Skip to main content
sharethis

สมาคมนักเขียนอเมริกา (PEN) เผยแพร่รายงานที่ชี้ให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่คุมขังนักเขียนมากที่สุดในปี 2565 และยังใช้กฎหมายทั้งเก่าและใหม่บีบคั้นปราบปรามชาวฮ่องกงที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จีน นอกจากนี้ในรายงานยังระบุกล่าวถึงกรณีคนร้ายแทงซัลมาน รัชดี, สงครามยูเครน และผู้หญิงอิหร่านนำขบวนประท้วงด้วย

รายงานของสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกัน (PEN) ที่ออกมาเมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีการคุมขังนักเขียนมากที่สุดในโลก จากดัชนีเสรีภาพในงานเขียนปี 2565 มีกรณีนักเขียนในฮ่องกงถูกคุมขังเพิ่มอีก 6รายในปีที่แล้ว รวมแล้วมีถึง 90 กรณีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้จีนติดอันดับคุมขังนักเขียนมากที่สุดติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว

แถลงการณ์ของ PEN อเมริการะบุว่า ผู้นำจีนสีจิ้นผิงรวบอำนาจทางการเมืองไว้ที่ตัวเองจนได้ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำพรรครัฐบาลคือพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสมัยที่ 3 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 และได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเข็มงวดมากขึ้นด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีประชาชนแสดงความไม่พอใจต่อมาตรการล็อกดาวน์ COVID-19 ของรัฐบาลจีนในปีที่แล้ว จนทำให้มีผู้ประท้วงที่ชื่อ Peng Lifa ทำการประท้วงเดี่ยวด้วยการคลี่ป้ายแสดงให้เห็นข้อความเรียกร้องให้สีจิ้นผิงลาออกจากตำแหน่ง

การประท้วงของ Peng และคำขวัญของเขาเป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจต่อชาวจีนพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเริ่มทำการรณรงค์ประท้วงด้วยป้ายโปสเตอร์ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก

รายงานของ PEN อเมริการะบุว่า "ในจีนนั้น การผลิตงานเชิงวัฒนธรรม (เช่น ศิลปะ, วรรณกรรม, สื่อบันเทิง-ผู้แปล) ในทุกแง่มุมจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน ทำให้การทำงานที่เป็นอิสระและสร้างสรรค์จะต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก"

รายงานของ PEN ระบุอีกว่า นักเขียนและผู้อยู่อาศัยในฮ่องกงต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองและทางกฎหมายที่ต่างออกไปจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในปี 2563 ก็มีนักเขียนในฮ่องกงถูกคุมขัง และในปี 2565 ก็ยังคงมีนักเขียนในที่คุมขังรวมแล้ว 90 ราย

อีกทั้งทางการฮ่องกงยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องจากสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคงของจีนและยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่นซึ่งเป็นกฎหมายเก่ามาตั้งแต่สมัยที่ฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมอังกฤษซึ่งมีการนำมาอ้างใช้เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ มีการอ้างใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นและข้อกล่าวหาอื่นๆ ในการเอาผิดกับ นักข่าว, นักเขียน, สำนักพิมพ์ และผู้แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย

การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงนั้นทำให้ตำรวจมีอำนาจครอบคลุมมากขึ้นในหลายด้าน สร้างความหวาดวิตกต่อฝ่ายประชาธิปไตย, กลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มที่เป็นคู่ค้ากับฮ่องกง เพราะกฎหมายฉบับนี้สามารถนำมาใช้ปิดปากและลงโทษกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลได้ แต่ทางรัฐบาลกล่าวอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้นำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพและความสงบในบ้านเมืองและระบุว่ามันส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มน้อยเท่านั้น

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญของจีนแผ่นดินใหญ่จะการันตีเรื่อง "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพสื่อ" แต่ทว่า จีนก็เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับรั้งท้ายของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ปี 2565 ซึ่งทางองค์รระบุว่าจีนมีการจับกุมคุมขังนักข่าวมากที่สุดในโลก

รายงานของ PEN ระบุว่าในปีที่แล้ว (2565) มีนักเขียนทั่วโลกถูกคุมขังรวมทั้งหมด 311 ราย นอกจากจีนที่มีจำนวนนักเขียนที่ถูกคุมขังมากที่สุดแล้ว ประเทศที่รองลงมาคืออิหร่านอยู่ที่ 57 ราย, ซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ 20 ราย และ เบลารุส, พม่า กับเวียดนาม มีนักเขียน-นักข่าวถูกคุมขังประเทศละ 16 ราย

นอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว PEN ยังรายงานถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรอบปี 2565 เช่นเรื่องที่นักเขียนชื่อดัง ซัลมาน รัชดี ถูกโจมตีอย่างรุนแรงกลางเวทีที่นิวยอร์ก หลังจากที่ผู้นำอิหร่านประกาศฟัตวาซัลมานเพราะนิยายเรื่อง “โองการปิศาจ” ที่เขาเขียนมาตั้งแต่ประมาณสามสิบปีก่อน เหตุโจมตีดังกล่าวทำให้เขาได้รับบาดเจ็บจนพิการทางสายตาและแขนพิการข้างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่สงครามยูเครนส่งผลต่อนักเขียนอย่างกรณีของ โวโลดิเมียร์ วาคูเลงโก นักเขียนหนังสือเด็กชาวยูเครนในพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยรัสเซียถูกลักพาตัวโดยทหารรัสเซียเมื่อเดือน มี.ค. 2565 จนกระทั่งถูกพบเป็นหนึ่งในศพที่หลุมศพหมู่ในช่วงที่มีปฏิบัติการปลดปล่อยคาร์คีฟในเดือน พ.ย. 2565

PEN ระบุในแถลงการณ์ว่า "ในปี 2565 สภาพของเสรีภาพในการแสดงออกทั่วโลกยังคงย่ำแย่ แต่โลกของเราก็ได้เห็นการกระทำที่กล้าหาญในการยืนหยัดทัดทานการถูกปราบปราม"

PEN แสดงการชื่นชมประชาชนชาวยูเครนที่ทำการต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อต่อการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการปกป้องอธิปไตยของตัวเองแต่ยังเป็นการปกป้องวัฒนธรรมและเรื่องราวของตัวเองด้วย อีกกรณีหนึ่งที่ PEN ชื่นชมคือกลุ่มผู้หญิงในอิหร่านซึ่งทำการประท้วงเรียกร้องสิทธิของตนเองจนเขย่ารากฐานอำนาจของระบอบการเมืองในอิหร่านได้ และในประเทศเหล่านี้รวมถึงประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมาก นักเขียนก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นปากกระบอกเสียงให้กับประชาชนในการเรียกร้องเสรีภาพ, ประชาธิปไตย และความยุติธรรม

PEN ระบุว่า "...การต่อสู้ของเพื่อประชาธิปไตย เพื่อความจริง และเพื่อเสรีภาพ ในโลกยุคปัจจุบันนั้น มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในการเล่าเรื่อง การต่อสู้ช่วงชิงว่าใครจะเป็นผู้เล่าความจริงในอดีต และใครจะเป็นผู้ที่นำเสนอวิสัยทัศน์ของอนาคตที่น่าดึงดูดมากกว่ากัน และเมื่อรัฐบาลเห็นควรว่าจะต้องปิดปากนักเขียน มันบ่งบอกให้พวกเรารู้ว่าพวกนั้นมองเรื่องความคิดอ่านเป็นภัย"

 

เรียบเรียงจาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

'เรื่องราวนั้นคงอยู่ได้นานกว่าทรราช' ซัลมาน รัชดี ประกาศวางแผงหนังสือเล่มใหม่ แม้เคยถูกทำร้ายสาหัส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net