Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์ SME พร้อมย้ำจุดยืนค้านค่าแรง 450 บ. “พิธา” ขอคุย 13 มิ.ย.

2 มิ.ย. 2566 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ว่า ได้รับการประสานจากพรรคก้าวไกล ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้บริหารพรรคก้าวไกล ขอเข้าพบเพื่อหารือกับผู้บริหารของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย วันที่ 13 มิ.ย.66 ซึ่งนายพิธา จะมาถึงในเวลาประมาณ 14.00 น. โดยจะมีการแถลงข่าวภายหลังการหารือในเวลาประมาณ 15.30 น. ที่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ถนนประชาชื่น เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

สำหรับนโยบายของพรรคก้าวไกล ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน นายแสงชัย ระบุว่า เป็นความกังวลใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งประเทศ เพราะเท่าที่ได้ประชุมร่วมกันกับเอสเอ็มอีทั้งประเทศ โดยประเด็นการขึ้นค่าแรง เราต้องประเมินความพร้อมจากปัจจัยรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เพิ่งจะทยอยฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 หลายภาคส่วนยังไม่กลับมาเป็นปกติดี รายได้ยังไม่กลับมาคงที่ และยังมาเจอปัจจัยเรื่องของต้นทุนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ล้วนแต่ส่งผลกระทบ รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม

ทางเอสเอ็มอีไทย ก็ได้หารือกัน และมองไปในทิศทางว่า การขึ้นค่าแรงนั้น เห็นว่า ควรจะทยอยปรับขึ้นตามกลไกไตรภาคีในแต่ละพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตามความเหมาะสม ในเชิงค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่

นายแสงชัย ระบุว่า สำหรับมาตรการต่างๆ ที่ควรทำควบคู่กันไป กับการทยอยปรับขึ้นค่าแรง ได้แก่

1. มาตรการสร้างแรงจูงใจ แรงงานนอกระบบ ซึ่งปัจจุบัน แรงงานนอกระบบมีอยู่ประมาณ 52% หรือเกือบ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ประมง รองลงมาเป็นท่องเที่ยว บริการ ขณะที่มีแรงงานในระบบประมาณ 48% หรือประมาณ 18 ล้านคน เพราะฉะนั้น การยกระดับแรงงานในมิติต่างๆ สิ่งสำคัญ คือ ระบบจูงใจให้แรงงานนอกระบบ ดึงเข้ามาในระบบเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถติดตามดูแลแรงงานให้อยู่ในระบบ อาจจะเป็นระบบสวัสดิการ ระบบต่างๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานได้อย่างตรงเป้าหมาย

2. การยกระดับ สมรรถนะ ขีดความสามารถของแรงงาน มองว่าการเพิ่มผลิตภาพ กับอัตราการจ้างงาน ต้องสอดคล้องกัน ค่าแรงกับผลงานต้องเป็นไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ เศรษฐกิจ วันนี้ Labour Intensive หรือ การใช้แรงงานเข้มข้น ในภาคธุรกิจต่างๆ คงไม่ได้แล้ว เราต้องสร้าง Knowledge Intensive หรือการพัฒนาขีดความสามารถ ส่งเสริมเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ในการ Upskill , Reskill ทำเรื่อง Future skill ให้ภาคแรงงาน เพื่อ ให้ transform และตอบสนองกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละ เซกเม้นท์

3. ภาครัฐควรมีมาตรการที่มุ่งเป้า จากปัจจุบัน ภาคแรงงานประสบปัญหาค่าครองชีพสูง และมีรายได้น้อย เช่น มาตการคนละครึ่ง ที่ผู้ประกอบการและภาครัฐ ช่วยกันคนละครึ่งในการอุดหนุนค่าครองชีพให้กับภาคแรงงานรายวัน ในการส่งเสริมให้กับภาคแรงงานที่มีค่าแรงรายวัน มีสวัสดิการนำไปใช้ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้แรงงานคนไทยได้ประโยชน์ และจะมีระบบการขึ้นทะเบียนต่างๆ เพื่อจูงใจให้แรงงานเข้ามาในระบบ จะได้เกิดขั้นตอนกระบวนการในการชะลอการขึ้นค่าแรงก้าวกระโดดทีเดียวเป็น 450 บาทต่อวัน นอกจากที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บางส่วนที่มีระบบสวัสดิการที่นอกเหนือจากค่าแรง เช่น อาหาร ที่พัก เป็นต้น

4. การลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างทางด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม วัตถุดิบ ปุ๋ย อาหารสัตว์ รวมถึงปัจจัยการผลิตที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในเรื่องต้นทุน และทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว ก็ต้องเพิ่มราคา ลดจำนวนลง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กลไกการกำหนดราคาของต้นทุนต่างๆ เกิดกระบวนการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ พึ่งพาตนเอง และทำให้ได้ถูกกว่า

5. การลดหย่อนภาษี มาตรการที่สื่อสารออกมาว่า ผู้ประกอบการที่มีการปรับขึ้นค่าแรง จะมีการลดหย่อนภาษี 2 เท่า 2 ปี นายแสงชัย มองว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ประกอบการที่จะได้ประโยชน์ จะเป็นนิติบุคล ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน และเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ มากกว่ากลุ่มเอสเอ็มอี

ทั้งนี้อยากให้มองว่า จะทำอย่างไรกับเอสเอ็มอี ที่จำนวนมากยังไม่ฟื้นตัว การที่ค่าแรงปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในภาคการผลิต ธุรกิจเกษตร การค้า และบริการ ขณะที่ราคาผลผลิตและสินค้าเกษตร ไม่ได้สูงขึ้นตาม

นายแสงชัย ระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ปัจจุบัน SME มีการจ้างงานทั้งประเทศอยู่ประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 72% ของการจ้างงานของผู้ประกอบการทั้งประเทศ โดยมี SME ประมาณ 32 ล้านราย หรือ 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ เป็น SME ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ประมาณ 2.7 ล้านราย เป็นรายย่อย

นายแสงชัย ย้ำว่า การขึ้นค่าแรงลักษณะที่ก้าวกระโดด จะทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ เพราะผุ้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนมาก วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้เหมือนกับในวันก่อนที่มีการขึ้นค่าแรงรอบนั้น (300 บาท) เพราะฉะนั้น วันนี้เราเจอวิกฤติถาโถมมาในทุกๆ ด้าน และเราต้องมาพบกับเรื่องของค่าแรงที่มีการปรับตัวสูงแบบก้าวกระโดด เราถึงให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ว่าควรที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เราเสนอไป 5 ด้าน ออกควบคู่กันไปเพื่อที่จะทำให้การทยอยปรับ หรือการที่จะดูแลภาคแรงงาน เป็นไปอย่างมีผลกระทบน้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่หลายฝ่ายมองว่าอาจส่งผลกระทบทำให้บางบริษัทย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น และอาจส่งผลกระทบลูกโซ่มายังเอสเอ็มอีด้วย นายแสงชัย ระบุว่า คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในมุมมองของนักลงทุนจากต่างประเทศ ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยอาจจะได้รับผลกระทบในส่วนหนึ่ง ขณะที่นักลงทุนไทย ที่มีความพร้อม และมีความต้องการจะลงทุนในประเทศ หากค่าแรงปรับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะมีการย้ายฐานการผลิตเพื่อไปยังที่ที่ต้นทุนถูกกว่า หรือมีสิทธิประโยชน์จูงใจกว่า

นายแสงชัย กล่าวย้ำกว่า การปรับขึ้นค่าแรง ควรทำโดยรอบคอบมากๆ และรัดกุม จะได้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อพี่น้องแรงงาน และผู้ประกอบการ รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามถึงสิ่งรัฐบาลใหม่ ต้องเร่งทำในลำดับแรก นายแสงชัย ระบุว่า เรื่องสำคัญ คือ มาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ กระจายโอกาสให้กับพี่น้องเอสเอ็มอี เศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากของประเทศที่มีจำนวนมาก รวมถึงภาคแรงงาน จะต้องทำอย่างไรที่จะช่วยประคอง และพยุงให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร ภาคแรงงาน สามารถที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้อย่างมีความเข้มแข็ง

เพราะฉะนั้น มาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะต้องเป็นมาตรการที่ทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่ม และส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น และทำให้ภาคแรงงาน ได้รับการดูแลสวัสดิการแรงงานที่ดี ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม กับผลผลิต ประสิทธิภาพ และผลงาน

ที่มา: TOP News, 2/6/2023

อธิบดีกรมจัดหางานหารือทูตแรงงานเมียนมา หาช่องให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานตาม MOU

2 มิ.ย. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ Mr.Thurein Tun และ Mr. Paye Sone Hein อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแรงงาน สอท.เมียนมา ประจำประเทศไทย (Labour Attache) ในโอกาสเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวและหารือแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู (MOU) ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – วันที่ 31 กรกฎาคม 2566) สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 และขยายเวลาให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ทัน ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

นายไพโรจน์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการหารือข้อราชการร่วมกับอัครราชทูตแรงงานฯ เกี่ยวกับประเด็นที่ทางการเมียนมามีการพิจารณาเงื่อนไขการอนุญาตให้แรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามเอ็มโอยู โดยกำหนดให้การเดินทางเข้ามาทำงานของแรงงานหญิงแต่ละครั้ง กลุ่มหนึ่งต้องมีผู้หญิงเดินทางร่วมกัน 5 คนขึ้นไป ซึ่งอาจกระทบต่อนายจ้างบางกลุ่ม อาทิ SME และกลุ่มงานบ้าน จึงต้องเจรจาหาทางออกร่วมกัน เพื่อมิให้ขัดต่อการดำเนินการของประเทศต้นทาง ขณะที่ ฝ่ายไทยสามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวต่อไปได้ สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/6/2566

ประธานสภาฯ ลูกจ้างพัฒนาแรงงาน เชื่อ 450 บาท ทำยาก หวั่นคนไม่พอใจลุกฮือออกมาเรียกร้อง แนะใช้อัตราแรกเข้า ทำโครงสร้างค่าจ้างประจำปี

1 มิ.ย. 2566 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท ในช่วง 100 วันแรกของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งล่าสุดฝ่ายนายจ้าง/สถานประกอบการมีข้อกังวลและขอให้ทบทวนนโยบาย ว่า ในฐานะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่คลุกคลีทำงานเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างของประเทศมายาวนาน มองว่านโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท ใน 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล ทำจริงได้ยาก และเป็นห่วงว่าการใช้เรื่องนี้หาเสียงกับประชาชน และทำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีความหวังและสนับสนุนด้วยการลงคะแนนให้กันอย่างล้นหลาม

“หากทำไม่ได้ใน 100 วันแรกที่เข้าไปบริหารประเทศ จะเป็นปัญหาของพรรคก้าวไกลด้วย มีแนวโน้มสูงที่อาจจะทำให้ผู้ใช้แรงงานที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลไม่พอใจ จนต้องออกมาเรียกร้อง และร้องไปที่ กกต. หรือศาลปกครอง ว่าไม่ทำตามสัญญา”

นายมนัส กล่าวต่อว่า เรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาทุกปี แต่จะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น มันมีองค์ประกอบและปัจจัยหลากหลายที่ต้องนำมาพิจารณาในคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจประเทศ

นายมนัส กล่าวอีกว่า การที่พรรคก้าวไกลไปกำหนดว่าต้องขึ้นค่าจ้าง 450 บาท ใน 100 วัน อาจจะเป็นเรื่องยาก และยิ่งทำให้ฝ่ายนายจ้าง/สถานประกอบการ มีความกังวล หากขึ้น 450 บาท จะเกิดปัญหาตามมาอีก คือคนเข้าใหม่ได้ค่าจ้าง 450 บาททันที แต่คนที่ทำงานมาก่อน 4-5 ปี ได้ค่าจ้างในอัตราที่สูงอยู่แล้ว นายจ้างต้องปรับขึ้นตามด้วย หากยังไม่ถึง 450 บาท ก็ต้องได้ แต่คนที่ถึง 450 บาท อยู่แล้ว นายจ้างจะทำอย่างไร ไม่ขึ้นให้ก็มีปัญหา ขึ้นให้อีกก็มีปัญหา จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เรื่องนี้ในกลุ่มลูกจ้างส่วนใหญ่เข้าใจกันดี

ประธาน สพท. กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงสร้างค่าจ้างของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบคือ รัฐบาลควรทำอัตราค่าจ้างแรกเข้า และทำโครงสร้างอัตราค่าจ้างประจำปี เพื่อให้คนที่มีอายุงาน มีทักษะความสามารถ มีผลงาน มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามอายุงานที่เพิ่มขึ้น

ประธาน สพท.กล่าวอีกว่า หากจัดทำโครงสร้างอัตราค่าจ้างแบบที่เสนอจะช่วยให้องค์กรนั้นๆ ไม่มีความขัดแย้งภายใน ลูกจ้าง พนักงาน นายจ้างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข หากทำตามแนวทางนี้ จะต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 87 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเช่นกัน

ที่มา: ข่าวสด, 2/6/2566

เครือสหพัฒน์ หวั่นขึ้นค่าแรง 450 บาท ส่งผลกระทบบริษัทในเครือฯ แต่ยังมั่นใจปรับตัวได้

นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ว่า เครือสหพัฒน์เป็นบริษัทใหญ่ที่มีพนักงานในเครือมากถึง 1 แสนคน หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทจริง จะส่งผลกระทบกับบริษัทในเครือสหพัฒน์แน่นอน แต่ยังไม่ทราบว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด เพราะรัฐบาลใหม่ยังไม่ได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวเพื่อการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าบริษัทจะสามารถปรับตัวได้อย่างแน่นอน

ส่วนรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่จะเข้ามาดูแลกระทรวงสำคัญ นายธรรมรัตน์ ระบุว่า จะมีอายุน้อย หรืออายุมาก ไม่สำคัญเท่ากับว่าเข้ามาบริหารกระทรวงเศรษฐกิจแล้วจะทำงานเป็นหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากได้รัฐมนตรีที่เข้ามาแล้ว ทำงานเป็น ทำงานได้ทันทีมากกว่า

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลที่จะใช้เวลานานในการเปลี่ยนผ่านนั้น มีความเห็นว่าการใช้เวลามากหรือน้อยไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้เป็นรัฐบาลที่มีพื้นฐานแน่น ระบบเศรษฐกิจก็จะเดินหน้าไปได้

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 1/6/2566

รพ.นครปฐม เปิดหอผู้ป่วยประกันสังคมและพิเศษรวม รองรับกลุ่มแรงงาน

1 มิ.ย. 2566 นพ.โอกาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสาธารณสุข พร้อมเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารหอผู้ป่วยประกันสังคมและพิเศษรวม โรงพยาบาล (รพ.) นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม โดยมี นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้ช่วยปลัดสธ. นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัด สธ. นพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5 นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย ผู้อำนวยการ รพ.นครปฐม และบุคลากร เข้าร่วมพิธี

