Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“เยื่อใย” เป็นคำที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความหมายตรงกันข้ามของคำนี้ คือ “หมดเยื่อใย” เช่น หญิงใจเด็ดตัดขาดจากสามีขี้เมา หรือชายเดินออกจากบ้านแล้วไม่หวนกลับ เป็นภาพที่เราพบเห็นเป็นประจำ

ขยับขึ้นมาระดับสังคม เมื่อคนหมด “เยื่อใย” ต่อนักการเมือง เรามักอธิบายว่า “หมดศรัทธา” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “political disenchanted” คำนี้จึงมีดีกรีรุนแรงกว่า “ความไม่พอใจทางการเมือง” (political discontent) เช่น แม่ค้าบอก “โอ้ย ขายของไม่ได้” แท็กซี่บ่นพึมพำว่า “วิ่งรถเปล่าทั้งวัน” นักข่าวแอบนินทาผู้มีตำแหน่งทางการเมืองว่า “ถามอะไร ก็มีแต่ด่า” ชาวบ้านบ่นว่า “มีอำนาจ แต่ไม่ทำอะไรให้คนจน” น้องนักศึกษาไฮปาร์กว่า “รัฐบาลไม่เห็นหัวคน” อย่างนี้เป็นแค่ความไม่พอใจ ถ้ามัน คุกรุ่นแล้วขยายออกไปทั่วสังคม ก็เป็นอารมณ์ร่วมกัน แต่ “หมดศรัทธา” น่าจะหนักกว่านั้น เพราะคำนี้ต่างจากความไม่พอใจ ตรงที่ “เราเคยศรัทธาเขา” มาก่อน

ภาพ “น้าชวน” นั่งรถไฟชั้นสามกลับบ้านหรือขึ้นเหนือ หรือน้ากำลังวาดรูปสเก็ตซ์ใบหน้าคน คำพูดที่น้าพูดว่า “กว่าจะแหวกม่านสีม่วงมาได้ ลำบากมาก” หรือเสียงนุ่ม ๆ ราวกับนักร้องเสียงทอง ประกอบกับท่าทางทะมัดทะแมงกับทรงผมกระบังลมสีดำสนิทเลยมาถึงหน้าผากก้อนนั้น เป็นเสียงและภาพที่ตรึงใจคนฟัง ครั้นเมื่อถึงคราวเลือกตั้งแต่ละครั้ง เห็น “น้า” ต้องวิ่งรอกปราศรัยทีละสิบสนาม บางสนามกว่าน้าจะมาก็สี่-ห้าทุ่มแล้ว แต่คนรอก็ไม่หนี บ่งบอกถึง “ศรัทธา” ต่อ “น้าชวน”

ภาพอย่างนี้ทุกวันนี้กลับขายไม่ออก คนเลือก “สีส้ม-สีแดง” กันหมด แม้แต่สนามเมืองตรังบ้านเกิดของน้าชวน ภาษาค้าขายก็ต้องพูดว่า “ทำเลการค้า” เปลี่ยน หรือฮวงจุ้ยเปลี่ยน แต่ภาษาการเมืองโทษแพะ ที่ชื่อ “ศรัทธา” --ศรัทธากำลังเสื่อม--ใครไม่รู้เอ่ยขึ้นมา น้าเองก็ดูเหมือนยอมรับกลาย ๆ พูดชัดว่าเป็นประเพณีของพรรคที่ผู้นำต้องลาออก –ปกาศิต “น้า” แป๊บเดียวหัวหน้าพรรคแจ้งทางไลน์ว่าลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เห็นว่า “หล่อใหญ่” กำลังจะมากู้ศรัทธา!!

ส่วน “สีแดง” กลับเป็นรอง “สีส้ม” อย่างผิดคาด แคมเปญที่ว่า “แลนด์สไลด์” สรุปว่าไม่สำเร็จ –ส่วนหนึ่งที่น่าทบทวน “ศรัทธา” คือ “การสู้ไม่เต็มสูบ” สนามเลือกตั้งครั้งนี้ถูกของน้าชวนทีเดียว ที่ว่า “มันเป็นม่านสีม่วง” ส.ส. “สีแดง” ห้าหกสมัยพลาดท่าคู่แข่ง เคยปลอกกล้วยให้ชาวบ้านกิน 100 ลูกก็ได้แล้ว เพราะสร้างฐานเสียงมาอย่างชุ่มโชก แต่คราวนี้คู่ต่อสู้มาจากไหนก็ไม่รู้ ส่งกล้วยตอนเช้า 500 ลูก ตอนบ่ายอีก 500 ลูก ชาวบ้านหิว-เข้าทางเขา ส.ส.ใหม่เลยเข้าวินกันเป็นแถว แต่มีตำหนิที่ “กกต.” ไทยดูเหมือนจะไม่ฟังก์ชั่นอะไร นอกจากไม่เสนอตัวต่อสังคมแล้ว ยังไม่บรรเทาปัญหา ภาพจับการซื้อเสียงเมื่อเปรียบเทียบกับ “กกต.ยุวัฒน์” จึงลอยมาใส่หน้าคนไทย สาเหตุหนึ่งมาจากบทบาท “กกต.สมชัย” ที่พูดมากจนทำให้กกต.ปัจจุบันกลัวอยู่ไม่ครบเทอม พากันหุบปาก “อมฮอลล์” อย่างเดียว เห็นชาวบ้านพูดกันว่าต่อไปถ้ามันจับอะไรไม่ได้ ก็น่าจะใช้วิธีประมูลเก้าอี้กันไปเลยจะดีกว่า ส่วนอีกอย่างที่ “สีแดง” จะต้องทบทวน คือ ประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน “สู้ ๆ ถอย ๆ แบบเก่า” ไม่ได้ มันต้องสู้ยิบตาให้ได้ใจ “คนเมือง” ด้านแคมเปญ “เงินดิจิทัล” เป็นมุกแป๊ก!! ส่วน “คนดูไบ” จะกลับก่อนเลือกตั้ง (ทุกที) ก็ไม่เวิร์ก!!

