Skip to main content
sharethis

กองทัพพม่ากับอิหร่านมีความร่วมมือทางการทหารกันอย่างลับๆ หลังอิหร่านได้กลายเป็นผู้จัดหาอาวุธให้กับพม่าหลังการรัฐประหารปี 2564  สหประชาชาติระบุ กองทัพพม่าได้นำเข้าอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางการทหารอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร 2564 ทั้งนี้ อิหร่านยังเป็นแหล่งจัดหาอาวุธให้กับรัฐบาลเผด็จการหลายแห่ง

 

2 มิ.ย. 2566 ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของปี 2565 มีเครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่ใช้ขนส่งลำเลียงจากอิหร่านลงจอดที่กรุงเนปิดอว์และย่างกุ้ง 3 ครั้ง จากข้อมูลติดตามการบินระบุว่าเครื่องบินลำดังกล่าวนี้เป็นของสายการบินขนส่งสัญชาติอิหร่าน Qeshm Fars Air ที่ออกบินจากเมืองแมชแฮด ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอิหร่าน ก่อนที่จะบินกลับในวันถัดไป

สิ่งที่ Qeshm Fars Air นำมาส่งให้พม่าคือกล่องวัสดุจำนวน 21 กล่อง ที่มีโดรนและเครื่องยนต์ที่ใช้ทางการทหาร การมาส่งของของเครื่องบินลำนี้ ทำให้มีการประเมินว่าอาจจะเป็นการที่อิหร่านส่งอาวุธที่ทรงอานุภาพมากขึ้นให้กับพม่า หนึ่งในนั้นมีจรวดนำวิถีอยู่ด้วย

Qeshm Fars Air ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนของกองทัพอิหร่านในการขนส่งอาวุธให้กับกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในสงครามซีเรีย แหล่งข่าวที่เป็นคนแปรพักตร์จากกองทัพอากาศพม่าและแหล่งข่าวอื่นๆ เปิดเผยต่อสื่อว่าอิหร่านยังทำการส่งอาวุธมาที่พม่าด้วย

ตัวแทนจากอิหร่านได้เดินทางเยือนพม่าเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2565 หนึ่งในนั้นเป็นคนที่มาจากกองทัพปฏิวัติอิหร่าน (กองทัพของรัฐบาล) อยู่ด้วย คือ โกลัมเรซา กาเซมี อดีต ผบ.กองทัพอิหร่าน และนักบินผู้ที่เคยถูกจับกุมในอาร์เจนตินาเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่เครื่องบินโบอิ้ง 747 ของเขาถูกสั่งให้ลงจอดเพราะต้องสงสัยเรื่องการค้าอาวุธ ปัจจุบันกาเซมีดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกกรรมการบอร์ดของ Qeshm Fars Air ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเขาเป็นคนขับเครื่องบินขนส่งอาวุธให้พม่าด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม อิระวดีระบุว่าเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ที่จะสรุปว่าพม่ากับอิหร่านมีความร่วมมือทางการทหารกันอย่างลับๆ หลังจากที่พม่าทำการรัฐประหารปี 2564 โดยที่ก่อนหน้านั้นพม่ากับอิหร่านมีความสัมพันธ์กันแบบห่างๆ

มีอดีตเจ้าหน้าที่ทหารอากาศของพม่าหลายนายที่แปรพักตร์ไปเป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าให้ข้อมูลในเรื่องนี้ต่อสื่อว่า กองทัพพม่าที่เรียกตัวเองว่าสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ได้รับซื้อชิ้นส่วนอะไหล่จากอิหร่านเพื่อนำมาซ่อมแซมปรับปรุงโดรนของกองทัพพม่าเอง อีกทั้งอดีตทหารอากาศที่แปรพักตร์ยังยืนยันว่ากองทัพพม่าได้ซื้อเครื่องยนต์โดรน MD550 และขีปนาวุธนำวิ5uจากอิหร่านด้วย

เครื่องยนต์โดรน MD550 นั้นผลิตโดยบริษัท Mado หรือ Oje Parvaz Mado Nafar ของอิหร่าน ซึ่งอยู่ในรายชื่อคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ ต.ค. 2564 อดีตทหารอากาศพม่าบอกว่ากองทัพพม่านำเครื่องยนต์ของ Mado มาเป็นอะไหล่ทดแทนเครื่องยนต์เดิมของพวกเขาที่ใช้การไม่ได้แล้ว โดยมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์โดรนที่ว่านี้ที่ฐานทัพอากาศเมะทีลาในตอนกลางของพม่า

นอกจากพม่าแล้ว อิหร่านยังเคยทำการจัดส่งอาวุธโดรนจำนวนหลายพันชุดให้กับรัสเซียนับตั้งแต่ที่มีการรุกรานยูเครนเมื่อปี 2565 เป็น "โดรนสละชีพ" ราคาถูกที่มีชื่อว่า Shahed-136 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับยูเครนเป็นอย่างมาก

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าอิหร่านกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังจากสงครามยูเครน จากที่รัสเซียต้องการโดรนและขีปนาวุธจากอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านต้องการการค้าและการลงทุนจากรัสเซีย

เรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียด้วย จากที่พวกเขามีการยกระดับความสัมพันธ์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร โดยที่กองทัพพม่าคอยซื้ออาวุธต่างๆ จากรัสเซียไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินรบ, เฮลิคอปเตอร์ และยุทโธปกรณ์ทางการทหารอื่นๆ จากรายงานของสหประชาชาติเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า กองทัพพม่าได้นำเข้าอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางการทหารอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร 2564 โดยที่ส่วนใหญ่แล้วมาจากรัสเซียและจีน

กองทัพพม่าทำการกระจายแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ด้านการทหารของตัวเองเช่นเดียวกับที่รัสเซียทำในปฏิบัติการรุกรานยูเครน

อิหร่านเป็นแหล่งจัดหาอาวุธให้กับรัฐบาลเผด็จการหลายแห่ง รวมถึงการจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มที่เป็นพวกเดียวกับอิหร่านในสงครามซีเรียและสงครามเยเมนด้วย ส่วนกองทัพพม่าก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอย่างลับๆ กับเกาหลีเหนือมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และดูเหมือนว่าจะมีการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กันด้วยหลังการรัฐประหาร

อดีตทหารอากาศพม่าที่แปรพักตร์กล่าวว่า ในช่วงระหว่างปี 2559-2560 กองทัพพม่าได้ส่งวิศวกรกองทัพไปที่อิหร่านเพื่อเรียนรู้เรื่องการบูรณะเครื่องบินซ้อมรบเก่า อิหร่านเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งที่มีความสามารถในการซ่อมแซมและดัดแปลงเทคโนโลยีทางการทหารที่พวกเขาได้มาอย่างผิดกฎหมาย

หลังจากที่กองทัพพม่าตกเป็นเป้าหมายการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกเนื่องจากการรัฐประหารและการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง พวกเขาก็หันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับ รัสเซีย, จีน, อินเดีย, เบลารุส, อิหร่าน และประเทศอื่นๆ รวมถึงใช้เทคโนโยลีทางการทหารจากประเทศเหล่านี้ในการยกระดับปฏิบัติการทางอากาศและทางบกในการสู้รบกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและกองกำลังชาติพันธุ์

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ผู้นำกองทัพพม่าอย่าง มินอ่องหล่าย ได้ต้อนรับเอกอัครราชทูตคนใหม่ของเบลารุสมามายังพม่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็หารือกันเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในภาคส่วนกลาโหม และประเด็นอื่นๆ

กลุ่มประเทศที่เป็นแหล่งค้าอาวุธให้กองทัพพม่า เช่น อิหร่าน เบราลุส และรัสเซีย เคยถูกเรียกว่าเป็น "อักษะแห่งความชั่วร้าย" โดยรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช มาก่อน เป็นที่น่าจับตามองว่า รัฐบาลโจ ไบเดน จะทำอะไรเพื่อเป็นการลงโทษกลุ่มประเทศ "อักษะแห่งความชั่วร้าย" เหล่านี้หรือไม่

 

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar Junta Turns to Iran for Missiles and Drones, The Irrawaddy, 26-05-2023

https://www.irrawaddy.com/news/the-world-myanmar/myanmar-junta-turns-to-iran-for-missiles-and-drones.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net