Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จี้ ครม. 'ประยุทธ์' รับผิดชอบ หลังศาล รธน.ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ด้าน 'วิษณุ' ชี้รัฐต้องรับผิดชอบ แต่หมดไปแล้วตอนยุบสภา 

 

ต่อกรณีเมื่อ 18 พ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8 ต่อ 1 ตีตกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ซึ่งถูกตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย) มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ส่งผลให้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่มีผลตั้งแต่ต้น หรือไม่มีการเลื่อนบังคับใช้ตั้งแต่ต้น

วันนี้ 23 พ.ค. 2566 อานนท์ มาเม้า อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก "Arnon Mamout" ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ด้วยว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.ก. เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากทั้งในด้านกฎหมาย และการเมือง แต่ทางคณะรัฐมนตรีกลับไม่แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด 

โพสต์ของอานนท์ ระบุว่า เนื่องด้วย พ.ร.ก. คือกฎหมายที่รัฐบาลออกโดยอ้างเหตุผลพิเศษ แทนที่รัฐสภาในยามปกติ โดยในอดีต พ.ร.ก.ที่ถูกตีตก จะถูกตีตกในชั้นสภา เนื่องจากสภาอาจไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาลที่ออก พ.ร.ก.ฉบับนั้น

ในอดีตเคยมีกรณีที่นายกรัฐมนตรีลาออก เนื่องจาก พ.ร.ก.ถูกตีตก อย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี 2487 และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยยุบสภา เมื่อปี 2529 หลังไม่สามารถผ่าน พ.ร.ก.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) 

ทั้งนี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยลาออกจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่สามารถผ่าน พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก.ระเบียบราชการการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และร่าง พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก.จัดสร้างพุทธบุรีมณฑลในวันที่ 20 และ 22 ก.ค. 2487 ตามลำดับ

อานนท์ ระบุต่อว่า ในกรณีล่าสุดที่ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายนั้นรุนแรงกว่า เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกด้วยเหตุผลฝ่าฝืนเงื่อนไขในการตราออกมาใช้ และไม่ต้องเอาไปให้สภาพิจารณาอีกแล้ว เนื่องจากมีสภาพโมฆะตั้งแต่ต้น 

นอกจากนี้ อานนท์ ระบุด้วยว่า การที่ ครม.ประยุทธ์ กระทำการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการตรา พ.ร.ก. ย่อมเป็นเรื่องหนักหนากว่าการที่ตรา พ.ร.ก.ออกมาโดยสภาไม่เห็นด้วยในทางการเมือง แต่ว่าทางคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ ยังไม่ออกมารับผิดชอบต่อกรณีนี้แต่อย่างใด ทั้งที่การเป็นรักษาการนายกฯ สามารถลาออกได้ หรือไม่มีแม้กระทั่งการออกมาขอโทษประชาชนที่ต้องเสียสิทธิตามกฎหมาย จากการเลื่อนใช้บังคับ พ.ร.บ.ดังกล่าว 

"บรรดาเนติบริกรที่ไปช่วยแนะนำให้ออก พรก. ก็ควรรับผิดชอบ และคำนึงถึงหลักการทางรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น 

"วันนี้ ประชุม ครม. ใครเจอประยุทธ์หรือรองนายกฝ่ายกฎหมาย ลองถามหาความรับผิดชอบและผลกระทบดู" โพสต์ของอานนท์ มาเม้า ทิ้งท้าย

ความรับผิดชอบนี้หมดไปตั้งแต่ยุบสภา

ในเวลาต่อมา สื่อ The Standard รายงานวันนี้ (23 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกรณีนี้ว่า ถ้าสภายังอยู่ รัฐบาลยังอยู่ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกหรือยุบสภา แต่ตอนนี้ยุบสภาไปแล้ว รัฐบาลสิ้นสุดลงแล้ว และรัฐธรรมนูญให้อยู่รักษาการก็ต้องอยู่ รัฐมนตรีแต่ละคนอาจจะลาออกได้ แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นออกไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มี ครม. ทำงาน อีกทั้งตั้ง ครม. ใหม่ไม่ได้

"ดังนั้น การรับผิดชอบตรงนี้มันหมดไปตั้งแต่ยุบสภา" วิษณุ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถลาออกไปได้แล้วแต่งตั้งปลัดกระทรวงขึ้นมาแทน วิษณุ กล่าวว่า ทำไม่ได้ ปลัดกระทรวงขึ้นมาใช้อำนาจรัฐมนตรีไม่ได้ ทำได้กรณีเดียวตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องพวกนี้คือ กรณีตามมาตรา 142 ว่าด้วยการเสนองบประมาณผิด ทำให้ศาลสั่งให้ ครม. ต้องสิ้นสุดลงทั้งหมด

วิษณุ กล่าวย้ำอีกว่า การรับผิดชอบด้วยการลาออกทำได้โดยรัฐมนตรีลาออกเป็นรายบุคคล ซึ่งตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ที่ตอนนี้บังคับใช้มาแล้ว 3 เดือน ก็มีเวลาที่ตำรวจเตรียมการไปได้เยอะแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ สามารถปฏิบัติได้ วันนี้ก็มีการเสนอ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้ ป้องกันการสูญหาย อุ้มฆ่า และทรมาน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกฯ ตอบกรณีนี้กับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ไม่มีปัญหา ฝ่ายกฎหมายได้ตอบไปแล้ว 

ครม.เห็นชอบ ตั้ง คกก.อุ้มหาย 6 ตำแหน่ง

เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (23 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งวันที่ 23 พฤษภาคม ดังนี้

1.การเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 14(4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 14(4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ดังนี้

1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน

2.นายสมชาย หอมลออ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน

3.ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย

4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวีร์ ไวยวุฒิ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านนิติวิทยาศาสตร์

5.พลตำรวจโท นายแพทย์พรชัย สุธีรคุณ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์

6.แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แพทย์ทางจิตเวชศาสตร์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net