Skip to main content
sharethis

หลังจากที่เจ้าของทวิตเตอร์เปลี่ยนมือมาเป็น อีลอน มัสก์ ส่งผลให้เกิดปัญหาข้อพิพาทหลายเรื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการดำเนินการเว็บไซต์โซเชียลมีเดียแห่งนี้ เรื่องล่าสุดเกิดขึ้นกับ "สถานีวิทยุแห่งชาติสหรัฐฯ" (NPR) ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีชื่อแบบนี้แต่จริงๆ แล้วเป็นสื่อไม่แสวงหาผลกำไรที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ทวิตเตอร์กลับติดป้ายให้ว่า NPR เป็นสื่อในสังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนี้ทวิตเตอร์เปลี่ยนป้ายให้ NPR แล้ว แต่เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นทวิตเตอร์มีปัญหากับสื่ออื่นๆ ด้วย

เมื่อ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์แปะป้ายให้กับบัญชีของสื่อ NPR ว่าเป็น "US state-affiliated media" หรือ "สื่อในสังกัดรัฐบาลสหรัฐอเมริกา" โดยที่ทวิตเตอร์มักจะมีการแปะป้ายให้กับบัญชีของสื่อต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบัญชีผู้ใช้งานรายใดเป็นปากกระบอกเสียงของรัฐและเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อที่มาจากประเทศอำนาจนิยมแบบรัสเซียและจีน อย่างไรก็ตามทวิตเตอร์ทำเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้าการที่ อีลอน มัสก์ จะเข้ามายึดกิจการทวิตเตอร์แล้ว

ทั้งนี้สื่อ NPR โดยแท้จริงแล้วเป็นสื่อไม่แสวงหาผลกำไรและเป็นสื่ออิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่างบประมาณรัฐบาลกลางจะมีส่วนสำคัญต่อระบบสื่อสาธารณะโดยรวม แต่ NPR ก็ได้รับงบประมาณประจำปีโดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าร้อยละ 1 จากงบประมาณรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

จอห์น แลนซิง ประกาศว่า มีผู้รับสื่อนับล้านคนที่สนับสนุนและต้องพึ่งพาสื่อ NPR จากการที่พวกเขาเป็น "งานข่าวอิสระที่เน้นเรื่องข้อเท็จจริง" แลนซิงบอกอีกว่า NPR ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และคอยตรวจสอบให้ผู้ที่มีอำนาจต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำลงไป ดังนั้นแล้วมันจึงรับไม่ได้ที่ทวิตเตอร์จะแปะป้ายตีตราสื่อเสรีที่มีความสำคัญต่อประชาธิปไตย

NPR ขอให้ทวิตเตอร์นำป้าย "สื่อในสังกัดรัฐบาล" ออก โดยมองว่าทวิตเตอร์น่าจะแปะป้ายนี้ด้วยความเข้าใจผิด แต่การตอบกลับจากทวิตเตอร์ภายใต้มัสก์กลับไม่น่าพิสมัยนัก เมื่อ NPR ส่งอีเมลให้ทวิตเตอร์ขอความคิดเห็นและขอรายละเอียดว่าทำไมถึงมีการแปะป้ายพวกเขา ก็ได้รับการตอบกลับจากบัญชีสื่อของทวิตเตอร์มาเป็นอีโมจิรูปอุจจาระ ซึ่งเป็นระบบตอบกลับอัตโนมัติซึ่งทวิตเตอร์นำมาใช้ส่งให้นักข่าวเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว

แม้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมายืนยันว่า NPR เป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลสหรัฐฯ มีการพูดเรื่องนี้ในการประชุมชี้แจงรายวันโดยโฆษกทำเนียบขาว คารีน ฌอง-ปิแอร์ แต่ไม่ได้กล่าววิจารณ์กฎของทวิตเตอร์โดยตรง

สื่อสาธารณะ กับ สื่อที่รัฐบาลควบคุม ต่างกัน

เดิมทีแล้ว อีลอน มัสก์ ซีอีโอและเจ้าของคนปัจจุบันของทวิตเตอร์ ไม่ยอมยอมรับความผิดพลาด แต่กลับยิ่งสนับสนุนการแปะป้ายสื่อแบบผิดๆ โดยมีการโพสต์รูปภาพแคบจอที่ระบุนิยามของ "สื่อในสังกัดรัฐบาล" ตามความหมายของทวิตเตอร์ พร้อมข้อความอกว่า "ดูแล้วก็ตรงอยู่นะ" โดยมีการอ้างอิงถึงบัญชีของ NPR ในโพสต์

นิยามของ "สื่อในสังกัดรัฐบาล" ตามนโยบายของทวิตเตอร์ระบุว่า หมายถึง "สื่อที่รัฐมีอำนาจควบคุมเหนือเนื้อหาข่าวผ่านทางทรัพยากรการเงิน มีการกดดันทางการเมืองทางตรงหรือทางอ้อม และ/หรือ มีการควบคุมดูแลในด้านการผลิตและการเผยแพร่"

6 เม.ย. ที่ผ่านมา มัสก์ กล่าวยอมรับว่าการแปะป้าย NPR ว่า "สื่อในสังกัดรัฐบาล" อาจจะไม่ได้ตรงตามนิยามแบบที่เขาเคยพูดไว้ แต่ทว่าในวันที่เขาประกาศเรื่องนี้ก็ยังคงไม่มีการถอดป้ายดังกล่าวออกจากชื่อบัญชีของสื่อ NPR อีกทั้งในการโต้ตอบกันทางอีเมลระหว่างสื่อกับมัสก์ยังแสดงให้เห็นว่า มัสก์มีความสับสนแยกแยะไม่เป็นว่าอะไรคือ สื่อสาธารณะ และอะไรคือสื่อที่รัฐควบคุม

ตรวจสอบหน้าบัญชีทวิตเตอร์ของ NPR ในวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงป้ายที่แปะ NPR เป็น "Government Funded Media" หรือ "สื่อที่ได้รับที่ได้รับทุนจากรัฐบาล" แทนป้ายเดิม โดยที่ในหน้าเพจนโยบายของทวิตเตอร์ไม่มีการระบุนิยามใดๆ ว่า "สื่อที่ได้รับทุนจากรัฐบาล" มีความหมายว่าอย่างไรและมีความจำเป็นอะไรถึงต้องแปะป้ายนี้ต่อสื่อที่ได้รับทุนจากรัฐบาลน้อยกว่าร้อยละ 1 จากทั้งหมด

อดีตผู้บริหารของทวิตเตอร์ที่ลาออกไปหลังจากมักส์เข้ามาเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ก็กล่าวเตือนว่า ให้ระวังการเหมารวมแบบผิดฝาผิดตัวหรือที่เรียกว่าตรรกะวิบัติแบบ "สมมูลเท็จ" ซึ่งหมายถึงการโยงสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกันเล็กๆ น้อยๆ ให้กลายเป็นว่าสองอย่างนั้นเหมือนกันทั้งหมดหรือเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด ซึ่งในที่นี้หมายถึงการที่ทวิตเตอร์เหมารวมว่าสื่อสาธารณะที่รับทุนบางส่วนจากรัฐบาลเป็นอย่างเดียวกับสื่อภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งในความจริงแล้วมันต่างกัน

ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือ โยเอล รอธ ผู้ที่เคยทำงานเป็นประธานฝ่ายความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของทวิตเตอร์มาเป็นเวลา 8 ปีก่อนที่จะลาออกเมื่อเดือน พ.ย. 2565 รอธบอกว่าเขาลาออกเพราะ "กระบวนการตัดสินใจแบบเอาแต่ใจตัวเอง" ของทวิตเตอร์ โดยที่รอธวิจารณ์ทวิตเตอร์ว่าการเหมารวมสื่อสาธารณะว่าเป็นแบบเดียวกับสื่อที่รัฐควบคุมเนื้อหาได้นั้นถือเป็นเรื่องชวนให้ไขว้เขว

การที่สื่อถูกแปะป้ายเช่นนี้ยังส่งผลในแง่ของการที่ทำให้ผู้คนมองเห็นสื่ออย่าง NPR น้อยลงในทวิตเตอร์ด้วย เพราะทวิตเตอร์มีนโยบายว่า "กรณีของสื่อในสังกัดของรัฐบาล ทวิตเตอร์จะไม่แนะนำหรือช่วยเผยแพร่บัญชี หรือเนื้อหาทวีตของพวกเขาให้ผู้คนเห็น"

สำหรับ NPR แล้ว พวกเขาเป็นสื่ออิสระไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับทุนมากกว่าร้อยละ 99 มาจากแหล่งที่ไม่ใช่ของรัฐบาลสองช่องทาง ช่องทางหนึ่งคือสปอนเซอร์ อีกช่องทางหนึ่งคือค่าธรรมเนียมจากสถานีที่เป็นสมาชิกหลายร้อยสถานี โดยที่ NPR ได้รับเงินทุนทางอ้อมจากงบประมาณรัฐบาลกลางเพราะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสถานีอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของพวกเขาผ่านเงินสนับสนุนรายปีที่มาจากหน่วยงานบรรษัทเพื่อการแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะ (CPB) และได้รับเงินทุนทางตรงจากรัฐบาลแค่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของทั้งหมด

