Skip to main content
sharethis

กสม.ชงแก้ไขระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการคัดกรองคนข้ามชาติที่เข้ามาในไทย และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ให้คุ้มครองไม่ถูกผลักดันกลับสู่อันตราย ยินดีศาล รธน.ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย 

 

25 พ.ค. 2566 ทีมสื่อ กสม. รายงานวันนี้ (25 พ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 19/2566 โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562

ภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษา กสม. กล่าวว่า ตามที่ กสม.ได้รับข้อเสนอแนะจากผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยหลายองค์กรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และขอให้มีการพิจารณาข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้ลี้ภัยจากเมียนมากลุ่มใหม่ในประเทศไทย ประกอบกับข้อมูลจากเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เมื่อเดือน ม.ค. 2566 กรณีขอให้มีการพัฒนากระบวนการคัดกรองบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยเพื่อมิให้ถูกจับกุมและกักตัวโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย กสม.พิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่าเป็นประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล จึงมีมติให้ศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภาณุวัฒน์ ทองสุข

กสม.ในการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ได้พิจารณาผลการศึกษาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ดังกล่าวแล้ว มีความเห็นใน 4 ประเด็น สรุปได้ดังนี้

การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง เห็นว่ามีการออกประกาศของคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวเพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ลงวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งกำหนดว่าผู้ได้รับการคุ้มครองต้องไม่เป็นคนต่างด้าวที่กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ และไม่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ หรือที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเพิ่มเติม ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้ถูกตัดสิทธิในขั้นตอนการยื่นคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง จึงอาจถูกส่งกลับไปประเทศต้นทางที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร อันเป็นการขัดต่อหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement) ตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องผูกพัน และไม่สอดคล้องตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ข้อ 3 ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ประกอบมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่บัญญัติห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐขับไล่ ส่งกลับบุคคล เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน หรือถูกกระทำให้สูญหาย ทั้งยังอาจขัดต่อหลักความเสมอภาคทั่วไปเนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจเป็นคนต่างด้าวที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารเช่นเดียวกับคนต่างด้าวรายอื่น

ดังนั้น กสม.จึงเห็นควรเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566 ข้อ 2 และข้อ 5 โดยไม่นำคุณสมบัติเกี่ยวกับการเป็นคนต่างด้าวที่กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ และการเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ มาตัดสิทธิในการยื่นคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองและคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง แต่จะต้องพิจารณาจากเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารเป็นสำคัญ

การกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ปรากฏว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ข้อ 17 กำหนดให้คนต่างด้าวยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา โดยผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า คนต่างด้าวอาจมีข้อจำกัดในการยื่นอุทธรณ์ เช่น ข้อจำกัดด้านภาษา กฎหมาย หรือการจัดเตรียมเอกสารประกอบการอุทธรณ์ ทำให้ระยะเวลา 15 วัน อาจไม่เพียงพอต่อการเตรียมการอุทธรณ์ จึงมีข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 17 ของระเบียบดังกล่าว โดยกำหนดให้สามารถอุทธรณ์ผลการพิจารณาคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา โดยอาศัยเทียบเคียงกับระยะเวลาการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อสังเกตในคำวินิจฉัยที่ 21/2564 ว่า การกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้เพียงสิบห้าวัน เป็นการให้น้ำหนักแก่หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะของคำสั่งทางปกครองมากกว่าหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครอง เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป อาจทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเสียสิทธิอุทธรณ์และส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิทางศาล จึงเห็นควรมีการแก้ไขปรับปรุงระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนมากขึ้น และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับความเห็นดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการ

(3) กรณีคนต่างด้าวไม่ได้ยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ปรากฏว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ข้อ 18 กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้ยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ได้ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคนต่างด้าวละทิ้งคำร้องขอ ซึ่งจะแตกต่างจากหลักเกณฑ์ตามระเบียบฯ ข้อ 24 กรณีคณะกรรมการมีมติว่าคนต่างด้าวไม่มีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง หรือมีมติไม่ให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง หรือมีมติเพิกถอนสถานะผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะหรือผู้ได้รับการคุ้มครอง คนต่างด้าวอาจยื่นคำขอต่อคณะกรรมการเพื่อให้พิจารณาสถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองได้ใหม่

กสม. จึงเห็นว่า ระเบียบฯ ข้อ 18 เป็นการตัดสิทธิของผู้รับคำสั่งในการได้รับการพิจารณาใหม่ และขัดต่อหลักความเสมอภาคเพราะคนต่างด้าวทั้งสองกรณีตามระเบียบฯ ข้อ 18 และข้อ 24 อาจถือได้ว่าไม่มีความแตกต่างในสาระสำคัญที่จะปฏิบัติให้แตกต่าง ดังนั้น จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองฯ โดยกำหนดให้มีข้อยกเว้นกรณีมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกผลักดันไปสู่การประหัตประหาร

(4) สัดส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ เห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ข้อ 5 กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครองอย่างไม่ได้สัดส่วน โดยระเบียบฯ กำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำ จำนวน 11 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 4 คน ซึ่งไม่ได้กำหนดองค์ประกอบผู้แทนจากภาควิชาการหรือภาคประชาสังคมไว้อย่างชัดเจน

ประเด็นนี้ กสม. จึงเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 5 ของระเบียบดังกล่าว โดยเพิ่มจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการหรือผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ประเภทละ 3 คน รวมมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 6 คน เพื่อให้การพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวได้รับการพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบด้าน และให้มีสัดส่วนสมดุลกับกรรมการโดยตำแหน่ง เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจในการพิจารณา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญซึ่งได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ด้วย

กสม.ยินดีศาล รธน.ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย ขัดรัฐธรรมนูญ

วสันต์  ภัยหลีกลี้ กสม. เปิดเผยว่า ตามที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ตราขึ้นเพื่อขยายการบังคับใช้ มาตรา 22-25 ของกฎหมายดังกล่าวออกไป ด้วยเหตุความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นอันตกไป และไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 นั้น

วสันต์ ภัยหลีกลี้

กสม.รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ตามกำหนดการเดิม และตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่ายินดีที่ ครม.ขานรับและมีมติเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย ด้านนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และแพทย์ทางจิตเวชศาสตร์

สำหรับการดำเนินงานของ กสม. ในช่วงที่ผ่านมา กสม.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม เตรียมความพร้อมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมีการประชุมทำความเข้าใจกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งได้ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดริเริ่มโครงการอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์พิเศษ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าวและพร้อมเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังเหตุการณ์ทรมานและอุ้มหาย และร่วมทำหน้าที่แจ้งเหตุให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ทราบ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานสำคัญตามกลไกของกฎหมายดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ สำนักงาน กสม. ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐานและระบบการป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีเครื่องมือที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net