Skip to main content
sharethis

สุรพงษ์ กองจันทึก ปธ.ผสานวัฒนธรรม กล่าวเปิดวงเวทีเสวนา 9 ปี การหายไปของ บิลลี่ บนเส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม ที่ยังไม่สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้

 

23 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 เม.ย.) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือ BACC งานเสวนา “เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน” จัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคี saveบางกลอย กลุ่มดินสอสี ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อรำลึกถึงการหายตัวไปของ ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ เมื่อ 17 เม.ย. 2557 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว 

เมื่อเวลา 14.10 น. สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวปาฐกถาเปิดเวทีเสวนาวันนี้ว่า เขามีประมาณ 6 ประเด็นที่เขาอยากจะพูดถึงปัญหาบางกลอยบน 

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สุรพงษ์ ระบุว่า ต่อมา ชุมชนบางกลอยบนนี้คือคนไทยดั้งเดิม คือคนไทยติดแผ่นดิน พวกเขามีบัตรประจำตัว มีบ้าน มีเลขที่บ้าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี มีหลักฐานตามประวัติศาสตร์ที่ระบุว่า ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการเปิดประเทศเพื่อเข้ามาค้าขายกับอาณาจักรอยุธยา ชาวต่างชาติเวลาเดินทางก็จะมาที่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของปู่คออี้ หรือนอแอะ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน จากนั้น ชาวต่างชาติจะล่องลงจากแม่น้ำเพชรบุรี ลงมาทำการค้าขายที่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยตอนกลาง ตอนปลาย หรือแม้กระทั่งตอนต้น ใช้เส้นทางผ่านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ติดต่ออยุธยา มานานแล้ว 

สุรพงษ์ ระบุต่อว่า นอกจากนี้ บางกลอยบนยังเป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อปี 2455 เพราะมีแผนที่กรมทหาร ที่ระบุว่ามีหมู่บ้านใจแผ่นดินอยู่ในบริเวณนี้ และมีหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ตลอดเวลา คือชุมชนเก่าแก่ที่สุดชุมชนหนึ่งแห่งประเทศไทย

ตัวแทนผสานวัฒนธรรม ระบุต่อว่า ชุมชนเหล่านี้ถูกไล่อพยพลงมาจากบางกลอยบน เมื่อปี 2535 เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีการจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่จำนวน 7 ไร่ แต่พื้นที่ที่ดินที่เจ้าหน้าที่จัดให้ยังอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเหมือนเดิม ไม่ใช่พื้นที่ใหม่ เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจไล่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้าน 7 ไร่ กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่อพยพชาวบ้านลงมาจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในอุทยานแห่งชาติได้เลย ดังนั้น "การกระทำทั้งหมดนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย" แต่รัฐยังยืนยันว่าเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย

สุรพงษ์ มองว่า คณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงบางลอยที่ตั้งขึ้นมาช่วงหลัง ทำเหมือนว่าการกระทำของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสมัยนั้น 2535-2539 เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย และการแก้ไขปัญหาที่ให้ชาวบ้านเลือกว่าจะกลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน หรืออยู่ที่อยู่เดิมที่บางกลอยล่างนั้น สำหรับคนที่จะอยู่ข้างล่างต่อ รัฐต้องชดใช้และเยียวยาบนฐานในความผิดพลาดของรัฐ และที่สำคัญ ตอนนี้รัฐยังไม่มีการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2535 เลย

สุรพงษ์ ระบุต่อว่า ชาวบ้านเดินทางกลับไปที่เดิมบางกลอยบนเมื่อปี 2554 แต่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานขณะนั้น เผาบ้านทั้งหมู่บ้านเป็นเกือบร้อยหลัง หมู่บ้านใจแผ่นดิน และหมู่บ้านบางกลอย ซึ่งอยู่ในแผนที่ตลอดมา ถูกเผาไม่เหลือสักหลังเดียว แม้ว่า ปู่คออี้ ลุกขึ้นมาต่อสู้ในศาลปกครอง เพื่อความเป็นธรรม จนกระทั่ง เมื่อปี 2561 ศาลปกครองตัดสินว่าให้เจ้าหน้าที่ชดใช้และเยียวยาให้ชาวบ้านบางกลอย 

"คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด บอกชัดเจนว่าบ้านบางกลอย ใจแผ่นดิน คือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง อยู่มาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

"ปัจจุบันนี้ผู้ที่เผาบ้านชาวบ้าน เหตุการณ์ผ่านมา 2 ปีแล้ว เขาก็ยังอยู่ ยังรับราชการอยู่ ยังเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ยังไม่ได้รับโทษสู่ศาล” สุรพงษ์ ระบุ

สุรพงษ์ กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ จากการออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย โดย เมื่อปี 2555-2557 มีคนถูกฆ่าและถูกใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยคนแรกคือปี 2555 ทัศกมล โอบอ้อม ทนายความประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ให้ชาวบ้าน เจ้าตัวถูกยิงตายระหว่างที่ขับรถยนต์บน ถ.เพชรเกษม มีการจับหัวหน้าอุทยานฯ สมัยนั้น ข้อหา จ้างวานฆ่า วางแผนฆ่า แต่หลักฐานไม่เพียงพอ และต่อมา เมื่อปี 2557 บิลลี่ถูกอุ้มถูกฆาตกรรมฆ่าไป โดยเรื่องจะขึ้นศาลวันที่ 24 เม.ย. 2566 

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุต่อว่า นอกจากถูกฆ่าแล้ว และศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายใด จนกระทั่งเมื่อปี 2564 ชาวบ้านบางกลอยล่างจึงอพยพขึ้นไปบนบางกลอยบนอีกครั้ง ผลคือเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปจับชาวบ้านลงมา และมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีจำนวน 28 คน และมีเยาวชนถูกจับกุม 1 คน ทั้งหมดเรื่องยังคาอยู่ในชั้นอัยการ

"นี่คือเรื่องที่คนเก่าแก่ถูกกระทำตลอดมา วันนี้และวันต่อๆ ไป เราหวังว่า เรื่องเหล่านี้จากพวกเรา จากสังคม จะนำไปสู่การนำความเป็นธรรมกลับมา ตามคนที่หายไป กับคนที่ตายไป ให้เขาเห็นว่า ความเป็นธรรมคืออะไร ความจริงคืออะไร ตามชุนชนที่เก่าแก่บางกลอย-ใจแผ่นดินกลับมา" สุรพงษ์ ทิ้งท้าย 

ตารางกิจกรรมต่อมา มีการสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้ง 'Hear & Sound' ทั้งประสบการณ์ และการทำงานบันทึกเสียงของชาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย และมีการฉายวิดีทัศน์ประมวลเหตุการณ์สำคัญ 27 ปี จากบางกลอย การสูญหายของบิลลี่ จนถึงภาคี saveบางกลอย

สัมภาษณ์ 'Hear & Sound'

เมื่อเวลา 14.40 น. มีการเสวนาในหัวข้อ "9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม" โดยมีเข้าร่วมอภิปรายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาชาวบ้านบางกลอย ทั้งในประเด็นรากเหง้าจากปัญหา ผลกระทบจากการอุ้มหายบิลลี่ เมื่อปี 2557 และความคืบหน้าด้านคดีความ

ทั้งนี้ 24 เม.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ณ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดสืบพยานคดีนี้ครั้งแรกนับแต่บิลลี่หายตัวไปครบ 9 ปี กำหนดนัดสืบพยานโจทก์จำนวน 3 ปาก รวมถึง พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ตัวแทนครอบครัวบิลลี่ และ โพเราะจี รักจงเจริญ มารดาบิลลี่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net