Skip to main content
sharethis

Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลการเลือกตั้ง 2566 พบว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้ง 400 คน มาจากผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด 179 คน คิดเป็น 44.75% รองลงมาก็คือผู้สมัครจากพรรคเดิม 154 คน คิดเป็น 38.5% และผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 67 คน คิดเป็น 16.75%

  • ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้ง 400 คน มาจากผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด 179 คน คิดเป็น 44.75% รองลงมาก็คือผู้สมัครจากพรรคเดิม 154 คน คิดเป็น 38.5% และผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 67 คน คิดเป็น 16.75%
  • มีอดีต ส.ส. ปี 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเดิม 209 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้ง 103 คน โดยพรรคที่อดีต ส.ส. ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นจำนวนมากที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทย 40 คน รองลงมาก็คือภูมิใจไทย 23 คน พลังประชารัฐ 15 คน ก้าวไกล 8 คน ประชาธิปัตย์ 7 คน ชาติไทยพัฒนา 6 คน และประชาชาติ 4 คน
  • แต่หากคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่าพรรคก้าวไกลและพรรคชาติไทยพัฒนา มีอดีต ส.ส. จากปี 2562 ได้รับเลือกตั้งกลับมา 100% ในขณะพรรคประชาธิปัตย์ มีอดีต ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาน้อยที่สุด คิดเป็น 30.43%
  • อดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566 จำนวน 382 คน และได้รับการเลือกตั้ง 37 คน แบ่งเป็น พรรคก้าวไกลมากที่สุด 13 คน พรรคภูมิใจไทย 9 คน พรรคเพื่อไทย 6 คน พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคประชาชาติ พรรคละ 1 คน
  • พรรคที่มีว่าที่ ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย จำนวน 29 คน โดยมาจากอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติมากที่สุด 7 คน และหากนับเฉพาะ ส.ส. เดิมที่ย้ายพรรคจะพบว่า พรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นพรรคที่มีว่าที่ ส.ส. ที่มาจาก ส.ส. พรรคอื่นย้ายมาลงสมัครและได้รับเลือกตั้งมากที่สุด เป็นจำนวน 6 คน

จากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยอ้างอิงจาก ECT Report ณ วันที่ 17 พ.ค. 2566 ซึ่งนับคะแนนไปแล้ว 99.44% Rocket Media Lab ชวนสำรวจว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้ง 400 คน ที่ได้รับการเลือกตั้งว่าเป็นใครมาจากไหน ผ่านฐานข้อมูลโครงการ DEMO Thailand ของ Rocket Media Lab

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566

2. ผู้สมัครที่ย้ายพรรค หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. ที่ย้ายไปลงสมัครพรรคใหม่ในปี 2566

3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

และเมื่อนำเอาว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้ง 400 คนมาพิจารณาจากฐานข้อมูลและการจัดประเภทดังกล่าว จะพบว่า ในการเลือกตั้ง ปี 2566 นี้ ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตมากที่สุดคือผู้สมัครหน้าใหม่ โดยมีจำนวนสูงถึง 179 คน คิดเป็น 44.75% รองลงมาคือผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 154 คน คิดเป็น 38.5% และผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค จำนวน 67 คน คิดเป็น 16.75% 

และเมื่อแยกตามภูมิภาคจะเห็นว่าภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ เป็นภาคที่มีผู้สมัครหน้าใหม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. มากที่สุด ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิมนั้นได้รับเลือกมากที่สุด

นอกจากนั้นยังพบว่าผู้สมัครหน้าใหม่ที่ได้รับเลือก มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออก คิดเป็น 62.07% น้อยที่สุดที่ภาคเหนือ 35.14% ส่วนผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคนั้นได้รับเลือกเป็นสัดส่วนมากที่สุด ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็น 23.31% น้อยที่สุดที่ภาคตะวันออก คิดเป็น 6.9% และผู้สมัครจากพรรคเดิมที่ได้รับการเลือกตั้ง คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 45.86% และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันออก คิดเป็น 31.03%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากมองเรื่องฐานเสียงคะแนนของพรรคการเมืองในระดับภาค ภาคตะวันออกถือเป็นภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด 

ว่าที่ ส.ส. ที่มาจากพรรคเดิม

จากว่าที่ ส.ส. จำนวน 400 คนในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ พบว่ามีผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิมที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวน 154 คน โดยพบว่าเป็น

อดีต ส.ส. พรรคเดิมจากปี 2562 จำนวน 103 คน

อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเดิมจากปี  2562 จำนวน 37 คน

อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มาลงสมัครแบบแบ่งเขต จำนวน 6 คน

อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มาลงสมัครแบบแบ่งเขต จำนวน 7 คน

เมื่อพิจารณาในส่วนของอดีต ส.ส. จากปี 2562 จะพบว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีอดีต ส.ส. จากปี 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเดิมเป็นจำนวน 209 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้งเพียง 103 คน โดยพรรคที่อดีต ส.ส. ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นจำนวนมากที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทย 40 คน รองลงมาก็คือภูมิใจไทย 23 คน พลังประชารัฐ 15 คน ก้าวไกล 8 คน ประชาธิปัตย์ 7 คน ชาติไทยพัฒนา 6 คน และประชาชาติ 4 คน 

แต่หากคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่า พรรคที่อดีต ส.ส. จากปี 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเดิม ในปี 2566 และได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นสัดส่วนมากที่สุดก็คือพรรคก้าวไกลและพรรคชาติไทยพัฒนา คิดเป็น 100% โดยพรรคก้าวไกลมีอดีต ส.ส. เดิมจากปี 2562 ลงสมัครในนามพรรคเดิมเพียงแค่ 8 คน และได้รับการเลือกตั้งกลับมาทั้งหมด และพรรคชาติไทยพัฒนามีอดีต ส.ส. เดิมจากปี 2562 ลงสมัครในนามพรรคเดิม 6 คน และได้รับการเลือกตั้งกลับมาทั้งหมด ในขณะที่พรรคที่มีอดีต ส.ส. เดิมจากปี 2562 ลงสมัครในนามพรรคเดิมและได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นสัดส่วนน้อยที่สุดก็คือพรรคประชาชิปัตย์ คิดเป็น 30.43% 

และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคที่มีสัดส่วน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งมากที่สุดคือ ภาคตะวันตก คิดเป็น 57.14% ส่วนภาคที่มีสัดส่วน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งน้อยที่สุด ก็คือภาคใต้ คิดเป็น 42.85% 

ในส่วนของอดีต ส.ส. จากปี 2562 ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566 ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับมานั้น มีจำนวน 106 คน เป็นพรรคเพื่อไทยมากที่สุด จำนวน 53 คน รองลงมาก็คือพรรคพลังประชารัฐ 22 คน พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน พรรคภูมิใจไทย 12 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคประชาชาติ พรรคละ 1 คน

จากนั้นเมื่อพิจารณาในส่วนของอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566 จะพบว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566 เป็นจำนวน 382 คน และได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวน 37 คน โดยมาจากพรรคก้าวไกลมากที่สุด 13 คน รองลงมาก็คือพรรคภูมิใจไทย 9 คน พรรคเพื่อไทย 6 คน พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคประชาชาติ พรรคละ 1 คน 

แต่หากคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่า พรรคที่อดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเดิม ในปี 2566 และได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นสัดส่วนมากที่สุดก็คือพรรคภูมิใจไทย คิดเป็น 27.59% และน้อยที่สุดก็คือพรรคประชาธิปัตย์ คิดเป็น 3.37%

และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่าภาคที่มีสัดส่วนอดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดก็คือภาคเหนือ คิดเป็น  15.38% และน้อยที่สุดคือภาคตะวันออก 4.35%

ในส่วนของอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566 ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งนั้น มีจำนวน 345 คน จาก 22 พรรคการเมือง นอกจากนี้ยังพบว่ามีอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมได้รับการเลือกตั้งในปี 2566 นี้อีก 1 คน อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มาลงสมัครในแบบแบ่งเขตและได้รับเลือกตั้ง 6 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มาลงสมัครในแบบแบ่งเขตและได้รับเลือกตั้งอีก 7 คน 

ว่าที่ ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค

จากว่าที่ ส.ส. จำนวน 400 คนในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ พบว่ามีผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิมที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวน 67 คน โดยพบว่าเป็น

อดีต ส.ส. จากปี 2562 จำนวน 19 คน

อดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 จำนวน 32 คน 

อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน

อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 7 คน

อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ จำนวน 4 คน

อดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ จำนวน 4 คน

และหากพิจารณาเป็นรายพรรคจะพบว่า 

พรรคก้าวไกล 2 คน เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคไทยรักษาชาติ 1 คน พรรคเพื่อไทย 1 คน

พรรคไทยสร้างไทย 3 คน เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 2 คน พรรคภูมิใจไทย 1 คน

พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคประชาชาติ 1 คน

พรรคพลังประชารัฐ 5 คน เป็นอดีต ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พรรคละ 1 คน และอดีตผู้สมัครจากพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคละ 1 คน

พรรคเพื่อไทย 29 คน เป็นอดีต ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคไทยรักษาชาติ 7 คน พรรคภูมิใจไทย 5 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคเพื่อชาติ 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย และพรรคสามัคคีธรรม พรรคละ 1 คน 

พรรคภูมิใจไทย 13 คน เป็นอดีต ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 6 คน พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคละ 1 คน 

พรรครวมไทยสร้างชาติ 14 คน คน เป็นอดีต ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคละ 1 คน 

จากข้อมูลจะพบว่า พรรคที่มีว่าที่ ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย จำนวน 29 คน โดยมาจากอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติจำนวน 7 คน อย่างไรก็ตาม หากเรานับว่าพรรคไทยรักษาชาติคือส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็ยังถือเป็นพรรคที่มีว่าที่ ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นมากที่สุดอยู่ดี และหากนับเฉพาะ ส.ส. เดิมที่ย้ายพรรคจะพบว่า พรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นพรรคที่มีว่าที่ ส.ส. ที่มาจาก ส.ส. พรรคอื่นย้ายมาลงสมัครและได้รับเลือกตั้งมากที่สุด เป็นจำนวน 6 คน 

นอกจากนั้นหากพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคที่มีว่าที่ ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นและได้รับการเลือกตั้งเป็นสัดส่วนมากที่สุดก็คือ ภาคเหนือ คิดเป็น 7.76% และน้อยที่สุดคือภาคตะวันออก คิดเป็น  2.5%

ว่าที่ ส.ส. ที่มาจากผู้สมัครหน้าใหม่ 

จากว่าที่ ส.ส. จำนวน 400 คนในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ พบว่ามีผู้สมัครที่เป็นหน้าใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวน 179 คน โดยพบว่าเป็น

1. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 76 คน คิดเป็น 42.46%

2. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 59 คน คิดเป็น 32.96%

3. นักธุรกิจ 46 คน คิดเป็น 25.7%

4. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 34 คน คิดเป็น 18.99%

5. ประกอบอาชีพส่วนตัว 32 คน คิดเป็น 17.88%

6. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 21 คน คิดเป็น 11.73%

7. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 15 คน คิดเป็น 8.38%

8. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 10 คน คิดเป็น 5.59%

9. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 3 คน คิดเป็น 1.68%

10. อดีตนักการเมืองระดับชาติ 2 คน คิดเป็น 1.12%

*ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ

จากข้อมูลว่าที่ ส.ส. ปี 2566 ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่นั้นมาจากนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด คิดเป็น 42.46% ซึ่งก็คืออดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ซึ่งว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่มาจากนักการเมืองระดับท้องถิ่นได้รับเลือกตั้งมากที่สุดในภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 

อันดับสองคือ ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 59 คน คิดเป็น 32.96% ซึ่งก็คือ ผู้ที่เคยทำงานให้กับพรรคการเมืองมาก่อน ทั้งอดีตผู้ช่วย ส.ส. ผู้ช่วยนักการเมืองในตำแหน่งต่างๆ หรือเคยทำงานกรรมาธิการในสภา อันดับสามคือนักธุรกิจ คิดเป็น 25.7% อันดับสี่คือเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ คิดเป็น 18.99%  ซึ่งก็คือเครือญาติของอดีต ส.ส. ที่ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ และอันดับห้าคือประกอบอาชีพส่วนตัว คิดเป็น 17.88% 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/ 

 

หมายเหตุ

ข้อมูลว่าที่ ส.ส. เป็นผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ที่อ้างอิงจาก ECT Report ณ วันที่ 17 พ.ค. 2566 ซึ่งนับคะแนนไปแล้ว 99.44% 

ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ 

ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต

การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562

ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net