Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (IDAHOT) กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้ 11 ประเทศยุติการใช้กฎหมายลงโทษ LGBTQ+ และยกเลิกโทษประหารชีวิต

20 พ.ค. 66 เมื่อปีที่แล้วองค์กรด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ออกมาเรียกร้องให้ 11 ประเทศยกเลิกใช้โทษประหารชีวิตเพื่อลงโทษบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่จนกระทั่งถึงในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (IDAHOT หรือ IDAHOBIT) และจนกระทั่งถึงวัน IDAHOT ในปีเพิ่งจะผ่านไป ก็ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ในวัน IDAHOBIT ปี 2565 สมาคมอิลกาเอเชีย (ILGA Asia) ซึ่งเป็นองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กับองค์กรอื่นๆ อีก 5 องค์กรออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงต่อชาว LGBTQ+ ที่ออกมาเนื่องในวัน IDAHOBIT

ในแถลงการณ์ขององค์กรเหล่านี้ระบุว่ายังคงมี 70 ประเทศทั่วโลกที่กำหนดให้การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในจำนวนนี้มีประเทศในเอเชียอยู่ 22 ประเทศ และมีอยู่ 11 ประเทศที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องโทษประหารได้แก่ประเทศ อัฟกานิสถาน บรูไนดารุสซาลาม อิหร่าน มอริเตเนีย ไนจีเรีย ปากีสถาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน

โดยที่ในปีนี้ ประเทศเหล่านี้ยังคงไม่มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ องค์กร "ฮิวแมนดิกนิตีทรัสต์" ระบุว่ายังคงมีการใช้โทษประหารชีวิตในเรื่องนี้ในประเทศ อิหร่าน ไนจีเรียเหนือ ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย และเยเมน

ขณะที่ประเทศ อัฟกานิสถาน บรูไน มอริเตเนีย ปากีสถาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงระบุให้การลงโทษประหารชีวิตต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ "มีความเป็นไปได้ในทางกฎหมาย"

วัน IDAHOBIT ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พ.ค. ในปีนี้ก็มีจำนวนประเทศที่ยังคงทำให้การรักเพศเดียวกันผิดกฎหมายลดลงเหลือ 66 ประเทศ แต่กลุ่มประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตกับเรื่องนี้ยังคงอยู่ที่ 11 ประเทศ
 

การใช้โทษประหารชีวิต ละเมิดหลักการ "สิทธิในชีวิต"

กลุ่มองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า กฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ และโทษประหารชีวิตนั้นส่งผลกระทบในสัดส่วนที่มากกว่าต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีอัตลักษณ์เป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และคนที่มาจากพื้นเพชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจ

ดารอน ทัน รองที่ปรึกษาด้านกฎหมายนานาชาติของ ICJ กล่าวว่า การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตต่อกิจกรรมทางเพศระหว่างเพศเดียวกันที่กระทำโดยยินยอมทั้งสองฝ่ายนั้น ถือเป็น "การละเมิดสิทธิในชีวิต และสิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี"

ทันบอกอีกว่ากฎหมายลงโทษผู้มีความหลากหลายทางเพศยังฝ่าฝืนหลักสิทธิมนุษยชนหลายข้อ อีกทั้งยังอาจจะส่งผลทำให้ผู้คนถูกปฏิเสธการเข้าถึงระบบการสาธารณสุขอีกด้วย

อจิตา บาเนอจี เจ้าหน้าที่นักวิจัยที่ ILGA Asia เรียกร้องให้ทั่วโลกยกเลิกการทำให้การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และบอกว่าควรจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี สำหรับประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตก็ขอให้มีการออกคำสั่งระงับการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวในฐานะก้าวแรกของการยกเลิกโทษประหารชีวิต และขอให้มีการดำเนินคดีที่เป็นธรรม มีการให้สิทธิในการเข้าถึงทนายต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีในประเด็นนี้ด้วย

ทั้งองค์การสหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ต่างก็กล่าวย้ำประณามการใช้โทษประหารชีวิตในหลายประเทศอยู่เป็นประจำ เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้รัฐต่างๆ ที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ขออย่าได้ใช้มัน "บนฐานของกฎหมายที่กีดกันเลือกปฏิบัติ หรือด้วยผลลัพธ์ของการกีดกันเลือกปฏิบัติ หรือด้วยการใช้กฎหมายโดยพลการ"

อิหร่านประหารชีวิตชายรักชายสองคนเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2565

แม้แต่ในประเทศที่ไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ชาว LGBTQ+ ยังมีโอกาสถูกจับกุมและถูกสั่งลงโทษเพียงเพราะมีเพศสัมพันธ์แบบยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย

ในบางประเทศก็ยังคงมีการคงไว้ซึ่งกฎหมาย "ความเสื่อมศีลธรรม" ซึ่งมักจะถูกตีความโดยพลการเพื่อนำมาใช้โจมตีชาว LGBTQ+ เช่นใน คูเวต, เลบานอน, พม่า และโอมาน

ทั้งนี้ในอิหร่านยังเคยมีกรณีที่เกย์ชายสองคนถูกสั่งลงโทษประหารชีวิตเมื่อเดือน ม.ค. 2565 จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ในเดือน มิ.ย. 2565 ก็มีชายเกย์อีกสองรายที่ถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยข้อหา "ร่วมเพศแบบผิดธรรมชาติ" อีกทั้งก่อนหน้านี้ในปี 2564 อิหร่านยังทำการลงโทษประหารชีวิตชายอีกสองคนในข้อหาใกล้เคียงกันด้วย

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net