Skip to main content
sharethis

มีผู้หญิงจีนกำลังเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบบ Gig economy มากขึ้น แต่พวกเธอกำลังเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ การควบคุมโดยอัลกอริทึมที่เน้นผู้ชายเป็นศูนย์กลาง และความท้าทายอื่นๆ


ที่มาภาพ: B. Zhou / Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

China Labour Bulletin สื่อที่จับตาประเด็นแรงงานในจีน รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 ว่าในประเทศจีน มีผู้หญิงจีนกำลังเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบบ Gig economy มากขึ้น ทั้งคนทำงานงานขับรถรับจ้าง คนทำงานส่งอาหาร และคนทำงานส่งของ 

แต่ในอุตสาหกรรมที่มีชายเป็นใหญ่นี้ ผู้หญิงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ช่องว่างค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกัน การควบคุมแรงงานโดยใช้อัลกอริทึมที่เน้นชายเป็นศูนย์กลาง และความท้าทายอื่นๆ China Labour Bulletin ชี้ว่าคนทำงานหญิงในระบบเศรษฐกิจ Gig economy ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

งานของ "พี่ชาย น้องชาย"


เพลงเชิดชูผู้ชายในอุตสาหกรรมจัดส่ง ที่แพร่ภาพทางช่อง CCTV ของรัฐบาลจีน เมื่อต้นปี 2566 | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

ในระหว่างรายการพิเศษฉลองช่วงปีใหม่ ที่ออกอากาศทางช่อง CCTV ของรัฐบาลจีน เมื่อต้นปี 2566 มีเพลงหนึ่งได้ยกย่องชนชั้นแรงงานที่ขยันขันแข็งด้วยข้อความนี้:

"พี่ชาย น้องชาย ผู้จัดส่ง รู้สึกเหมือนอยู่บ้านเมื่อขับขี่บนถนน"

ในโซเชียลมีเดีย มีการวิพากษ์วิจารณ์เพลงนี้ว่าพูดถึงคนทำงานจัดส่งของทุกคนว่าเป็น "พี่ชาย น้องชาย" (brothers) ทั้งที่ในอุตสาหกรรมนี้มีผู้หญิงทำงานอยู่ถึง 20% เลยทีเดียว

บทความที่เคยเผยแพร่ในสื่อ China Digital Times ที่วิเคราะห์ความคิดเห็นออนไลน์จากชาวเน็ตจีน ชี้ให้เห็นว่าเพลงนี้สะท้อนถึงการที่สื่อนำเสนอผู้หญิงใน Gig economy อย่างไร:

“ในเวทีระดับชาติ แรงงานหญิงกลายเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นโดยสิ้นเชิง”

“กฎตายตัวที่ว่าผู้หญิงไม่มีที่ยืนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ กำลังได้รับการตอกย้ำ”

ตามที่ China Labour Bulletin ได้ทำการศึกษา Gig Economy ในจีน พบว่ามีพัฒนาอย่างรวดเร็วและสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม คนที่ทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีสัญญาจ้างงานและประกันสังคม ดังนั้นพวกเขาจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อสภาพการทำงานที่เลวร้าย การบาดเจ็บจากการทำงาน และการค้างจ่ายค่าจ้าง นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว แรงงานหญิงยังเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากระบบที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมองข้ามประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันตามเพศสภาพ

ผู้หญิงเข้าสู่การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ Gig economy มากขึ้น

China Labour Bulletin ชี้ว่าข้อมูลจำแนกตามเพศของคนทำงานในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนนั้นยากที่จะได้มา ส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านี้จะกระจัดกระจาย ต้องอาศัยข้อมูลจากบริษัทต่างๆ เป็นหลัก ถึงจะเห็นอัตราส่วนระหว่างเพศของคนทำงานในระบบเศรษฐกิจ Gig economy ภาคส่วนหลักๆ เช่น การจัดส่งอาหาร การจัดส่งสินค้า และบริการเรียกรถ

ตัวอย่างเช่น Sanlian LifeWeek รายงานว่าในปี 2563 ในปักกิ่งมีสัดส่วนคนทำงานส่งอาหารที่เป็นผู้หญิงเพียง 9% ต่อมาสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 16% ในปี 2564 ส่วนข้อมูลจาก Cainiao แพลตฟอร์มบริการจัดส่งสินค้า ระบุว่าคนทำงานส่งของหญิงมีจำนวนเกิน 20% ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5 จากเมื่อปี 2563 และจากข้อมูลของ T3 บริษัทบริการเรียกรถของจีน ณ เดือน มี.ค. 2566 มีคนทำงานหญิงมากกว่า 50,000 คน เข้าร่วมทำงานกับบริษัทในฐานะพนักงานขับรถ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 32,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565

ด้วยจำนวนคนทำงานแพลตฟอร์มมากกว่า 84 ล้านคน ในปี 2564 อุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโต นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้คนทำงานจำนวนมากถูกบังคับให้ออกจากอุตสาหกรรมการผลิตและบริการแบบดั้งเดิม แล้วเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ Gig economy การระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดแนวโน้มนี้ 

ภาวะเศรษฐกิจโลกหลังโรคระบาด ก็ได้นำไปสู่การเลิกจ้าง การย้ายโรงงาน และการปิดโรงงานจำนวนมาก แนวโน้มดังกล่าวยังได้รับแรงหนุนจากภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงจากพื้นที่ชนบท รวมทั้งผู้หญิงที่ทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อหาหนทางอื่นในการเลี้ยงดูครอบครัว พวกเธอจึงก้าวเข้าสู่การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ Gig economy

ผู้หญิงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในการทำงาน


ที่มาภาพ: B. Zhou / Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

มายาคติที่ว่างานที่ต้องใช้ร่างกายไม่ใช่งานที่เหมาะสำหรับผู้หญิง ได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเพศและการตีตราสำหรับผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ บทความเมื่อปี 2564 ในวารสาร Chinese Women’s Studies พบว่าผู้หญิงที่ทำงานให้แพลตฟอร์มส่งอาหาร มักได้รับความคิดเห็นทำนองว่า “ทำไมพวกเธอถึงหางานที่สบายกว่านี้ไม่ได้”

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2565 เกี่ยวกับผู้หญิงที่ทำงานให้กับบริการเรียกรถ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Gender & Development พบว่าคนขับผู้หญิงรายงานว่าผู้โดยสารเลือกปฏิบัติต่อพวกเธอ ทั้งการแสดงความคิดเห็นเชิงลบและให้คะแนนต่ำ หรือแม้แต่ยกเลิกการโดยสารเพราะพวกเขามองว่า “ผู้หญิงขับขี่ไม่ปลอดภัย” รูปแบบการเลือกปฏิบัติเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นการล่วงละเมิดเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อค่าจ้างของพวกเธออีกด้วย

การศึกษานี้ยังอธิบายถึงวิธีการที่คนทำงานหญิงต่อสู้กับ “วัฒนธรรมทางเพศในที่ทำงานที่มีผู้ชายเป็นใหญ่” ส่วนใหญ่แล้วคนทำงานให้แพลตฟอร์มเรียกรถมักพึ่งพากลุ่ม WeChat เพื่อสื่อสารกับผู้ขับขี่รายอื่น ทั้งการอัปเดตเกี่ยวกับสภาพท้องถิ่น แต่ในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ผู้หญิงเหมือนถูกบังคับให้เข้าร่วมใน "พื้นที่เหยียดเพศ" คนขับรถซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวรายหนึ่งกล่าวว่า

"ฉันไม่เคยแบ่งปันรูปภาพของฉันในกลุ่ม WeChat ที่เต็มไปด้วยคนขับรถผู้ชาย ฉันรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะผู้ชายเหล่านั้นมักจะพูดเรื่องตลกลามกอนาจารและส่งรูปผู้หญิงเปลือยกายในแชทกลุ่ม"

แม้แต่การหาห้องน้ำก็เป็นเรื่องท้าทายที่คาดไม่ถึง คนขับรถหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า:

"ผู้ชายสามารถฉี่ได้ทุกที่ ตราบใดที่คนอื่นมองไม่เห็นเขา แต่สำหรับผู้หญิงนั้นเป็นปัญหา โดยเฉพาะในเขตชานเมืองเมื่อไม่มีห้องน้ำ"

ส่วนคนขับรถหญิงอีกรายเล่าว่าเธอดื่มน้ำน้อยลงและจำกัดการเคลื่อนไหวเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าห้องน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน

อัลกอริทึมป้อนข้อมูลอคติทางเพศ ทำให้ผู้หญิงได้ค่าแรงน้อย

โครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มยังก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศอีกด้วย บริษัทแพลตฟอร์มของจีนขึ้นชื่อเรื่องอัลกอริทึมที่โหดเหี้ยม ผลักดันพนักงานให้ถึงขีดจำกัดเพื่อเพิ่มผลกำไรของบริษัท นอกจากนี้ข้อมูลที่ป้อนให้กับอัลกอริทึมเหล่านี้ก็ยังมีความลำเอียงทางเพศ เพราะเป็นข้อมูลจากผู้ชายจำนวนมาก มันทำให้เกิด "อัลกอริทึมแบบผู้ชาย" ที่มองว่าคนทำงานทุกคนเป็นผู้ชาย และคงไว้ซึ่งมาตรฐานการทำงานที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง

อุดมคติที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลางนี้กลายเป็นบรรทัดฐานที่เป็นไปไม่ได้ที่ผู้หญิงจะตามทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าพวกเธอถูกคาดหวังให้แบกรับภาระเรื่องการให้กำเนิดทายาทและความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัว ตัวอย่างเช่น สื่อ The Paper ได้รายงานเมื่อเดือน มี.ค. 2566 ว่าคนทำงานงานแพลตฟอร์มส่งอาหารหญิงรายหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ที่เป็นแรงงานต่างถิ่น ได้แบกลูกของเธอไว้บนหลังขณะทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน แต่เรื่องนี้กลับได้รับความสนใจในเชิงบวก มากกว่าเรื่องสิทธิแรงงานของผู้เป็นแม่

มาตรฐานชายเป็นศูนย์กลางในในระบบเศรษฐกิจ Gig economy ยังนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างระหว่างชายและหญิง คนขับรถหญิงที่แต่งงานแล้วซึ่งมีลูกสองคนรายหนึ่งบอกว่าเธอไม่สามารถทำงานหลายชั่วโมงได้เหมือนสามีของเธอ เธอกล่าวกับนักวิจัยว่า:

"ฉันขับรถได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน เพราะต้องดูแลลูกและแม่สามี เมื่อเทียบกับสามีที่ขับรถ 16 ชั่วโมงต่อวัน"

ในอุตสาหกรรมการจัดส่งอาหาร ราคาต่อหน่วยต่อคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคำสั่งซื้อที่จัดส่งสำเร็จ แต่โดยปกติแล้วคนทำงานหญิงจะได้รับคำสั่งซื้อน้อยกว่าผู้ชายในทุกๆ เดือน ดังนั้นพวกเธอจึงได้รับค่าจ้างน้อยลง

จากการศึกษาผู้หญิงที่ทำงานให้กับแพลตฟอร์มส่งอาหารในปี 2565 พบว่าผู้หญิงประมาณ 44% ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 5 หยวนต่อการสั่งซื้อ ในขณะที่ผู้ชายเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้รับค่าจ้างในระดับนี้ คนส่งอาหารหญิงประมาณ 20% จะได้รับค่าจ้าง 10 หยวนต่อการสั่งซื้อ เทียบกับผู้ชายประมาณ 30% ผลจากความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างเหล่านี้ ทำให้คนส่งอาหารหญิงกว่า 60% มีรายได้น้อยกว่า 5,000 หยวนต่อเดือน ขณะที่คนส่งอาหารชายราว 70% มีรายได้มากกว่า 5,000 หยวนต่อเดือน

คนทำงานให้กับแพลตฟอร์มที่เป็นผู้หญิง มักถูกบังคับให้เลือกระหว่าง "สุขภาพและความปลอดภัย" กับ "รายที่ได้น้อยลง" คนขับรถผู้หญิงที่ขับไปยังพื้นที่ห่างไกลจะได้รับรางวัลเป็นคะแนนการเดินทาง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการทำเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่ห่างไกลเหล่านั้นมักไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง พวกเธอรายงานว่ากลัวการถูกทำร้าย โดยเฉพาะจากผู้โดยสารที่เมาสุรา ดังนั้น คนขับรถผู้หญิงจึงมักหลีกเลี่ยงการรับผู้โดยสารที่ไปหรือกลับจากพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนแก่พวกเธอมากก็ตาม

คนทำงานแพลตฟอร์มหญิง ต้องการการคุ้มครองมากขึ้น


ที่มาภาพ: B. Zhou / Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

China Labour Bulletin ชี้ว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ล้มเหลวในการคำนึงถึงประสบการณ์การทำงานของผู้หญิง และสิ่งนี้เลวร้ายลงด้วยการเลือกปฏิบัติทางสังคม การแบ่งงานที่ไม่เป็นธรรมในครัวเรือน และปัจจัยอื่นๆ บริษัทต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่เพียงแค่การสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานทุกคนเท่านั้น แต่ยังต้องออกแบบอัลกอริทึมและมาตรฐานการทำงานที่คำนึงถึงประสบการณ์ของพนักงานทุกคนด้วย แม้ทางการจีนพยายามที่จะควบคุมการใช้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม และกดดันให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานของคนทำงานแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม ส่วนประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง

นอกจากนี้สหภาพแรงงานควรดำเนินการเพื่อทำความเข้าใจความต้องการของแรงงานหญิง และควรช่วยเจรจาในเวทีระดับต่างๆ ทั้งนี้สหภาพแรงงานมีคณะกรรมการแรงงานหญิงอยู่แล้ว China Labour Bulletin ย้ำว่าคณะกรรมการเหล่านี้ควรมีบทบาทที่ชัดเจนและกระตือรือร้นมากขึ้น

อันที่จริงแล้ว สหภาพแรงงานระดับภูมิภาคบางแห่งเพิ่งผลักดันการรักษาผลประโยชน์ให้แก่แรงงานหญิงในระบบเศรษฐกิจ Gig economy ตัวอย่างเช่นเมืองเจิ้งโจว มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานจัดส่งอาหารประจำจังหวัด คณะกรรมการแรงงานหญิงมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมบรรเทาความยากจน ในกรุงปักกิ่ง สหภาพแรงงานเหมยต้วน (Meituan) ได้จัดหาชาขิง ครีมทามือ และผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงให้กับคนทำงานหญิง ในกว่างโจว สหภาพแรงงานทำได้ดีมากขึ้นในการปกป้องแรงงานหญิง มีการจัดเตรียมสถานีพักผ่อนเฉพาะผู้หญิงที่มีห้องพยาบาล บริการให้คำปรึกษา และบริการด้านสุขภาพ

แต่จากกิจกรรมของสหภาพแรงงานเหล่านี้ China Labour Bulletin มองว่าความพยายามส่วนใหญ่เป็นเหมือน "การไม่ยอมรับว่าคนทำงานหญิงเหมาะกับการทำงานในระบบเศรษฐกิจ Gig economy" มากกว่า 

สหภาพแรงงานควรเจรจากับแพลตฟอร์มต่างๆ เกี่ยวกับเงื่อนไขแรงงานและอคติทางเพศในอัลกอริทึม รวมทั้งสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อประโยชน์ของคนทำงานทุกเพศ "พี่สาว น้องสาว คนส่งของ, พี่สาว น้องสาว คนส่งอาหาร และพี่สาว น้องสาว คนขับรถ" สมควรได้รับการสนับสนุน การปกป้อง และการยอมรับ สำหรับการทำงานของพวกเธอ.


ที่มา:
Women workers in China’s gig economy face discrimination, lower pay, unsafe conditions (China Labour Bulletin, 23 May 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net