'มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ' ตั้งคำถาม ความหน้าไม่อายของรัฐไทย กับการเร่งรัด 'ยึดที่ดิน' ปชช. ปลูกป่า

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ตั้งคำถาม “โครงการปลูกป่าแบบมีส่วนร่วม” หรือสัญญาทาสปลูกป่า กับการเร่งรัดยึดที่ดินประชาชน ทำสัญญาให้ประชาชนในพื้นที่เป็น “ผู้ช่วยงานป่าไม้” มีหน้าที่ดูแลต้นไม้ที่กรมป่าไม้ปลูกในพื้นที่ให้อยู่รอด ประชาชนถาม “ชุมชนเราไม่เอาตามนี้ได้ไหม”

 

21 เม.ย. 2566 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นการส่วนร่วมปลูกป่ากับการเร่งรัดยึดที่ดินประชาชน เพื่อปลูกป่าในสถานการณ์เลือกตั้ง เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้รับแจ้งจากชุมชนบ้านแม่หมี หมู่ 6 ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ว่าสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ได้นำหนังสือมาให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชุมชน ชี้แจงว่าจะมีการจัดเวทีในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ณ หย่อมบ้านแม่หมีนอก โดยให้ประชากรที่ทำประโยชน์ในที่ดินไปแจ้งการครอบครองที่ดินที่ทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประกอบกับได้มีการแนบบัญชีรายชื่อราษฎร “ที่มีความประสงค์ร่วมปลูกป่าเศรษฐกิจตามแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สุกและป่าแม่สอยและป่าขุนวัง แปลงที่สาม”

ต่อมาในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ได้มีการจัดเวทีดังกล่าวขึ้นตามนัดหมายของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ได้มีการชี้แจงมาตรการปลูกป่าดังกล่าวว่าเป็นไปตามคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขอพื้นที่จากผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการปลูกป่าแบบมีส่วนร่วม นำบันทึกข้อตกลงมาให้เซ็นเป็น “ผู้ช่วยงานป่าไม้” พร้อมระเบียบปฏิบัติ 5 ประการที่ชาวบ้านต้องยึดถือหากรับโครงการ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากชุมชน

ส่วนร่วมปลูกป่า หรือ สัญญาทาส เปิดเอกสารบันทึกข้อตกลงปลูกป่าแบบมีส่วนร่วม

“เขาไม่ได้ชี้แจงเรื่องเอกสารฉบับนั้น เราอ่านของเราเอง ถ้าเขาชี้แจงเรื่องเอกสารฉบับนั้นคงไม่มีชาวบ้านคนไหนอยากจะเอาหรอก” อิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หมีกล่าว

อิทธิพลยังกล่าวต่อว่า เนื้อหาในบันทึกข้อตกลงฉบับนั้นมีลักษณะเหมือนเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่อ้างการมีส่วนร่วม แต่เรียกชาวบ้านว่า “ผู้ช่วยงานป่าไม้” ทั้งที่พื้นที่ป่าบริเวณนั้นชุมชนได้อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์ และดูแลรักษามาหลายชั่วอายุคนจนอุดมสมบูรณ์ วันหนึ่งกลับต้องมาปฏิบัติตามระเบียบของรัฐที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด โดยในเอกสารอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 ผู้ช่วยงานป่าไม้ (ชาวบ้าน) มีบทบาทหน้าที่และยินดีปฏิบัติ ดังนี้

1. พื้นที่โครงการเป็นแปลงปลูกป่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า (ทุกประเภท) และเป็นพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1,2 หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 และต้องปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ลงวันที่ 27 มิ.ย. 2557

2. ผู้ร่วมงานมีบทบาทเป็น “ผู้ช่วยงานป่าไม้” มีหน้าที่ในการดูแล บำรุงรักษา ต้นไม้ที่เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ได้ปลูกลงในพื้นที่ให้อยู่รอดและเจริญเติบโต โดยบริเวณที่จะทำการให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้นขั้นตอนการร่วมกันวางแผนการฟื้นฟูสภาพป่า

3. พื้นที่นี้จะปลูกป่า 3 อย่าง ได้แก่ .......................... เมื่อพันธุ์ไม้ที่ “ผู้ช่วยงานป่าไม้” เลือกเจริญเติบโตให้ผลผลิต ก็สามารถขอเก็บเกี่ยวได้โดยยื่นขออนุญาตตามระเบียบ

4. “ผู้ช่วยงานป่าไม้” สามารถใช้พื้นที่ระหว่างแถว (ตามข้อ 2) ปลูกไม้พื้นล่าง แต่จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อป่าที่ปลูก

