Skip to main content
sharethis

แม้ว่าองค์การอิสรภาพ (KIO) จะประสบปัญหาต้องการเงินทุนในการซื้ออาวุธและจัดหาสาธารณูปโภคในพื้นที่ที่พวกเขาปกครอง แต่ KIO ก็ยอมยกเลิกเหมืองแร่แรร์เอิร์ธหลังจากที่ประชาชนกว่า 10 หมู่บ้านออกมาประท้วง ตอนที่ 2 พูดถึงความต้องการตลาดโลกที่กำลังต้องการแร่แรร์เอิร์ธสูงมาก และทุนจีนกับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องที่อะไรทำให้ KIO ยอมฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ตัวเองในที่สุด

 

20 พ.ค. 2566 แม้ว่าองค์การอิสรภาพ (KIO) จะประสบปัญหาต้องการเงินทุนในการซื้ออาวุธและจัดหาสาธารณูปโภคในพื้นที่ที่พวกเขาปกครอง แต่ KIO ก็ยอมยกเลิกเหมืองแร่แรร์เอิร์ธหลังจากที่ประชาชนกว่า 10 หมู่บ้านออกมาประท้วง

ความต้องการแร่แรร์เอิร์ธในตลาดโลก ส่งผลให้เกิดเหมืองแร่นอกกฎหมาย

การที่ KIO พยายามผลักดันให้มีการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธแห่งใหม่เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนำไปใช้ตั้งแต่กับสมาร์ทโฟน, มอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า, กังหันลม ไปจนถึงอาวุธสู้รบ แร่ 17 ชนิดที่ถูกจัดเป็นแร่แรร์เอิร์ธนั้นกำลังเป็นที่จับตามองของนานาชาติ ทั้งในแง่ที่มันมีความสำคัญในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และมีบทบาทในการ "เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด" จากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

อย่างไรก็ตามการขุดเจาะแร่แรร์เอิร์ธนั้นไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเอาเสียเลย มีการใช้สารเคมีเป็นพิษในการสกัดเอาแร่ออกจากดิน ทำให้เกิดการปนเปื้อนผืนดินและแหล่งน้ำ กลายเป็นภัยต่อระบบนิเวศน์และต่อสุขภาพของมนุษย์

ด้วยสาเหตุนี้เองทำให้จีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ของโลก เริ่มทำการปราบปรามการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธภายในประเทศตัวเองมาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้หลังจากนั้นจีนต้องหันไปหาพม่าเพื่อเป็นแหล่งแร่แรร์เอิร์ธทดแทน กลายเป็นการโยนให้พม่าทำลายสิ่งแวดล้อมของตัวเองแทน ข้อมูลขององค์กรจับตามองด้านสิ่งแวดล้อม โกลบอลวิตเนส ที่ออกมาเมื่อเดือน ส.ค. 2565 ระบุว่าพม่ามีการกำกับดูแลด้านทรัพยากรที่อ่อนแอและมีจำนวนแร่แรร์เอิร์ธที่มากยิ่งกว่าจีน

โกลบอลวิตเนส พบว่าเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในพม่านั้นเป็นอุตสาหกรรมแบบนอกกฎหมายที่ควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธและมีสายสัมพันธ์ที่โยงใยอย่างซับซ้อนกับบริษัทในประเทศพม่าผู้ที่เป็นตัวแทนหน้าฉากให้กับนักลงทุนจีน

วิธีการขุดแร่แรร์เอิร์ธ ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตเกษตรกร

ข้อมูลจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมระบุว่ามีจำนวนแหล่งที่ใช้สารเคมีสกัดแร่เกือบ 300 แหล่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช่กับแร่แรร์เอิร์ธ แหล่งสกัดแร่เหล่านี้เกาะกลุ่มกันอยู่ที่เทือกเขาแถบชายแดนตะวันออกของรัฐกะฉิ่น ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกับที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังติดอาวุธที่สวามิภักดิ์ต่อเผด็จการทหารพม่า

สำหรับ KIO แล้วพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่พวกนี้น้อยกว่ามาก แต่ก็มีการออกสัมปทานอนุญาตให้ทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในพื้นที่ของพวกเขาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

วิธีการใช้สารเคมีกรองแร่ที่ว่านี้ กระทำโดยการขุดเจาะโพรงเข้าไปในเทือกเขาแล้วก็เทสารเคมีเข้าไปแบบที่เรียกว่า "เหมืองละลายแร่" (situ leaching) ซึ่งมักจะใช้ในพม่า คนงานเหมืองแร่ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นเกษตรกรไร่อ้อยบอกว่าวิธีการนี้จะทำให้ต้นไม้ตายหมด มีทุ่งนาบางส่วนที่จะกลายเป็นทุ่งนาที่เพาะปลูกอะไรไม่ได้ การผลิตข้าวลดลง มีบางคนที่บอกว่าปศุสัตว์ของพวกเขาตายใกล้กับพื้นที่ทำเหมืองแร่

 

กองกำลังว้า อิทธิพลจีน ความสัมพันธ์กับธุรกิจหยกในกะฉิ่น

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยันจาก KIO ว่า กลุ่มติดอาวุธ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองในกะฉิ่นร่วมไปกับบริษัทจากจีนด้วย กองทัพสหรัฐว้าเป็นกองกำลังชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า

หลังจากที่ UWSA ทำสนธิสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าในปี 2532 กองทัพพม่าก็ยอมรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐฉานที่ติดกับจีนในฐานะพื้นที่ปกครองตนเองของกองกำลังว้า และให้สัมปทานธุรกิจบางส่วนแก่ว้ารวมถึงเหมืองหยกในรัฐกะฉิ่นด้วย ซึ่งกองกำลังว้าทำเหมืองหยกร่วมกันกับ KIO กองกำลัง KIA (ฝ่ายกองกำลังของ KIO) กองทัพพม่า และกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ อีกบางส่วน

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการด้านพม่าของสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ กล่าวว่าถ้าหาก UWSA มีส่วนร่วมกับการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธจริงก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะ UWSA เข้าถึงเงินทุนและตลาดของจีนได้ รวมถึงมีส่วนพัวพันกับอุตสาหกรรมหยกในกะฉิ่นด้วย ซึ่งทาวเวอร์มองว่า UWSA คงทำไปเพราะเป็นธุรกิจเฉยๆ โดยไม่ได้หวังผลเรื่องการเมืองใดๆ สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าคืออิทธิพลของจีนต่อจุดยืนทางการเมืองของทั้ง UWSA และ KIA

ทั้ง KIO และ UWSA ต่างก็เป็นสมาชิกของคณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองสหพันธรัฐพม่า (FPNCC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ทรงอำนาจและมีสายสัมพันธ์กับจีน ทางการจีนเคยผลักดันให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้เจรจาต่อรองกับเผด็จการทหารพม่ามาตั้งแต่หลังรัฐประหารครั้งล่าสุดแล้ว ซึ่ง UWSA เป็นกลุ่มที่เจรจาต่อรองกับเผด็จการกองทัพพม่ามาโดยตลอด ขณะที่ KIO จะปฏิเสธเป็นส่วนใหญ่

ในปี 2564 โกลบอลวิตเนส เคยรายงานเรื่องความเกี่ยวข้องกันระหว่างอุตสาหกรรมหยกมูลค่าหลายพันล้านในกะฉิ่นกับความขัดแย้งด้านอาวุธ โดยที่รายงานระบุว่า UWSA เป็น "ผู้มีอิทธิพลเบื้องหลังรายสำคัญ" ต่อเหมืองแร่เหล่านี้ และบางครั้งก็พบว่าพวกเขาให้อาวุธกับ KIO เป็นสิ่งแทนการจ่ายภาษี พอเกิดการรัฐประหารในพม่าก็เสี่ยงจะทำให้ความขัดแย้งเกี่ยวกับธุรกิจหยกและการทุจริตคอร์รัปชั่นแย่ลงยิ่งกว่าเดิม

ฮันนา ไฮน์สตรอม ผู้สืบสวนสอบสวนอาวุโสของโกลบอล วิตเนส กล่าวว่า ถ้าหาก KIO เดินหน้าทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเขตทางตะวันออกต่อไป มันจะทำให้ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรรุนแรงขึ้น เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความโกรธเคืองและความไม่ไว้ใจกันในชุมชน

ไฮน์สตรอม มองว่า KIO ตกที่นั่งลำบากในตอนนี้ พวกเขาต้องการเงินทุนในการต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่าที่โหดเหี้ยม และการที่โลกกำลังต้องการแร่แรร์เอิร์ธอย่างมากก็กลายเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ KIO หาเงินทุนมาจุนเจือตัวเองในจุดที่ว่านี้ได้ แต่ถ้าหากทาง KIO ยอมให้กลุ่มที่มีที่มาคลุมเครือมาทำเหมืองแร่ มันก็เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน การทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะฉิ่น

"สิทธิของชุมชนชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นไม่ควรจะถูกนำมาบูชายันต์บนแท่นพิธีนามว่าประชาธิปไตย" ไฮน์สตรอม กล่าว

 

KIO ยอมถอยเพื่อประชาชน

นอกจากข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว KIO ยังคำนึงถึงเรื่องที่ว่าเหมืองแร่ของพวกเขาจะบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่าง KIO กับฐานเสียงสนับสนุนที่สำคัญอย่างกลุ่มประชาชนชาวกะฉิ่นด้วย

หนึ่งในผู้ประท้วงนามสมมุติว่า La Htoi ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่นำการประท้วงเหมืองแร่เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2566 ว่าทาง KIO เคยข่มขู่คุกคามพวกเขาหลายวิธี ทำให้พวกเขารู้สึกว่า KIO "ไม่ได้รักประชาชนของตัวเองอีกแล้ว" และมองว่า KIO แค่ต้องการ "คุ้มครองนักธุรกิจกับพวกเศรษฐี"

ในตอนนั้นเองทหาร KIA นายหนึ่งนามสมมุติว่า Awng Awng ก็แสดงความกังวลว่าสถานการณ์จะตึงเครียดอย่างมากในระดับที่ KIO ไม่สามารถจะทำความเข้าใจร่วมกันกับประชาชนได้ อีกทั้ง Awng Awng ยังบอกอีกว่าเขาอยากให้ผู้นำกองกำลังทำตามอุดมการณ์ที่พวกเขาต่อสู้คือการที่ต้องปกป้องแหล่งธรรมชาติและทรัพยากรของผินแผ่นดินตัวเองด้วย

Sut Seng Htoi นักกิจกรรมกะฉิ่นชื่อดังและโฆษกของขบวนการพลเมืองรัฐกะฉิ่นบอกว่า "KIO กับ KIA มีความรับผิดชอบที่จะทำให้ประชาชนท้องถิ่นพึงพอใจ ...ไม่เช่นนั้นมันจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของประชาชนที่มีต่อการปฏิวัติกะฉิ่น"

ในวันที่ 13 เม.ย. ภาคประชาสังคมกะฉิ่นหลายองค์กรร่วมกันออกแถลงการณ์ประณาม KIO ที่ทำการกดดันชุมชน และไม่สามารถหาแนวทางในเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาได้ รวมถึงเรียกร้องให้ KIO หยุดยั้งการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธทั่วประเทศ เรียกร้องให้เคารพเสียงของคนในชุมชน และให้มีระบบจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน

หลังจากที่แถลงการณ์ดังกล่าวออกมาได้สองวัน KIO ก็ทำการยกเลิกโครงการเหมืองแร่ จากนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นการยกย่องและความโล่งอก

Nsang Gum San โฆษกของทีมประสานงานชั่วคราวกะฉิ่นกล่าวว่าชาวกะฉิ่นมองว่าผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการให้เงินตอบแทนหรือการแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันจากเหมือง กรณีนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นอีกว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่ผู้คนให้คุณค่าอย่างมากในพื้นที่ที่ KIO ปกครองอยู่ จากการที่โครงการที่มีแผนการจะดำเนินการอาจจะถูกคว่ำได้ถ้าหากคนในท้องถิ่นไม่ยอมรับ

นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวชาวกะฉิ่นรายอื่นๆ ยังมองว่าการที่ผู้นำ KIO ยกเลิกเหมืองแร่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขารับฟังเสียงประชาชน มีความเชื่อมั่นในเรื่องการปกครองตนเอง และทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อใจพวกเขามากขึ้น ทั้งนี้หนึ่งในนักเคลื่อนไหวคือ Sut Seng Htoi ก็ยังคงเรียกร้องให้ประชาชนชาวกะฉิ่นออกปากวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมทุกรูปแบบต่อไป

 

 

เรียบเรียงจาก

How the Kachin public overturned a rare earth mining project in KIO territory, Frontier Myanmar, 02-05-2023

https://www.frontiermyanmar.net/en/how-the-kachin-public-overturned-a-rare-earth-mining-project-in-kio-territory/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net