สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23-29 เม.ย. 2566

‘ปลัดแรงงาน’ สั่ง กกจ.-ทูตแรงงาน อำนวยความสะดวก อพยพแรงงานไทยในซูดาน

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลืออพยพคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในซูดานนั้นว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้คนไทยแจ้งความประสงค์เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะเดินทางด้วยทางเรือโดยสารจากซูดานไปยังเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อมาขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศกลับสู่ประเทศไทยนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ตนได้สั่งการให้ทูตแรงงานที่กรุงริยาด สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบว่ามีแรงงานไทยเดินทางกลับด้วยหรือไม่ พร้อมไปช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย.

ล่าสุดได้รับรายงานจากนายชาติชาย เทียมสนิท ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) รักษาราชการแทน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) ว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. เวลา 22.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้อพยพคนไทยจากซูดาน ชุดที่มาเรือลำที่ 2 จากทั้งหมด 3 ลำ รวม 32 ราย ในจำนวนนี้มี 7 ราย เป็นแรงงานหญิงทำงานที่ร้านนวดสปา และโรงแรมอัสซาลาม ทั้งหมดปลอดภัย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำเรื่องการเดินพร้อมช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับรายงานอีกว่า มีแรงงานไทยมีรายชื่อทำงานในร้านนวดอีก 24 ราย แต่ส่วนมากได้กลับไปพักผ่อนในช่วงเดือนรอมฎอน จึงเหลือแรงงานทำงานในช่วงที่มีการปะทะกันจำนวนไม่มาก สำหรับคนไทยที่เหลืออีก 34 ราย ยังไม่สามารถระบุได้ว่า มีแรงงานไทยรวมอยู่ด้วย สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (สนร.ริยาด) จะติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ส่งเจ้าหน้าที่กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ร่วมปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือคนไทยที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ซึ่งคนไทยที่เดินทางกลับถึงไทยเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 78 คนนั้น เป็นนักศึกษาไทยมุสลิมจากจังหวัดในภาคใต้ 73 คน เป็นแม่บ้าน 1 คน ทำงานและอาศัยที่ซูดานประมาณ 30 ปี เดินทางพร้อมลูก 4 คน ซึ่งได้ให้คำแนะนำการทำงานในประเทศไทย และการทำงานต่างประเทศที่ถูกกหมาย ตลอดจนการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนฯ ซึ่งหากประสบภัยสงครามจะได้รับเงินสงเคราะห์ฯ รายละ 15,000 บาท ตามเงื่อนไขของระเบียบของกองทุนฯ

ทั้งนี้ จากรายงานของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ พบว่า มีแรงงานไทยที่แจ้งเดินทางกับกรมการจัดหางานจำนวน 11 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ 10 คน และสมาชิกที่สิ้นสุดความคุ้มครองแล้ว 1 คน ส่วนแรงงานที่เหลือจะเดินทางด้วยตนเองไม่ผ่านกรมการจัดหางาน

ที่มา: เดลินิวส์, 28/7/2566

ผลสำรวจโดย ‘เมอร์เซอร์’ ชี้ นายจ้างไทยเริ่มยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ยังขาดการดูแลสวัสดิภาพและทักษะของพนักงาน

จากรายงานแนวโน้มตลาดแรงงานที่มีทักษะศักยภาพสูงทั่วโลกในปี 2566 ซึ่งจัดทำโดยเมอร์เซอร์ (Global Talent Trends (GTT) Study 2023) ได้สำรวจความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร โดยมีผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลประมาณ 2,500 คนทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย พบว่าผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลในไทยส่วนมากมีความเห็นสอดคล้องกับทิศทางในภาพรวมของรายงานเช่นกัน

6 ใน 10 ของผู้บริหารในภาพรวมคาดการณ์ว่า แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังไม่สดใสมากนัก แต่องค์กรของตนเองจะสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงหรือมีการเติบโตที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดี หากคำนึงถึงแผนธุรกิจสำหรับในปีนี้ ผู้บริหารส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความกังวลในเรื่องต้นทุนของการลงทุนและหนี้สินของบริษัท และภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว อันมีผลต่อการแข่งขันเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีทักษะและความสามารถโดดเด่น

จากความเห็นของผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล 83 คนในไทย พบว่าประมาณ 47% กังวลเกี่ยวกับภาวะการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถและทักษะที่องค์กรต้องการในอนาคต และ 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีความเห็นว่าพนักงานมีภาระหน้าที่ที่อาจจะต้องรับผิดชอบมากเกินไปจนทำให้พนักงานไม่มีสมาธิมากพอในการบริหารจัดการในแต่ละชิ้นงาน และ 38% กล่าวว่า องค์กรจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างแผนงานการปรับเปลี่ยนขององค์กรไปพร้อมๆ กับการสร้างกระบวนการทางความคิดในเชิงบวกของพนักงาน เพื่อให้องค์กรสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ผลสรุปของรายงานหลักๆ ในปีนี้ได้แสดงถึงความจำเป็นที่นายจ้างในประเทศไทยจะต้องสร้างวิถีการทำงานในรูปแบบใหม่ให้แก่พนักงาน และมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการสร้างทักษะของพนักงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานต่อไป

จักรชัย บุญยะวัตร ประธานและกรรมการ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นของนายจ้างในไทยซึ่งเริ่มพิจารณาหาวิถีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องและสนองตอบกับความต้องการของพนักงานที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นในมิติต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้ในหลายองค์กรอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาในภาพรวมเท่านั้น เรายังให้คำแนะนำแก่นายจ้าง พิจารณาให้ความสำคัญในการสร้างประสบการณ์โดยรวมของพนักงาน โดยลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานของพนักงาน และพยายามออกแบบรูปแบบการทำงานใหม่ๆ โดยอาจจะเริ่มต้นจากพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นสำคัญ

นอกจากนั้นผู้บริหารสายงานด้านทรัพยากรบุคคลควรมีแนวคิดเชิงรุกในการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเพิ่มพูนทักษะของพนักงาน โดยลงทุนในการพัฒนา สร้างเสริม และการเปลี่ยนแปลงทักษะของบุคลากรให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กร โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของนายจ้างในไทยในด้านการให้ความช่วยเหลือพนักงานเมื่อเกิดวิกฤตเหตุการณ์ต่างๆ ยังคงตามหลังทวีปเอเชียในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านสุขภาพจิต ซึ่งมีองค์กรเป็นจำนวนเพียง 13% ที่มีกลไกช่วยเหลือพนักงานในการบริหารจัดการวิกฤตที่มาจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนายจ้างในภูมิภาคเอเชียที่มีค่าเฉลี่ยในระดับ 21% นอกจากนี้จากผลสำรวจมีองค์กรประมาณ 23% ในประเทศไทย ที่สามารถให้พนักงานเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตผ่านระบบออนไลน์ได้ตามความประสงค์ของพนักงาน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่อยู่ที่ระดับ 26%

อีกหนึ่งความท้าทายที่นายจ้างในประเทศไทยต้องเผชิญในแง่ของการพัฒนา คือการทำให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยทักษะ (ให้ทักษะเป็นศูนย์กลาง) โดยนายจ้างจำนวน 60% เทียบกับค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 56% มีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นในองค์กร แต่ผู้บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลอาจจะยังไม่สามารถพัฒนาและสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถได้ตามแผนงานที่วางไว้ได้ ซึ่งมีเพียงประมาณ 3 ใน 10 ของนายจ้างไทยที่มีหน่วยงานที่สรรหาบุคลากรที่มีความสามารถภายในองค์กรเทียบกับ 40% ในเอเชีย และมีนายจ้างเพียงประมาณ 33% เท่านั้นที่สนับสนุนให้พนักงานเข้ารับการฝึกอบรมทักษะตามความประสงค์ของพนักงานเพื่อพัฒนาอาชีพการงาน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 60% ของนายจ้างในภูมิภาคเอเชีย

ในด้านของการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อวัดและประเมินทักษะของพนักงานในองค์กร บริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ยังคงตามหลังค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียในภาพรวมเช่นกัน โดยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 41% มีนายจ้างไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ใช้แพลตฟอร์มข้อมูลด้านบุคลากรที่ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ และมีเพียง 43% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 53% ของเอเชีย ที่ใช้เครื่องมือการวัดเชิงจิตวิทยาเพื่อประเมินศักยภาพของบุคลากร

ที่มา: The Standard, 25/4/2566

ผลสำรวจพบหนี้ครัวเรือนแรงงานไทย แตะ 2.7 แสนบาทต่อครัวเรือน สูงสุดในรอบ 13 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจโพล “สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท” จำนวน 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยเป็นการสำรวจระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย. 2566

กลุ่มตัวอย่างมีทั้งลูกจ้าง พนักงานภาครัฐและเอกชน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 51 % อยู่นอกระบบ และอยู่ในระบบประกันสังคม 49 % สำหรับสถานะการออมเงินของแรงงานกลุ่มตัวอย่าง พบว่าไม่มีเงินเงินออม 73.5 % ส่วนคนที่มีเงินออม 26.5 % โดยมีเงินออมเฉลี่ยที่ 950 บาทต่อเดือน

เมื่อไปดู สถานะภาพหนี้แรงงานของไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 99.1 % ที่มีหนี้ครัวเรือน มีเพียง 0.9%  เท่านั้นที่ไม่มีหนี้ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้กลุ่มมีหนี้ต้องกู้เงิน 3 อันดับแรก คือ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 14.5 % หนี้บัตรเครดิต 12.5 % ใช้คืนหนี้เก่า 10.7 %  และในจำนวนนี้ หนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่นำไปใช้จ่าย อุปโภคบริโภค (41.4 %) ใช้หนี้เดิม (21.6 %) และที่อยู่อาศัย (10.8 %)

แต่ที่น่ากังวล คือ การชำระหนี้บัตรเครดิตในแต่ละเดือน พบตัวเลขที่น่ากังวล คือ ชำระขั้นต่ำ ถึง 68.8 % รองลงมา แบ่งชำระบางส่วน 26.7 % ชำระเต็มจำนวน 4.3 % และ ขาดการชำระและผ่อนผันการชำระ 0.2 % 

ในปี 2566 ยังพบภาระหนี้ของครัวเรือนแรงงานไทยอยู่ที่ 272,528 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 25.04 % ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยมีอัตราการผ่อนชำระ 8,577 บาทต่อเดือน ในจำนวนนี้แยกเป็นหนี้ในระบบ 79.84 % ผ่อนชำระต่อเดือน 7,936 บาท อัตราดอกเบี้ย 8.76 % ต่อปี และนอกระบบ 20.16 % ผ่อนชำระต่อเดือน 2,381 บาท อัตราดอกเบี้ย 15.47% ต่อเดือน

ขณะที่สถานภาพทางการเงินของแรงงาน พบกลุ่มตัวอย่าง 77.2 % มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ส่วน 12.8 % ไม่มีปัญหา เพราะซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนกิจกรรมในช่วงวันหยุดแรงงานในปี 2566 พบ 3 อันดับแรก กลุ่มตัวอย่าง จะออกไปซื้อของ 49.2 % ท่องเที่ยว 34.2 % และทานอาหารนอกบ้าน 29 %

ส่วนการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงาน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,528 บาท และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 51.5 % คาดว่าบรรยากาศแรงงานปีนี้จะคึกคักมากกว่าปี 2565 คาดส่งผลให้เกิดมูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานในปี 2566 มูลค่า 2,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 29.8 %

นอกจากนี้ แรงงาน ยังเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรง หรือ ค่าครองชีพ เช่น การมีมาตรการในการดูแลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดค่าใช้จ่าย และ กระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว

ที่มา: PPTV, 27/4/2566

รัฐบาลเผยส่งเสริมฝีมือแรงงาน 5.2 ล้านคนใน 3 ปี หนุนคนไทยมีงานทำ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานที่ได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทย กว่า 5.2 ล้านคน เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของแรงงานไทย ผลักดันเศรษฐกิจ

ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2564 - 2566 รัฐบาลร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน ทั้งแรงงานใหม่ แรงงานในสถานประกอบกิจการ แรงงานนอกระบบ และแรงงานที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ตามพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะ สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ต่อตนเอง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

สำหรับแนวทางในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ประกอบด้วย กระบวนการฝึกอบรม การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่พนักงานของตนเอง การรับรองความรู้ ความสามารถ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาแรงงาน

ส่วนผลการดำเนินการ 3 ปีที่ผ่านมา สามารถพัฒนากำลังแรงงาน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ทำให้แรงงานมีทักษะฝีมือที่เพิ่มขึ้น และ สามารถปรับตัวเท่าทันเทคโนโลยี ได้จำนวน 5,255,833 คน และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 13,775 บาท ต่อคน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 157,890 บาทต่อคนต่อปี โดยพบว่าแรงงานที่ผ่านการพัฒนาทักษะมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ผ่านการฝึกอบรม ได้แก่ แรงงานใหม่  25% แรงงานในสถานประกอบกิจการ 19% แรงงานนอกระบบ 9%

“นายกรัฐมนตรียินดีกับผลการดำเนินงาน และความสำเร็จการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ช่วยพัฒนาทักษะฝีมือของแรงงานไทย ทั้งนี้ ด้วยแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพ และทักษะแรงงานไทย เพื่อให้แรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย เชื่อมั่นเมื่อแรงงานไทยมีศักยภาพที่สูงขึ้นจะเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจไทย”

ที่มา: Nation Online, 27/4/2566

เครือข่ายแรงงาน-ภาคประชาชน จี้รัฐลดค่าไฟ-เลิกผูกขาดสัญญาเอกชน

25 เม.ย. 2566 เครือข่ายแรงงานและองค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เครือข่ายไฟฟ้า ประปา และยาเพื่อชาติเพื่อชาติและประชาชน (คฟปย.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) เครือข่ายสลัมสี่ภาค และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพง ยกเลิก “สัญญาทาสให้เอกชนผูกขาดผลิตไฟฟ้า”

ทั้งนี้ ใจความระบุว่า ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนอันเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้ามีราคาแพง ในขณะที่ค่าจ้าง รายได้ของประชาชน คนทำงานไม่มีการปรับเพิ่ม เกษตรกรราคาผลผลิตตกต่ำซ้ำร้ายต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง หนี้สินเพิ่มพูน ทั้งหนี้สินบุคคล และหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นถึงเกือบ ร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยการลดรายจ่ายของประชาชน แต่รัฐบาลกลับซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ด้วยการประกาศขึ้นราคาค่าไฟฟ้าค่าเอฟที งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยรวมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ได้แก่ประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ) อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าในงวดใหม่ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะคิดในอัตราเดียวในอัตรา 4.77 บาทต่อหน่วย ก็จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างแสนสาหัส

ข้อมูลในเชิงประจักษ์ชัดจากนักวิชาการด้านพลังงานยืนยันชัดเจนว่า เหตุที่ไฟฟ้าราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต่อไปเหตุเพราะรัฐบาลได้ไปทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนระยะยาว เป็นเวลาถึง 25 ปี และมีการประกันรายได้และกำไรแม้ว่าในช่วงเวลาใดที่บริษัทเหล่านั้นไม่ผลิตไฟฟ้าก็ตาม และปัจจุบันการใช้กระแสไฟฟ้าในประเทศทั้งหมด ประมาณ 30,000 เมกกะวัตต์ แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสูงถึงประมาณ 50,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองมีอย่างเพียงพอ บริษัทผลิตไฟฟ้าก็ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าส่งแก่รัฐ แต่รัฐต้องจ่ายเงินให้แก่กลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชนทุกเดือนและค่าใช้จ่ายนี้ รัฐบาลสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรียกเก็บจากประชาชนที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” นั่นคือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่รัฐบาลไม่ได้พูดความจริงต่อประชาชน และไม่แก้ไขปัญหาโดยการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนี้ ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเอกชน แต่ความเดือดร้อน ความทุกข์ยากประชาชนต้องแบกรับ

และไม่เพียงแค่นั้น กลุ่มทุนพลังงาน กลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชนก็พยายามรุกต่อ นอกเหนือจากการแทรกแซงการผลิตไฟฟ้าของรัฐ คือ ให้ กฟผ.ลดกำลังการผลิต เหลือเพียงร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งหมด แล้วให้ กฟผ.รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากกลุ่มทุนเอกชนในราคาที่แพง เมื่อเอกชนยึดการผลิตไฟฟ้าได้แล้วก็กำลังรุกต่อด้วยการเข้ายึดครองเพื่อควบคุมระบบสายส่ง และระบบควบคุมไฟฟ้า โดยเสนอต่อหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลเรื่องกิจการพลังงานว่าให้เป็นองค์กรอิสระ เพราะเกิดความคล่องตัว แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ แท้จริงแล้วคือ ขบวนการยึดครองกิจการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ แปลงสภาพจากกิจการของรัฐให้เป็นของกลุ่มทุนเอกชนเต็มรูปแบบ ซึ่งหากสามารถยึดระบบการผลิต ระบบสายส่ง และระบบควบคุมไฟฟ้าได้แล้ว นั่นหมายความว่า ชีวิต ชะตากรรมของประชาชนก็จะตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนเอกชนซึ่งเป้าหมายสูงสุด ก็คือ กำไร

การที่ไฟฟ้าราคาแพงมิใช่เพียงแค่ประชาชนแต่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบการรายย่อย รายใหญ่ โรงพยาบาล โรงเรียน ศาสนสถาน การเผาศพ และอื่นๆ ก็จะเดือดร้อนไปด้วย แต่ทั้งหมดราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นคนที่แบกรับภาระทุกภาระ ก็คือ ประชาชน สสรท.และเครือข่ายภาคประชาชนไม่อาจทนอยู่กับสภาพการถูกขูดรีดจากกลุ่มทุนพลังงาน กลุ่มทุนไฟฟ้าภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งก่อนหน้านี้และรัฐบาลปัจจุบันได้อีกต่อไป โดยอาจอ้างว่ารัฐบาลชุดก่อนทำไว้ แล้วมาถึงรัฐบาลนี้แล้วปล่อยไป โดยไม่มีการแก้ไข เหตุผลเหล่านั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะหน้าที่รัฐบาล คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา

1.ให้รัฐบาลหามาตรการ วิธีการลดราคาค่าไฟฟ้าอย่างสมเหตุ สมผล เป็นธรรมแก่ประชาชนทันที โดยไม่มีเงื่อนไข

2.ให้รัฐบาลเจรจายกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจากกลุ่มทุนพลังงาน ไฟฟ้า เอกชนที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ ประชาชนเสียหายที่เรียกว่า “สัญญาทาส” โดยเร่งด่วนและให้ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจา ให้ข้อมูล และตัดสินใจ

3.สนับสนุน ส่งเสริมทั้งความรู้ ข้อมูล ผลิตภัณฑ์ งบประมาณให้หน่วยงานของรัฐ ประชาชนใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อน หากประชาชนผลิตได้ใช้ไม่หมด ให้รัฐรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม

4.เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รัฐบาลต้องสนับสนุนส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งหมด

5.ขอให้ยกเลิกนโยบายการแปรรูประบบสายส่ง และระบบควบคุมไฟฟ้าของ กฟผ. และสร้างโครงข่ายเชื่อมร้อยกับการผลิตไฟฟ้าของประชาชน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/4/2566

ก.แรงงาน เคลียร์แล้วเคสนายจ้างทำร้ายลูกจ้าง จ.ชลบุรี ได้เงินเยียวยา พร้อมเริ่มงานที่ใหม่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงข่าวลูกจ้างโดนนายจ้างโหดทุบหัวโยนทิ้งข้างทางในพื้นที่จังหวัดชลบุรี สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นได้รับรายงานว่า เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 ลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บ อายุ 38 ปี ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย โดยลูกจ้างทำงานก่อสร้างต่อเติมบ้านพักในอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ได้ค่าจ้างวันละ 500-550 บาท แต่นายจ้างไม่พอใจการทำงานและไม่ให้ทำงานอีก จึงติดต่อนายจ้างใหม่ให้มารับ ทำให้นายจ้างเก่าไม่พอใจ ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายจ้างเก่าจ่ายเงินเยียวยา จำนวน 6,000 บาท ลูกจ้างไม่ติดใจเอาความ โดยวันที่ 25 เมษายน 2566 ลูกจ้างได้ไปเริ่มทำงานกับนายจ้างใหม่ที่จังหวัดนครปฐมแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานชี้แจงข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้นายจ้างเก่าทราบด้วย ถือว่ากรณีนี้จบโดยลูกจ้างได้เงินเยียวยาพร้อมเริ่มงานที่ใหม่

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำไปยังนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหากับทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด

ที่มา: สยามรัฐ, 26/4/2566

ปลัด สธ. สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน กรณีรพ.ศูนย์ประกาศตัดค่าโอทีเนื่องจากการเงินติดลบ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสื่อโซเชียลมีการเผยแพร่ข่าว โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่ง สถานะการเงินติดลบ 343 ล้านบาท และประกาศตัดค่าโอทีเจ้าหน้าที่ ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดไปตรวจสอบตามข้อมูลที่ระบุแล้วว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่หากจริงเกิดขึ้นที่ใด และเกิดขึ้นจากสาเหตุใด รวมถึงยังมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข หากพบว่ามีมูล ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 7 วัน ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นห่วงคือ มีการตัดค่าโอทีจริงหรือไม่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายให้หน่วยงานตัดค่าโอทีของเจ้าหน้าที่ หากเป็นจริงถือว่าขัดต่อนโยบาย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามเฝ้าระวังสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลมาโดยตลอด กรณีสถานะทางการเงินติดลบ แสดงถึงรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งได้กำชับว่าต้องไปดูทั้งสองส่วน คือ รายได้ มีการติดตามทวงหนี้ มีการเบิกจ่ายครบถ้วนหรือไม่ ส่วนรายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นไปถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

ที่มา: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 24/4/2566

ไทยและกัมพูชา MOU การจ้างงาน เล็งตั้งศูนย์หนุนแรงงานกัมพูชาในไทย

24 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา-ไทย โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุมร่วมกับ ดร.เส็ง ศักดา (H.E.Seng Sakda) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่โรงแรมอังกอร์พาราไดซ์ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 19-21 เม.ย. 2566

นายสุชาติกล่าวว่า ตามที่ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมการจัดหางาน ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย กรณีแรงงานกัมพูชาไม่มีเอกสารเดินทาง สามารถขอเอกสารข้ามแดนได้ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทย เพื่อเดินทางไปกัมพูชาเพื่อขอบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodia Worker Card : OCWC) และเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ได้

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะแจ้งข้อมูลของแรงงานกัมพูชาที่จำเป็นต้องจัดทำเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลเพื่อพิจารณาออกเอกสารเดินทาง (TD) ฉบับใหม่

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า สำหรับการปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชานั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้การตรวจสุขภาพในประเทศต้นทางต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

สำหรับการแก้ไขบทเฉพาะกาล ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ประเทศผู้รับสามารถปรับขั้นตอนการบริหารจัดการแรงงานโดยเน้นที่การคุ้มครองสิทธิ และประโยชน์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่กระทบต่อนโยบายและประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงาน

ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนแรงงานกัมพูชา (Cambodian Migrant Workers Supporting Center) ในประเทศไทย ฝ่ายไทยรับทราบและจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนการเสนอให้ใช้ระบบการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งและรับแรงงานกัมพูชาตาม MOU ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ฝ่ายไทยเห็นด้วยในหลักการในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน

นอกจากนี้ ในประเด็นอื่น ๆ ฝ่ายกัมพูชาจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้แรงงานกัมพูชาสามารถเข้ามาทำงานในฤดูเก็บเกี่ยวในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ผลจากการประชุมระดับวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในครั้งนี้ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนต่าง ๆ แก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง/ผู้ประกอบการในประเทศไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และที่สำคัญจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศอีกด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/4/2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานอัตราการว่างงานของคนไทยต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้รายงานถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงต้นปี 66 ที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนมากขึ้น ส่วนผู้ว่างงานก็ลดลง โดย สสช. ระบุว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มที่เป็นกำลังแรงงานอยู่ 58.81 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.49 ล้านคน อยู่นอกกำลังแรงงาน เช่น อยู่ระหว่างเรียนหนังสือ เป็นแม่บ้านทำงานบ้าน เป็นผู้พิการ ทุพพลภาพ 18.32 ล้านคน ซึ่งเมื่อแยกพิจารณาเฉพาะผู้อยู่ในกำลังแรงงานพบว่าเป็นผู้มีงานทำ 39.91ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 39.81 ล้านคนเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 65 เป็นผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน หรือร้อยละ 0.9 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน เทียบกับ 3.9 แสนคน หรือร้อยละ1 ณ สิ้นปี 65 ส่วนที่เหลืออีก 2.2 แสนคนเป็นผู้อยู่ระหว่างการรอฤดูกาล

“อัตราการว่างงานที่ระดับร้อยละ 0.9 นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดและต่ำกว่าร้อยละ 1 ครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งระบบกำลังแรงงานไทยเคยมีอยู่ว่างงานต่ำว่าร้อยละ 1 ครั้งล่าสุดคือเดือน ต.ค. 62 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 เช่นกัน ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบเป็นปกติและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ทั่วโลกเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด19 ในต้นปี 63” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น และผู้ว่างงานที่ลดลงเข้าไปสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด19 เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้มอบหมายแก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาการมีงานทำและการมีรายได้ของประชาชน ส่วนในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ให้ดูแลการฟื้นตัวดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช้มาตรการกระตุ้นที่รุนแรงโดยไม่มีความจำเป็น เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการเติบโตกับเสถียรภาพ ไม่มุ่งไปที่การเติบโตจนก่อผลกระทบข้างเคียงทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่นปัญหาเงินเฟ้อ และต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงซึ่งอาจเกิดผลเสียงานต่อระบบการเงินของประเทศและประชาชน แบบที่เห็นตัวอย่างในต่างประเทศ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/4/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท