศูนย์การเรียนใน อ.แม่สอด จ.ตาก ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ มี.ค. 2563 จนถึง 1 ก.ค. 2565 ที่ศูนย์การเรียนกลับมาได้เปิดเรียนอีกครั้ง

พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2566 ระบุว่า รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ยังคงมีการรบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรอยต่อ อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง ยังคงมีการใช้ยุทธวิธีโจมตีทางอากาศแทบทุกวัน 

นอกจากนี้ พรสุข ระบุด้วยว่า จากการพูดคุยกับทางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และฝ่ายความมั่นคงของไทย คาดว่าในปี 2566 ฝั่งรัฐกะเหรี่ยงอาจจะยังอยู่ในเพลิงแห่งสงครามตลอดทั้งปี 

ขณะที่ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MGW) องค์กรที่รณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติ ประเมินว่า สงครามอาจจะรุนแรงยืดเยื้ออย่างต่ำ 5 ปี และความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างฝ่ายต้านกองทัพฯ และกองทัพเมียนมา อาจทำให้คนเมียนมาอพยพมาฝั่งไทยจำนวนมากขึ้น

"ปัจจัยชายแดนมันเปลี่ยนตลอดเวลา พอเจอเรื่องโควิด-19 แล้ว ก็เจอเรื่องสงครามต่อ เด็กเมียนมาก็จะไหลเข้ามามากขึ้น เป็นเรื่องของชายแดน เมื่อใดก็ตามที่การเติบโตทางเศรษฐกิจฝั่งหนึ่งสูงกว่า มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง มีเรื่องการจัดสรรทรัพยากรทั้งหลาย คนก็จะไหลมาที่ที่ดีกว่า" อดิศร กล่าว


แผนที่แม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย-เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา 
(ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองแห่งพม่า หรือเอเอพีพี องค์กรภาคประชาชนที่มอนิเตอร์ข่าวการคร่าชีวิตและการจับกุมของฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ระบุว่าตั้งแต่รัฐประหารจนถึงวันที่ 15 มี.ค. 2566 มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,130 คน และถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 20,368 ราย และยังคงถูกคุมขัง 16,502 ราย 

นอกจากนี้ สงครามกลางเมืองที่ยังคงคุกรุ่นในประเทศเมียนมาส่งผลให้ประชากรเมียนมาต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People) และผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมาก ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) ระบุว่า ช่วงก่อนทำรัฐประหารครั้งล่าสุด เมียนมามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ อย่างน้อย 328,000 ราย แต่นับแต่หลังรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 31 ธ.ค. 2565 ชาวเมียนมาต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,388,900 คน ในห้วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศส่วนใหญ่ มาจากภูมิภาคสะกาย ตอนกลางของเมียนมา อย่างน้อย 726,800 ราย รองลงมา รัฐยะไข่ ภูมิภาคมะกเว และรัฐกะเหรี่ยง ตามลำดับ 

เว็บไซต์ 'UNCHR' ยังระบุด้วยว่า ข้อมูลเมื่อ 23 มี.ค. 2566 มีจำนวนผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทย จำนวน 90,617 ราย จากทั้งหมดอย่างน้อย 1,355,496 ราย

ศูนย์การเรียนฯ ปรับตัว POST-COVID 19 เพิ่มการเรียนเพื่อทักษะชีวิต-เน้นภาษาไทย

ศูนย์การเรียนฯ ในไทยยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการอำนวยการศึกษาให้กับนักเรียนเมียนมา ทั้งความยืดหยุ่นในด้านการสมัครเรียนที่เหมาะสมกับชีวิตแรงงานข้ามชาติที่ต้องเดินทางไปทำงานตามที่ต่างๆ และค่าเทอมในราคาที่เอื้อมถึง

ขณะที่เถ่งลิน อาจารย์ศูนย์การเรียนปาราฮิตาทู ระบุว่า ทางศูนย์ฯ เก็บค่าสมัครเข้าเรียนครั้งเดียวเป็นเงิน 200 บาท และหลังจากนั้นไม่เก็บค่าเทอมอีกเลย เนื่องจากผู้ปกครองเมียนมาไม่ได้มีเงินมากมายนัก

อะเผ่ พ่อชาวเมียนมา ระบุด้วยว่าศูนย์การเรียนฯ ที่ลูกเขาเรียน แทบไม่เรียกค่าเล่าเรียนจากผู้ปกครองเลย แถมยังมีข้าวสารและปลากระป๋องให้นักเรียนเอากลับมากินที่บ้านด้วย

ศิราพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิ 'ช่วยไร้พรมแดน' (Help without Frontier - HWF) ซึ่งดูแลศูนย์การเรียนฯ หลายแห่งในจังหวัดตาก เล่าให้ฟังว่า หลังกลับมาเปิดศูนย์ฯ เมื่อปี 2565 ศูนย์การเรียนฯ ตระหนักถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบจากสงครามฝั่งเมียนมา จึงเปลี่ยนเป้าหมายในการสอนโดยให้เด็กเมียนมาสามารถอยู่ในไทยอย่างปลอดภัย และมีความรู้ เรียนภาษาพม่าเป็นหลัก แต่เด็กก็ต้องได้ภาษาไทยในระดับที่อ่านออกเขียนได้ สื่อสารได้ เพื่อนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพ 

การเรียนในระดับมัธยมฯ ของศูนย์การเรียนสุขขะหรรษา อ.แม่สอด จ.ตาก

ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน 'ปารมี' อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนที่บริหารโดยมูลนิธิช่วยได้พรมแดน ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2565 ระบุเช่นกันว่า ทางศูนย์ฯ มีการปรับวิชาเรียน โดยการตัดวิชาที่อาจไม่ได้มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน อาทิ วิชาประวัติศาสตร์ เนื่องด้วยเนื้อหาในหนังสือหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์เมียนมา ไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมื่อไม่ตรง เขาก็ไม่ทราบว่าสอนไปทำไม และศูนย์ฯ เลือกจะเพิ่มวิชาทักษะวิชาชีพที่นักเรียนเมียนมาสามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานหรือชีวิตประจำวัน เช่น ดนตรี การทำขนม การเรียนเพื่ออาชีพ ศิลปะ และคอมพิวเตอร์  

นอกจากวิชาข้างต้น ผอ.ศูนย์การเรียนปารมี ระบุด้วยว่า ทางศูนย์การเรียนฯ เพิ่มเวลาการสอนภาษาไทยด้วย และมองว่าการสอนภาษาไทยมีความสำคัญ เนื่องจากเด็กเมียนมาต้องใช้ชีวิตในประเทศไทยนานขึ้น 

"ผู้ปกครองส่วนใหญ่เขามองเห็นปัญหา เพราะว่าถ้าจะกลับไปประเทศเมียนมามันก็ไม่มีทางและไม่มีความหวังแล้วด้วย เพราะว่ากลับไปต้องใช้เวลานานมาก ต่อให้ [ฝ่ายต่อต้านกองทัพฯ] ได้รับชัยชนะ แต่ก็ต้องฟื้นฟูหลายด้านทั้งด้านธุรกิจ สังคม เขาก็มองว่าเราจะอยู่ที่นี่ [ไทย] เราจะต้องเรียนภาษาไทยเป็นหลัก เขามองเห็นความสำคัญของการเรียนภาษาไทยมากขึ้น 

"เราเพิ่มเวลาเรียนภาษาไทยมากขึ้น จากเมื่อก่อนชั่วโมงหนึ่ง หรือว่า 45 นาที" ผู้อำนวยการจากศูนย์ฯ ปารมี กล่าว

คนองฤทธิ์ สิงหบุตร เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว หรือ MECC กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ตอนนี้หลายศูนย์ฯ มองเห็นความสำคัญด้านการสอนภาษาไทยมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกศูนย์ฯ จะสามารถจ้างครูสอนภาษาไทยได้ โดยเฉพาะศูนย์ฯ ที่ค่อนข้างขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจ้างบุคลากรทางการศึกษา ขณะที่บางศูนย์ฯ ที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างปาราฮิตาทู ก็ไม่สามารถหาอาจารย์มาสอนหลักสูตร กศน. ได้ 

เมื่อสอบถามถึงการสนับสนุนต่อศูนย์การเรียนฯ ทางภาครัฐจะไม่ได้สนับสนุนเงินทุน หรืองบฯ แต่เป็นการประสานงานด้านอื่นๆ เช่น ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา (2563-2565) เวลามีของบริจาคจากองค์กรระหว่างประเทศ หรืออุปกรณ์ในการควบคุมโรคระบาด ทางหน่วยงาน MECC จะกระจายให้แต่ละศูนย์ฯ และโรงเรียนอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีการจัดสรรวัคซีนป้องกันไวรัสให้ทางศูนย์ฯ ด้วย

ปัญหานี้ เถ่งลิน อาจารย์ปาราฮิตาทู มองว่า ภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ หรือหน้ากากอนามัย อย่างดี แต่ตอนนี้ศูนย์ฯ ประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจ้างครู โดยปกติ ศูนย์การเรียนฯ ต้องการอาจารย์ 10 คน แต่ตอนนี้มีเพียง 7 คนเท่านั้น 

"ปัญหาใหญ่สุดคือหาคนไม่ได้ และไม่มีเงินจ้างครู… ครูเมียนมาก็ไม่มีครบ มีอนุบาลถึง ม.4 ก็ต้องการครูเพิ่มขึ้น" เถ่งลิน กล่าว

เถ่งลิน อาจารย์ศูนย์การเรียนปาราฮิตาทู อ.พบพระ จ.ตาก

เรียนโรงเรียนรัฐ ยังไม่ง่าย

การเรียนโรงเรียนรัฐของนักเรียนเมียนมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเรียนได้ โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2548 ระบุว่าเด็กทุกคนมีสิทธิเรียนหนังสือ 15 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายหรือสัญชาติใดและครอบคลุมเด็กข้ามชาติในประเทศไทย

ศิราพร ระบุว่า ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหา เพราะบางโรงเรียนปฏิเสธรับเด็กเมียนมาด้วยเหตุแห่งทัศนคติ เธอยกตัวอย่างประสบการณ์ที่มูลนิธิฯ เคยพาเด็กไปสมัครเรียนที่โรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวไม่รับ จากประสบการณ์ที่เธอไปกับผู้ปกครองถึง 3 ครั้ง พบว่าผอ.โรงเรียนจะตั้งเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาทุกครั้ง เช่น ขอเอกสารจากผู้นำชุมชน หรือต้องให้ผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านมารับรองด้วยตัวเอง ทำให้ศิราพร รู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ และตั้งข้อสังเกตว่าโรงเรียนอาจมีทัศนคติด้านลบต่อเด็กเมียนมา และไม่อยากให้เรียน

ศิราพร แก้วสมบัติ

นอกจากนี้ การให้ผู้ใหญ่บ้านมารับรองเพื่อให้เด็กสมัครเรียนถือเป็นเงื่อนไขที่มากกว่าที่ในระเบียบโรงเรียนกำหนดไว้ ขณะที่ผู้ปกครองชาวเมียนมาไม่มีอำนาจในการต่อรอง และไม่สามารถที่จะพูดอะไรได้ ต้องขึ้นอยู่กับโรงเรียนว่าจะตัดสินใจรับหรือไม่

ผอ.ช่วยไร้พรมแดน ยกตัวอย่างอีกกรณีว่าเวลามีกองทุนการศึกษา เด็กเมียนมาก็จะได้ทุนการศึกษาไปหมด เพราะครอบครัวผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีเงินมาก คนไทยก็จะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และคนจำนวนมากตั้งคำถามว่าทำไมรัฐไทยต้องไปจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ และวิจารณ์ว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นภาระของประเทศไทย 

นอกจากปัญหาด้านทัศนคติดังกล่าว เด็กเมียนมาบางคนต้องเดินทางไปโรงเรียนเป็นระยะทางที่ไกลมาก เพื่อไปเรียนในโรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนเมียนมา ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเดินทาง

เมื่อเป็นคนไร้รัฐแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องประสบคือการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายด้านการศึกษา พริตตี้ นักศึกษาชาวกะเหรี่ยง อายุ 19 ปี แต่เธออพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เด็ก และได้มีโอกาสศึกษาในโรงเรียนไทย 

พริตตี้ เล่าให้ฟังว่าปัญหาว่า เธอเข้าไม่ถึงทุนการศึกษาที่ส่วนใหญ่ยังจำกัดเฉพาะนักเรียนไทย และถ้าเป็นนักเรียนเมียนมาจากไม่สามารถกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 

"เรากู้ กยศ.ไม่ได้ใช่ไหมคะ การเรียนและก็งบประมาณก็ไม่พอ ก็ออกมาทำงานตามเซเว่น หรือโรบินสัน (แม่สอด) 

"อยากให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเลือกเข้าคณะที่ตัวเองที่อยากเรียนได้ บางคนก็คือเก่งมาก แต่เขาไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ" พริตตี้ ทิ้งท้าย และบอกกับเราด้วยว่า ปัจจุบัน แม้ว่าเธอจะได้เรียนพยาบาล แต่ค่าเล่าเรียนทางบ้านของเธอก็ยังต้องออกเองทั้งหมด

พริตตี้ เยาวชนกะเหรี่ยง วัย 19 ปี

ดัน 'ศูนย์การเรียนฯ' ถูกกฎหมาย เปิดช่องรัฐสนับสนุน

ทิศทางการศึกษาระยะต่อไปของพื้นที่ชายแดน ศูนย์การเรียนฯ จะยังคงสำคัญ เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสงคราม โรงเรียนไทยยังไม่พร้อมรับเด็กจากเพื่อนบ้านจำนวนมาก ไปจนถึงความขาดแคลนบุคลากรทางด้านการศึกษาที่สามารถสื่อสารภาษาพม่า 

อดิศร มองว่า รัฐควรเปิดให้จดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่นักเรียนเมียนมาจะได้นำวุฒิไปสมัครศึกษาต่อในโรงเรียนไทย หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก และรัฐไทยที่ยังขาดแคลนแรงงานในอนาคต

ผู้ประสานงานจาก MGW เสนอด้วยว่า กรณีที่ศูนย์การเรียนฯ ขนาดเล็กที่อาจยังไม่ได้ตามมาตรฐานของรัฐไทย ภาครัฐอาจเข้าไปสนับสนุนศูนย์การเรียนฯ ในมิติต่างๆ และมากำหนดเป้าหมายร่วมกันในแต่ละปีๆ จะพัฒนาด้านไหนบ้าง เพื่อนำไปสู่การจดทะเบียนเป็นสถานศึกษาถูกกฎหมายในปลายทาง 

การเรียนที่ศูนย์การเรียนปาราฮิตาทู

อดิศร เสนอต่อว่า รัฐอาจจะต้องดูเรื่องความร่วมมือระหว่างศูนย์การเรียนฯ และรัฐมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เคยมีรูปแบบโครงการระหว่างศูนย์การเรียนฯ และภาครัฐ โดยเวลาสอนภาษาไทย ฝ่ายรัฐสามารถส่งอาจารย์เข้าไปสอนภาษาไทยในศูนย์การเรียนฯ และในเวลาเดียวกัน ศูนย์การเรียนฯ สามารถช่วยเหลือโรงเรียนรัฐในเรื่องจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้น คือได้เงินสนับสนุนรายหัวจากรัฐบาลไทย ทำให้มีเงินมาบริหารจัดการโรงเรียนได้มากขึ้น 

"ทุกคนได้ประโยชน์ตรงนี้ทั้งหมด เพราะว่าศูนย์การเรียนฯ ได้อาจารย์สอนภาษาไทย ขณะที่รัฐไทยได้ควบคุมเนื้อหาการสอนในศูนย์ฯ ให้อยู่ในร่องในรอย ไม่ต้องห่วงเรื่องความมั่นคง" อดิศร ระบุ และกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ทำให้ไปได้ระยะหนึ่ง เริ่มประคองไม่ไหว เพราะว่าไม่มีคนคอยกระตุ้นให้โครงการดำเนินอย่างต่อเนื่อง พอไม่มีคนคอยกระตุ้น โครงการก็ขาดตอน

สุดท้าย อดิศร เสนอแก้กฎกระทรวงฯ เพื่อให้สามารถอนุมัติงบฯ สนับสนุนให้กับศูนย์การเรียนฯ แต่ก็ต้องดูอีกทีว่ารัฐอยากแบ่งงบฯ มาอุดหนุนตรงนี้หรือไม่

ไปให้ไกลกว่ามุมมองด้านความมั่นคง

ย้อนไปเมื่อปี 2548 มติความมั่นคงจังหวัดตากมอบหมายให้ MECC ประสานงานและดูแลศูนย์การเรียนรู้ฯ เนื่องจากภาครัฐกังวลเรื่องเนื้อหาการเรียนการสอนอาจกระทบกับความมั่นคงของประเทศไทย

แต่นั่นคือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว มุมมองความมั่นคงนี้ควรได้รับการทบทวน และมองให้ไกลกว่านั้นหรือไม่ โดยเฉพาะมุมมองด้านแรงงานที่ไทยกำลังขาดแคลน และกำลังเดินสู่สังคมผู้สูงอายุ 

วิกฤตการเมืองและสงครามในพม่าทำให้การนำเข้าแรงงานตามข้อตกลงร่วม (MOU) เป็นไปอย่างลำบาก ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2566 ว่า สุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า ปี 2566 ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะยังขาดแคลนแรงงาน จำนวนสูงถึง 350,000-500,000 คน และเนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยที่โตแบบฉับพลันหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการแรงงานภาคบริการเพิ่มขึ้น

สุชาติ มองต่อว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ส.อ.ท.เคยเสนอให้กระทรวงแรงงานเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ภายใต้ MOU กับหน่วยงานรัฐของประเทศต้นทาง เพื่อให้มีการอำนวยความสะดวก ใช้เวลาและขั้นตอนการนำเข้าแรงงานที่น้อยลง 

ขณะที่มาลี เสนอว่า รัฐไทยอาจต้องพิจารณาเรื่องการบูรณาการนักเรียนเมียนมา หรือแรงงานข้ามชาติอพยพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย และต้องเลิกมองเขาว่าเขาเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติ เพราะเมื่อไรก็ตามที่มองด้วยแว่นนี้ ไทยก็จะไม่ให้นักเรียนเมียนมาเข้าถึงสิทธิโอกาสทางการศึกษา

อดิศร กล่าวว่า รัฐต้องมองบทบาทตัวเองใหม่ในฐานะผู้อำนวยการศึกษาให้กับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามโดยไม่แบ่งแยก เหมือนโรงพยาบาลที่ไม่เลือกรักษาผู้ป่วย และต้องย้ำจุดยืน "Education for All" (การศึกษาของปวงชน) เป็นจุดขายของประเทศไทย

ในช่วงโควิด-19 ศูนย์การเรียนต้องปรับการเรียนการสอนมาเรียนนอกห้องเรียน

"ระยะยาวมันคือโอกาส ถ้าคุณให้เขาเข้ามาพัฒนาศักยภาพตัวเองมันก็เป็นผลดีต่อประเทศไทย เพราะว่าที่ผ่านมาเราก็เจอคนจำนวนมากไม่ใช่เด็กไทย แต่เรียนในระบบการศึกษาไทย แต่ว่ามีทักษะความสามารถที่สามารถทำอะไรได้เยอะ …เรามีเด็กที่ไม่ใช่เด็กไทยจบวิศวะเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งนี่คือศักยภาพที่เราสามารถใช้เขาได้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับโอกาสที่เขาได้รับ" อดิศร กล่าว 

อดิศร เล่าว่า เมื่อพูดถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย มักมีการอ้างถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชาวยิวผู้ได้รับความช่วยเหลือจนหลุดพ้นจากการคุกคามของนาซีในบ้านเกิดของตัวเองที่เยอรมนี

"ถ้าไม่มีใครไปช่วยเขา เราก็คงไม่มีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ทุกคนคือโอกาส ถ้าคุณให้โอกาสเขา จะสามารถสร้างอะไรให้กับประเทศไทย และกับโลกใบนี้ได้อีกเยอะ ทั้งนี้ เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเก่งแบบนั้น แต่ละคนมีศักยภาพที่ต่างกัน แต่การมีทางเลือกมากจะทำให้ทุกคนได้เติบโตและสร้างอะไรให้กับประเทศนี้ได้บ้าง"

"ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องมานั่งคิดนั่งวางกันใหม่ เพราะว่าวันนี้เราไม่ได้มีแต่เด็กไทยไม่ได้มีแต่คนไทย เรามีคนอื่นเยอะแยะเต็มไปหมด ทุกคนก็มีศักยภาพหมด" อดิศร ทิ้งท้าย


นักเรียนกำลังเรียนหนังสือที่ศูนย์การเรียนปาราฮิตาทู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net