คนท้องถิ่นโค่นโครงการเหมืองแร่ ในพื้นที่ของ KIO ได้อย่างไร เหมืองแร่แรร์เอิร์ธในกะฉิ่น ตอนที่ 1

องค์การอิสรภาพกะฉิ่น (KIO) ยอมยกเลิกโครงการเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในพื้นที่ปกครองของตนเอง แม้จะกำลังประสบปัญหาต้องการเงินทุนในการซื้ออาวุธ หลังประชาชน 10 หมู่บ้าน กว่า 1,500 คนร่วมกันประท้วง เพราะเกรงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต 

 

19 พ.ค. 2566 เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566 องค์การอิสรภาพกะฉิ่น (KIO) ซึ่งเป็นกองกำลังที่ควบคุมพื้นที่เมือง Mansi ในรัฐกะฉิ่น ได้ตอบรับการประท้วงของประชาชนด้วยการยกเลิกแผนการอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในพื้นที่

นายพล N'Ban La ประธานของ KIO ประกาศเรื่องนี้ต่อหน้าประชาชนมากกว่า 1,500 คน จาก 10 หมู่บ้านที่มาร่วมชุมนุม ณ ที่ทำการขององค์การ KIO ที่ Mai Ja Yang นายพล N'Ban La ประกาศว่าการทำเหมืองแร่นั้นเป็นไปเพื่อต้องการหาทุนมาใช้กับโครงการพัฒนาและจัดหาอาวุธเพื่อทำสงครามกับเผด็จการทหาร แต่เมื่อได้รับฟังข้อกังวลจากประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ว่าเหมืองแร่จะทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนและทำลายผืนดินของพวกเขาแล้ว ทาง KIO ก็ตัดสินใจยกเลิกการทำเหมืองแร่

การประกาศของ KIO เกิดขึ้นก่อนที่บริษัทเหมืองแร่จะลงมือสกัดแร่ และเป็นการกลับลำกระทันหันหลังจากที่ความตีงเครียดยกระดับขึ้นในช่วงเวลามากกว่า 4 เดือน จากการที่ขบวนการประท้วงในท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนจากนักกิจกรรมและกลุ่มภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาจากประชาชนชาวกะฉิ่นว่า KIO พยายามข่มขู่คุกคามและกดดันชุมชนให้ยอมรับเหมืองแร่ด้วย

สื่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ KIO พยายามจะเสริมกำลังตนเองด้วยการทำเหมืองแร่ที่เคยบูมอยู่ตามชายแดนรัฐกะฉิ่นติดกับมณฑลยูนนานของจีนมาเป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้ว แต่ในช่วงก่อนหน้านี้กลุ่มที่ครอบครองการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าว คือผู้นำทหารกะฉิ่นที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเผด็จหารทหารพม่าชื่อ Zahkung Ting Ying กองกำลังของเขาเคยสวามิภักดิ์ต่อกองทัพพม่าเมื่อปี 2552 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการทำธุรกิจผิดกฎหมายหลายอย่างในพื้นที่ๆ รู้จักในนาม "เขตภูมิภาคพิเศษที่ 1"

 

ประชาชนวิจารณ์ KIO "เพราะรัก"

KIO เป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปีแล้ว พวกเขามีบทบาทมากขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุรัฐประหาร เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การที่ KIO มีบทบาทในการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิในพม่าทำให้พวกเขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังต้องการทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นในการสู้รบกับเผด็จการทหาร ไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์หรือการฝึกซ้อมรบให้กับกลุ่มต้านเผด็จการทหารกลุ่มใหม่ อีกทั้งยังมีความต้องการเสริมเรื่องการบริหารบ้านเมืองในส่วนที่ขาดหายไปด้วย

เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ KIO อาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขา ก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหาร KIO เคยทำการปรึกษาหารือกับประชาชนชาวกะฉิ่นในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร แต่แผนการนี้ก็ชะงักไปหลังรัฐประหาร 2564 ซึ่งเป็นรัฐประหารที่ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายและทำให้การรุกล้ำแย่งชิงทรัพยากรเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมจากที่มันเคยเป็นปัญหาอยู่แล้ว

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว บวกกับการที่ขบวนการสายก้าวหน้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ ทำให้ KIO ถูกกดดันจากประชาชนชาวกะฉิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในการต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการหาทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งรวมถึงกรณีเหมืองแร่แรร์เอิร์ธด้วย

Laur Kiik นักมานุษยวิทยาผู้ที่ศึกษาเรื่องการซ้อนทับระหว่างแนวคิดชาตินิยมกะฉิ่นกับขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ขบวนการประท้วงในกะฉิ่นดำเนินมาจนถึงระดับที่ทำให้ KIO ตอบสนองต่อพวกเขา เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ 62 ปีของการก่อตั้ง KIO

