Skip to main content
sharethis

ปิยบุตร ชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ยังไม่ใช่คำตอบ แนะปลดล็อกท้องถิ่นที่แท้จริงคือต้องกระจาย ‘งาน-เงิน-คน’ ลงไปที่ อปท.

2 มิ.ย. 66 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็น กรณีพรรคก้าวไกลนำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะก้าวหน้า พบกับ 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ 

โพสต์ดังกล่าวมีใจความสำคัญดังนี้ 

“อีกไม่ช้าไม่นาน รัฐบาลก้าวไกลคงเร่งดำเนินนโยบายเกี่ยวกับกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ผมสนับสนุนเรื่องนี้ แต่มีประเด็นสำคัญที่ผมไม่เห็นด้วย นั่นคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งประเทศไทยมีระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 3 รูปแบบ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น” 

ปิยบุตร อธิบายว่าก่อนหน้านั้นมีความพยายามกระจายอำนาจโดยสร้างให้เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพฯ และ พัทยา ที่ผู้บริหารมาจากกการเลือกตั้งโดยตรง และต่อมาก็เริ่มทยอยตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ไม่สามารถเรียกว่าองค์กรกระจายอำนาจได้ เพราะผู้บริหารยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยังไม่มีความเป็นอิสระด้านอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และการคลัง

จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 40 ที่วางหลักการกระจายอำนาจไว้อย่างดีในหมวด 9 และขยายความใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ทยอยโอนงาน เงิน คน ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ต่อมารัฐบาลไทยรักไทยผลักดันนโยบาย ‘ผู้ว่าฯ ซีอีโอ’ ทำให้เกิดการบูรณาการเอาอำนาจที่กระจัดกระจายของส่วนภูมิภาค ซึ่งสังกัดหลายกรม หลายกระทรวง มารวมไว้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวโต๊ะ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้การกระจายอำนาจเดินหน้าไปได้ไม่เต็มที่นัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังไม่มีอำนาจ งบประมาณ มากเพียงพอ หลายเรื่องก็ยังคงซ้ำซ้อนกับส่วนภูมิภาคและติดขัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งมีรัฐประหารปี 49 การกระจายอำนาจก็สะดุดหยุดลง ต่อมามีรัฐประหารปี 57 อีกครั้ง ยิ่งทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง

สำหรับเหตุผลที่พรรคการเมืองและภาคประชาชนมักรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ โดยนำจังหวัดอื่นมาเทียบกับกรุงเทพฯ นั้น ปิยบุตรมองว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจากรัฐไทยไม่ยินยอมให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ จึงใช้วิธีทยอยทำ กรุงเทพมหานครคือส่วนท้องถิ่น แต่สำหรับจังหวัดอื่นคือส่วนภูมิภาค และคนจากจังหวัดอื่นเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากกว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นต้น

ปิยบุตรทิ้งท้ายว่า การปลดล็อกท้องถิ่นอย่างแท้จริงคือการเอางาน เงิน คน ไปให้ท้องถิ่น การจัดการอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น มิใช่วนเวียนอยู่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net