Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่จัด #ChiangMaiPride2023 ประชาชนร่วมขบวนพาเหรดคึกคัก เตรียมรับเทศกาลแห่งเดือน Pride Month ในเดือนมิถุนายน สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ผลักดันสมรสเท่าเทียม ให้คู่รักทุกเพศได้แต่งงานกันอย่างเท่าเทียม และยอมรับสิทธิของคนทำงานกลางคืนภายใต้แคมเปญ sex work is work

 

29 พ.ค. 2566 วานนี้ (28 พ.ค. 2566) เชียงใหม่จัดงาน “Chiang Mai Pride 2023” เตรียมรับ Pride Month ในเดือนมิถุนายน เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของ LGBTQ+ ในเวลา 18.00 น. ขบวนพาเหรดเริ่มเดินขบวนจากบริเวณพุทธสถาน ผ่านไนท์บาซาร์ เข้าถนนลอยเคราะห์ ก่อนไปจบที่ประตูท่าแพใจกลางเชียงใหม่ ภายในลานกิจกรรมท่าแพมีการจัดแสดงหลายหลากชุด และเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายที่ทำงานสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาแสดงจุดยืน รวมทั้งมีกิจกรรมฉายหนังกลางแปลงกลางลานท่าแพ

Pride Month เป็นเดือนแห่งการรำลึกเหตุจลาจล Stonewall เมื่อ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ต่อสู้ยืนหยัดตัวตน เป็นจุดเปลี่ยนที่จะไม่ยอมถูกข่มแหงจากเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป เทียบเคียงกันได้คือเหตุการณ์ ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มต่อต้านออกมาเหยียดหยามผู้มีความหลากหลายทางเพศและขัดขวางการจัดพาเหรดเกย์ไพรด์ ด้วยเหตุผลว่าการจัดงานดังกล่าวขัดต่อวัฒนธรรม เป็นเรื่องเสื่อมเสียของเมืองเชียงใหม่ กลุ่มผู้ไม่เห็นมีการปิดล้อม ด่าทอ โยนถุงเลือดในบริเวณชุมนุม เป็นการเหยียดหยามผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกลเดินทางมาร่วมงาน “Chiang Mai Pride 2023” ระบุว่า “จากวันนั้นสู่การเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ดเป็นส่วนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ ที่สร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคม Chiang Mai Pride ถือเป็นการเปิด Pride2023 ที่แรกในประเทศไทยปีนี้ เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ เพราะเราเป็นเรา ไม่ใช่ความผิดปกติ วิปริต ผิดบาป เราคือธรรมชาติ”

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งค้างอยู่ที่วาระ 2-3 เนื่องจากพิจารณาไม่ทันในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว โดยยืนยันว่าทันทีที่สภาเปิด รัฐบาลชุดใหม่ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง จะนำร่างสมรสเท่าเทียมกลับมาพิจารณาต่อทันที ตามที่บันทึกความเข้าใจร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) ข้อที่ 2 ระบุว่า ‘ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ’ ซึ่งตนเห็นว่าข้อความดังกล่าวสะท้อนถึงสันติภาพ ที่ทุกคนสามารถมีพื้นที่ความเชื่อของตัวเอง และอยู่ร่วมกันได้ เป็นเพื่อนกันได้ ท่ามกลางความแตกต่าง เห็นคุณค่าเสมอกันปราศจากความเกลียดชัง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net