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. มีนโยบายพัฒนาศักยภาพการให้บริการและปรับรูปแบบการบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่ จ.นครปฐม มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน รพ.นครปฐม ซึ่งมีผู้รับบริการที่ใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ในความรับผิดชอบถึง 120,240 คน จึงพัฒนาการบริการรองรับการขยายตัวของผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม โดยจัดทำหอผู้ป่วยประกันสังคมและพิเศษรวม บริเวณ ชั้น 5 อาคารทวารวดี ประกอบด้วยห้องพิเศษรวม จำนวน 18 เตียง และห้องพิเศษเดี่ยวอีก 5 ห้อง รวม 23 เตียง มีบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแล 24 ชั่วโมง รองรับผู้ป่วยทั้งด้านอายุรกรรม, ศัลยกรรม, นรีเวช, ศัลยกรรมกระดูก, หูคอจมูก ซึ่งขณะนี้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว

“นอกจากนี้ รพ.นครปฐม ยังมีแผนพัฒนาศักยภาพร่วมกับโรงพยาบาลภายในจังหวัด ตามนโยบาย one province one hospital โดยพัฒนาศูนย์หัวใจครบวงจรและศูนย์หลอดเลือดสมอง ร่วมกับ รพ.สามพราน และรพ.จันทรุเบกษา เพื่อเปิดให้บริการในปี 2568 มีเตียงรองรับผู้ป่วยในภาพรวมทั้งจังหวัด 20 เตียง และขยายบริการศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา ร่วมกับ รพ.สามพราน รพ.นครชัยศรี และ รพ.ห้วยพลู รวมถึงพัฒนาศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะด้วย” นพ.โอภาส กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/6/2566

เกิดอุบัติเหตุรถขนแรงงานชาวเมียนมา หลบหนีตำรวจ พลิกคว่ำถนนสายเอเชีย จ.พระนครศรีอยุธยา ไฟลุกไหม้ เป็นเหตุให้มีเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บอีก 6 คน

1 มิ.ย.2566 เจ้าหน้าที่ดับเพลิงช่วยกันดับไฟรถตู้ที่พลิกคว่ำ บริเวณถนนสายเอเชีย ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผู้บาดเจ็บเป็นแรงงานชาวเมียนมา มีหญิง 3 คน ชาย 3 คน กระเด็นออกข้างนอก ส่วนในรถยังเหลืออีก 4 คน รวมทั้งคนขับที่ไม่สามารถออกมาจากรถได้จึงถูกไฟคลอกเสียชีวิตทั้งคัน

หลังจากดับไฟได้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพุทไธสวรรย์ นำเครื่องตัดถ่างนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากรถ พบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 คน เป็นชาวเมียนมา 3 คน ไม่ทราบเพศ และคนขับรวมเป็น 4 คน

จากการสอบสวนทราบว่า คนขับได้นำแรงงานชาวเมียนมา 9 คน ลักลอบเข้าเมือง เพื่อนำไปส่งที่กรุงเทพมหานคร แต่เมื่อพบตำรวจตั้งด่านตรวจจึงขับหลบหนีด้วยความเร็ว ก่อนเสียหลักแหกโค้ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว

ที่มา: Thai PBS, 1/6/2566

ลูกจ้างโรงงานสิ่งทอ จ.สมุทรปราการ กว่าร้อยคน ถูกลดค่าจ้างและค้างจ่ายตั้งแต่ 2563 กสร. ตรวจสอบ สั่งนายจ้างจ่ายค่าจ้างรวมค่าชดเชยต่าง ๆ 19 ล้านบาท

วันที่ 31 พ.ค. 2566 กรณีลูกจ้างโรงงานสิ่งทอในจังหวัดสมุทรปราการนับร้อยคน รวมตัวกันหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขอให้เร่งรัดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามคำร้อง (คร.7) รวมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินนายจ้าง ผลประกอบการ และภาษีอากรของนายจ้าง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที

เบื้องต้นได้รับรายงานจากพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ว่า โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการสิ่งทอ มีลูกจ้างรวม 225 คน มีการลดวันทำงานและลดค่าจ้างลูกจ้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

นายจ้างมีประกาศขยายลดวันทำงานและลดค่าจ้างต่อเนื่องมาตลอด จนวันที่ 18 เม.ย. 2566 โรงงานถูกตัดระบบการจ่ายไฟฟ้าเนื่องจากนายจ้างค้างชำระ หลังจากนั้นลูกจ้างไม่ได้เข้าทำงานให้กับนายจ้างอีกเลย แต่นายจ้างยังไม่เลิกจ้าง และทยอยจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้แก่ลูกจ้าง

โดยตั้งแต่วันที่ 3-25 พ.ค. 2566 มีลูกจ้างรวม 115 คน ได้ยื่นคำร้อง (คร.7) ต่อพนักงานตรวจแรงงานเรียกค่าจ้างค้างจ่ายและเงินสะสมที่หักจากค่าจ้าง และค่าชดเชยกรณีเกษียณ (2 คน) ขณะอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและสอบข้อเท็จเพิ่มเติม วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ผู้นำแรงงานได้นำลูกจ้างประมาณ 88 คน ไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเพื่อให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ

ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมถึงได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 353/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2566

สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 ถึง เม.ย. 2566 เป็นเงิน 18,125,677.58 บาท เงินสะสมหักจากค่าจ้าง เป็นเงิน 857,977 บาท และค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุ (2 คน) เป็นเงิน 354,433.33 บาท ให้แก่ลูกจ้าง จำนวน 109 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,338,087.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนลูกจ้างอีก 6 คน ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและจะดำเนินการออกคำสั่งต่อไป

“ผมได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเตรียมช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว โดยการให้คำปรึกษา แนะนำ ข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายประกันสังคม ตำแหน่งงานว่างรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่ หรือฝึกการเพิ่มทักษะด้านอาชีพต่อไป

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ข้างต้นแล้ว เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามคำสั่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็จะดำเนินการให้ลูกจ้างยื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/5/2566

Microsoft เผยข้อดีระบบ AI ขณะที่พนักงานไทย 66% กังวลใจกลัวถูกแย่งงาน

หลังเปิดบริการ Microsoft 365 Copilotไปเมื่อต้นปี โดยนำจุดแข็งความอัจฉริยะของระบบ AI มาเสริมศักยภาพของแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้หลายล้านคนในทุกวันอย่าง ไมโครซอฟท์ เวิร์ด เอ็กเซล พาวเวอร์พ้อยต์ เอ้าท์ลุค ไมโครซอฟท์ ทีมส์และอื่นๆ ล่าสุด Microsoft ประกาศเดินหน้าขยายให้ลูกค้าทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยมีทดลองใช้งาน Microsoft 365 Copilot มากขึ้น พร้อมเปิดข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัย Work Trend Index ปี 2023 ถึงมุมมองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตการทำงานยุค AI

สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด และปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยี AI ส่งผลให้วิธีการทำงานต้องเปลี่ยนไปในทุกด้าน จากเดิมที่มีระบบอัตโนมัติทั่วไปในการทำงาน มาเป็นระบบผู้ช่วยที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างชาญฉลาด ทำให้พนักงานหลุดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Digital Debt’ หรือภาระงานที่เกิดจากการโต้ตอบกันทางอีเมล แชท และประชุม จนไม่สามารถไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้

 “เมื่อการทำงานเปลี่ยนไปเพราะ AI คนทำงานก็ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเช่นกัน พนักงานส่วนใหญ่ในไทยมองว่า AI เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา จากรายงาน Work Trend Index 2023 ระบุว่า พนักงานไทยถึง 86% ยินดีที่จะมอบหมายให้ AI ทำงานแทนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดภาระงานลง ดังนั้นผู้บริหารในยุคนี้ จึงมีโอกาสและแรงผลักดันให้ต้องเร่งทำความเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อลดความจำเจในการทำงาน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และยกระดับความเชี่ยวชาญด้าน AI ไปพร้อมๆ กัน”

ทั้งนี้ Microsoft ได้เผยรายงานเชิงลึก Work Trend Index 2023 ชี้ให้ผู้นำธุรกิจเห็นถึงข้อสรุปที่สำคัญ 3 เรื่องใหญ่เพื่อทำความเข้าใจและนำเอไอมาใช้ในองค์กรอย่างถูกต้องเหมาะสม ได้แก่

1. Digital Debt หรือการยับยั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ ไมโครซอฟท์ มองว่า ปัจจุบันพนักงานทุกคนล้วนมีภาระในโลกดิจิทัลของที่ทำงาน มีข้อมูล อีเมล และแชทปริมาณมหาศาลตลอดวัน จนไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ในทุกส่วน

ดังนั้น การนำ AI เข้าไปประยุกต์ใช้ จึงเป็นโอกาสในการทำให้การสื่อสารมีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะยิ่งเสียเวลาไปกับภาระ digital debt เหล่านี้มากเท่าไร ยิ่งทำให้พนักงานไม่มีเวลาใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น มีข้อมูลเวลาทำงานใน Microsoft 365 ชี้ว่าโดยเฉลี่ยพนักงานใช้เวลาทำงาน 57% ไปกับการติดต่อประสานงาน และเพียง 43% ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ส่วนอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ขัดขวางประสิทธิผลในการทำงาน คือ การประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพ

2. เทคโนโลยี AI พร้อมเป็นพันธมิตรคู่ใจคนทำงาน โดย Microsoft มองว่า พนักงานส่วนใหญ่ในไทย 66% มีความกังวลที่จะถูก AI แย่งงาน ขณะที่ 86% ต้องการให้ AI ช่วยแบ่งเบาภาระงานให้ได้มากที่สุด ซึ่ง 9 ใน 10 คน ของพนักงานต้องการแบ่งงานที่ซับซ้อนให้ AI ทำ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลหรือการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานเอกสารธุรการทั่วไป

3. พนักงานทุกคนต้องเชี่ยวชาญ AI เรียนรู้ในด้านใหม่ๆ เช่น การวางโครงสร้างและเขียนคำสั่งสำหรับเอไอ (prompt engineering) แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเอไอเท่านั้น ข้อมูลเชิงลึกชี้ว่า ผู้บริหารในไทยกว่า 90% คาดว่า พนักงานจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในยุค AI

