Skip to main content
sharethis

ครบ 28 วัน เจ้าหน้าที่จับกุมและคุมตัว 'หยก' เยาวชนวัย 15 ปี เข้าบ้านปรานีด้วยคดี ม.112 จากการแจ้งของอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจับตาวันที่ 27 เม.ย. นี้ จะครบกำหนดการควบคุมตัว 30 วัน พนักงานสอบสวน – อัยการ จะยื่นขอผัดฟ้องควบคุมตัวหยกต่อหรือไม่

 

25 เม.ย. 2566 ครบ 28 วัน หยก เยาวชนวัย 15 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและส่งตัวเข้าสถานพินิจ ในคดี ม.112 ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจับตาวันที่ 27 เม.ย. นี้ จะครบกำหนดการควบคุมตัวพนักงานสอบสวนหรืออัยการจะยื่นขอผัดฟ้องควบคุมตัวหยกต่อหรือไม่ เนื่องจากพนักงานสอบสวนและอัยการสามารถขอผัดฟ้องฝากขังต่อได้อีกถึง 4 ครั้ง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยข้อมูลลำดับคดีของหยกดังนี้ ขณะจับกุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างหมายจับจากคดี 112 ที่มีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. เป็นผู้แจ้งความไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์

ผลจากการจับกุมนำไปสู่เหตุการณ์ในวันที่ 29 มี.ค. 2566 หยกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนกว่า 7 คน ใช้กำลังบังคับอุ้มขึ้นรถเพื่อนำตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุม ซึ่งเมื่อไปถึงหยกได้เลือกนั่งหันหลังให้บัลลังก์ของคณะผู้พิพากษา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าต้องการปฏิเสธอำนาจและกระบวนการยุติธรรม โดยหยกปฏิเสธกระบวนการทั้งหมด และไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่ถูกกล่าวหาข้อหา ม. 112 นี้ ในวันเดียวกัน ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตออกหมายควบคุมตัวหยกเป็นระยะเวลา 30 วัน ซึ่งมีผลทำให้หยกถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่บ้านปรานี หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสถานพินิจฯ เมื่อนับจากวันแรกที่ถูกควบคุมจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 30 มี.ค. 2566 เก็ท โสภณ นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำในมีฐานะเป็นผู้ไว้วางใจของหยกตั้งแต่ต้น ได้เดินทางไปยังบ้านปรานีเพื่อเข้าเยี่ยมหยก และได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่บ้านปรานีให้สามารถเข้าเยี่ยมได้ โดยในการเยี่ยมครั้งนี้หยกได้ฝากข้อความออกมา ตอนหนึ่งระบุว่าการถูกอุ้มและบังคับพาตัวมาที่บ้านปรานีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้หยกต้องการให้มีการพูดถึง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและการทำให้สูญหาย

วันที่ 3 - 7 เม.ย. 2566 ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่หยกแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง พยายามดำเนินการเรื่องเอกสารเพื่อขอเข้าเยี่ยมหยก แต่ไม่ได้รับความสะดวก โดยทางบ้านปรานีอ้างเหตุผลเรื่องการที่ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายไม่ได้รับการแต่งตั้ง ประกอบด้วยเหตุผลเรื่องมาตรการโควิด และไม่ชี้แจงใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ในวันที่ 7 เม.ย. 2566 ที่ปรึกษากฎหมายของหยกได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่บ้านปรานีว่าสามารถเข้าเยี่ยมได้ โดยเป็นการเข้าเยี่ยมในฐานะที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่หยกเป็นผู้แจ้งความ โดยต่อมาทราบว่าปัญหาการเยี่ยมดังกล่าว เกิดจากหยกติดเชื้อโควิด-19 โดยทางบ้านปรานีไม่ได้มีการแจ้งต่อญาติหรือที่ปรึกษากฎหมายของหยกทันที

วันที่ 13 เม.ย. 2566 ผู้ไว้วางใจจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำได้เดินทางไปเยี่ยมหยกที่บ้านปรานี การเยี่ยมครั้งนี้เป็นการเยี่ยมโดยสามารถได้เข้าพบหยกด้วยตนเอง (มีแผ่นพลาสติกใสกั้นตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19) ซึ่งหยกได้ฝากความขอบคุณออกมายังทุกคนที่ฝากสิ่งของ อาทิ หนังสือ ปากกา ตลอดจนอาหารเข้าไปให้ เธอระบุว่ารู้สึกเกรงใจเป็นอย่างมากเพราะรู้ว่าสถานเศรษฐกิจนั้นไม่ค่อยดี และการที่ส่งของให้เธออาจทำให้คนอื่น ๆ ลำบาก ขณะเดียวกันหยกยังได้ฝากความขอบคุณไปยังเพื่อนๆ นักกิจกรรมที่ได้จัดกิจกรรมยืนถือป้ายบอกเล่าเรื่องราวของเธอในงานหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมสิริกิต์ และได้ฝากข้อความถึงพรรคการเมืองที่ต่างเร่งหาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งนี้ว่า

“การที่หนูมาอยู่ในสถานพินิจ ถูกดำเนินคดีตั้งแต่อายุ 14 ด้วย ม.112 ถูกหมายจับและส่งเข้ามาสถานพินิจตอนอายุ 15 แบบนี้ ยังไม่เห็นปัญหาของ ม.112 อีกหรือ” ข้อความจากหยกถึงพรรคการเมือง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net