Skip to main content
sharethis

จากที่มีกระแสการตั้งคำถามว่า ส.ว. หรือ สมาชิกวุฒิสภา "มีไว้ทำไม" นั้น ประชาไทจึงได้รวบรวมข้อมูลระบอบการเมืองของประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับไทย (คือมีการเลือกตั้งในขณะที่ยังมีกษัตริย์หรือราชินีเป็นประมุข) เพื่อที่จะเป็นข้อมูลความรู้เพิ่มเติมในประเด็นนี้ รวมถึงข้อถกเถียงในเรื่องที่ว่าระบบสภาเดี่ยว กับสภาคู่มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร

เป็นที่ทราบกันว่า หน่วยงานวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 (ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 2562 - ปัจจุบัน) นั้นมีสมาชิก 250 ราย ที่มาจากการสรรหาตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ในรัฐธรรมนูญ (ที่ร่างโดยคณะรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาประชาธิปไตย) ซึ่งในจำนวน 250 รายนี้มี 6 รายที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นตำแหน่งในทางการทหารและตำรวจ

ส.ว. ไทยเหล่านี้มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงพิจารณาและและมีการออกเสียงผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เรื่องของที่มาและการกระทำของส.ว.ชุดดังกล่าวนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากโดยเฉพาะจากฝ่ายประชาธิปไตยในไทย

เรามาดูประเทศอื่นๆ ที่มีระบอบการเมืองคล้ายคลึงกับไทย คือมีกษัตริย์หรือราชินีเป็นประมุขและมีการเลือกตั้ง (แต่อาจจะมีข้อกฎหมายบางอย่างต่างกัน) ว่าพวกเขามีเคยมี ส.ว. หรือไม่ และทำไมถึงมีการยกเลิก ส.ว. หลายเป็นสภาเดี่ยว

กรณี สวีเดน : ประเทศที่มีกษัตริย์แต่ไม่มี ส.ว.

การเมืองของประเทศสวีเดนนั้นเป็นระบอบที่มีผู้แทนจากการเลือกตั้งควบคู่ไปกับการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจฝ่ายบริหารที่นำโดยนายกรัฐมนตรี และอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติมาจากทั้งรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบหลายพรรค ขณะที่ตุลาการจะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลและเป็นองค์กรอิสระดำรงอยู่จนเกษียณอายุ ขณะที่กษัตริย์มีอำนาจในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) สวีเดนมีระบบสภาเดี่ยวที่เรียกว่า "ริกส์ดอก" (Riksdag) ซึ่งมีสมาชิก 349 ราย มีอำนาจในเชิงนิติบัญญัติและอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง สภาริกส์ดอกมาจากการเลือกตั้งผู้แทนในระบบสัดส่วน และมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ก่อนหน้านี้สวีเดนก็เคยมีระบบสองสภามาก่อนตั้งแต่เมื่อปี 2403 ก่อนที่จะยกเลิกไปหลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไปปี 2513 ในช่วงระหว่างนั้น สวีเดนมีสภาบนซึ่งเทียบได้กับส.ว.ของไทยที่เรียกว่า เฟิร์สตอ คัมมาเรน (Första kammaren) ซึ่งแปลว่า "สภาที่หนึ่ง" ส่วนสภาล่างในตอนนั้นถูกเรียกว่า "สภาที่สอง" หรือ อันดรา คัมมาเรน

จนถึงช่วงที่มีการยกเลิกสภาบนของสวีเดนนั้นมีสมาชิก ส.ว. อยู่ที่ 151 ราย ส.ว. ของสวีเดนในตอนนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงแต่มาจากการเลือกตั้งโดยสภาคณะผู้เลือกตั้งที่เป็นกลุ่มตัวแทนจากสภาเทศบาลและสภาส่วนภูมิภาคของเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

สภาพการเมืองในตอนนั้นของสวีเดน สภาบนอาจจะกลายเป็นิ่งที่ฉุดรั้งร่างงบประมาณหรือร่างกฎหมายใหม่ๆ ได้ เพราะถ้าหากว่ามีความขัดแย้งกันในด้านการตัดสินใจระหว่างสองสภา จะต้องมีการนำมาหารือร่วมกันโดยทั้งสองสภา แต่ถ้าหากยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ การตัดสินใจต่างๆ เช่นร่างกฎหมายใหม่ ก็จะไม่เกิดผลใดๆ

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่น่าวิจารณ์ในเรื่องอภิชนนิยม จากการที่คณะผู้เลือกตั้งส.ว.ของสวีเดนในยุคนั้นมาจากผู้แทนที่เป็นตัวแทนของ "ผู้มีการศึกษาและมีความมั่งคั่ง" จากเมืองใหญ่ๆ มีการให้แต่ผู้ชายที่มีวัยวุฒิ มีรายได้ และความมั่งคั่งมากพอเท่านั้นถึงจะเป็นคณะผู้เลือกตั้งได้ เทียบได้กับเป็นการเลือกปฏิบัติทางอัตลักษณ์

ในปัจจุบันสวีเดนยุบสภาบนไปแล้ว เหลือสภาเดี่ยวที่มี 349 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

กรณี เดนมาร์ก เคยทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญยกเลิก ส.ว.

เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีระบอบการเลือกตั้งรัฐสภาโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเป็นรัฐที่ปกครองแบบกระจายอำนาจจากส่วนกลางด้วย เดนมาร์กในปัจจุบันมีระบบสภาแบบสภาเดี่ยวที่เรียกว่า ฟอลเกตติง (Folketing) ซึ่งประกอบด้วยส.ส. 179 ราย

สภาฟอลเกตติงของเดนมาร์ก เป็นส่วนที่มีอำนาจนิติบัญญัติคือเรื่องกฎหมายต่างๆ รวมถึงอนุมัติการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจบริหารจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ ในปัจจุบันเดนมาร์กมีสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 เป็นประมุข ซึ่งทางเว็บไซต์ของรัฐบาลเดนมาร์กระบุว่าเป็นประมุขที่มีบทบาทในเชิงพิธีการเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามกษัตริย์หรือราชินีของเดนมาร์กยังมีอำนาจในการแต่งต้ั้งฝ่ายตุลาการอย่างเป็นทางการด้วยหลังจากที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอชื่อ (ซึ่งมักจะมีฝ่ายตุลาการเป็นผู้เสนอแนะการแต่งตั้งให้กับฝ่ายบริหารอีกทีหนึ่ง)

ก่อนหน้านี้ เดนมาร์กเคยมีสภาบนที่เทียบได้กับ ส.ว. บ้านเราเช่นกันในชื่อ ลันด์สติงเกต (Landstinget) ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ปี 2392-2496 ในระบบสภาคู่ เริ่มแรกแล้วสภาบนของเดนมาร์กมีอยู่ 51 ที่นั่ง แต่ในครั้งหลังสุดก่อนที่จะยุบมีเพิ่มมาเป็น 76 ที่นั่ง

ระบบการเข้าสู่สภาบนของเดนมาร์กนั้นมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมเช่นเดียวกับของสวีเดน คือให้ประชาชนเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งจากเขตการเลือกตั้งในแต่ละเขต แล้วคณะผู้เลือกตั้งจะเป็นผู้ลงคะแนนโหวตเลือกส.ว. อีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตามในช่วงแรกๆ มีบางช่วงที่กษัตริย์เดนมาร์กมีอำนาจในการแต่งตั้งส.ว. จำนวน 12 ราย ก่อนที่จะยกเลิกไปหลังจากใช้ระบบแบบนี้มาเป็นเวลา 12 ปี

เดนมาร์กมีการยกเลิกระบบ ส.ว. หลังจากการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2496 ซึ่งมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 78.8 ก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกดังกล่าวเคยมีการพยายามปฏิรูปแทนที่สภาลันด์ติงเกตด้วยสภารูปแบบอื่นเพื่อทำให้กระบวนการผ่านร่างกฎหมายง่ายขึ้น แต่ในตอนนั้นคือปี 2482 มีผู้มาใข้สิทธิลงคะแนนประชามติน้อยเกินไปทำให้ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้น

กรณี นิวซีแลนด์ : ยกเลิกสภาบนเพราะมองว่าไร้ประสิทธิภาพ

ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร นั่นหมายความว่ามีประมุขเป็นกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ในปัจจุบันมีระบบสภาแบบสภาเดี่ยวคือสภาผู้แทนที่มีสมาชิก 120 ราย มีบางครั้งที่มีการเพิ่มที่นั่งส่วนขยายให้กับส.ส.จากพรรคสามารถชนะได้ในระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม สำหรับในนิวซีแลนด์นั้นมีชนพื้นเมืองที่เข้าไปมีบทบาทเป็นผู้แทนในสภาและมีผู้หญิงเข้าไปเป็นผู้แทนในสภาได้มานานเกินกว่า 100 ปีแล้ว

ก่อนหน้านี้นิวซีแลนด์เคยมีสภาบนที่เรียกว่า "สภานิติบัญญัตินิวซีแลนด์" ที่ยกเลิกไปเมื่อปี 2494  โดยที่สภาบนของนิวซีแลนด์นี้มีที่มาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคม ในฐานะที่เป็นสภานิติบัญญัติประจำอาณานิคมและรัฐต่างๆ ก่อนที่จะถูกจัดให้เป็นสภาบนควบคู่กับสภาล่าง (สภาผู้แทนฯ) ในเวลาต่อมาคือปี 2396 แล้วถึงมีการยกเลิกไปในปี 2494 ดังที่ระบุไว้

ในตอนที่ยังมีสภาบนซึ่งเทียบได้กับส.ว.ในบ้านเรา สภาบนของนิวซีแลนด์จะทำหน้าที่พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย แต่ไม่มีหน้าที่ในการเสนอร่างกฎหมาย และถูกห้ามไม่ให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการคลังและรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน โดยที่สภาบนของนิวซีแลนด์นั้นมีโมเดลเดียวกับสภาบนของอังกฤษที่เรียกว่า "สภาขุนนาง" (ซึ่งที่อังกฤษยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (ราวกึ่งกลางระหว่าง พ.ศ. 2443-2543) สภาบนของนิวซีแลนด์ก็ถูกมองว่ามีความไร้ประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ค่อยทำการตรวจสอบอะไรมากนักในด้านกระบวนการออกกฎหมาย จนทำให้คนจำนวนมากเริ่มมองว่าหรือ ส.ว.จะมีไปก็เท่านั้น ทำให้มีบางส่วนบอกว่าควรจะต้องปฏิรูป ส.ว. ของประเทศ ขณะที่บางส่วนมองว่าควรจะยุบทิ้ง

หลังจากนั้นในปี 2490 หัวหน้าพรรคแห่งชาติของนิวซีแลนด์ในยุคนั้นคือ ซิดนีย์ ฮอลแลนด์ ก็เสนอกฎหมายยุบสภาบน แต่ร่างกฎหมายก็ถูกโหวตคว่ำในสภาล่าง สาเหตุที่โหวตคว่ำนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าในตอนนั้นนิวซีแลนด์ยังคงขาดอิสระในการปกครองตนเองจากสหราชอาณาจักร มีกฎหมายจากสหราชอาณาจักรที่ห้ามไม่ให้นิวซีแลนด์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ต่อมาสหราชอาณาจักรก็ออกบัญญัติอนุญาตให้นิวซีแลนด์แก้รัฐธรรมนูญได้ และในปี 2493 เมื่อพรรคแห่งชาติได้เป็นรัฐบาลก็มีการผ่านร่างกฎหมายยุบ ส.ว. หลังจากนั้นห้องประชุมสภาบนของนิวซีแลนด์ก็ยกเลิกไม่นำมาใช้ในการอภิปรายทางการเมืองอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในเชิงพิธีการการรับกระแสพระราชดำรัสจากกษัตริย์อังกฤษ เนื่องจากมีประเพณีของอังกฤษที่ว่าราชวงศ์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะไม่เข้าไปในสภาส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่จะใช้วิธีเรียกเข้าพบผ่านทางห้องประชุมสภาบนแทน

สภาเดี่ยว กับ สภาคู่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ในหนังสือเรื่อง "Democracy in one book or less" ของ เดวิด ลิตต์ ที่ออกมาเมื่อปี 2563 ระบุว่า แนวคิดแบบสภาคู่นั้นเป็นไปเพื่อทำให้เกิดการยับยั้งไม่ให้เกิดการใช้อำนาจล้นเกินจากเสียงข้างมาก แต่ทว่ามีนักวิจารณ์ระบุว่ามันมีวิธีอื่นที่ดีกว่าในการตรวจสอบถ่วงดุุลไม่ให้เกิดเผด็จการเสียงข้างมาก เช่น วิธีการใช้ระบบตุลาการที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างแท้จริง และผ่านทางรัฐธรรมนูญที่มีความหนักแน่น

ทั้งนี้ยังมีการระบุถึงประโยชน์ของระบอบแบบสภาเดี่ยวไว้เช่นกัน ในหนังสือ "The invention of the United States Senate" โดย เดวิด เวิร์ลส และ สตีเฟน เวิร์ลส ระบุว่า ระบอบแบบสภาเดี่ยวนั้นเป็นที่นิยมในหมู่ประเทศประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่มาก และถูกมองว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า

เวิร์ลส ระบุว่าโดยหลักๆ แล้วระบอบสภาเดี่ยวมีประสิทธิภาพมากกว่าในการออกกฎหมาย มีความเรียบง่ายกว่า ไม่ทำให้เกิดสภาวะตีบตันเมื่อสองสภาตกลงกันไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการลดรายจ่ายของรัฐเพราะมีสถาบันทางการเมืองที่กินงบประมาณรัฐลดลงด้วย


เรียบเรียงจาก
The history of the Riksdag, Sveriges Riksdag
https://www.riksdagen.se/en/how-the-riksdag-works/democracy/the-history-of-the-riksdag/
Government and politics, Denmark.dk
https://denmark.dk/society-and-business/government-and-politics
Legislative Council abolished, New Zealand History
https://nzhistory.govt.nz/legislative-council-abolished

ระบบการเมืองนิวซีแลนด์
https://en.wikipedia.org/wiki/New_Zealand_Legislative_Council
https://en.wikipedia.org/wiki/New_Zealand_Parliament

ระบบการเมืองเดนมาร์ก
https://en.wikipedia.org/wiki/1953_Danish_constitutional_and_electoral_age_referendum
https://en.wikipedia.org/wiki/Landstinget
https://en.wikipedia.org/wiki/Folketing

ระบบการเมืองสวีเดน
https://en.wikipedia.org/wiki/F%C3%B6rsta_kammaren
https://en.wikipedia.org/wiki/Politics_of_Sweden
https://en.wikipedia.org/wiki/Riksdag

Understanding the Swedish Model, Frank Cass, 1991, page 111

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net