ทั้งนี้อีกสื่ออย่าง BBC ก็ถูกทวิเตอร์ขึ้นป้ายกำกับบัญชีหลักว่าเป็น ‘องค์กรสื่อในเครือรัฐ’ เช่นกัน จน BBC ต้องออกแถลงการณ์ยืนยันว่าเป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่ทำงานกันอย่างอิสระ โดยกระบวนการทำงานจะมีบรรณาธิการเป็นคนตัดสินใจ และผลิตผลงานออกมาผ่านช่องทางต่างๆ ไม่มีการแทรกแซงการทำงานจากรัฐ

สะท้อนเรื่องทวิตเตอร์ภายใต้ อีลอน มักส์ มีปัญหากับสื่อ

ในเรื่องนี้ยังมีนักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่ามันสะท้อนให้เห็นการที่ทวิตเตอร์ภายใต้ มัสก์ มีความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยกับสื่อมาตั้งแต่ปีที่แล้วหลังจากที่มัสก์ซื้อทวิตเตอร์ แคโรไลน์ ออร์ บัวโน นักพฤติกรรมศาสตร์ผู้ที่ศึกษาเรื่องข้อมูลบิดเบือนจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เตือนว่า สิ่งที่ทวิตเตอร์ทำอาจจะกลายเป็นการกวนน้ำให้ขุ่นด้วยการทำให้ผู้คนแยกแยะได้ยากขึ้นว่าสื่อไหนเป็นสื่อที่เชื่อถือได้และมีความอิสระในการนำเสนอข่าว ขณะเดียวกันก็ทำให้พวกสื่อโฆษณาชวนเชื่อแฝงตัวกับสื่ออื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมได้

นอกจากกรณีการแปะป้ายสื่อแบบเข้าใจผิดแล้ว ทวิตเตอร์ยังมีปัญหาเรื่องการรับรองความน่าเชื่อถือกับสื่อด้วยเครื่องหมายเข็คถูกสีฟ้าด้วย ระบบรับรองดังกล่าวนี้เป็นระบบที่ทวิตเตอร์จะรับรองเครื่องหมายเช็คถูกสีฟ้าหลังชื่อของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือขององค์กร บริษัท ต่างๆ รวมถึงสื่อด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแอบอ้างและเป็นการรับรองว่าบัญชีนี้เป็นของบุคคล นิติบุคคล หรือของสื่อแห่งดังกล่าวจริง

แต่หลังจาก อีลอน มักส์ ซื้อทวิตเตอร์ ทางทวิตเตอร์แจ้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับรองบัญชีและระบบความน่าเชื่อถือนี้  ส่วนหนึ่งคือการให้ผู้ใข้งานจ่ายเงินเพื่อให้ได้เครื่องหมายเช็คถูกสีฟ้ารับรองบัญชีของตัวเอง แทนการยื่นขอแบบเดิม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ามันจะเป็นการให้สถานะความน่าเชื่อถือกับกลุ่มคนที่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่จริง แล้วเกิดปัญหาเมื่อไม่นานนี้เมื่อทวิตเตอร์ถอดถอนเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือออกจาก นิวยอร์กไทม์ เพียงเพราะนิวยอร์กไทม์ไม่จ่ายค่าเครื่องหมายเช็คถูกให้

ทวิตเตอร์ระบุว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงระบบการให้สถานะดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา และมีการถอดเครื่องหมายออกจากบัญชีของสื่อนิวยอร์กไทม์ในวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมัสก์ยังทวีตโจมตีสื่อนิวยอร์กไทม์หลายโพสต์ในชั่วข้ามคืน มีทวีตหนึ่งระบุว่า "โฆษณาชวนเชื่อของพวกเขา ไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น"

มีการวิเคราะห์จากนักข่าวสายไอทีของวอชิงตันโพสต์ ดรูว์ ฮาร์เวลล์ ว่ามัสก์มีความแค้นยาวนานหลายปีต่อสื่อสหรัฐฯ ที่มักจะรายงานในทำนองวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขา ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงนโยบายเครื่องหมายเช็คถูกของทวิตเตอร์ก็เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการปลอมแปลงบัญชีเพื่อหลอกลวงผู้คนได้

 


เรียบเรียงจาก


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

  • About government and state-affiliated media account labels on Twitter, Twitter Help Center https://help.twitter.com/en/rules-and-policies/state-affiliated


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net