“สีส้ม” เต็มเมือง สาเหตุจาก “ศรัทธา” รัฐบาลหดหาย –คนเคยรัก “ลุงตุ๊ดตู่” หมดเยื่อใย ออกจากโรงหนัง ตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย “ไม่อยากดูแล้ว พระเอกขี้โมโห”!! เสียงคนดูบ่นให้ได้ยิน ขณะเดียวกับที่ “สีส้ม” สร้างความหวังว่าประเทศไทยจะมีเสรีภาพทางการเมืองมากกว่าเดิม สิทธิมนุษยชนเด็กจะต้องได้รับการยกระดับ ด้านทีมงานก็มีแต่หนุ่ม-สาวที่เข้มแข็ง ระบบตรวจสอบทำราวกับองค์กรตรวจสอบ มืออาชีพ ภาพจึงโดดเด่นและเป็นความหวังของสังคม—เปลี่ยนแปลงๆๆๆ คนไทยกำลังปลื้มกับคำว่า “เปลี่ยนแปลง!!

การเปิดกว้างทางความคิดและสติปัญญาจึงกลายเป็นประเด็นที่ทุกพรรคต้องสนใจ ต่อไป ทุกพรรคต้อง “เปิดกว้าง” ทางความคิด และสร้างเสรีภาพทางการเมือง ตั้งแต่ในพรรค เริ่มจากการสร้าง  “เวทีสาธารณะ” ในพรรคเป็นเรื่องเป็นราว ทำอย่างไรจึงจะให้คนได้พูด แล้วก็รู้จักฟังเขาบ้าง ไม่ใช่ให้โฆษกออกมา “ด่า” อยู่ฝ่ายเดียว อันนี้เป็นโจทย์และเป็นทิศทางของพรรคการเมืองไทยในอนาคต!!

ปัญหาการเมืองไทย ได้แก่ การปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ “อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” กำลังแยกไปกลายเป็นอุดมการณ์หนึ่ง ขณะที่ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” กลายเป็นอีกอุดมการณ์หนึ่ง ฝ่ายหนึ่งท่องคาถาอุดมการณ์แรก อีกฝ่ายหนึ่งท่องคาถาอุดมการณ์ที่สอง เห็นตลก “ตาหวาน” ยืนยันว่าพร้อมจะเป่านกหวีด และชูมรดกที่มีชิ้นเดียวก็เธอ ก็เห็นชัดว่าเธออยู่ข้างไหน!! ดูเหมือนการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ทั้งสองกำลังกลับมาอีกครั้งในสังคมไทย ที่เคยบาลานซ์หรือผสมผสานกลมกลืนกันเริ่มปริออกจากกันอีกแล้ว

อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยพูดไว้ทำนองว่า “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่นักเรียนนอกเห็นจากการเรียนต่างประเทศ แล้วคิดว่าดี จึงนำเอามาติดตั้งในประเทศไทย” ปัญหาอยู่ที่วัฒนธรรมไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จะทำอย่างไรให้ “วัฒนธรรมไทยกับประชาธิปไตยสอดคล้องกัน?”

ขณะนี้ “สีส้ม” กำลังเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล มีสีแดงและเครือข่ายเป็นส่วนผสมที่สำคัญ แต่ปัญหา อยู่ที่ “สีส้ม” ขอปิดสวิตซ์กลุ่มอำนาจเดิมทั้งหมด ไม่ยอมเปิดแม้กระทั่งสมุด “ไดอารี่” ที่มีหลากหลายหน้าและหลากหลายสี ส่วน “ลุงอ้วน” ก็ถือว่าเป็นเครือข่ายที่มาจากการยึดอำนาจ จึงไม่ได้ต้องการ หลายคนที่สนับสนุน “สีส้ม” เสนอให้เอาผิดกับการยึดอำนาจที่ผ่านมา บางคนเสนอให้ด่า “ไดอารี่” ที่มีหลายหน้า ส่วนวงใน ส.ว. มีจำนวนหนึ่งแสดงออกเป็นนัยว่า พร้อมที่จะสนับสนุน “สีส้ม”

