Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นที่ทราบกันว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “250 ส.ว.” คือกลไกสืบทอดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาของ ส.ว. มาจาก 3 ช่องทาง คือ 

ช่องทางแรก คสช. ตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ให้ทำการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม 400 คน เพื่อให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ 194 คน 

ช่องทางที่สอง มาจากผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน คือ ปลัดกระทรวกลาโหม, ผู้บัญาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

ช่องทางที่สาม ให้คณะกรรมการเลิอกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดย “แบ่งกลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองมา 200 คน แล้วส่งรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน 

ดังนั้น จึงเท่ากับ 250 ส.ว. ถูกเลือกและแต่งตั้งโดย คสช. ให้มีอำนาจพิเศษที่สำคัญมาก คือร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ คสช. ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว 

แต่นอกจาก 250 ส.ว.จะเป็น “กลไกสืบทอดอำนาจ” คสช. แล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเสียงข้างมากอีกด้วย เพราะผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้คะแนนโหวตจาก ส.ส. และ ส.ว. รวม 376 เสียง ดังนั้น แม้ว่า “พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย” คือก้าวไกล, เพื่อไทย และพรรคอื่นๆ รวม 8 พรรคจะมีเสียงมากถึง 313 เสียง แต่ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ หาก ส.ว. ไม่โหวตสนับสนุน

คำถามสำคัญคือ 250 ส.ว. ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช. ด้วยการโหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแล้ว พวกเขายังจะเป็นอุปสรรคการตั้งรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของ “เสียงส่วนใหญ่” ของประชาชนกว่า 25 ล้านเสียง ที่เลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่?

ภายใต้ “กติกาสืบทอดอำนาจเผด็จการ” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่ใช่กติกาที่ “ฟรีและแฟร์” ตามระบอบประชาธิปไตย ย่อมเป็นกติกาที่ขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยตรงอยู่แล้ว คำตอบจึงอยู่ที่การมี “สามัญสำนึก” (common sense) ของ 250 ส.ว. ซี่งมีสามระดับ คือ

1. สามัญสำนึกยอมรับความจริง ว่า 250 ส.ว. ถือกำเนิดจาก “การเมืองที่ผิดเพี้ยน” (absurd politics) อันเนื่องมาจากรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ 2560, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นต้น ที่ทั้งทำลายระบอบประชาธิปไตยและปราบโกงไม่ได้จริง อีกทั้งการเมืองที่ผิดเพี้ยนยังวางกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการ และกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลได้ แบบที่ตั้งกันได้ในระบอบประชาธิปไตยปกติทั่วไป

ถ้า 250 ส.ว. เกิดสามัญสำนึกยอมรับความจริงนี้ได้ ก็เป็นไปได้ที่พวกเขาจะไม่ทำหน้าที่เป็นกลไกขัดขวางการตั้งรัฐบาลจากเสียงข้างมากของประชาชน แต่จะทำหน้าที่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลมากกว่า

2. สามัญสำนึกทางศีลธรรม จะเกิดขึ้นได้จากความเข้าใจที่ถูกต้องว่า รากฐานของการเมืองที่ผิดเพี้ยนตามข้อ 1 มาจากอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ “พุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยม” ของ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย” ในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตามที่เขียนไว้ในงานของทักษ์ เฉลิมเตียรณว่า

“ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปไม่ประสงค์จะมีส่วนในการปกครอง ปรารถนาแต่เพียงให้ผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณธรรมและมีความสามารถ เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าอำนาจในการปกครองประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นบุญญาธิการโดยกำเนิด และเจ้านายที่มีบุญวาสนาเท่านั้น ความรู้สึกแบ่งชั้นวรรณะระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองเป็นไปอย่างเด็ดขาด...ชนชั้นทั้งสองไม่มีฐานะเท่าเทียมกันไม่ว่ากรณีใด

อุดมการณ์ทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ที่ถือว่าผู้ปกครองจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ได้ ขอให้เป็นคนดีมีคุณธรรมและมีความสามารถก็พอ (เช่น จอมพลสฤษดิ์มาจากรัฐประหาร ก็ถือว่าเป็นผู้ปกครองที่ดีใน “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย” เป็นต้น) และในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ ย่อมถือว่ากษัตริย์หรือเจ้านายเป็นชนชั้นสูงอยู่เหนือประชาชนทั่วไป อันเป็นไปตาม “บุญญาธิการ” ที่บำเพ็ญมามากกว่าตามหลักความเชื่อในคัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง” ที่แต่งโดยกษัตริย์ (ลิไท) ซึ่งมีสาระสำคัญสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ที่เน้นการ “ให้คนดีขึ้นมามีอำนาจหรือเป็นผู้ปกครอง” นอกจากนี้อุดมการณ์แบบไตรภูมิพระร่วง ยังถูกนำมารวมกับอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพื่อใช้ในการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ คือ “สัปปายะสภาสถาน” อีกด้วย 

จึงเห็นได้ชัดว่า อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย คือ “อุดมการณ์ทางการเมืองแบบพุทธศักดินา” ที่ตกทอดมาจากคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงที่แต่งโดยกษัตริย์ ซึ่งใช้สนับสนุนระบบศักดินาไทยมาหลายศตวรรษ บวกกับ “อุดมการณ์แบบพุทธราชาชาตินิยม” คือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ที่สถาปนาขึ้นโดยกษัตริย์ผู้ประกาศว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย” ซึ่งถูกใช้ในรัฐไทยสมัยใหม่มาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จวบจนปัจจุบัน

ปัญหาคือ นอกจากระบอบประชาธิปไตยแบบไทยดังกล่าว จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือ “เสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) ที่ยึดหลักการ “คนเท่ากัน” เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดแล้ว มันยังทำให้เกิด “ศีลธรรมผิดเพี้ยน” (absurd morality) นั่นคือการอ้างอิงใช้ศีลธรรมพุทธศาสนาอย่างขัดต่อ “หลักการที่ถูกต้อง” ของพุทธศาสนาเสียเอง

กล่าวคือ ตามหลักคำสอนพุทธศาสนา ถือว่า “การบรรลุเป้าหมายที่ถูกต้อง ต้องมาจากวิธีการที่ถูกต้อง” เช่น ตามหลักอริยสัจสี่ การมีอิสรภาพจากความทุกข์คือ “เป้าหมายที่ถูกต้อง” แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องใช้ “วิธีการที่ถูกต้อง” เท่านั้น คือการปฏิบัติตามหลักทางสายกลาง/มรรคมีองค์ 8 หรือหลักไตรสิกขา ดังนั้น ที่สรุปคำสอนกันว่า “ทำดีได้ดี” จึงหมายความว่า “การบรรลุเป้าหมายที่ดีต้องมาจากการกระทำที่ดีเท่านั้น” ถ้า “ทำชั่วแล้วได้ดี” ก็ผิดหลักพุทธศาสนา 

การทำรัฐประหาร ก็คือตัวอย่างชัดเจนของ “การทำชั่วได้ดี” ของเครือข่ายอำนาจชนชั้นปกครอง เพราะใช้วิธีการที่ผิด ด้วยการ “ปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชน” ซึ่งผิด “หลักศีล” ในมรรคมีองค์แปดหรือไตรสิกขา ดังนั้น การอ้างว่าผู้ปกครองที่เป็นคนดีมีคุณธรรมจะมาจากการเลือกตั้งหรือจากรัฐประหารก็ได้ จึงผิดทั้งหลักการประชาธิปไตย และหลักการเป็นคนดีมีคุณธรรมตามคำสอนพุทธศาสนาเสียเอง และการเป็น “นั่งร้าน” สืบทอดอำนาจเผด็จการ ก็คือการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของโจรที่ปล้นอำนาจประชาชน จึงเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่การกระทำที่เป็นความดีมีคุณธรรมดังที่พวกเขาหลอกลวง

ถ้า 250 ส.ว. เกิดสามัญสำนึกทางศีลธรรมยอมรับความผิดที่ทำหน้าที่เป็นกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการ พวกเขาก็จะเลือก “กระทำสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรม” ด้วยการโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ตั้งรัฐบาลจากเสียงข้างมากของประชาชนได้สำเร็จ

3. สามัญสำนึกเคารพเสียงข้างมากของประชาชน เป็นสามัญสำนึก “คาบเกี่ยว” ระหว่างสามัญสำนึกปกป้องระบอบประชาธิปไตย คือการปกป้อง “หลักการพื้นฐาน” ของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ “หลักการยอมรับเสียงข้างมาก” กับสามัญสำนึกทางศีลธรรมที่ “ไม่เนรคุณประชาชน” เพราะถึงแม้ 250 ส.ว. จะถูก คสช. ตั้งมา พวกเขาก็ไม่ได้กินเงินเดือนจาก คสช. แต่กินเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ จาก “ภาษีประชาชน” เท่านั้น คสช. หรือเผด็จการอำนาจนิยมอื่นใดจึงไม่ใช่ผู้มีบุญคุณเหนือหัว 250 ส.ว. ประชาชนต่างหาที่มีบุญคุณเลี้ยงดูพวกเขา

ดังนั้น การโหวตสนับสนุนนายกฯ เพื่อให้ตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นการแสดงสามัญสำนึกเคารพเสียงข้างมากของประชาชน และไม่เนรคุณประชาชน 

พูดอีกอย่าง ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังในความมีสามัญสำนึกของ ส.ว. ได้หรือไม่ ผมคิดว่า “ได้” เพราะถึงอย่างไร 250 ส.ว. ก็มี “ความเป็นมนุษย์” และผมเชื่อว่าภายในความเป็นคนย่อมมีสามัญสำนึกผิดชอบชั่วดีอยู่แน่ๆ 

คำถามจึงอยู่ที่ว่า 250 ส.ว. พร้อมจะใช้สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ในทางสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย ตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อให้ประชาชน “จดจำ” ตนเองในทางที่ “ดีขึ้น” บ้างหรือไม่? 

แต่นั่นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า 250 ส.ว. จะทำหน้าที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหรือจะเป็นอุปสรรคขัดขวาง ซึ่งจะเกิดผลดีหรือผลเสียร้ายแรงแก่ประชาชนส่วนส่วนใหญ่โดยตรง บทบาทของ 250 ส.ว. ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน จึงท้าทายอย่างแหลมคมต่อการมี “สามัญสำนึก” ในความเป็นมนุษย์ของพวกเขาโดยตรง! 

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/SenateThailand/photos/a.558858707523222/3187682524640814/?type=3


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net