KiiK กล่าวอีกว่าขบวนการประท้วงต้านเหมืองแร่ในรัฐกะฉิ่นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐกะฉิ่นที่สั่งสมมาเป็นเวลา 20 ปี พอหลังรัฐประหาร ขบวนการสิ่งแวดล้อมนี้เองได้หลอมรวมเข้ากับขบวนการในระดับกว้างๆ ที่ต้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง KIO

KiiK กล่าวว่า "ตามประสบการณ์ของผมแล้ว ประชาชนชาวกะฉิ่นจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ KIO อย่างหนักเพราะพวกเขาสนับสนุน KIO พวกเขาต้องการให้ KIO ดีขึ้น ... พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ KIO ด้วยความรัก"

 

คนในท้องถิ่นประท้วงอย่างไรบ้าง

ผู้ที่ร่วมประท้วงต้านเหมืองแร่ในรัฐกะฉิ่นพูดถึงอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญในการประท้วง กลุ่มชุมชนที่ต่อต้านเหมือนแร่พากันปฏิเสธข้อเสนอทางการเงินและยืนยันจะปกป้องผืนดินและวิถีชีวิตของตัวเอง รวมถึงต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามในช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่กลุ่มบริษัทเหมืองแร่เข้าไปในพื้นที่เมื่อเดือนกันยายน 2565

มีผู้ประท้วงรายหนึ่งบอกว่า พวกเขาเคยถูกไต่สวนในแบบที่เหมือนกับอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารพม่ามากกว่าจะเป็นภายใต้การปกครองของ KIO เช่นถูกสอบถามในเรื่องที่ว่าชาวบ้านร่วมประชุมกันพูดถึงเรื่องอะไรบ้างและมีใครเข้าร่วมประชุมบ้าง

10 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เหมือนแร่ทำการจัดตั้งคณะกรรมการของตัวเองในการออกจดหมายถึง KIO ระบุว่า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ต้องการคัดค้าน KIO และกิจการของ KIO แต่พวกเขาก็ขอให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นั่น รวมถึงส่งจดหมายไปที่สำนักงานเขตที่ KIO ปกครองอยู่ด้วย แต่พวกเขากลับถูกเรียกตัวอ้างว่าเพื่อไปปรึกษาหารือแต่จริงๆ แล้วกลับเป็นการพาไปตักเตือนให้เลิกประท้วง โดยอ้างว่าการทำเหมืองแร่ได้รับการอนุมัติแล้วโดยคณะกรรมการกลางของ KIO

ในวันที่ 21 ม.ค. 2566 มีประชาชนมากกว่า 50 ไปพบปะกับคณะกรรมการกลางของ KIO ในประเด็นนี้ แต่ทาง KIO บอกกับประชาชนว่าพวกเขาต้องการเหมืองแร่เพื่อเอาไปเป็นทุนในการสู้กับเผด็จการทหารพม่า และจะดำเนินการทำเหมืองแร่ต่อไปโดยไม่สนใจคนในพื้นที่

หลังจากนั้นคณะกรรมการของ KIO ก็ส่งข้อความให้ประชาชนแบบกลับไปกลับมา ในทีแรกบอกว่าจะมีการระงับโครงการชั่วคราว แต่ต่อมากลับออกคำสั่งให้กลุ่มคนในพื้นที่ยกเลิกประท้วงเหมืองแร่ไม่เช่นนั้นจะ "ดำเนินการอย่างจริงจังต่อใครก็ตามที่ต่อต้านพวกเราหรือจัดตั้งการประท้วง"

มีเหตุการณ์ที่ผู้หญิงชื่อ Lahtaw Roi  หัวใจวายในช่วงที่มีการพบปะกับกลุ่ม KIO เธอเสียชีวิตขณะถูกนำส่งโรงพยาบาล พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทางคณะกรรมการฝ่ายผู้ประท้วงได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้ KIO หยุดการทำเหมืองแร่ทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.พ. แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไรกลับมา

จนกระทั่งในวันที่ 21 มี.ค. ก็มีความตึงเครียดก็ทวีเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ประชาชนหลายร้อยรายเดินขบวนไปที่แหล่งที่พักของคนงานเหมืองแร่และย้ำข้อเรียกร้องของพวกเขารวมถึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กองกำลัง KIO 2 นาย และยามติดอาวุธที่ประจำอยู่ที่นั่นร่วมขบวนการประท้วงกับพวกเขาด้วย แต่ฝ่าย KIO ก็บอกให้พวกเขาไปหารือกับสำนักงานกลางของ KIO เอาเอง

 

 

เรียบเรียงจาก

How the Kachin public overturned a rare earth mining project in KIO territory, Frontier Myanmar, 02-05-2023

https://www.frontiermyanmar.net/en/how-the-kachin-public-overturned-a-rare-earth-mining-project-in-kio-territory/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท