Skip to main content
sharethis

ชาวกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กว่า 30 คน รวมตัวชูป้ายคัดค้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 กิโลวัตต์ของ กฟผ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 'ผันน้ำยวม' หลัง กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาเดินทางเข้าไปจัดเวทีในหมู่บ้าน หวั่นกระทบสุขภาพและสูญที่ดินทำกิน

 

24 เม.ย. 2566 เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทที่ปรึกษาได้เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านกะเบอะดิน อ. อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 กิโลวัตต์ เพื่อสนับสนุนอุโมงค์ผันน้ำยวมของกรมชลประทาน โดยจะจัดขึ้นที่วัดแม่อ่างขาง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

เมื่อถึงเวลานัดหมายไม่มีชาวกะเบอะดินเข้าร่วม เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับโครงการผันแม่น้ำยวมของกรมชลประทานมาโดยตลอด การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการผันแม่น้ำยวม เนื่องจากต้องการรักษาวิถีชีวิตดั่งเดิมไว้ หวั่นกระทบสุขภาพ และสูญที่ดินทำกิน

ภาพจาก เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนเยาวชนและสตรีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงโปว์จากหมู่บ้านกะเบอะดินกว่า 30 คน ได้ถือป้ายข้อความคัดค้านสายส่งไฟฟ้าแรงงานสูงของ กฟผ. และโครงการผันน้ำยวม โดยทางผู้แทนของ กฟผ. ได้กล่าวกับเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองว่า “ผมจะบอกไว้ก่อนว่าโครงการของรัฐบาลนั้น หากเขาจะทำยังไงเขาก็ทำ แต่เราที่ไม่ได้รับประโยชน์ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเห็นด้วย เรื่องที่เราอยากรู้ว่าความกังวลของชาวบ้านคืออะไร หากไม่เอาก็เป็นความเห็นของเรา” ผู้แทน กฟผ. กล่าว

อนึ่ง โครงการผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อเติมน้ำให้แก่เขื่อนภูมิพลเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่กรมชลประทานกำหนดไว้ในแผนการทำงานว่าต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 71,000 ล้านบาท

  • วันที่ 15 ก.ย. 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 71,000 ล้านบาท ส่งผลให้กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินงาน
  • โครงการประกอบด้วย 1.เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ความสูงจากระดับท้องน้ำถึงสันเขื่อน 69.5 เมตร ความยาวสันเขื่อน 260 เมตร เป็นเขื่อนดิน ถมดาดคอนกรีต ระดับกักเก็บปกติ 142 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 2. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำลึกจากพื้นดินประมาณ 40 เมตร และปรับปรุงลำน้ำยวม 6.4 กิโลเมตร 3. อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ 61.85 กิโลเมตร ขุดเจาะด้วยวิธีเจาะระเบิด และเครื่องเจาะ TBM (มีพื้นที่จัดการวัสดุจากการขุดอุโมงค์ DA ตลอดแนวอุโมงค์ 6 แห่ง รวมพื้นที่ 440 ไร่ มีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1เอ) อุโมงค์เข้าออก และ 4. ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำลำห้วยแม่งูด ปรับปรุงลำห้วยแม่งูด 2.1 กิโลเมตร
  • ต้องใช้พื้นที่ป่าไม้ 3,467 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น) พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง (อุทยานแห่งชาติแม่เงา) มีมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องปลูกป่าทดแทน 7,283 ไร่ นอกจากนี้ยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากลำพูน 3-สบเมย
  • กรมชลประทานจัดให้มีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลขึ้นโดยปัจจุบันได้ว่าจ้าง บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีข้อครหาถึงความโปร่งใสว่าเป็น “EIA ฉบับร้านลาบ” จากกรณีที่มีการนำภาพ ชื่อ และข้อมูลจากการพูดคุยกับชาวบ้านในร้านลาบไปใช้ระบุว่าเป็นการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น
  • เมื่อประชาชนทำจดหมายไปขอคัดสำเนา EIA จาก สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กลับมีคำตอบมาว่าต้องมีค่าใช้จ่ายคือค่าคัดสำเนา กระดาษขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 4,803 บาท และกระดาษขนาด A3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 219 หน้าเป็นเงิน 657 บาท รวมเป็นเงิน 5,460 บาท และค่ารับรองสำเนา อัตราคำรับรองละ 3 บาท (5,022 หน้า) เป็นเงิน 15,066 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,526 บาท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net