Skip to main content
sharethis

'สุรพงษ์ กองจันทึก' ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์แสดงความรับผิด เหตุออกพรก.เลื่อนพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ขัดรัฐธรรมนูญ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนา “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พรก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายทรมาน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[1] มีผลอย่างไร และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนา

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การซ้อมทรมานและอุ้มหายเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ไม่สามารถเอาผิดได้เนื่องจากผู้กระทำคือ เจ้าหน้าที่รัฐ จึงเกิดอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ขึ้น ซึ่งประเทศไทยเห็นด้วยและได้เข้าเป็นภาคี ส่วนตัวแปลกใจที่มีการออก พรก.เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา โดย ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเองที่เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรก.ฉบับที่ออกขึ้นเองนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งไม่เคยปรากฏเรื่องเช่นนี้มาก่อน ทั้งนี้การบันทึกภาพและเสียงในการตรวจค้น จับกุม นั้นทางสำนักงานตำรวจแหน่งชาติก็ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2564  ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 184/2564  ดังนั้นการที่อ้างว่าไม่ได้เตรียมการมาก่อนถือเป็นความเท็จ นายสุรัพงษ์ย้ำว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจติดกล้องประจำตัว มีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นเรื่องปกติ และยังทำให้เรื่องร้องเรียนน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย โดยนายสุรพงษ์ ได้เสนอ 5 แนวทางที่รัฐบาลรักษาการปัจจุบันและรักษาการนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบ ดังนี้ 

1. ต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งก็มีความชัดเจนในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

2. รัฐบาลนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์ โอชาต้องสำนึกผิดว่าสิ่งที่ทำไปผิดกฎหมาย

3. กลไกทางการเมืองที่ถูกต้องคือต้องมีลงโทษ รับโทษ รับผิด ซึ่งอาจจะเริ่มจากการขอโทษประชาชนเสียก่อน

4. หากมีการจับกุมควบคุมตัวในห้วงเวลา 22 ก.พ. 2566 ถึง 18 พ.ค. 2566 และมีการกระทำที่ไม่ชอบตามพ.ร.บ. ต้องมีกระบวนการเยียวยาให้ผู้เสียหาย

5. เราต้องสร้างบรรทัดฐานว่า ต่อไปรัฐบาลใดใดก็ตามจะต้องไม่ออก พรก.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีก

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยว่า พรก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง  ทั้งนี้ สำหรับผลทางการเมือง เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 ได้กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นนายกฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย  นอกจากนี้ ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตในการออก พรก.เพื่อเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่า “เป็นเพราะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2566 นี้หรือไม่ การขอคณะรัฐมนตรีตราพรก.ให้เลื่อนการบังคับใช้ทั้ง 4 มาตรานั้น เพื่อที่จะโยนภาระไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่รับผิดชอบหรือไม่ เหตุใดนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายในขณะนั้นจึงไม่ตรวจสอบกฎหมายที่กระทบกับประชาชน ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน โดยระยะเวลา 9 ปี ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  มีการออก พรก.มากที่สุดถึง 31 ฉบับ คงเป็นความเคยชินคิดว่ารัฐบาลทำได้ อีกไม่กลัวสภาฯ เพราะมีเสียงข้างมาก”

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กล่าวว่า “สำหรับผลทางอาญาหากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วไม่ได้ถ่ายวิดีโอ ไม่ได้แจ้งนายอำเภอและอัยการ ไม่ได้บันทึกรายละเอียดการจับกุม ถือไม่มีความผิดทางอาญา เนื่องด้วยทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่มีเจตนาที่กระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย” และระบุว่า “ตอนนี้มีหน่วยงานสำคัญสองหน่วยงานพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ สำนักงานอัยการสูงสุด และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ออกแบบระบบการรับแจ้งการจับและมีระเบียบการสอบสวนคดีตามพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว” สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต้องทำ คือการพิจาณาระเบียบรองรับเรื่องติดกล้องและบันทึกภาพ รวมทั้งการวางกรอบตีความกฎหมาย และการเยียวยาผู้เสียหายตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องเรียนหรือตีความว่า การกระทำใดบ้างเข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรา 6 การกระทำที่ไม่ถึงขั้นทรมานแต่เป็นการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็เป็นความผิดตามพรบ.ฉบับนี้ด้วย


[1] พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 เลื่อนการบังคับใช้ใน 4 มาตราของพ.ร.บ.ดังกล่าว จากวันที่ 22 ก.พ. 2566 เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2566 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สิ้นผล จึงทำให้มาตรา  22-25 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กพ. 2566

· มาตรา 22 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย

· มาตรา 23 ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

· มาตรา 24 ญาติ ผู้แทน หรือทนายความ  มีสิทธิร้องขอเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวต่อเจ้าหน้าที่

· มาตรา 25 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบหรือศาลอาจไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว หากผู้นั้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายโดยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาล และการเปิดเผยดังกล่าวอาจละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net