Skip to main content
sharethis

'สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน' ออกแถลงการณ์ถึง 'อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา' กรณีที่ศาลเลื่อนวันพิจารณาคดี ม.112 'ลูกเกด' ชลธิชา ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ให้เร็วขึ้น และสืบพยานโดยที่เธอไม่มีทนายความ สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เรียกร้องให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานและกำหนดวันนัดขึ้นใหม่โดยไม่มีการสอบถามวันว่างของจำเลย

 

2 มิ.ย. 2566 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีการพิจารณาคดี ม.112 ของชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด ส.ส. เขต 3 ปทุมธานี พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลสั่งเลื่อนสืบพยานในคดีเข้ามาเร็วขึ้น จากวันนัดเดิมในปี 2567 และยังให้อัยการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ปากโดยที่เธอไม่มีทนายความ โดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีความห่วงกังวลต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลในลักษณะดังกล่าวอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานและกำหนดวันนัดขึ้นใหม่โดยไม่มีการสอบถามวันว่างของจำเลย

แถลงการณ์ เรื่อง การพิจารณาคดีของศาลอาญา ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว



ถึง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

สืบเนื่องจากการพิจารณาคดีของศาลอาญา ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ถูกฟ้องเป็นจำเลยและมีการกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อมวลชนหรือสื่อโซเชียลมีเดียได้เผยแพร่ข้อมูลว่าศาลได้ยกเลิกนัดสืบพยานโจทก์จำเลยที่ได้กำหนดไว้ในเดือนมีนาคม 2567 และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยขึ้นใหม่ให้เร็วขึ้น ทำให้ทนายความจำเลยซึ่งมีนัดคดีอื่นอยู่ก่อนแล้ว ไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความจำเลยได้ และจำเลยได้ขอเลื่อนคดี แต่ศาลไม่อนุญาตและให้สืบพยานโจทก์ไปโดยที่จำเลยไม่มีทนายความนั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีความห่วงกังวลต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลในลักษณะดังกล่าวอย่างยิ่ง จึงขอเรียนเสนอความเห็นต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(1) การยกเลิกวันนัดสืบพยานและกำหนดวันนัดขึ้นใหม่โดยไม่มีการสอบถามวันว่างของจำเลยและทนายความจำเลย ในคดีของนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่สมาคมฯ ทราบข้อมูลว่าในคดีของศาลอาญาหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ กับนายพริษฐ์ ชิรารักษ์ กับพวกรวม 22 คน ก็มีการยกเลิกวันนัดเดิมที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน โดยคำสั่งของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

สมาคมฯ เห็นว่าคดีของนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ที่มีการยกเลิกวันนัดสืบพยานเดิมและกำหนดวันนัดใหม่ และไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ทั้งที่มีเหตุจำเป็นอันสมควร และเหตุจำเป็นที่ต้องเลื่อนคดีนั้น ไม่ได้เกิดจากฝ่ายจำเลย แต่เกิดจากการกระทำของศาลอาญาที่ยกเลิกวันนัดเดิมและกำหนดวันนัดใหม่โดยไม่สอบถามวันว่างของทนายความจำเลย แต่ศาลกลับให้สืบพยานโจทก์ไปโดยที่จำเลยไม่มีทนายความ กรณีดังกล่าวย่อมเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจเป็นกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบได้ และยังเป็นการใช้อำนาจตุลาการที่กระทบโดยตรงต่อหลักการพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพิจารณาคดีที่ศาลควรคำนึงถึงและพึงตระหนักว่ากระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับจำเลย และอาจกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการที่มีหน้าที่ต้องประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดีโดยแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการได้กำหนดไว้ในข้อ 1 ว่า

“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดีซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

(2) สมาคมฯ ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาพิจารณาตรวจสอบการกระทำในลักษณะดังกล่าว คือการยกเลิกวันนัดเดิมที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน และได้นัดความไปเสร็จสิ้นแล้วโดยผู้พิพากษาองค์คณะ แต่ต่อมากลับถูกยกเลิกวันนัดเดิมและกำหนดวันนัดใหม่โดยผู้พิพากษาอื่นที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาองค์คณะ และเป็นการกำหนดวันนัดใหม่โดยไม่สอบถามจำเลยและทนายความจำเลยก่อน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะดำเนินการใดๆ เพื่อไม่ให้ผู้พิพากษาศาลอาญาดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เคารพต่อหลักกฎหมายและไม่คำนึงถึงสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยในลักษณะเช่นนี้อีก

(3) สมาคมฯ ขอเรียนต่อท่านว่า การกำหนดวันนัดพิจารณาคดีให้รวดเร็วขึ้นตามพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 และระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม พ.ศ.2566 นั้น แม้จะมีเจตนารมณ์เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นธรรมควบคู่กันไปด้วย หากรวดเร็วแต่ไม่เป็นธรรม ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมและไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดต่อสังคม

เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ของผู้พิพากษา

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
2 มิถุนายน 2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net