Skip to main content
sharethis
  • ประมวลกิจกรรม ประชาชนรวมตัวหน้ารัฐสภา จัดเสวนา-อ่าน จม.เปิดผนึก สื่อสารถึง ส.ว. 'ต้องไม่โหวตเลือกนายกฯ สวนมติของประชาชน' 
  • ดีเบตในที่ชุมนุม มวลชนอิสระ 'ชูป้ายด่า ส.ว.-คัดค้านมาตรา 112' หน้าประตูรัฐสภา พร้อมดีเบตกับผู้ไม่เห็นด้วย ชี้ทำแบบนี้ 'พิธาซวย' แน่ ขณะที่ทีมการ์ดแนวร่วม มธ. เจรจาขอให้ยุติกิจกรรม

 

กิจกรรมเรียกร้อง ส.ว. โหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส. ที่หน้ารัฐสภาเมื่อ 23 พ.ค. 66

หยก ธนลภย์ เยาวชนผู้ต้องหาคดี ม.112 แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

23 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 พ.ค.) ประชาชนและสื่อมวลชนรวมตัวกันหน้ารัฐสภา ฝั่งบุญรอด ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เพื่อร่วมกิจกรรม "อย่าให้ใครขโมยความฝันและความหวังของเรา ส.ว.ต้องไม่สวนมติประชาชน" ตามการนัดหมายของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้องหลักให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของประชาชน สำหรับกิจกรรมวันนี้จะประกอบด้วยวงเสวนา 2 วง และการอ่านจดหมายเปิดผนึก

เมื่อเวลา 18.00 น. มีการจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ ส.ว. มีที่มาจากไหน มีไว้ทำไม และทำไมควรโหวตตามมติเสียงข้างมากของประชาชน โดยมี อุเชนทร์ เชียงแสน อนุสรณ์ อุณโณ และ 'เติร์ด' กลุ่ม Wevo ร่วมอภิปราย

เวลา 19.00 น. เป็นการแสดงดนตรีของ 'อาเล็ก' โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินที่ใช้เสียงเพลง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พรรคก้าวไกล สามารถชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. 152 ที่นั่ง ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อ 18 พ.ค. 2566 พรรคก้าวไกล นำทีม 8 พรรคการเมือง ประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ด้วยจำนวน ส.ส. 313 เสียง ทำให้หากพิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก 2 สภา อีก 63 เสียง เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 700 เสียง

นอกจากนี้ การทำกิจกรรมวันนี้ยังเป็นวันเดียวกับที่สมาชิกวุฒิสภามีคำสั่งนัดสมาชิกประชุมที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นมาอีกด้วย

วุฒิสภาของไทยเป็นสิ่งแปลกปลอม

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์สังคมวิทยามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ของรัฐสภาไทยตอนนี้ว่าวุฒิสภาที่ไทยมีอยู่ตอนนี้ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบบรัฐสภา เพราะประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นประชาธิปไตยตอนนี้เป้นระบบสภาเดี่ยวคือมีแต่สภาผู้แทนราษฎรเพราะสภาที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนและมีฝ่ายค้านก็เพียงพอแล้ว มีแค่ 80 ประเทศที่มีสองสภามีบางประเทศที่เป็นวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและแบบเลือกตั้งทั้งหมดซึ่งจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป

แต่ประเทศที่ใช้แบบแต่งตั้งทั้งหมดอย่างอังกฤษก็จะมีการจำกัดอำนาจไว้มากมีสถานะเหมือนเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นแบบที่วุฒิสภามีอำนาจมากก็จะมาจากการเลือกตั้งอย่างเช่นในสหรัฐฯ เป็นต้น

ทั้งนี้วุฒิสภาของไทยกลับเป็นแบบที่มีอำนาจมากแล้วมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน จึงเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบรัฐสภาและประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามแม้ไทยเองจะมีวุฒิสภามานานแล้วแต่ในกรณีของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้สถานะของวุฒิสภาเปลี่ยนไปจากเดิมที่แรกเริ่มเคยเป็นสภาพี่เลี้ยงและเป็นสภาที่ไว้ตรวจสอบการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ 2540 มากลายเป็น “สภาแห่งการสืบทอดอำนาจ” ที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ร่างขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2549 แต่วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังคงให้มีสัดส่วน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าส.ว.แต่งตั้ง จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่แต่งตั้งทั้งหมดเพราะต้องการใช้ ส.ว.ในการสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

อนุสรณ์กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้ประเด็น ส.ว.มีไว้สืบทอดอำนาจก็เห็นได้ชัดเจนจากการที่ ส.ว.ยกมือเลือกให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ทำให้ ส.ว.ของไทยไม่เหมือนใครในโลกด้วยเพราะมีอำนาจในาการเลือกนายกรัฐมนตรี

อนุสรณ์กล่าวว่าที่ ส.ว.จึงเป็นสิ่งแปลกปลอมและเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยเพราะขัดกับหลักการที่อธิปไตยเป็นของปวงชนเพราะประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนในรัฐสภา ทำหน้าที่ตัดสินใจออกกฎหมาย หรือบริหารประเทศรวมถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี”

"คำถามก็คือว่าสมาชิกวุฒิสภาอ้างความชอบธรรมมาจากอะไรในการที่จะเขามามีส่วนลงคะแนนเสียงว่ารับหรือไม่รับ หรือจะเลือกใครเป็นตัวแทนของประชาชน มันขัดกับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน"

อนุสรณ์ กล่าวถึงประเด็นต่อมาว่าที่วุฒิสภาของไทยยังเป็นอันตรายต่อระบบรัฐสภาของไทยคือการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแทรกเข้ามาก็อาจทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนรองลงมารวมตัวกันแล้วจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้ก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วก็จะทำให้บริหารประเทศได้ยากมากหรือไม่ได้เลย เพราะไม่สามารถผ่านงบประมาณหรือกฎหมายอะไรได้ก็จะได้ไปเพียงตำแหน่งนายกฯ เป็นการทำลายระบบรัฐสภาไปโดยปริยาย

อนุสรณ์ กล่าวถึงประเด็นที่ว่าเป็นอันตรายต่ออีกเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยอีกประเด็นคือเรื่องพรรคการเมืองที่เสมือนเป็นจุดรวมเจตจำนงและความปราถนาของประชาชนนำผ่านเข้าไปสู่สภาเพื่อออกฎหมายและบริหารประเทศ แต่เมื่อมีวุฒิสภาที่มีอำนาจแบบนี้แทรกตัวเข้ามาก็ทำให้เกิดคำถามว่าจะมีพรรคการเมืองไปทำไม ซึ่งทำให้เห็นว่าวุฒิสภาที่ควรจะมีอำนาจไม่มากแต่กลับมีอำนาจมากเหลือเกิน

อนุสรณ์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มักอ้างกันว่าผ่านประชามติมานั้นไม่ถือว่ามาจากการทำประชามติจริงๆ เพราะมีการแก้ไขหลังทำประชามติก่อนถูกประกาศใช้มาแล้ว 2-3 ครั้ง อีกทั้งยังมีการจำกัดการแสดงความคิดเห็นมีการจับกุมคนที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วฝ่ายรัฐเองก็ยังมีการส่ง กอ.รมน.เข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ถึง 5 แสนคนโดยอ้างว่าเพื่อเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชน

อุเชนทร์ เขียงเสน อาจารย์รัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า นิยามของประชาธิปไตยขั้นต่ำคือรัฐบาลจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะต้องมีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งประชาชนทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่จะต้องมีสิทธิเลือกตั้งและมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมตัวรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกความคิดเห็นของตนได้ อย่างไรก็ตามปัญหาของการเมืองไทยคือมักจะถูกขัดขวางจากองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และคุณสมบัติอย่างหนึ่งของความเป็นประชาธิปไทยที่ไทยขาดหายมาตลอดหลังการรัฐประหารในปี 2549 คือการยอมรับผลการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้เป็นไปตามผลของการเลือกตั้ง

"เราจะเห็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราจะเรียกมันว่า Deep State หรือ Network Monarchy มาแข่งขันหรือขัดขวางการดำเนินการหรือการทำให้เป็นประชาธิปไตยของไทย"

อุเชนทร์ กล่าวว่าในการเลือกตั้ง 2566 มีความหมายต่อการเมืองไทยอย่างมาก เพราะนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ผู้ครองอำนาจของไทยพยายามสร้างขึ้นมาคือระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งที่มีพื้นฐานคือเป็นระบอบอำนาจนิยมแต่มีสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือมีการเลอกตั้งอยู่เพื่อสร้างความชอบธรรมเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าไทยมีประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งแล้วและให้ประชาชนในประเทศยอมรับ

"แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ถูกควบคุมบงการด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งในและนอกกฎหมาย รุนแรงและไม่รุนแรงทั้งในและนอกสถาบันการเมืองปกติเพื่อครองอำนาจต่อไป สิ่งที่น่าสนใจกรณีไทยก็คือว่าระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งนี้พยายามบงการผ่านสถาบันการเมืองและ ส.ว.ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้แต่ความพยายามนี้ไม่ประสบความสำเร็จเพราะว่าพลังการเลือกตั้งของประชาชน"

อุเชนทร์ ย้อนกลับไปกล่าวถึงหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ว่าการเป็นคนเสื้อแดงอย่างเขาที่ต้องลงไปทำงานอยู่ในภาคใต้ยังต้องคอยระวังตัวจากประชาชนฝ่ายตรงข้าม แต่ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในที่สุด โดยดูจากผลการเลือกตั้งสามครั้งหลังจากเหตุการณ์นั้น แม้ในปี 2554 เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแต่ก็ถูกกลุ่ม กปปศ.ออกมาต่อต้านและเกิดการรัฐประหาร การเลือกตั้งในปี 2562 พรรคฝ่ายประชาธิปไทยได้รวมกัน 15.5 ล้านเสียง แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยได้เสียงไปมากถึง 26.3 ล้านเสียง

"แปลว่า 4 ปีจาก 62-66 เรามีคนที่ไม่เคยเลือกเรามาเลือกเราเพิ่มขึ้น 11 ล้านเสียง แปลว่าเราชนะในการเลือกตั้ง อันที่สองก็คือเราชนะทางการเมืองเหนือผู้ครองอำนาจแบบเก่า"

อุเชนทร์ กล่าวต่อว่าแม้จะดูจากสิ่งที่พรรคก้าวไกลแคมเปญไว้เมื่อเทียบกับสิ่งที่เห็นใน MOU อาจจะทำให้ใจฝ่อไปบ้าง แต่หน้าที่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็คือต้องส่งเสริมผลักดันให้พรรคการเมืองกล้าหาญที่จะผลักดันสิ่งที่พรรคหาเสียงไว้ต่อไป

ส.ว.งดออกเสียงไม่ต่างกับเลือกประยุทธ์

ธนพร วิจันทร์ หรือไหมจากกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงไม่ต้องการการเมืองแบบเดิมๆ จนเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะถล่มทลาย ส.ว.ต้องโหวตให้กับฝ่ายที่มีคะแนนเสียงสูงสุดตามหลักการประชาธิปไตย ส.ว.บางคนอาจบอกว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ต้องเป็นประชาธิปไตย เธอคิดว่าครั้งนี้เป็นโอกาสและการเป็นประชาธิปไตยจะต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ได้บอกว่าพวกเราจะละทิ้งเสียงข้างน้อยกับคนเห็นต่าง และก็หวังว่า ส.ว.จะเคารพเสียงส่วนใหญ่

ตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานกล่าวถึงประเด็นที่ ส.ว.ออกมาแสดงความกังวลเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ว่าเป็นเรื่องปกติที่คนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายมาตรานี้จะอยากพูดถึงเรื่องนี้ เธอจึงตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนได้พูด และพวกเธอก็ไม่ได้ให้ละทิ้งเสียงของคนที่ไม่อยากให้แก้ แต่ต้องเอามาพูดกัน

“ไม่ใช่ว่า ส.ว.จะมากดดันประชาชนว่า ถ้าอยากให้เราเลือกพิธาเป็นนายกฯ พวกคุณอย่าพูดถึงเรื่องมาตรา 112 แต่เราบอกว่าเป็นเสรีภาพที่เราจะพูดได้ แต่ด้วยความสุจริตใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับมาตรา 112 คนที่โดนกระทำเขาโดนอะไรบ้างก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เราไม่ควรจะบอกว่าเราจะเอาเศรษฐกิจไว้ก่อนเรื่องปากท้องไปก่อน แต่อย่าลืมเวลาเราพูดเรื่องเศรษฐกิจเราควรต้องมีเสรีภาพด้วย ถ้าเรามีข้าวกินแต่เราไม่มีเสรีภาพเราคิดว่ามันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือบิ๊ก นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่าผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนความต้องการความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคมมากในระดับทั้งประเทศที่จะเห็นแค่พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยแม้กระทั่งภาคใต้ที่คนเข้าใจว่าเป็นอนุรักษ์นิยม ทำให้มุมมองต่อการเมืองไทยเปลี่ยนไปเลยจากที่คิดว่าไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงไม่ต้องการปฏิรูป แต่เขาต้องการกรปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การกระจายอำนาจ ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ต้องการการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นระบบ และทำให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้ต้องการแค่เรื่องปากท้องแล้ว แต่เรามีพรรคการเมืองที่กล้าเสนอการปฏิรูปขนานใหญ่และได้เสียงมากที่สุด

อย่างไรก็ตามเกียรติชัยยังคงคิดว่ายังมีเรื่องที่ต้องสู้กันอีกเยอะและไม่ได้จบอยู่แค่นี้และการต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยไม่มีวันจบ เพราะยังถอยหลังหรือเดินหน้าได้อีกและตอนนี้ต้องการให้มันเดินหน้าไปได้โดยที่ประชาธิปไตยไม่ถอยหลังเยอะเกินไป เพราะในเวลานี้แม้ทั่วโลกอาจจะมีสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยถดถอยอย่างเช่นสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาแต่อย่างต่ำที่สุดเขาก็ยังมีการเลือกตั้ง แต่สำหรับไทยมีความไม่เป็นประชาธิปไตยเกินไปมันถอยไปไกลถึงกับมีการรัฐประหารจึงยังต้องสู้อีกเยอะ แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ที่ชนะมากขนาดนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีมากที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมต้องการความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

“สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนแล้วไม่ล้มลง คือการต่อสู้ของมวลชน” เกียรติชัยกล่าวถึงการที่ประชาชนร่วมมือกันกับพรรคการเมืองในการต่อสู้และเดินเคียงข้างกัน และพรรคการเมืองเองก็ต้องลดความกลัวของตัวเองด้วยและมีข้อเสนอไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่ต่างคนต่างเสนอ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวถึงประเด็นที่ ส.ว.บางคนออกมาอ้างว่าตนเองเป็นกลางแล้วจะไม่โหวตนั้นเป็นเรื่องไม่ได้เป็นอย่างที่อ้างจริงๆ แล้วถ้าต้องการจะโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ หรือคนอื่นก็ให้พูดออกมาตรงๆ และการที่ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้จำเป็นต้องใช้เสียงถึง 376 เสียงหาก ส.ว.งดออกเสียงหมดก็จะไม่ถึง

“คุณโหวตประยุทธ์กับงดออกเสียงมีค่าเท่ากันทำให้พิธามันไม่ถึง(376 เสียง) ถ้าคุณโหวตประยุทธ์ไปทั้งหมดก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง เอาเป็นว่างดออกเสียงเท่ากับเป็นการโหวตขัดขวาง งดออกเสียงไม่เท่ากับเป็นกลาง”

ยิ่งชีพกล่าวว่าเขาเองคิดว่า ส.ว.เองก็รู้ว่าการงดออกเสียงไม่ได้เท่ากับเป็นกลางเพราะถ้าพิธาได้เสียงไม่ถึง 376 เสียงก็จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และถ้า ส.ว.รู้สึกว่าพิธาไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลอะไรก็ตามและให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลไม่ได้ สิ่งที่จะทำได้คือ ส.ว.ต้องลาออกล่วงหน้าก่อนวันที่จะโหวตนายกรัฐมนตรี 3 วันเพื่อให้ตำแหน่งว่างลงแล้วจำนวนเต็มของสภาลดลงทำให้จำนวนหนึ่งกึ่งหนึ่งของสภาลดลงด้วย

ยิ่งชีพยังมีข้อเสนอถึง ส.ว.อีกด้วยว่า ถ้ายังยอมรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้และกังวลว่าการเข้ามาของพรรคก้าวไกลจะมากระทบความมั่นคงหรือคนเหล่านี้จะนำวัฒนธรรมใหม่เข้ามาแล้ว ส.ว.ปรับตัวไม่ได้ ก็มีทางเลือกอีกว่า ตำแหน่งของ ส.ว.ในตอนนี้ยังไม่หมดลงแล้วจะหมดอายุลงในปีหน้าทำให้ยังเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกหลายครั้ง ก็สามารถเลือกพิธาไปก่อนแล้วพิธาเกิดมีปัญหาต้องออกไปก็ยังเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ได้

ทางเลือกต่อมาที่ยิ่งชีพเสนอคือ ถ้ากังวลว่าโหวตให้พิธาไปแล้วจะเอาออกไม่ได้ ก็ยังมีศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เลือกกันมาเอง ถ้าจะตัดสิทธิพิธาแล้วเลือกใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ก็ขอให้ปล่อยกระบวนการเดินหน้าไปได้ก่อน หรือแม้กระทั่ง ปปช.ที่ก็เลือกกันมาเองอีกถ้ามีใครทุจริตก็ใช้ ปปช.จัดการไปแทนการใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของตัวเองมาขวางไว้แบบนี้