ขณะที่ พนักงานไทย 86% ระบุว่า พวกเขายังขาดความสามารถที่เหมาะสมในการทำงานให้สำเร็จ ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าทักษะใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญด้านเอไอ จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน พร้อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนับตั้งแต่แนวทางการเขียนเรซูเม่ ไปจนถึงประกาศรับสมัครงาน

อย่างไรก็ตาม สัตยา นาเดลลา ซีอีโอ ของบริษัท Microsoft ได้ออกมากล่าวก่อนหน้านี้ว่า เทคโนโลยีใหม่ของ AI ที่บริษัทได้ประกาศโครงการ Microsoft 365 Copilot เพื่อให้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ 600 รายทั่วโลกได้มีโอกาสใช้งานนั้น จะช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยม เอกสารที่ยอดเยี่ยม พาวเวอร์พอยต์ที่ยอดเยี่ยม และงานศิลปะ รวมถึงทำการวิเคราะห์ขั้นสูงโดยใช้ข้อความค้นหาที่เป็นภาษาธรรมชาติมากขึ้น

ที่มา: Forbes Thailand Magazine, 31/5/2566

ลูกจ้างสมุทรปราการนับร้อย ถูกลดค่าจ้างแถมไม่จ่ายค่าจ้างตั้งแต่ปี 63 สั่ง กสร. เร่งดำเนินการตามกฎหมาย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีลูกจ้างโรงงานสิ่งทอในจังหวัดสมุทรปราการนับร้อย รวมตัวกันหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขอให้เร่งรัดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามคำร้อง (คร.7) รวมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินนายจ้าง ผลประกอบการ และภาษีอากรของนายจ้างนั้น ตนจึงได้สั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที เบื้องต้นได้รับรายงานจากพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ว่า โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการสิ่งทอ มีลูกจ้างรวม 225 คน โดยการลดวันทำงานและลดค่าจ้างลูกจ้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นายจ้างมีประกาศขยายลดวันทำงานและลดค่าจ้างต่อเนื่องมาตลอด จนวันที่ 18 เมษายน 2566 โรงงานถูกตัดระบบการจ่ายไฟฟ้าเนื่องจากนายจ้างค้างชำระ หลังจากนั้นลูกจ้างไม่ได้เข้าทำงานให้กับนายจ้างอีกเลย แต่นายจ้างยังไม่เลิกจ้างและทยอยจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้แก่ลูกจ้าง โดยตั้งแต่วันที่ 3 – 25 พฤษภาคม 2566 มีลูกจ้างรวม 115 คน ได้ยื่นคำร้อง (คร.7) ต่อพนักงานตรวจแรงงานเรียกค่าจ้างค้างจ่ายและเงินสะสมที่หักจากค่าจ้าง และค่าชดเชยกรณีเกษียณ (2 คน) ขณะอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและสอบข้อเท็จเพิ่มเติม วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ผู้นำแรงงานได้นำลูกจ้างประมาณ 88 คน ไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเพื่อให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมถึงได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 353/2566 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 – เมษายน 2566 เป็นเงิน 18,125,677.58 บาท เงินสะสมหักจากค่าจ้าง เป็นเงิน 857,977 บาท และค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุ (2 คน) เป็นเงิน 354,433.33 บาท ให้แก่ลูกจ้าง จำนวน 109 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,338,087.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนลูกจ้างอีก 6 คน ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและจะดำเนินการออกคำสั่งต่อไป อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเตรียมช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว โดยการให้คำปรึกษา แนะนำ ข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายประกันสังคม ตำแหน่งงานว่างรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่ หรือฝึกการเพิ่มทักษะด้านอาชีพต่อไป

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ข้างต้นแล้ว เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามคำสั่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็จะดำเนินการให้ลูกจ้างยื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นต่อไป ทั้งนี้ หากลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวไม่สะดวกมายื่นคำร้องที่ สสค.สมุทรปราการ สามารถยื่นคำร้อง คร.7 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 31/5/2566

'ธนาคารโลก' แนะไทยปฏิรูปเบี้ยเกษียณ - คนชรา ลดยากจน การเงินยั่งยืน

“โรนัลด์ อาเปนยู มูตาซา” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 ระบุว่า ารคุ้มครองทางสังคม มีอยู่ 2 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.การช่วยเหลือทางสังคม อาทิ การสนับสนุนครัวเรือนที่ยากลำบาก เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทรัพยากรบุคคล และ 2.การมีระบบประกันสังคมที่ดี

ในการวิเคราะห์ของ เวิลด์แบงก์ จะดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้ความช่วยเหลือในสังคมไทย โดยตั้งสมมติฐานว่า ถ้าประเทศไทยปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคมจะส่งผลต่อนโยบายการคลัง  ความยากจน และความเท่าเทียมในไทยอย่างไร

ธนาคารโลก เผยว่า ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือทางสังคมของไทยค่อนข้างต่ำกว่าประเทศรายได้ปานกลางครึ่งหนึ่ง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยให้ความช่วยเหลือสังคมได้ดีมาก