โฆษกกลุ่มอำนาจเดิมออกมาแถลงว่า พร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน แต่ได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จาก ส.ว. ทาง “คุณไดอารี่” แถลงว่าไม่เห็นมีใครบอกจะเข้าร่วมกับ “สีส้ม” จุดเริ่มต้นการตั้งรัฐบาลปัจจุบันจึงเป็นแต้มคูที่หวัง “รุกฆาต” ด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งอาศัย “ศรัทธา” ที่กำลังขึ้น ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเจียมตัวแต่กำลังเตรียมตอบโต้ แม้รู้ดีว่า “ศรัทธา” ถดถอย แต่ก็อาศัยวิธีย้อนกลับไปอ้างอุดมการณ์อีกชุดหนึ่งที่แยกออกไปจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย ส.ว.คนหนึ่งพูดว่า “สนับสนุนพรรคที่ไม่จาบจ้วงและเอาคนลงถนน”

ภาพของการปะทะกันทางอุดมการณ์เช่นนี้ บางคนจึงคาดการณ์ว่าจะเกิดความแตกแยกและขยายออก ในที่สุดก็กลับเข้าสู่วงวนของลูปเดิม การแยกอุดมการณ์ออกจากกันเช่นนี้จึงกลายเป็นกระแสการเมืองที่น่าเป็นห่วง ยิ่งภาพของส.ส.มหาอำนาจเสนอให้รัฐสภาบ้านเขามีมติให้ประเทศเราปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ยิ่งแสดงถึง “แรงกดดันภายนอก” ที่มีต่อการเมืองไทย และคาดหวังว่าประเทศไทยจะกลับมาเดินในร่องของอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าอย่างอื่น แน่นอนว่า เขาต้องได้กลิ่นอะไรบางอย่าง ไม่มากก็น้อย

ทางออกของการเมืองไทยคงต้องลดรูปความแตกต่างทาง “อุดมการณ์” ลง นอกจากหาทางผสานแล้ว ยังต้องหันมามองความเป็นไปได้ทางปฏิบัติมากขึ้น สมัยสิบสี่ตุลา พอนักศึกษาชนะ ผู้เขียนอยู่ ม.ศ.5 ได้ยินแต่คนอ่านกวีนายผี “เราชนะแล้วแม่จ๋า” กับกลอนของจิตร ภูมิศักดิ์ เด็กขาสั้นอย่างผู้เขียนพากันนั่งรถเมล์แดงเต็มหลังคาแห่ทั่วเมืองกรุง--มีพี่อาชีวะเป็นคนขับ พร้อมกับโบกธงชาติ เห็นตำรวจ-ทหาร ที่ไหนอย่างน้อยต้องโห่ หรือมากกว่านั้นก็ขว้างปา!! จนไม่มีตำรวจ-ทหารคนไหนกล้าแต่งเครื่องแบบ แต่พออีกไม่ถึงสามปีดี นักศึกษาโดนแขวนคอ-ถูกจับ กระแส “หนักแผ่นดิน” ดังกระหึ่ม!! ที่เหลือหนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่าเข้าดง ผู้เขียนระเห็จไปอยู่ในพงพฤกษ์ไพร กว่าจะกลับมาเรียนหนังสือได้ก็ใช้เวลา คนที่ซ้ายในวันนี้ อีกสี่สิบ-ห้าสิบปีข้างหน้า เขาก็น่าจะยังซ้าย ไม่ได้ expired ตามอายุ ทว่า  “มีสติ” มากขึ้นกระมัง? นี่คนนะ ไม่ใช่ยา!!!

บางทีเราคงต้องหันกลับมาหา “pragmatism” บ้าง อะไรที่ทำได้-ทำไม่ได้ เป็นประโยชน์หรือ ไม่เป็นประโยชน์ บางที “ศรัทธา” ก็เป็นอารมณ์คน แม้ว่า “ตาหวาน” ยังมีศรัทธามั่นคงต่อลุงตุ๊ดตู่ แต่ศรัทธามีขึ้นมีลง ภาษิตวงไพ่-ไฮโลของอีสานที่ว่า “ได้อย่าสั่นขา เสียอย่าขาสั่น” น่าจะใช้ได้ในขณะนี้ “ชนะก็อย่าลำพอง แพ้ก็อย่าท้อถอย” 

สรุปว่า “ปิดสวิตซ์ ส.ว.กับกลุ่มอำนาจเดิม” นะ ยังไงก็ต้องปิด แต่ทำยังไงจึงจะนุ่มนวล ฝ่ายนั้นก็ฮึ่ม ๆ แฮ่ ๆ อยู่นะ!!! อันนี้เป็นเสียงจากพวก “ยาหมดอายุ”!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net