Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเลือกตั้งทั่วไปของไทยกลางเดือนหน้าเข้มข้นทุกขณะ วันก่อนได้ยินเด็กข้างบ้านทายกันว่า “ปลาอะไรฉุดประเทศ” เด็กเฉลยว่า “ปลาหยุด” รู้สึกใจหาย สะท้อนความนิยมที่มีต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ หรืออาจรวมถึงไทยภักดี สำหรับทางจิตวิทยาสังคม อย่างน้อยคนก็เบื่อกับการอยู่ในอำนาจนานถึงแปดปีของทีมปลาหยุด แต่ที่เหนือกว่านั้นคงจะเป็นความรู้สึกที่มีต่อ “การเปลี่ยนแปลง” คนไทยน่าจะมองไม่เห็น “ความเปลี่ยนแปลง” โดยการฉายภาพของ “ความก้าวหน้า” และ “ความฉลาดเฉลียวทางวิชาการ” ของรัฐบาล (ดูเหมือน “พี่นุ” กับ “พี่คม” ตกรุ่นทางความคิดไปนานแล้ว) สาเหตุมาจากการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมายึดระบบอนุรักษ์นิยมและใช้รัฐข้าราชการเป็นหลัก อีกทั้งยังไม่ค่อยเข้าใจโลกเข้าใจสังคม เพราะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับอารมณ์ความรู้สึกของคนหรือที่เรียกกันว่า “กระแสการเมือง” คิดแต่ว่าตัวเองมีอำนาจและสามารถสร้างกระแสการเมืองได้เอง

การเลือกตั้งของไทยจึงมีตัวบ่งชี้ไม่กี่ตัว นอกจาก “กระแสการเมือง” แล้ว ยังมีตัวอื่นที่สำคัญอีกสองตัว 

ตัวหนึ่ง คือ ฐานเสียง ที่จริงคือการที่ผู้สมัครส.ส.สร้างกลุ่มพรรคพวกและหัวคะแนนเอาไว้ นับเป็นตัวตัดสินผลการเลือกตั้งได้มากเหมือนกัน ตัวอย่าง การเลือกตั้งท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ผู้สมัครคนแรกได้รับความนิยมมาก ทำโพลกี่ครั้ง คนนี้ก็นำโด่ง แต่คู่แข่งคนหลังนิ่งเงียบ คนหลังใช้วิธีมัดจำหัวคะแนนเป็นหลัก พอใกล้วันเลือกตั้งคนแรกแจกกล้วยชาวบ้านคนละ 500 คนหลังแจกคนละ 2.000 ปรากฏว่า  คนหลังมาวิน หากจะว่าคนไทย “ตีค่ากันเป็นเงิน” ก็ไม่ถูก ดูเหมือนมาจากการสร้างฐานเสียงเอาไว้มากกว่า ฐานเสียงของไทยในปัจจุบันจึงผูกมัดกันด้วยความรักความภักดีอย่างหนึ่ง แต่อีกอย่างหนึ่ง คือ “เครือกล้วย” ดังนั้น การที่การเมืองไทยเป็น “การเมืองของการใช้เงิน” (money politics) ก็นับว่ามีส่วนถูกไม่น้อย แต่วิธีการก็ต้องแยบยลและสัมพันธ์กับระยะเวลาของความผูกพัน ใครสักคนจะหอบเงินใส่กระสอบมาแจกตอนเลือกตั้ง ก็ยังตอบยากว่าจะฝ่ากระแสความผูกพันระหว่างนักการเมืองกับฐานเสียงได้หรือไม่ ข้อที่น่าคิด คือ ผู้สมัครส.ส.เอาทุนมาจากไหน คำตอบคือ ตัวเองและครอบครัวส่วนหนึ่งและพรรคการเมืองอีกส่วนหนึ่ง เงินของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เอามาจากการรับเหมา ที่จริงเป็นการยึดกุมทรัพยากรของรัฐในท้องถิ่น (elite capture) ที่แก้ไม่ตกในสังคมไทยในปัจจุบัน ถ้าฐานเสียงดี การใช้เงินอาจไม่ต้องมาก แต่ถ้าถามว่า “ไม่ใช้เลยได้ไหม” คำตอบก็คือ “คงไม่ได้” เพราะกลายเป็นว่าการเลือกตั้งของไทยยุคนี้ “ใคร ๆ เขาก็ใช้กัน” คนที่ได้ประโยชน์ปุบปับจากการเลือกตั้งจึงไม่ใช่ส.ส.หรือหัวคะแนน ซึ่งอาจกันเงินจากพรรคไว้ส่วนหนึ่งหรือกันเงินแจกชาวบ้านไว้ส่วนหนึ่ง ปัจจุบันประหลาดและใหม่มาก คือกลายเป็น “คนคุมการเลือกตั้ง” โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น ยิ่งคนที่กล่าวนี้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เท่าไหร่ก็น่าจะยิ่งได้ประโยชน์ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการไล่จับการโกงเลือกตั้ง

ส่วนตัวบ่งชี้อีกตัว คือ นโยบายของพรรคการเมือง คนไทยเข้าใจผิดมาก แม้แต่นักวิชาการที่นำเสนอความคิดผ่านสื่อต่าง ๆ “นโยบายประชานิยม” ไม่ใช่นโยบายแจกเงินอย่างเดียว กลวิธี       ประชานิยมที่พานิซซา (Panizza) ศึกษามาอย่างยาวนานมีสามขั้นตอน ขั้นตอนแรก เข้าข้างคนจนและคนเสียเปรียบ ขั้นตอนที่สอง ผูกโยงมาหาตนว่าตนได้ช่วยเหลือคนจนและคนเสียเปรียบอย่างไรบ้าง และขั้นตอนที่สาม จึงเป็นการระดมทางการเมือง ทั้งในแง่จำนวนคน การเคลื่อนไหวและการตอบสนองทางนโยบายสาธารณะ สำหรับนโยบายการแจกเงิน ก็คือการแจกเงิน เป็นนโยบายการถ่ายโอนเงิน (money transfer) ซึ่งมีได้ทุกระบบการปกครอง ไม่ถึงกับเป็นนโยบายประชานิยมกระแสหลักตามที่พานิซซาอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ประชานิยมจะได้ผลก็ต่อเมื่อ รัฐบาลชุดก่อนไม่เหลียวแลคนจน จึงสามารถกระตุ้นให้คนจนตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งถ้าหากความตื่นตัวมีมากอาจเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ แต่ถ้าตื่นตัวเป็นไฟไหม้ฟาง ก็จะติดกับดัก “ผู้นำ” ยังต้องพึ่งผู้นำ ผลที่ตามมาได้แก่การเชิดชูผู้นำ และอาจทำให้ประเทศเกิดปัญหาระยะยาว เช่น เศรษฐกิจการคลัง หนี้สาธารณะและการเปลี่ยนประเทศไปเป็นประชาธิปไตย รวมถึงการขยายรากลึกของระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง นโยบายประชานิยมเป็น “patchy policies” หรือ “patchwork” เหมือนเราเอารถไปซ่อมแทนที่จะซ่อมทั้งคันเป็นเรื่องเป็นราว กลับปะผุ ซ่อมนิดซ่อมหน่อย แล้วก็กลับมาซ่อมอีกอยู่ไม่หยุดหย่อน

สาเหตุของการเกิดนโยบายประชานิยมจึงมาจากการที่ประเทศขาดสวัสดิการสังคมและหรือไม่สามารถเปลี่ยนประเทศไปเป็นรัฐสวัสดิการได้ เพราะปัญหางบประมาณ ซึ่งหมายถึงรายได้จากภาษีมีจำกัด ขณะที่รายจ่ายตายตัวอยู่แล้วในแต่ละปี ไม่สามารถจัดหาเงินก้อนใหญ่มาเปลี่ยนประเทศได้ โดยเฉพาะวิธีการหาเงินโดยการขึ้นภาษี VAT จะสร้างความยากลำบากให้กับผู้บริโภคและไม่เป็นธรรม เพราะกลายเป็นว่าคนรวยคนจนเสียภาษีในอัตราเดียวกัน ทั้งที่ฐานรายได้แตกต่างกัน การหาเงินก้อนใหม่โดยไม่แตะที่ฐานภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก เพื่อจัดสวัสดิการสังคมจึงเป็นไปไม่ได้ ถ้าระบบสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึงเป็นระบบดังกล่าวสามารถกระทำได้ง่าย ประเทศต่าง ๆ ในโลกคงทำกันหมดแล้ว ดังนั้น นโยบายประชานิยมจึงเป็น “นโยบายสวัสดิการประเภทเลือกให้” หรือ “ชั่วคราว” ไม่ใช่นโยบายสวัสดิการสังคมหรือระบบสวัสดิการสังคมเต็มรูป

สำหรับฤทธิ์ของการแจกเงินหรือแม้แต่นโยบายประชานิยมก็ตาม หากเป็นยุคเริ่มต้น เช่น “สมัยทักษิณ” ฤทธิ์จะแรงกลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจครอบงำทางความคิดคน แต่สมัยหลัง ๆ ไม่ใช่แล้ว เพราะทุกรัฐบาลก็ใช้ ไล่มาตั้งแต่ “สมัคร” “สมชาย” “สุรยุทธ์” “อภิสิทธิ์” “ยิ่งลักษณ์” แม้แต่ชุดปลาหยุด ฤทธิ์ของนโยบายประชานิยมจะเจือจางลง นักวิชาการบางคนเรียกว่า “คลื่นประชานิยมยุคหลัง ๆ “ ดังนั้น อารมณ์ของการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง จึงค่อนข้างแน่ชัดว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “นโยบาย” ยิ่งเห็นรัฐบาลบางพรรคไปตั้งศูนย์ผลิตนโยบายทุกสัปดาห์แล้วหดหู่ เพราะที่จริงในต่างประเทศ พรรคใหญ่เขาจะมี policy unit ศึกษานโยบายกันเป็นเรื่องเป็นราว พรรคการเมืองเขาจึงเป็นสถาบันจริง ๆ ไม่ใช่อยู่มานานตามระยะเวลาแล้วกลายเป็นสถาบันขึ้นมาโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีระบบระเบียบ โดยเฉพาะ “theory practices” คือ ระบบวิธีคิดที่ก้าวหน้าพอสมควร

การเลือกตั้งเดือนหน้าจะทายผลได้ไม่ยาก โพลก็พอช่วยได้ ไม่ถึงกับต่อว่า “เก็บตัวอย่างน้อยรายแล้วทำนายผลไม่ได้” เพราะโพลที่ดีในโลก คือ โพลที่ใช้ตัวอย่างน้อย แต่ทำนายผลได้แม่นยำ แต่ต้องระวังอารมณ์คนหลังจากทำโพลมากกว่า เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นอารมณ์มากกว่าเหตุผล และฝ่ายนักการเมืองก็สามารถสร้าง “มติมหาชน” ได้ เช่น โดยวิธีการทำโพลชี้นำ (push poll) หรือสร้างกระแสขึ้นมาใหม่ เช่น “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หรืออย่างอื่น ไม่ใช่ประชาชนเป็นฝ่ายเดียวสร้าง “มติมหาชน” 

สำหรับทัศนะของผู้เขียน พรรคที่น่าจะได้คะแนนมากที่สุดน่าจะเป็น “เพื่อไทย” เนื่องจากคนเบื่อรัฐบาลเก่าและโหยหาการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับส.ส.เพื่อไทยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานเสียงอยู่แล้วในชนบท ปัญหาใหญ่ของพรรคนี้อยู่ที่ “กล้วย” เพราะพรรคนี้น้ำแล้งมาหลายเดือนแล้ว กล้วยโตไม่ทัน ลูกพรรคไม่ค่อยได้กินกล้วยเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไหร่ การหานายทุนพรรคคนใหม่มาช่วยลงขันจึงจำเป็น หากสู้เต็มสูบเหมือนเมื่อก่อน ก็เชื่อขนมกินได้ว่าเข้าวิน ส่วนพรรคที่สองรองลงมาน่าจะคู่คี่ระหว่าง “ก้าวไกล” กับ “ภูมิใจไทย” ก้าวไกลน่าจะได้เสียงคนในเมืองและคนหนุ่มสาว รวมถึงคนที่ต้องการเปลี่ยนประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่ ประกอบกับพรรคนี้สามารถสร้างฐานที่มั่นปัญญาชนได้อย่างแข็งแรงในการเมืองไทย ส่วนภูมิใจไทยใช้วิธีระดมสรรพกำลังโดยการดูดคนจากพรรคเก่าด้วยกล้วยเครือมหึมา ส.ส.เก่าที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว ก็น่าจะเอาตัวรอดได้หลายคน แต่ “สิ่งที่จะเอาไปหาเสียง” อาจลำบาก เพราะไม่รู้จะพูดกับชาวบ้านยังไงว่าทำไมเปลี่ยนพรรค สำหรับ “พลังประชารัฐ”และ “รวมไทยสร้างชาติ” น่าจะตามกันมาติด ๆ “ประชาธิปัตย์” ไม่ต้องพูดถึง นอกจากไม่มีกล้วยแล้ว ฐานเสียงเดิมยังถูกเจาะจนพรุน นอกนั้นคงประสาพรรคเกิดใหม่ ไม่ว่า “ไทยสร้างไทย” หรือ “ไทยภักดี” ยิ่งพวกที่เคยต่ำสิบ เที่ยวนี้อาจหลุดหมดเพราะระบบการนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่เอื้อ เว้นแต่คนเกิดรู้สึกเสียดายสีสันอย่าง “พี่เต้” หรือ “หมอระวี” เอาเข้ามาสภาสักคนสองคนก็ดี

ปัญหาใหญ่หลังเลือกตั้งอยู่ที่ “การจัดตั้งรัฐบาล” เพราะแม้ว่ามีพรรคได้เสียงมากกว่าพรรคอื่น แต่อาจจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะเสียงจะกระจาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้นับรวมกับจำนวน ส.ว.ด้วย “เสียงกึ่งหนึ่ง” ของรัฐสภา จึงไม่ง่าย เวลานั้น เสียง ส.ว.คงมีค่ามหาศาล แต่จะถึงขั้นแปรเปลี่ยนเป็นกล้วยหรือไม่ คงยากต่อการคาดเดา เพราะเขาคงไม่กระโตกกระตากให้ใครรู้ ดังนั้น ส.ว.จะเป็นตัวตัดสินการตั้งรัฐบาล แต่ ส.ว.ช่วยได้เฉพาะตอนตั้งรัฐบาล ส่วนตอนอภิปรายและยกมือในสภาผู้แทนนี่สิ ส.ว.ไม่ได้เข้ามาช่วย จึงน่าคิดว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจากเสียงสนับสนุนส่วนมากจาก ส.ว.จะอยู่ได้นานแค่ไหน ยิ่งถ้า “คุณปลาหยุด” ได้กลับมาอีกก็เป็นรัฐบาลอยู่ได้แค่สองปี ระหว่างนั้นคงถูกกวนน่าดูทั้งจาก ส.ส.และมวลชน ส่วนการก้าวกระโดดข้ามความขัดแย้ง โดยกลับข้างรวมขั้ว ก็อาจเป็นไปได้ประสาการเมืองไทย แต่คนเลือกตั้งเขาจะคิดยังไง หรือว่า  “ไม่เป็นไรน่า..ค่อยอธิบายกันทีหลัง??”

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net