5. ห้ามตัดต้นไม้ที่ปลูกในโครงการ เว้นแต่จะดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ในการบำรุงรักษาต้นไม้ตามหลักวิชาการ

“ดูแล”, “บำรุงรักษา”, “ฟื้นฟูสภาพป่า” ดูจะเป็นหน้าที่หลักของ “ผู้ช่วยงานป่าไม้” ซึ่งหมายถึงชาวบ้านผู้ (ไม่) ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ในขณะที่หากพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร อย่างไร่หมุนเวียน หรือพื้นที่ไร่เศรษฐกิจของชุมชน บทบาทในฐานะผู้ช่วยงานป่าไม้นี้ ไม่อาจการันตีว่าอาหารของชุมชนจะยังคงอยู่ หรือจะยังมีรายได้ต่อไปในอนาคตได้เลย และไม่มีใครการันตีความผิดของชาวบ้านได้เช่นกันหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม้ที่ปลูกนั้นได้รับอันตราย เพราะสิทธิอยู่ที่กรมป่าไม้ ชะตาชีวิตไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้าน ไม่ต่างจาก “สัญญาทาส”

ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่มากว่า 400 ปี ถูกกฎหมายประกาศซ้อนทับซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านช่วงนโยบายอพยพคนออกจากป่าครั้งใหญ่อย่างน้อย 2 ครั้ง และต่อสู้กับการที่รัฐนำพื้นที่ของชาวบ้านไปทำสัมปทานป่าไม้จนเสื่อมโทรม จนถึงวันนี้ยังจะมีโครงการมากกฎเกณฑ์จะมากดขี่ ชี้นิ้วว่าคุณอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1,2 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของฉันนะ เช่นนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่

“เขาอ้างว่าถ้าเซ็นแล้วจะเป็นการทำตัวกฎหมาย ทำให้มันถูกต้อง แต่ชุมชนก็ถามว่าเราไม่เอาตามนี้ได้ไหม เขาว่าได้ ไม่เป็นไร ไม่บังคับ เราก็ถามต่อว่าจะให้ปลูกป่าตรงไหน ที่ทำกินเราก็จะปลูกเหรอ ถ้าโดนน้ำท่วม ตายขึ้นมา จะเป็นอย่างไร ถ้าถูกต้องตามกฎหมายแล้วเอาไปสร้างบ้านไปขายได้ไหม เขาบอกว่าได้ ผมไม่เชื่อหรอก มันจะมีเงื่อนไขต่างๆ เต็มไปหมด ในเอกสารผมอ่านแล้ว เขาบอกว่าให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เขากำหนด แสดงว่าเราไม่ได้มีสิทธิอะไรในพื้นที่ตรงนั้นเลย ชาวบ้านเลยไม่เอา ไม่เชื่อเด็ดขาด ถ้าอย่างนั้นขอยื่นหนังสือยืนยันแนวทางโฉนดชุมชน ยื่นกันเสร็จเราก็กลับเลย ไม่สนใจ” ตัวแทนชาวบ้านแม่หมีกล่าว และได้ยื่นหนังสือในนามชุมชน ไม่ขอรับโครงการปลูกป่าสัญญาทาสนี้ พร้อมยืนยันแนวทางโฉนดชุมชนที่ผลักดันกันมาหลายรัฐบาล

 

ความหน้าไม่อาย กระหายยึดป่าของรัฐไทยในสถานการณ์เลือกตั้ง

ท่ามกลางสุญญากาศทางการเมือง ความร้อนระอุในพื้นที่ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งถูกทำให้เงียบงันด้วยบรรยากาศการหาเสียง เราพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจใน 2 ระดับ

ระดับแรก คือ ระดับพื้นที่ พบว่าสถานการณ์การรุกไล่ยึดพื้นที่ของชาวบ้าน บีบบังคับให้ต้องยินยอมรับนโยบายทั้งสภาพมึนๆ งงๆ หรือถูกมัดมือชกให้ต้องรับในสิ่งที่เคยคัดค้าน เกิดขึ้นโดยทั่วไป เป็นต้นว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้รายงานสถานการณ์การยึดที่ทำกินของชาวบ้านที่ชุมชนบ้านห้วยตาด หมู่ 4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มากถึง 62 แปลงในครั้งเดียว และได้รับรายงานเพิ่มเติมว่ามีการยึดพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่บ้านแม่หมี ที่อาศัยช่วงจังหวะสุญญากาศทางการเมืองดำเนินการในสิ่งที่ชุมชนคัดค้านมาโดยตลอด

ภายหลังการยื่นหนังสือคัดค้านและยืนยันแนวทางโฉนดชุมชนนั้น เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 ได้มีหนังสือจากผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ มายังแกนนำชุมชน ย้ำว่า “หากไม่มาแสดงตนภายใน 90 วัน นับจากวันที่ปิดประกาศ โดยปิดประกาศไว้ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และทำหนังสือแจ้งเจ้าของแปลงที่ดินทราบแล้ว หากไม่มาแสดงตนตามเวลาที่กำหนด สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) จะได้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานป้องกันรักษาป่าและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการขอคืนพื้นที่เพื่อนำพื้นที่มาปลูกป่าฟื้นฟูสภาพป่า หรือจัดตั้งป่าชุมชนตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป”

“มีหนังสือตอบกลับมาแล้ว ผมไปเอามาอ่านดู ต่อหน้ากับลับหลังเป็นอีกแบบ คนที่ลงมาหาเราบอกไม่บังคับ แต่พอยื่นหนังสือไปก็มาบอกว่าจะมาขอคืนภายใน 90 วัน แบบนี้มันเหมือนเป็นการบีบบังคับ ข่มขู่ว่าจะเอาที่เราคืน ทั้งที่เราก็ต่อสู้ ยืนยันแนวทางโฉนดชุมชนของเรามาตลอด” อิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง ชาวบ้านแม่หมีกล่าว

 

ระดับที่สอง คือ ระดับนโยบาย เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 พิจารณาทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้มีการทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติทุก 3 ปี ซึ่งครบกำหนดที่ต้องทบทวนตามระเบียบดังกล่าว ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบ “ไม่มีการปรับปรุงนโยบายป่าไม้แห่งชาติ”

นั่นหมายความว่า แผนการเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 126 ล้านไร่ จะยังดำเนินต่อไป โดยจำแนกเป็นป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ และป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผนวกกับแนวนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่รวมถึงการทำคาร์บอนเครดิตให้กลุ่มทุนแล้ว การรุกไล่ปลูกป่าจะเข้มข้นรุนแรงขึ้นหลังจากนี้ และจะเข้าไปในรูปแบบที่ “หน้าไม่อาย” มากยิ่งขึ้นอีก

 

‘การจัดการป่า’ 1 ในนโยบาย 6 ด้าน สกน. ยื่นพรรคการเมือง

วันที่ 10 เม.ย. 2566 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการภาคประชาชนผู้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในด้านการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ และความหวังจะมีสิทธิชุมชน ได้จัดเวทีท้าทายนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพรรคการเมือง ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนำเสนอข้อเสนอภาคประชาชนทั้งสิ้น 6 ประเด็น ได้แก่ 1) รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน 2) การจัดการป่า 3) การจัดการที่ดิน 4) โครงการพัฒนาของรัฐ-เอกชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 5) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 6) รัฐสวัสดิการ

ในด้าน ‘การจัดการป่า’ สกน. มีข้อเสนอ คือ ยกเลิกทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ยกเลิกกฎหมายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และกลไกที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 และมติอื่นที่เป็นอุปสรรคในการจัดการที่ดินโดยชุมชน ยกเลิก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ยกเลิกการพัฒนา BCG ที่แย่งยึดที่ดินชุมชนสู่การพัฒนาสีเขียว

ประเด็นที่สำคัญ คือ ยกเลิกการผูกขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านป่าไม้ไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงการทลายอำนาจของระบบราชการภายใต้หน่วยงานด้านป่าไม้ไทยให้เกิดการกระจายสู่ชุมชนและท้องถิ่น กรณีที่เกิดขึ้นที่ชุมชนบ้านแม่หมีได้สะท้อนชัดภาพความวิปริตบิดเบี้ยวของแนวคิดการจัดการป่าไม้ในประเทศไทยมาหลายยุคสมัย เสียงของประชาชนหลายพื้นที่ที่เคยเข้าร่วมโครงการปลูกป่า แล้วเห็นต้นไม้ของกรมป่าไม้แห้งตายไปต่อหน้าต่อตา ไม่ยอมโตขึ้นมาเป็นป่า คือภาพอันอัปยศอดสูของทั้งการผูกขาดอำนาจและผลาญงบประมาณภาษีในทางเดียวกัน

ท่ามกลางบรรยากาศสู่การเลือกตั้งที่ตีคู่ขนานไปกับการรุกไล่จากรัฐราชการรวมศูนย์ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงของผู้คนในป่าจะดังก้อง และพรรคการเมืองจะขานรับแนวทางปลดปล่อยผู้คนจากวังวนของกฎหมาย นโยบาย โครงการปลูกป่าสัญญาทาส และระบบราชการอำนาจนิยมเช่นนี้เสียที

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท