Skip to main content
sharethis

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ได้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโลกอีกต่อไปแล้ว แต่เตือนว่าภัยคุกคามจากโรคนี้ยังคงมีอยู่ต่อไป

6 พ.ค. 2566 VOA รายงานว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) กล่าวเมื่อวันศุกร์ (5 พ.ค.) ว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่ถูกจัดว่าเป็น สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขอีกต่อไป ตามรายงานของเอพี

เป็นเวลากว่าสามปี ที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าโคโรนาไวรัสเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความกังวล หวาดหวั่น และก่อให้เกิดการกล่าวโทษกันไปมาระหว่างประเทศต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่ของ WHO กล่าวว่าเเม้ห้วงเวลาแห่งสถานการณ์ฉุกเฉินจะจบลง แต่การระบาดใหญ่ก็ยังมีอยู่

WHO ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง และว่าคนจำนวนหลายพันคนยังคงเสียชีวิตจากโรคนี้ในทุก ๆ สัปดาห์ นอกจากนั้นยังมีคนเป็นล้าน ที่ป่วยเรื้อรังจากผลของโควิด-19

ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุสกล่าวว่า เขารู้สึกถึง "ความหวังอันยิ่งใหญ่ ที่จะประกาศว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกได้จบลงแล้ว... แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโควิด-19 ไม่ได้เป็นภัยคุกคามทางสาธารณสุขโลกอีกต่อไปเเล้ว"

เขากล่าวว่าตนจะยังคงเฝ้าระวังหากว่าเกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสถานการณ์สาธารณสุขโลก

เทดรอสกล่าวว่าประเทศส่วนใหญ่ให้เห็นประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเช่นเดียวกับช่วงก่อนการระบาดใหญ่ และโดยรวมทิศทางของสถิติการระบาดอยู่ในช่วงขาลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิดเป็นสถานการณ์วิกฤตระดับนานาชาติเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2020 คาดว่ามีคนติดโควิดทั่วโลก 764 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสอยู่ที่ราว 5,000 ล้านคน

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยอยู่ที่ระดับมากกว่า 1 ล้านราย

ผอ.กองระบาดวิทยา ชี้ หลัง WHO ประกาศให้โควิด ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ไม่มีผลกับการปฏิบัติตัว เพราะไทยประกาศเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง มาตั้งแต่ ต.ค.65 แค่ให้มั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดใหญ่และคุมได้

สำนักข่าวไทย รายงานว่านพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากองค์การอนามัยโลก ประกาศให้ โรคโควิด-19 ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินอีกต่อไปว่า การประกาศขององค์การอนามัยโลกไม่ได้มีผลกับแนวทางปฏิบัติของไทย เนื่องจากประเทศไทยได้มีการประกาศให้ โควิด เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 65 อย่างไรก็ตามการประกาศขององค์การอนามัยโลก เป็นเพียงแต่มั่นใจว่าควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคได้และจะไม่มีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นอีก ส่วนการรายงานพบสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นปกติของเชื้อไวรัสที่มีการพัฒนา และต้องมีการเฝ้าระวัง แต่ทั้งนี้ในแต่ละประเทศยังคงต้องมีมาตรการติดตามกำกับของแต่ละประเทศกันไป ซึ่งสิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจน คือเรื่องของการเดินทางต่อไป จะไม่มีการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด หรือตรวจดูการรับวัคซีนอีกต่อไป ส่วนแนวทางปฏิบัติของคนไทย ก็ยังคงปฏิบัติตามปกติเหมือนเช่นทุกวันนี้ เรื่องของการบังคับใส่หน้ากาก หรือไม่ใส่หน้ากาก ประเทศไทยไม่บังคับ ให้เป็นดุลยพินิจ ว่าอยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่ที่เหมาะสม เช่น อยู่ในสถานที่แออัด หรือตัวเองป่วยหรือไม่

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ที่ต้องพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายสัปดาห์ 23-29 เมษายน 2566 พบว่า พบผู้ป่วยรายใหม่รักษาตัวใน รพ. 1,811 คน เสียชีวิต 10 คน มีภาวะปอดอักเสบ 157 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 79 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net