Skip to main content
sharethis

เครือซีพีออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีนักการเมืองพาดพิงดีเบตหาเสียง พร้อมย้ำนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่ และระบบตรวจสอบย้อนกลับ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ - นักวิชาการตั้งข้อสังเกต "เครือซีพีมั่นใจได้อย่างไรว่าข้าวโพดที่ตัวเองใช้ไม่เกี่ยวกับการเผาเลยทั้งในและต่างประเทศ"

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2566 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)  ออกแถลงการณ์ข้อเท็จจริง กรณีนักการเมืองพาดพิงดีเบตหาเสียง พร้อมย้ำนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่ และระบบตรวจสอบย้อนกลับ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใจความว่า

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้ความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นจริง อย่างไรก็ตามปรากฎว่าในช่วงที่ผ่านมามีการดีเบตของนักการเมืองเรื่อง "ปัดฝุ่น ปัญหาภาคเหนือ" เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงชื่อ “ซีพี” โดยมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ประเด็นพาดพิง 1 : การเผาป่าเป็นวิธีการของนายทุนเพื่อลดต้นทุน (ซีพียืนยันว่าไม่มีนโยบายลดต้นทุน ด้วยวิธีการส่งเสริมการเผาป่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 100%)

ข้อเท็จจริง 1 : ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซีพีมีการทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่และภาคสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยยืนยันได้ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา ซีพีเป็นผู้นำในการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) มาใช้ 100% ข้าวโพดทุกเมล็ดของซีพีที่ใช้ในอุตสาหกรรมมาจากพื้นที่ถูกกฎหมาย ไม่มีการเผาป่า ซึ่งมีความโปร่งใส โดยมีความพร้อมและยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ระบบดังกล่าวเป็นต้นแบบอุตสาหกรรม ซีพีไม่มีนโยบายลดต้นทุนจากการทำลายสิ่งแวดล้อม

ประเด็นพาดพิง 2 : นายทุนอาหารสัตว์ไปส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา รับซื้อข้าวโพดมาโดยไม่สนใจว่าเกษตรกรจะเผาหรือไม่ (ซีพียืนยันว่าไม่มีการส่งเสริมและไม่มีการรับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ที่มีการเผา 100%)

ข้อเท็จจริง 2 : ซีพีไม่มีการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่ผิดกฎหมาย และพื้นที่ที่มีการเผาซังข้าวโพดทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดเป็นนโยบายบริษัทชื่อ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ซึ่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ที่ถูกต้อง ไม่บุกรุกป่า ไม่บุกรุกภูเขา และซื้อจากพื้นที่ที่ไม่มีการเผาเท่านั้น นอกจากนี้ในการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซีพีมีระบบตรวจสอบย้อนกลับและไม่มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรนำข้าวโพดไปปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายทั้งในและต่างประเทศเช่นเดียวกัน อีกทั้งในต่างประเทศยังมีการใช้ระบบเกษตรแปลงใหญ่ (Smart Farming) ซึ่งไม่มีการเผา แต่ใช้วิธีการไถกลบโดยเครื่องจักรทันสมัย

ซีพีหวังว่าการหาทางออกปัญหาหมอกควัน ไฟป่า จะตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นความจริง  ซีพียืนยันว่าระบบการจัดซื้อตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Sustainable Supply Chain) พื้นที่การเกษตรที่อยู่ใน Supply Chain ของซีพี เป็นพื้นที่ที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซีพีพร้อมที่จะให้นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้เป็นระบบพื้นฐานของอุตสาหกรรม โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

ทั้งนี้ ซีพีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่หากยังมีการพาดพิงซีพีด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสื่อมเสียต่อองค์กร บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอย่างถึงที่สุด
ผู้บริหารย้ำไม่สนับสนุนการเผาป่า

เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือ ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) ตั้งแต่ปี 2560 ยืนยันได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จัดหา 100% ในกิจการประเทศไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่า  ตลอดจนขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกรายย่อย ปลูกจิตสำนึกการไม่เผาหลังเก็บเกี่ยว และหาแนวทางเพื่อร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ในฐานะเป็นผู้จัดหาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักทางการเกษตรของเครือซีพี กล่าวว่า ซีพีให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ยั่งยืน และมุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และไม่เผา สนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ทั้งนี้ เครือซีพีได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ขึ้นมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และได้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับไปใช้ในการจัดซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในประเทศเมียนมาร์  สปป.ลาว และเวียดนามตั้งแต่ปี 2563 อีกด้วย

“บริษัทไม่สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจส่งผลต่อการเกิดไฟป่า และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเผา และได้ริเริ่มสร้างต้นแบบระบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างจริงจัง และใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมติดตามแปลงปลูกเพื่อร่วมจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง" นายไพศาล กล่าว

บริษัทฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูก และวิเคราะห์จุดที่ยังพบการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรเลิกการเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว เพื่อสร้างหลักประกันว่าบริษัทฯ จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการเผา ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ในกิจการประเทศไทย 100% สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และหลีกเลี่ยงการเผา รวมทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) ที่เชื่อมโยงข้อมูลผลผลิตข้าวโพดตั้งแต่แปลงเพาะปลูกถึงโรงงานอาหารสัตว์  และจัดทำแอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม (For Farm) ขึ้นช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรไทยในการลงทะเบียนยืนยันตัวตนและพื้นที่ปลูก

เครือซีพียังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดรายย่อย โดยดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร ส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการเพาะปลูกที่ดีปลอดการเผา และมีรายได้ที่มั่นคงจากผลผลิตที่มากขึ้นควบคู่กับค่าใช้จ่ายที่ลดลง

ด้านนายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า บริษัทฯดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่มีนโยบายในการส่งเสริมหรือสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าและป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือส่งเสริมให้มีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก

ตั้งแต่ปี 2551 บริษัทฯ ได้ประกาศอย่างชัดเจนและดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดกับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศโดยมีข้อกำหนดยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯทันที หากพบว่ามีส่วนร่วมหรือส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวในทุกกรณี พร้อมกับดำเนินโครงการฟาร์มโปรครบวงจร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย สนับสนุนการสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ในการปลูกข้าวโพดหรือพืชอื่น ๆ ที่สำคัญคือ ห้ามมีการเผาตอซังโดยเด็ดขาด แนะนำให้ใช้วิธีไถกลบแทน พร้อมทั้งร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญศึกษาวิจัยหาแนวทางเพิ่มมูลค่าตอซัง เพื่อร่วมแก้วิกฤตปัญหาหมอกควันไฟป่า และการบุกรุกป่า อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นักวิชาการตั้งข้อสังเกต "เครือซีพีมั่นใจได้อย่างไรว่าข้าวโพดที่ตัวเองใช้ไม่เกี่ยวกับการเผาเลยทั้งในและต่างประเทศ"

ต่อกรณีนี้ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่าอ่านแถลงการณ์ของซีพีเรื่่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กรณีที่ถูกพาดพิงในเวทีดีเบตนักการเมืองแล้วก็รู้สึกว่า ไม่มีอะไรใหม่นะคะ คือตอนนี้สังคมไม่ได้ตั้งคำถามว่า “เครือซีพีมีนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดจากแปลงที่มีการเผามั๊ย” เพราะใครๆ ก็รู้ว่ามีนโยบายนี้มาหลายปีแล้ว แต่ตั้งคำถามว่า “เครือซีพีมั่นใจได้อย่างไรว่าข้าวโพดที่ตัวเองใช้ไม่เกี่ยวกับการเผาเลย ทั้งในและต่างประเทศ” 

คือพูดง่ายๆ ว่าบริษัทต้องแจกแจงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ของตัวเองให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตรวจสอบ 

ในฐานะที่เคยทำวิจัยเรื่องนี้ และศึกษาประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คิดว่าซีพีควรเน้นออกแถลงการณ์ที่อธิบายรายละเอียด มากกว่าแค่ท่องนโยบายของบริษัท เช่นการตอบคำถามต่อไปนี้ค่ะ 

1. ข้าวโพดมีการเผาหลังจากที่เก็บเกี่ยวเอามาขายแล้ว ไม่ใช่เผาเพื่อเก็บเกี่ยวเหมือนอ้อยถึงจะมีเบาะแสจากผลผลิต ดังนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่เผา

2. เครือซีพีรับซื้อข้าวโพดทั้งหมดโดยตรงจากแปลงปลูกของเกษตรกรหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องปกติทางการค้าที่จะรับซื้อบางส่วนผ่านนายหน้าหรือพ่อค้า ข้าวโพดที่รับผ่าน “คนกลาง” ที่รวบรวมจากหลายแหล่ง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่เกี่ยวกับการเผา โดยเฉพาะข้าวโพดที่นำเข้าจากต่างประเทศ

3. ไม่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ไหนในโลกทำงานได้ 100% แต่ต้องปรับปรุงอยู่เสมอ ดังนั้นคำถามในประเด็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องคือ 1) เครือซีพีมีการเปิดช่องทางใดบ้างให้ประชาชนแจ้งเบาะแสถ้าเจอแปลงเผาที่ขายให้ซีพี 2) ถ้าหากเจอว่าใช้ข้าวโพดที่เกี่ยวกับการเผา ซีพีดำเนินการอย่างไร และ 3) ซีพีมีการว่าจ้างผู้ตรวจสอบภายนอกให้มาตรวจสอบ (audit) ระบบการตรวจสอบย้อนกลับของบริษัทหรือไม่ อย่างไร จะเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบและแนวทางยกระดับต่อสาธารณะได้หรือไม่

4. เครือซีพีมีมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรยกระดับการปลูกให้ได้มาตรฐาน GAP อย่างไร และมีแนวทางร่วมมือกับรัฐเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์อย่างไรบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net