Skip to main content
sharethis

‘ประชาไท’ จับมือพันธมิตร 6 ชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฝ้าระวังเสรีภาพสื่อ เผยแพร่ฐานข้อมูลคุกคามและกระทำความรุนแรงต่อคนทำงานสื่อมวลชนใน 6 ประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา โดยมีข้อมูลการคุกคามสื่อในไทยรวมอยู่ด้วยจำนวน 14 เหตุการณ์ด้วยกัน 

29 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรด้านวิชาชีพสื่อและสำนักข่าว 7 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศ ได้เปิดตัว “โครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Press Freedom Monitoring in Southeast Asia หรือ PFMSea) เพื่อติดตามกรณีการคุกคามสื่อในรูปแบบต่างๆ ทั่วภูมิภาค ผ่านทางเว็บไซต์ https://pfmsea.org/ 

เว็บไซต์ https://pfmsea.org/ 

ข้อมูลในเว็บไซต์ระบุว่า องค์กรสมาชิกโครงการดังกล่าวประกอบด้วย ภาคีผู้สื่อข่าวอิสระอินโดนีเซีย (AJI) จากประเทศอินโดนีเซีย, สมาคมนักข่าวติมอร์เลสเต (AJTL) จากประเทศติมอร์เลสเต, สมาคมภาคีผู้สื่อข่าวกัมพูชา (CamboJA) จากประเทศกัมพูชา, ศูนย์ส่งเสริมสื่ออิสระ (CIJ) และ ขบวนการเพื่อสื่ออิสระมาเลเซีย (GeramM) จากประเทศมาเลเซีย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนฟิลิปปินส์ (NUJP) จากประเทศฟิลิปปินส์, และสำนักข่าวประชาไท จากประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตแคนาดา และสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศอินโดนีเซีย 

นอกจากนี้ เว็บไซต์โครงการ PFMSea ยังเผยแพร่ฐานข้อมูลหรือ database ระบุถึงกรณีคุกคามและกระทำความรุนแรงต่อคนทำงานสื่อมวลชนใน 6 ประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา โดยมีข้อมูลการคุกคามสื่อในประเทศไทยรวมอยู่ด้วยจำนวน 14 เหตุการณ์ด้วยกัน 

เช่น กรณีบรรณาธิการข่าวเนชั่นทีวี ถูกกลุ่มบุคคลข่มขู่และสั่งลบคลิปข่าวขณะรายงานข่าวเรื่อง “ธุรกิจทุนจีนเทา” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม, ผู้สื่อข่าวภูมิภาคถูกชายฉกรรจ์ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม, ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการสำนักข่าววาร์ตานี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาข่มขืนใจเจ้าพนักงาน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม, ช่างภาพสำนักข่าว Space Bar ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามและเฝ้าติดตามถึงที่คอนโด ตลอดช่วงเดือนเมษายน เป็นต้น

ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้ประสานงานโครงการของสำนักข่าวประชาไท ระบุว่า ผู้ประสานงานของแต่ละองค์กรสมาชิกใน 6 ประเทศจะเป็นผู้ติดตามและบันทึกกรณีการคุกคามสื่อ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะกระทบเสรีภาพสื่อ ที่เกิดขึ้นในประเทศของตน โดยรูปแบบการปฏิบัติงานเช่นนี้จะช่วยให้ข้อมูลที่ปรากฏใน database มีความแม่นยำ ครอบคลุม และเข้าใจบริบทท้องถิ่น 

ทั้งนี้ การคัดเลือกองค์กรสมาชิกของโครงการก็มีความรัดกุมด้วย โดยจะต้องเป็นองค์กรด้านสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ เล็งเห็นปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพสื่อ และต้องได้รับความเห็นชอบขององค์กรสมาชิกทั้งหมด ซึ่งทางภาคีองค์กรสมาชิกได้เลือกสำนักข่าวประชาไทเป็นตัวแทนการเฝ้าระวังประจำประเทศไทย เนื่องจากเป็นองค์กรด้านสื่อที่ได้รับการยอมรับในด้านความเป็นอิสระ และให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมาตลอด 

“นี่คือข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของโครงการ PFMSea เพราะที่ผ่านมา ฐานข้อมูลเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อในภูมิภาคของเรามักจะรวบรวมโดยองค์กรภายนอกภูมิภาค เช่น Freedom House ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Reporters Without Border ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะไม่ได้ครอบคลุมอย่างละเอียด หรือไม่ได้เข้าใจความซับซ้อนของสถานการณ์สื่อในภูมิภาคเสมอไป แต่โครงการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง” ธีรนัยกล่าว 

ธีรนัยกล่าวด้วยว่า ฐานข้อมูลของ PFMSea จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อ นักวิจัย หน่วยงานรัฐบาลจากทั่วโลก ที่ต้องการข้อมูลอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับสถานการณ์เสรีภาพสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะได้นำไปใช้ประกอบในมาตรวัดต่อเสรีภาพสื่อ หรือเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

“หลักการที่สำคัญของโครงการ PFMSea คือเราเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลสื่อทุกประเภทโดยไม่แบ่งแยกสถานะหรือประเภทของการนำเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ สื่อฟรีแลนซ์ หรือสื่อพลเมือง ตามนิยามสื่อมวลชนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ คนทำงานด้านสิทธิเสรีภาพ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความโปร่งใส ก็อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังของโครงการเช่นกัน เพราะการทำงานของบุคคลเหล่านี้ก็เป็นองค์กรประกอบสำคัญของสื่อมวลชน หากมีการคุกคามหรือปิดปากผู้ที่ให้ข้อมูลแค่สื่อ ก็ย่อมเป็นการปิดกั้นสื่อทางอ้อมด้วย” 

ธีรนัยเสริมว่า หากคนทำงานสื่อหรือผู้เกี่ยวข้องพบเห็นการคุกคามสื่อ และประสงค์ให้โครงการ PFMSea บันทึกข้อมูลในฐานข้อมูล สามารถติดต่อส่งรายละเอียดได้ที่สำนักข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net