Skip to main content
sharethis

We Watch แถลงชี้ปัญหาการเลือกตั้ง 66 พบปัญหาหลายประการตั้งแต่ระดับกฎหมายที่ยังให้ ส.ว.ร่วมโหวตจนถึงหน้าหน่วยเลือกตั้งที่ไม่เอื้อต่อคนพิการ เสนอ กกต.ต้องชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่จัดการผิดพลาดและแก้ไข และต้องประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วัน

16 พ.ค.2566 We Watch กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคประชาชนออกแถลงการณ์สรุปปัญหาที่อาสาสมัครพบจากการร่วมสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้งอย่างน้อย 11,622 หน่วย ตั้งแต่เปิดหน่วยเลือกตั้งจนถึงขั้นตอนของการนับคะแนน

ในแถลงการณ์นอกจากจะพูดถึงปัญหาในกระบวนการเลือกตั้งที่สืบเนื่องมาจากระบบในรัฐธรรมนูญ2560 ที่แม้จะมีการแก้ไขระบบให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแล้วแต่ก็ยังมีองค์กรทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเชื่อมโยงกับประชาชน อาทิ วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา เป็นต้น ดังนั้นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 จึงยังมิอาจเรียกได้ว่าเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเป็นประชาธิปไตยอย่างเสรีและเปิดกว้างอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีเรื่องน่ายินดีที่มีพรรคการเมืองจำนวมากสนใจเข้าร่วมแข่งขัน นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 จากจำนวน 28 ครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในไทยคือมีผู้ใช้สิทธิเป็นจำนวน 39,284,752 คน ส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์การเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ต้นปี 2566 และเข้มข้นยิ่งขึ้นในระยะเวลา 2 เดือนก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป

ความตื่นตัวของประชาชนในากรเลือกตั้งครั้งนี้เห็นได้ตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 7 พ.ค.2566 มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.2 ล้านคน แต่ยังพบข้อกังวลถึงขั้นตอนการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตเลือกตั้งภูมิลำเนาเพื่อนับคะแนน และมีปัญหาของการที่ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต ไม่สามารถใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค. 2566 ได้ ในกรณีที่ลงทะเบียนไว้แล้วเป็นจำนวน 2 แสนคน

อย่างไรก็ตาม We Watch ไม่พบรายงานความรุนแรงระดับวิกฤติระหว่างการใช้สิทธิ แต่ในระหว่างกระบวนการลงคะแนน มีรายงานสิ่งผิดปกติเข้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 9 ชั่วโมงของขั้นตอนการลงคะแนน นอกจากนั้นหลังถึงเวลาปิดคูหาเลือกตั้ง แม้ในหลายหน่วยเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แต่มีอีกหลายหน่วยเลือกตั้งที่มีประชาชนร้องเรียน โต้แย้งความเห็นกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วย (กปน.) ตั้งแต่ขั้นตอนการขานคะแนน การอ่านบัตรเลือกตั้ง ไปจนถึงการตรวจสอบจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกใช้กับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่แสดงก่อนใช้สิทธิเช่น ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

We Watch ประมวลข้อค้นพบจากการติดตามครั้งนี้ ประเด็น ได้แก่

  1. กฎหมายและการจัดการเลือกตั้งตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งส่งผลต่อการออกแบบระบบเลือกตั้งแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อการใช้สิทธิของประชาชน ด้วย

    1. ส.ว.ยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

    2. มีการตัดสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มเช่นพระสงฆ์ ผู้ต้องขัง และผู้ป่วยทางจิต

    3. ปัญหาหมายเลขผู้สมัครและพรรคไม่เหมือนกันทำให้เกิดความสับสน

    4. การเสียสิทธิของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิด้วยหลายสาเหตุ

    5. ระยะเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ถือเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร ส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มดำเนินงานและบริหารประเทศได้ล่าช้า โดยมีข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งก่อนปี 2557 ที่กำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง

  2. ปัญหาด้านสถานที่ลงคะแนนให้เอื้ออำนวยต่อผู้พิการ คนสูงอายุนั่งรถเข็น ฯลฯ จากการมีพื้นยกสูง ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็น