ทางเลือกสุดท้ายที่ ส.ว.จะใช้ได้อีกคือ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่ง ส.ว.เป็นคนที่อำนาจในการใช้กฎหมายไว้ และในยุทธศาสต์ก็ยังกำหนดไว้ว่ารัฐบาลจะต้องธำรงค์ไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในหมวดความมั่นคงและการเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ถ้า ส.ว.เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำสิ่งใดขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ ส.ว.ก็ยังชงเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญที่ ส.ว.เลือกมากันเองให้วินิจฉัยว่าสิ่งที่พรรคการเมืองทำอยู่ทำไม่ได้

“สรุปก็คืออำนาจยังอยู่ในมือคุณ(ส.ว.) หมดเลยคุณจะไปกลัวอะไร ถ้าท่านหวาดกลัวต่อความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ ขอให้เด็กๆ อย่างพวกเรามาปลอบใจท่านว่าความเปลี่ยนแปลงมันยังไม่ได้มา ใจเย็นๆ อำนาจยังอยู่ในมือท่าน เพื่อนพี่น้องของท่านหมดเลย”

ยิ่งชีพได้ขอให้ ส.ว.ปล่อยให้กระบวนการในการตั้งรัฐบาลได้เดินไปอย่าได้สวนกระแสสร้างปัญหาให้ประชาชนต้องมาชุมนุมกันอีก แล้วถ้ามีปัญหา ส.ว.ก็ยังมีกลไกในมืออีกที่ก็เอาไปวัดกันในวันข้างหน้า

ดีเบตในที่ชุมนุม มวลชนอิสระ 'ชูป้ายด่า ส.ว.-คัดค้านมาตรา 112' หน้าประตูรัฐสภา พร้อมดีเบตกับผู้ไม่เห็นด้วย ชี้ทำแบบนี้ 'พิธาซวย' แน่ ขณะที่ทีมการ์ดแนวร่วม มธ. เจรจาขอให้ยุติกิจกรรม

สำนักข่าวราษฎร รายงานด้วยว่า เวลา 18.50 น. เกิดเหตุการณ์ถกเถียง บริเวณทางเข้าสถานที่จัดงาน กลุ่มมวลชนอิสระ นำโดย นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน หรืออาย หลังนำป้ายไวนิล ข้อความว่า “ส.ว.หัว ค.ว.ย.” และ “คัดค้าน มาตรา 112” รวมไปถึงศิลปิน กูKult นำรูปภาพวาดดินสอสีพร้อมกรอบทองมาชูภายในงาน บรรยากาศดังกล่าวเกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผู้ที่มาฟังเวทีเสวนาไม่เห็นด้วยกับกิจกรรม ส่งผลให้การ์ดของงานขอให้กลุ่มฯ ยุติกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นได้มีการโปรยกระดาษที่มีการเรียกร้องให้ ส.ว. เคารพเสียงของประชาชนกันด้วย

รายงานข่าวระบุด้วยว่าเวลาต่อมา มีหญิงคนหนึ่ง อายุประมาณ 40 ปี เสื้อยืดสีเทา สวมกางเกงยีนระบุว่าตนเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลแสดงความไม่พอใจกับกิจกรรม พร้อมระบุว่า หากอยากให้ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล อย่าทำกิจกรรมกดดัน ส.ว. เนื่องจากการกระทำเช่นนี้จะทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล และเสียขบวนที่เจรจากับ ส.ว. ยืนยันว่าตนก็เกลียดรัฐประหาร และอยากได้ประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ต้องไม่ใช่การทำแบบนี้ ซึ่งทางทีม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่ม ส.ว. ว่าจะโหวตให้พิธาเป็นนายกหรือไม่ จึงมองว่าเป็นการกดดัน ส.ว. เกินไป ทำให้ ส.ว.บางคนรู้สึกไม่ดี และส่งผลกับตัวพิธาอีกด้วย

ด้านนภสินธุ์ หรือสายน้ำ เปิดเผยว่า วันนี้พวกตนมาแสดงออก ไม่ได้ต้องการมีปัญหา พวกตนมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ ส.ว. และคัดค้านมาตรา 112 เพียงเท่านั้น

ภาพบรรยากาศ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net