Skip to main content
sharethis

ม.อ.ลุยจัดทำ SEA หรือ โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เชิงพื้นที่สงขลา-ปัตตานี วิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมอย่างสมดุล สงขลา-จะนะ-ปัตตานี เชื่อมโยงกันทางทะเล ชายฝั่ง สังคมและวัฒนธรรม เป็นกระบวนการทำแผนพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนเห็นต่างคุยกันได้ รับรู้ข้อมูลเท่ากันผ่านกระบวนการ เชื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งด้านการพัฒนาได้

ม.อ.ลุยจัดทำ SEA เชิงพื้นที่สงขลา-ปัตตานี เครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งด้านเมกะโปรเจ็กต์

ระหว่าง 27 – 29 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็น โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) (เวทีที่ 6-8) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จากทั้งหมด 8 ครั้ง ซึ่ง ม.อ.ได้รับการว่าจ้างจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะเวลา 18 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยทั้ง 3 วันมีผู้เข้าร่วมคนละกลุ่มกัน ในเวทีแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงนำเสนอทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ ข้อมูลพื้นฐานและทุนทางทรัพยากร จากนั้นเป็นการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูล ทุนทรัพยากรในพื้นที่และทิศทางการพัฒนาที่ต้องการ 2) นำเสนอร่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบทบาทที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ โดยให้ระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบทบาทความเกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ

วิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมอย่างสมดุล

สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.อ.

สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ด้วยขั้นตอน SEA คือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เป็นกระบวนการที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันอย่างสมดุล

“ไม่ใช่การวางแผนการพัฒนาเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ส่วนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจะมีปัญหาก็ช่างมัน เป็นกระบวนการพัฒนาที่คำนึงถึงความสมดุลตั้งแต่แรก”

สินาด กล่าวว่า กระบวนการ SEA ต่างจากการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และการวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพหรือ EHIA เพราะ SEA เป็นขั้นตอนการประเมินระดับแผนพัฒนา ส่วน EIA และ EHIA เป็นการประเมินผลกระทบระดับโครงการ

สงขลา-จะนะ-ปัตตานี เชื่อมโยงกันทางทะเล ชายฝั่ง สังคมและวัฒนธรรม

สินาด กล่าวว่า การทำ SEA ที่เน้นพื้นที่ จ.สงขลาและปัตตานี มาจากข้อเรียกร้องของประชาชนใน อ.จะนะ ในกรณีการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 14 ธันวาคม 2564 ที่อยากให้การพัฒนาในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในระดับจังหวัดได้ทำ SEA ก่อนเพื่อดูความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร

“ถ้าทำเฉพาะพื้นที่ อ.จะนะ จะไม่เห็นภาพใหญ่ในการพัฒนาและไม่เห็นลักษณะแผนพัฒนาที่สามารถเชื่อมโยงกัน ทำให้มองภาพรวมการพัฒนาได้ไม่ชัดเจน สภาพัฒน์จึงให้ทำ SEA ที่ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจาก อ.จะนะ จ.สงขลา มีความเชื่อมโยงกันทั้งทางทะเลและชายฝั่งกับ จ.ปัตตานี รวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการทำเป็นแผนทั้ง 2 จังหวัดด้วยกันพอจะทำได้ในระยะเวลาอันสั้น”

สินาด กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนเสนอให้ทำ SEA ทั้ง 5 จังหวัดหรือ 3 จังหวัดบวกสงขลา-สตูล ถ้าทำจะใช้ระยะเวลานานมากๆ 

กระบวนการทำแผนพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับเวทีครั้งที่ 1 จัดไปแล้วที่สงขลาและปัตตานีเป็นเวทีปฐมนิเทศ และมีการระดมความคิดเห็นเบื้องต้นว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพ ปัญหาและอยากเห็นภาพอนาคตอย่างไร ส่วนครั้งนี้ 2 ทีมผู้ศึกษาได้ประมวลความเห็นและศึกษาข้อมูลพื้นฐาน แหล่งทรัพยากรและทบทวนประเด็นสำคัญๆ จากแผนพัฒนาระดับต่างๆ มาให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมกันคิดต่อว่า เป้าหมายการพัฒนาที่เราอยากเห็นคืออะไร

เวทีครั้งต่อไปจะมีการระดมความคิดเห็นและนำร่างเนื้อหามาย้อนถามในเวที แล้วระดมความคิดเห็นในประเด็นใหม่แล้วร่างเนื้อหาแบบต่อเนื่องกัน ในขั้นตอนหลังๆ จะเป็นการวางเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ในแนวทางต่างๆ ให้เลือก

“ปกติมักระบุการพัฒนาเป็นแนวทางเดียวว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่กระบวนการ SEA ไม่ได้มีทางเดียว แต่จะมีมากกว่าหนึ่งทางเลือก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเลือกว่าเห็นชอบแนวทางไหนมากที่สุด เมื่อเลือกแล้วก็จะมาวิเคราะห์ต่อเนื่องว่า แนวทางนี้ใครมีส่วนได้ ใครมีส่วนเสีย ใครได้รับผลกระทบอย่างไร และจะหลีกเลี่ยงผลกระทบนั้นอย่างไร โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นี่คือกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน” สินาด กล่าว

SEA เชื่อมระดับโครงการต่างอย่างไร 

สินาด กล่าวว่า ปกติในระดับแผนพัฒนาจะไม่ได้ระบุตัวโครงการอย่างชัดเจน แต่จะระบุว่าทำอย่างไร เช่น ถ้ามีการพูดถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานสะอาด ถ้าจะมีโครงการพลังงานสะอาดขึ้นมาก็ถือว่าสอดคล้องกับแผนแม่บท แต่การทำโครงการพลังงานสะอาดก็ต้องทำ EIA เหมือนเดิม ไม่ใช่มี SEA แล้วไม่ต้องทำ EIA เพราะฉะนั้น SEA เป็นแนวทางในการออกแบบโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ

“ก็เป็นความท้าทายที่จะนำไปใช้ให้ได้ผล เพราะมีหลายหน่วยงานที่จะเกี่ยวข้อง เช่น จังหวัดหรือหน่วยงานอื่นที่มีงบประมาณของตัวเอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่ภาคประชาชนอย่างเดียว แต่ยังมีภาคเอกชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและท้องที่ ผู้นำศาสนา ผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นต้น และผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายนั้นแต่ละคนจะมีบทบาทอย่างไร” สินาด กล่าว

คนเห็นต่างคุยกันได้ รับรู้ข้อมูลเท่ากันผ่านกระบวนการ

สินาด เปิดเผยว่า ทั้ง 2 จังหวัดที่จัดเวทีมา พบว่า ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมสนใจอยากจะมีส่วนร่วมมาก เพราะกระบวนการ SEA เป็นการจัดเวทีหลายครั้ง เปิดโอกาสให้คนได้เข้าร่วมหลายรอบ มีโอกาสที่ข้อเสนอจะเห็นผลก่อนนำไปใช้จริง การระดมความเห็นแล้วก็นำไปร่างเนื้อหาแล้วนำกลับมาขอความเห็นอีก นี่เป็นสิ่งที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมสนใจมาก

“สิ่งที่รู้สึกค่อนข้างดีมากๆ คือ กลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกันได้คุยกันตรงไปตรงมา ก็นั่งคุยกันได้ ต่างจากความคิดเห็นที่ออกไปในทางสื่อจะเป็นแบบความขัดแย้ง แต่เมื่ออยู่ในกระบวนการอย่างแท้จริงโดยให้ทุกคนได้แสดงความเห็นโดยไม่มีการปิดกั้นอะไร ทุกคนก็คุยกันได้ คิดว่าก็เป็นนิมิตใหม่ที่ดีว่า ถ้าเราสามารถรักษาบรรยากาศการพูดคุยลักษณะนี้ได้เพราะเป็นคนในพื้นที่เดียวกัน และจัดในลักษณะที่เป็นมิตรด้วย” สินาด กล่าว

โดยทั่วไปการทำแผนแม่บทที่ใช้กระบวนการ SEA มีความเป็นวิชาการสูงมาก มีหลักการ มีแหล่งอ้างอิงทั้งหมด ข้อมูลทุกอย่างทุกคนจะได้เห็นเหมือนกัน มีอะไรบอกทั้งหมดช่วยให้ความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน จะช่วยให้ผ่อนคลายได้มากขึ้น เพราะไม่แอบแฝงอะไร

ที่ผ่านมามีการทำแผนโดยใช้กระบวนการ SEA มาแล้วหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นของกรมทรัพยากรน้ำ คือการทำแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ บางพื้นที่ลุ่มน้ำก็อาจจะใหญ่กว่าหนึ่งจังหวัดเช่นพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่มีหลายจังหวัด

กระบวนการ SEA จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่ ดร.สินาด กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามาร่วมและทีมศึกษาเองจะสามารถสร้างบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่ามีความโปร่งใส เปิดให้รับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจังหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาสภาพัฒน์ก็เห็นว่าทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำอย่างเต็มที่แล้ว เปิดให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการเดิมได้เข้ามาทุกครั้ง และข้อมูลต่างๆ ทุกคนก็ได้ดู และสามารถมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, LINE ได้ตลอดเวลา

“ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้นก็ยังมองในแง่ดีว่า ถ้าเราทำกระบวนการแบบนี้ไปเรื่อยๆ ให้เขาได้คุยกันจริงๆ ก็น่าจะทำให้เกิดจุดร่วมบางอย่างได้ แต่เขาจะเปลี่ยนจุดยืนหรือไม่ก็ไม่กล้าที่จะคาดหวังมาก เราคาดหวังตัวเองดีกว่าการทำงานตามหลักวิชาการที่ควรจะเป็นในการทำแผนด้วยกระบวนการ SEA ที่ให้ทุกคนจะได้ข้อมูลเหมือนกัน และทุกคนยอมรับร่วมกัน ส่วนการใช้ประโยชน์จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแต่ละกลุ่ม” สินาด กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net