  3. ปัญหาการให้ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งผิด หลายหน่วยเลือกตั้งมีป้ายไวนิลแนะนำผู้สมัครที่เขียนผิด หรือเอกสารข้อมูลผู้ลงสมัครเลือกตั้งไม่ครบถ้วน และยังมีข้อกังวลถึงความเป็นกลาง เช่น กรณีป้ายหาเสียงอยู่ข้างหรือใกล้หน่วยเลือกตั้ง หรือป้ายหาเสียงติดอยู่ที่กระดานปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง และระบบการรายงานผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การรายงานผลที่ล่าช้าและมีจำนวนคลาดเคลื่อนจากที่ประกาศไว้

  4. การละเลยหลักการลงคะแนนเป็นความลับ ในหลายพื้นที่พบว่าด้านหลังคูหาไม่มีกระดานทึบหรือกำแพงมาบังด้านหลังคูหา อาจทำให้มีการสอดส่องการลงคะแนนได้ ลักษณะเช่นนี้เกิดในบางหน่วยของ และกรณีเจ้าหน้าที่ทำบัตรขาดแต่ใช้วิธีซ่อมโดยใช้เทปกาวแปะแทนการออกบัตรใหม่ให้

  5. ข้อผิดพลาดของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบการรายงานในหลายกรณี เช่น พบรายชื่อบุคคลที่ไม่รู้จักอยู่ในทะเบียนบ้านของตน ยังมีชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในทะเบียนบ้านเดิม แม้ว่าจะย้ายออกไปนานแล้ว และพบสิทธิเลือกตั้งปรากฏเป็นคนละเขตกับภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านจริง

  6. ไม่มีการปิดประกาศเอกสารระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส.5/5) และเอกสารระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกใช้ไปหลังการลงคะแนน (ส.ส.5/7) หรือมีแต่มีการติดประกาศไว้ในหน่วยที่ประชาชนเข้าไปดูไม่ได้ หรือไม่ระบุรายละเอียด หรือระบุรายละเอียดผิด ซึ่งเกิดปัญหาเดียวกันนี้กับเอกสารระบุผลการนับคะแนนเลือกตั้ง (ส.ส.5/18) ซึ่งระบุคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับ คะแนนที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับในหน่วยเลือกตั้งนั้นด้วย ทั้งที่ต้องติดไว้ให้ประชาชนมาติดตามดูภายหลังได้

  7. เจ้าหน้าที่บางส่วนมีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน อันกระทบต่อสิทธิของประชาชน เช่น ไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง, ไม่ให้ประชาชนพับบัตรเลือกตั้งก่อนหย่อนลงในหีบ, ห้ามใช้ปากกาที่ประชาชนเตรียมมาเอง และไม่ให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนที่มีที่อยู่เก่าและให้กลับไปทำบัตรประชาชนมาใหม่ เป็นต้น

  8. ในช่วงการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง พบปัญหาเช่น การวินิจฉัยบัตรดี-บัตรเสียผิดพลาด การขานคะแนนผิดพลาด รวมถึงการขีดคะแนนผิด

  9. ปัญหาว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการในหลายหน่วยเลือกตั้งไม่เข้าใจหลักการของความโปร่งใสและสิทธิในการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งของประชาชน ส่งผลให้การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเต็มไปด้วยอุปสรรค ได้แก่

    1. เจ้าหน้าที่ปฏิเสธผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้มีเอกสารแต่งตั้งจากพรรคการเมือง หรือจาก กกต.

    2. เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อาสาสมัครถ่ายภาพ เอกสารสำคัญ เช่น รายงานจำนวนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งต้องเปิดเผยต่อประชาชน รวมถึงการถ่ายภาพการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง

    3. เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อาสาสมัครและประชาชน ถ่ายภาพหรือบันทึกวีดีโอในขณะนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง

ทั้งนี้ We Watch ระบุว่ามีข้อเสนอแนะต่อการจัดการหลังการเลือกตั้งในระยะเร่งด่วนนี้ มี 2 ประการ คือ

  1. กกต. ควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาดและชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน

  2. เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารประเทศ และเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อประชาชน กกต. ควรเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ในการตรวจสอบผลการเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด โดยอาจยึดระยะเวลาตามกฎหมายเลือกตั้ง 2554 ซึ่งกำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง เป็นแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ให้ครอบคลุมถึงการเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net