'ธีรเมธ' นักกิจกรรม-ผู้พิการทางสติปัญญาวัย 19 ปี รับหมายเรียก ม.112 จากพัทลุง

'ธีรเมธ' นักกิจกรรมและผู้พิการทางสติปัญญาวัย 19 ปี ได้รับหมายเรียก ม.112 ไกลจากพัทลุง โดยมีกลุ่มปกป้องสถาบันเป็นผู้แจ้งความ ด้านทนายความยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร.ขอให้ ตร.มาสอบสวนที่ กทม. ตามสิทธิผู้พิการ

 

5 พ.ค. 2566 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจาก ธีรเมธ (สงวนนามสกุล) หรือ "นัท" นักกิจกรรม ซึ่งเป็นผู้พิการทางสติปัญญา วัย 19 ปี ว่าได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จาก สภ.ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง 

ธีรเมธ ได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2566 ให้ไปพบ ร.ต.อ.ธีรวุฒิ เหมือนพรรณราย เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 พ.ค. 2566 โดยคดีนี้มี ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา โดยเขาไม่เคยได้รับหมายเรียกครั้งแรกมาก่อน และเนื่องจากอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่สามารถเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในพื้นที่พัทลุง

ต่อมา เมื่อ 3 พ.ค. 2566 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อานนท์ นำภา ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจของธีรเมธ ได้เดินทางไปที่ สตช. เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อขอให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนในคดีนี้เดินทางมาสอบสวนนอกพื้นที่ โดยมีตัวแทนของตำรวจเป็นผู้มารับหนังสือแทน

ภาพบรรยากาศการหารือระหว่าง อานนท์ นำภา และเจ้าหน้าที่จาก สตช. (ที่มา: เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา)

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า ธีรเมธ เป็นผู้พิการทางสติปัญญา (พิการประเภท 5) ปรากฏตามสำเนาบัตรคนพิการ ไม่สะดวกในการเดินทางเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกดังกล่าว โดยตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2551 ข้อบทที่ 13 ได้บัญญัติถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของคนพิการซึ่งรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 

หนังสือร้องเรียนยืนยันว่า เพื่อให้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นคนพิการได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยความสะดวกและเป็นธรรม จึงขอให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรทะเลน้อย เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหาที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ปัจจุบันของผู้ต้องหา โดยประสานกับทนายความที่ได้รับมอบอำนาจต่อไป

ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ข้อที่ 13 ได้ระบุถึงสิทธิการเข้าถึงกระบวนกระบวนการยุติธรรมของคนพิการไว้ 2 ข้อ ได้แก่ 

1. ให้รัฐภาคีประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผล สําหรับคนพิการบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือในเรื่องกระบวนวิธีพิจารณาและความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามวัยเพื่ออํานวยความสะดวกในการแสดงบทบาทของคนพิการ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมโดยตรงและโดยทางอ้อม รวมทั้งในฐานะเป็นพยาน ในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายทั้งปวง รวมทั้งในขั้นตอนการสอบสวนและกระบวนการเบื้องต้นอื่นๆ

2. เพื่อประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผล สําหรับคนพิการให้รัฐภาคีส่งเสริมการฝึกอบรมที่เหมาะสมสําหรับผู้ที่ทํางานในด้านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่ตํารวจ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

สำหรับทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีประชาชนทั่วไปในข้อหามาตรา 112 หลายคดี โดยเป็นการแจ้งความกระจายกันไปในสถานีตำรวจต่างๆ หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ใช่เพียงภูมิลำเนาที่ผู้แจ้งความอาศัยอยู่เท่านั้น

คดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายก่อนหน้านี้ ได้แก่ คดีของ "สินธุ" พนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้าจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง หรือคดีของ "ดลพร" หนุ่มผู้ทำธุรกิจอยู่ในจังหวัดภูเก็ต แต่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองกระบี่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท