Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศ แสดงความเห็นหลังเลือกตั้งทั่วไป ทำนองว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับลึก ท่านยกตัวอย่าง “ตำรวจ” เมื่อก่อนพอมีตำรวจไม่ดี เรายัง คิดว่า “ปลาเน่าตัวเดียว” แต่ปัจจุบันเราเห็นตำรวจเราต้อง “ระแวง” ไปหมด แปลความหมายของท่านว่า “มันไม่ใช่ปลาเน่าตัวเดียว แต่อาจหมดทั้งข้องก็เป็นได้”

ผู้เขียนคิดว่าความเห็นนี้น่ารับฟังมาก เพราะปัญหาการเมืองไทย ไม่ใช่การปะทะกันระหว่างวัยอย่างที่หลายคนเขียนตัดพ้อว่า “ตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน” หรือบางคน “ไดโนเสาร์” กว่านั้น แสดงทัศนะว่าพรรคที่ได้รับเลือกตั้งได้เงินทุนอุดหนุนอย่างมหาศาลจากภายนอก โดยมีองค์กรยิวหนุนหลัง

ที่จริงแล้วปัญหาการเมืองไทยปัจจุบันเกิดขึ้นจากปัญหา “สิทธิเสรีภาพ” ที่ชนชั้นนำ “กดทับ”     คนไทยเอาไว้ และมากดหนักเมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาทั้งทางปฏิบัติและทางทฤษฎี

1. ปัญหาทางปฏิบัติ

สิทธิเสรีภาพของคนไทยหดหายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การชุมนุมและเดินขบวนโดยสงบและสันติ ปกติเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แต่คนไทยยุครัฐบาลที่ผ่านมาเจอ “นวัตกรรมเชิงลบ” ของการกดทับสิทธิเสรีภาพอย่างน่ากลัว เช่น ต้องเผชิญกับแท่นแบร์ริเออร์ ถัดมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ สูงกว่านั้น เป็นรถฉีดน้ำจีโน่ ผสมสารเคมี ต่อยอดไปอีกเป็นตำรวจควบคุมฝูงชน การสลายการชุมนุมตะพึดตะพือ การจับกุมคุมขัง และการตัดรอนสิทธิประกันตัว นอกจากรัฐบาลจะไม่เปิดโอกาสให้คนไทยได้แสดงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังปิดปากคนไทย โดยการใช้กระบอกเสียงและโฆษกของรัฐบาลออกมาสร้างเรื่องแก่ผู้ชุมนุม เสนอภาพด้านเดียวว่าผู้ชุมนุมกลายเป็น “ผู้หลงผิด” ไม่ต่างจากยุคลัทธิคอมมิวนิสต์เฟื่องฟูในประเทศ รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้คนเหล่านั้น “กลับใจ” คืนสู่การเป็น “พลเมืองดี” ซึ่งหมายถึงต้องการให้คนไทยที่ถูกกดทับนั้นสามารถปกครองได้อย่างง่าย ๆ เซื่อง ๆ ตรงนี้แม้แต่นักเรียนชั้นมัธยมยังออกมาท้าทายว่า คำว่า “ดี” ของรัฐบาลแปลถูกแล้วจริงหรือ?? เขาจึงเรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” ที่จริงเขาหมายถึง “นักเรียนดี” ในแง่การมีสิทธิเสรีภาพ แต่แปลกที่ “ผู้ใหญ่” ไม่เข้าใจ กลับมองว่าเขาเลวจริง ๆ!!

ส่วน “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” กลายเป็น “คณะกรรมการสังคมสงเคราะห์” ที่ขาดพื้นฐานความเข้าใจ “สิทธิมนุษยชน” อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่เคยปรากฏว่า ณ ปัจจุบัน คณะกรรมการนี้ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุม ทั้งไม่เคยต่อต้านการแก้ไขกฎหมายที่ให้คณะกรรมการเป็น “เครื่องมือ” แก้ต่างปัญหาการกดทับสิทธิเสรีภาพแก่ภายนอก หรือไม่เคยแม้แต่ “สงสัย” ว่า “รัฐบาลออกกฎหมายอย่างนี้ก็ได้หรือ?” 

องค์กรที่ทำงานสิทธิจริง ๆ กลับเป็น “องค์กรสิทธิภาคเอกชน” อันเป็นเหตุให้รัฐบาลพยายามออกกฎหมายกดทับไม่ให้รับทุนจากภายนอกและห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ความจริง การกระทำของรัฐบาลที่ตัดทอนสิทธิขององค์กรสิทธิเสรีภาพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ประเทศอื่น ๆ ที่องค์กรสิทธิเสรีภาพพยายามสร้าง “ภราดรภาพ” กับ “ผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในประเทศ” ก็ถูกกำราบเหมือนกันทั้งโลก องค์กรเหล่านั้นจึงเลี่ยงไปทำหน้าที่ด้านการพัฒนาอย่างอื่น ส่วนใหญ่เป็นงานพัฒนาชนบทและการสังคมสงเคราะห์

2. ปัญหาทางทฤษฎี

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่กว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีอุดมการณ์ขวาจัด (radical right) เช่น ใช้วิธีการปกครองโดยรัฐข้าราชการ ใช้กฎหมายทุกมาตราอย่างมีนัยสำคัญ ขาดนโยบายเชิงรุกเพื่อการปกป้องคนจนและคนด้อยสิทธิ ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำเอาตัวเลขการพัฒนาโดยรวม มาโฆษณาชวนเชื่อ แต่ละเลยการกล่าวถึงปัญหาหลักของประเทศ อันได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยพุ่งขึ้นติดอันดับโลก เนื่องจากรัฐบาลไม่มีนโยบายจัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหลัก อีกนัยหนึ่ง “ไม่เข้าใจ” ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน อันหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านสิทธิ เช่น ชาวนาเข้าไม่ถึงแพลทฟอร์มของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ไม่อาจขายข้าวออนไลน์ได้ ตรงกันข้ามกับนานาอารยะประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มีกฎหมายบังคับว่ารัฐบาลต้องชี้แจงให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำก่อน 

สาเหตุสำคัญที่สุดเป็นเพราะกลุ่มขวาจัดขาดพื้นฐานทฤษฎีรองรับ ที่ชัดที่สุด คือ ไม่เข้าใจ “Radical Democracy” อันเป็นแนวคิดประชาธิปไตยใหม่และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในปัจจุบัน คำนี้  ตรงตัวแปลว่า “ประชาธิปไตยสุดขั้ว” แต่ความหมายจริง ๆ หมายถึง “การมีประชาธิปไตยที่แท้จริง” เช่น หากจะเอาคนมาประชุมรับฟังความคิดเห็น ก็ต้องเน้นการโต้เถียงกัน ซึ่งตะวันตกถือว่าเป็นที่มาของความรู้และข้อตกลงทางการเมือง ไม่ใช่ประธานที่ประชุมหรือฝ่ายรัฐบาลสนุกพูดและชี้แจงอยู่ฝ่ายเดียว ประธานมักเริ่มต้นการประชุมด้วยประโยคข่มคนอื่นว่า “สมัยผมอยู่อเมริกา...” “สมัยผมสอนอยู่ที่...” แล้วคิดว่าตัวเองถูกที่สุดเหมือนบ้านเรา นอกจาก Radical Democracy ไม่ใช่สื่อสารจากบนลงล่างแล้ว ยังเป็นการสื่อสารที่มาจากทุกทิศทางด้วย

รากฐานของ Radical Democracy มาจากงานของลาคราวและมูฟ (Laclau and Mouffe) ค.ศ. 1985 เขาให้ความสำคัญกับ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” (social movements) ว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง และเป็นแนวคิดที่สร้างขึ้นเพื่อท้าทายประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal) และอนุรักษ์นิยมใหม่ (neo-conservative) หัวใจสำคัญของ Radical Democracy อยู่ที่ต้องการขยายประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง (หรือมี ส.ว. หนุนหลังแบบไทย ๆ) ไปสู่ “อิสรภาพ” (freedom) “ความเสมอภาค” (equality) และ “ความแตกต่าง” (difference) 

อนึ่ง คำว่า “ความแตกต่าง” ของลาคราวและมูฟ มาจากคำว่า “ตรรกะของความแตกต่าง” (logic of difference) หมายความว่า การที่คนมีความแตกต่างกันมาก คนก็มองไปรอบตัว เห็นคนอื่นมีความแตกต่างเช่นกัน เขาจึงรวมกัน เพื่อใช้สิทธิทางการเมืองเรียกร้อง เกิดการมีตัวตนทางการเมือง (popular subject) ในที่สุด หากรวมพลังกันได้เหนียวแน่น ก็จะกลายเป็นสังคมที่ไม่แตกต่าง หมายถึง เกิดความเสมอภาค (equality) ไม่จำเป็นว่าคนเราต้องเท่ากันทุกอย่าง แต่อย่างน้อยต้องมีความเสมอภาคทางการเมือง สรุปว่า “ความแตกต่าง” เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชน

ส่วน “การปรองดอง” หรือ “สมานฉันท์” หรือ “เอกภาพ” นั้น ลาคราวและมูฟ เห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะถึงอย่างไรคนก็ต้องแตกต่างกัน หรือมีความไม่พอใจต่อกัน หรืออาจถึงขั้นเป็น “ศัตรู” (antagonism)  การที่จะให้ปรองดอง สมานฉันท์หรือเป็นเอกภาพ โดยการให้อีกฝ่ายหนึ่ง “ยอมสยบ” ต่ออำนาจของอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่ยังมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากนั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ   

ดังเห็นได้จากแนวคิดตระกูล “สร้าง” ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา ตั้งอยู่บน     ฐานคติว่า “คนไทยแตกแยก” จำเป็นต้อง “สร้างประเทศใหม่ให้เกิดความสามัคคี” โดยมี “คนสร้าง” เป็นผู้นำ แต่ลืมคิดถึง “สิทธิเสรีภาพ” ที่ตนกดทับคนอื่น ซึ่งที่จริงเป็นปัญหาการกดขี่ในรูปแบบใหม่ของสังคมแนวคิดนี้คนไทยปฏิเสธ ด้วยการแสดงออกโดยการหย่อนบัตรไปแล้ว แต่ดูเหมือนพรรค “สร้าง” ต่าง ๆ กลับยังไม่ได้สติ!! ส่วนสำนักปรองดองสมานฉันท์อะไรทำนองนี้ของเราก็เป็นสำนักลอย ๆ ไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอัน จับคนมานั่งพอเป็นพิธี!! ที่ผ่านมา ไม่เคยพูดคุย เจรจาต่อรอง อันเป็นกระบวนการหลักของการปรองดองสมานฉันท์เลย แม้แต่ครั้งเดียว!!

ปัญหาการกดขี่รูปแบบใหม่ เช่น เอา “ส.ว.” มาตะแบง หรือปัญหาความแตกต่าง หรือปัญหาความไม่พอใจ รวมทั้งปัญหาการกดขี่รูปแบบดั้งเดิมโดยการใช้กำลังบังคับ จึงจำเป็นต้องถูกท้าทาย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เมื่อ “สิทธิเสรีภาพ” มีโอกาสแสดงออก ประชาชนจึงแสดงสิทธิเสรีภาพโดยการเลือกพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลอย่างล้นหลาม พร้อมกับตั้งความหวังว่าจะมีรัฐบาลใหม่  ที่เปิดกว้างและคำนึงถึง “สิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น”

ถึงกระนั้น ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการออกแบบประชาธิปไตยใหม่ เนื่องจากโดยตัว Radical Democracy เอง ก็มีทางเลือกอย่างน้อยสามเส้นทาง 

เส้นทางแรก  การรวมตัวกันของคนแตกต่างกัน ตามตรรกะของลาคราว หากคนแตกต่างกันรวมตัวกันได้มาก ก็จะเกิดพลัง และกลายเป็นการแสดงออกถึงอำนาจการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองได้ ปัญหาของประเทศ คือ คนไทยมีพลังพอที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไปจริงหรือไม่?? ขณะนี้มีการประเมินต่างกัน เช่น กลุ่มหนึ่งประเมินว่านักศึกษาจะหมดพลังไปเอง แต่อีกบางส่วนมองว่าเป็นพลังที่ประมาทไม่ได้ หรือบางคนเห็นว่าพลังดังกล่าวอาจกดดันให้พรรคสุดโต่งเกินไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นจริงในอนาคต ส่วนปัญหาการปะทะกันเป็นสงครามกลางเมือง แล้วมีผู้ฉวยโอกาสทำอะไรกับบ้านเมืองอีกนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพลังนี้อีกเช่นกัน แต่อย่างน้อยในทางทฤษฎี เราต้องยอมรับกันว่า “การปะทะกันทางความคิด” เป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และหากเกิดความรุนแรงขึ้น ก็น่าจะไม่ใช่มาจากการแสดงออกทางการเมือง ส่วนจะมีการวางแผนอีกรอบแบบ “วิทยุยานเกราะ” ในอดีตหรือไม่? อันนี้เป็นเรื่องยากที่ใครจะคาดเดา

เส้นทางที่สอง การถกแถลง (deliberation) หมายถึงพรรคการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้านแสวงหา “สหจิต” (consensus) หรือ “ความเห็นพ้อง” ในเรื่องทิศทางที่จะเดินไปสู่สิทธิเสรีภาพร่วมกัน ปัจจุบันพรรคการเมืองไทยน่าจะยังไม่เห็นภาพในอนาคตร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างสร้างภาพในฝันของตัวเองและติดกับดักกับเรื่องเล็กเรื่องน้อยมากกว่าการมอง “อนาคตของประชาธิปไตยที่แท้จริง” ประกอบกับ “ผีอำนาจ” เริ่มเข้าสิง กระนั้นก็ตาม การเมืองเป็นกระบวนการต่อรอง หากมีการพูดคุยกันตกผลึกก็คงได้ข้อตกลงทางการเมือง (political settlement) ที่จะเดินไปข้างหน้าได้ แต่ถ้า “ผีสิง” ก็ตัวใครตัวมัน!!

เส้นทางที่สาม เส้นทางซ้ายใหม่ (New Left) เป็นเส้นทางที่ต้องการนำการเมืองภาคประชาชนก้าวข้ามออกมาจากการครอบงำของรัฐ และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อให้การเมืองเป็นอิสระอย่างแท้จริงจากรัฐ ทั้งนี้อาจมีพื้นฐานมาจากความเชื่อมั่นในการรวมพลังอำนาจพหุจากประชาชนในเส้นทางแรกมากเกินไป ซึ่งหลายคนกำลังจับตาดูด้วยความห่วงใย??

สุดท้าย พรรคการเมืองที่กำลังรวมตัวกัน ยังต้องเผชิญกับ “พรรคการเมืองที่ห่วยที่สุดของสังคมไทย!!” คือ “ระบบราชการ” อันมีอำนาจมาอย่างยาวนาน และเป็นพลังต่อต้านที่ฝังลึกซึ่งน่ากลัว การ “ปฏิรูป” ใด ๆ ก็ตาม ที่ไปแตะอำนาจและผลประโยชน์ของพรรคนี้ เป็นอันพังพาบหมด

“หมอผี” ที่ว่าแน่ ๆ ถูก “ผีตัวนี้” บีบคอตายมานักต่อนักแล้ว!!!

    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net