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์การคุ้มครองทางสังคมให้มีประสิทธิผลในไทย ธนาคารโลกมีสมมติฐานแรกว่า ให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 2,000 บาทต่อเดือน สำหรับกลุ่มคนยากจน 40% ล่าง จะช่วยลดความยากจนและลดผลกระทบการคลังได้

สมมติฐานที่สองคือ ปรับเบี้ยผู้สูงอายุกลุ่มยากจน 40% ล่าง เป็น 2,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้สูงอายุกลุ่มอื่นๆ ปรับเบี้ยไปตามฐานะ  และเพิ่มงบบัตรสวัสดิการรัฐเป็น  700 บาท จะช่วยลดความยากจนได้ดีมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์ทางการเมือง สังคม ธนาคารโลกคาดว่า สมมติฐานแรกนั้นสามารถเป็นไปได้มากที่สุด

จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลก จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ 1. รัฐบาลไทยควรเพิ่มรายจ่ายในการช่วยเหลือทางสังคมให้มีความถาวรมากขึ้น กว่าช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะนโยบายช่วงนั้น เป็นการช่วยเหลือเพียงระยะสั้น   2. มีโครงการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระทางการคลัง 3. ลดการกระจัดกระจายของการช่วยเหลือ และมีระบบติดตามโครงการต่างๆ อย่างครอบคลุม และ 4.ปฏิรูปเบี้ยเกษียณ ปรับเงินสมทบประกันสังคม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และความยั่งยืนทางการเงิน อาทิ ขยายอายุเกษียณ ลดความแตกต่างระหว่างอายุเกษียณภาครัฐ และเอกชน, ใช้รายได้ตลอดชีพเป็นฐานคำนวณบำนาญเริ่มต้น, จัดทำดัชนีราคาเงินบำนาญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และกองทุนประกันสังคมจัดทำดัชนีกำหนดเพดานรายได้เพื่อมาคำนวณบำนาญต่อการเติบโตของค่าจ้าง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 31/5/2566

หอการค้าไทยขอบคุณรัฐบาลต่ออายุต่างด้าวทำงานถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ชี้แก้ปัญหาตรงจุด

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากนโยบายการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยกำลังแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตและเป็นทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกระดับ แต่ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเชิงโครงสร้างและขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยว และบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและผู้ประกอบการ SMEs  ยังประสบปัญหาและมีความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน ในการเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว MOU ที่ไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทัน ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 3-4 แสนคนที่จะประสบปัญหามีสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายนั้น

โดยจากที่กล่าวมาเบื้องต้น เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2 กลุ่มคือ แรงงานต่างด้าว MOU 3 สัญชาติ(กัมพูชา ลาว และเมียนมา) และแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์  2566 ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้สามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ตรงเป้าหมาย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรืองาน 3D และลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างผู้ประกอบการและลูกจ้างในสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ในนามหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าเกี่ยวข้อง ขอขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบกิจการทั่วประเทศ โปรดเตรียมนำแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี มาขึ้นทะเบียนตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว หากท่านมีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร สายด่วน: 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: สยามรัฐ, 31/5/2566

ครม.ขยายเวลาให้แรงงานเพื่อนบ้านตาม MOU อยู่ไทยได้ถึง 31 ก.ค. 2566

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ ครม.พิจารณา และเห็นชอบขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติ ประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา และ เมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MOU และอยู่ครบวาระ สามารถอยู่ต่อได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566  หลังจากนั้นให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ในการพิจารณา

นายสุชาติ กล่าวว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นตามคำเรียกร้องของผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจต้องสะดุด เพราะขาดแคลนแรงงาน และความโกลาหลของแรงงานตาม MOU ที่ต้องเดินทางกลับประเทศเป็นเวลา 30 วันก่อน จึงจะกลับมาทำงานต่อได้ และด้วยสถานการณ์บางประเทศที่ยังมีการสู้รบตามแนวชายแดน ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ตามนโยบายของพรรคก้าวไกล นายสุชาติ กล่าวว่า ต้องเป็นการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี แต่ต้องไม่ลืมว่าหากปรับขึ้นให้กับแรงงานไทยแล้ว ก็ต้องปรับขึ้นให้กับแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่มีทักษะด้วย และต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า ที่คนไทยทั้ง 50-60 ล้านคน ต้องแบกรับ

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 30/5/2566

กุนซือเศรษฐศาสตร์ แนะรัฐบาลใหม่เร่งดูแลปัญหาแรงงาน เป็นห่วงใช้งบรัฐสวัสดิการ เสนอปรับเพิ่ม VAT เพิ่มอีก 1%

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” ว่า เสนอให้ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 1 จากปัจจุบันร้อยละ 7 รัฐบาลยังต้องใช้เงินพัฒนาอีกหลายโครงการ จึงต้องจัดหารายได้เพิ่ม แต่ควรทบทวนภาษีจากกำไรผู้ประกอบการ เพราะเป็นมาตรการทำให้ต่างชาติตัดสินใจย้ายไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน โดยควรใช้เทคโนโลยี ระบบออนไลน์ เข้ามาให้บริการประชาชน นักท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวเป็นแม่เหล็กสำคัญทำรายได้เข้าประเทศ การเร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้รบกวนบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ

กรณีกระทรวงการคลังยังไม่ขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล หลังจากครบกำหนด 21 ก.ค.66 มองว่า มาตรการชดเชยดีเซล เมื่อต้องใช้งบประมาณ ช่วงรัฐบาลรักษาการ ต้องเสนอ กกต.พิจารณา เพราะจะผูกมัดไปยังรัฐบาลชุดต่อไป จึงเสนอว่า กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกสำคัญดูแลราคาน้ำมันในการปรับราคาเพิ่มขึ้น-ลดลง ผู้ขับรถใช้น้ำมัน ต้องเป็นผู้รับภาระ ไม่ควรนำงบประมาณโดยรวมเข้าไปชดเชยราคาดีเซลช่วงนี้

ในด้านพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย ถือว่ามีความมั่นคงมาก ทุนสำรองหว่างประเทศสูงถึง 226,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนหนี้สาธารณะร้อยละ 61.2 ของจีดีพี สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคาร 2.33 ล้านล้านบาท ตลาดพันธบัตรมีสภาพคล่องรองรับการระดมทุนของภาคเอกชนได้จำนวนมาก ในส่วนของภาระหนี้สาธารณะ หากขยายเพิ่มไปถึงร้อยละ 70 ยังสามารถดึงกลับมาให้ลดเหลือร้อยละ 60 ปี ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมาก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ เพราะทำให้เริ่มคิดใช้งบที่สำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้น แต่ควรเริ่มจัดทำในปีถัดไป สำหรับงบประมาณปี 2568 การสานต่อโครงการลงทุนในเขตอีอีซี นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมระบบ WiFi 5G เข้าถึงทุกชุมชน รองรับการจัดทำนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวว่า มองว่าในช่วงรอเวลาจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หากล่าช้าเกินเดือนสิงหาคม จะเป็นสุญญากาศทางเศรษฐกิจ การปล่อยไว้เป็นเวลานาน ตั้งรัฐบาลไม่ได้ น่าเป็นห่วงมาก เพราะหากมีเหตุการณ์สำคัญต้องใช้งบเพิ่ม จึงต้องขอ กกต.พิจารณา สำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการของ MOU พรรคร่วมรัฐบาล ต้องใช้งบฯ 6.5 แสนล้านบาท ไม่ควรให้มีภาระงบประมาณด้านสวัสดิการสัดส่วนเกินร้อยละ 20 ของจีดีพี จากประสบการณ์ของหลายประเทศทั่วโลก หากเกินสัดส่วนดังกล่าวจะเป็นขีดอันตรายของฐานะการคลัง จึงควรปรับมาเป็นสมาร์ท GOV

ยอมรับว่า ไทยยังมีความเสี่ยงปัญหาแรงงาน ในอีก 7 ปีข้างหน้า แรงงานจะขาดหายไป 11 ล้านคน หรือสัดส่วน 1 ใน 3 ของแรงงานปัจจุบัน ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาระดับแรงงานคุณภาพ หรือผลิตบัณฑิตจำนวนมาก รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น มองว่า กระทรวงแรงงานมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน และอาจสำคัญมากกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกทั้งรัฐบาลใหม่ยังต้องเร่งปฏิรูปกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และการส่งเสริมแรงงานในประเทศ สำหรับปัจจัยภายนอก มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในวันที่ 24 มิ.ย.66 ส่วนการยืดเวลาชำระหนี้พันธบัตรของสหรัฐ ที่มีแนวโน้มตกลงกันได้ในสภาคองเกรส หากเกิดความผิดพลาด ยอมรับว่าสหรัฐอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/5/2566

ดีแทคเผย ชาวเมียนมา กัมพูชา โอนเงินผ่านทรู มันนี่ เกือบ 20,000 บาทต่อเดือน

ดีแทค เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการออกใบอนุญาตทำงาน (Work permits) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ดีแทคมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็น 76% ในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายแรกในไทยที่ทำการตลาดเจาะกลุ่มผู้ใช้บริการชาวเมียนมา และกัมพูชา มายาวนานที่สุด ตั้งแต่สิงหาคม 2554 โดยยึดเอาแนวทางทำตลาดจาก Insight ที่เข้าใจความต้องการของเพื่อนๆแรงงานข้ามชาติมากที่สุด

ก้าวต่อไปจากนี้ ดีแทคมุ่งนำกลยุทธ์การตลาดที่รวมศักยภาพทรูและดีแทค เพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่เหนือกว่า (Champion Growth Beyond the Core) พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน (Digital Inclusion ) สร้างประสบการณ์ใหม่ไร้รอยต่อให้กับเพื่อนแรงงานข้ามชาติ ด้วยบริการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมียนมาและกัมพูชาตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

ส่องไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมา และกัมพูชาในไทย

ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาและกัมพูชาที่ทำงานและพักอาศัยอย่างถูกกฏหมายในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน ข้อมูลจากกรมจัดหางานในเดือนเมษายน 2566 จากการสัมภาษณ์ลูกค้าชาวเมียนมา และกัมพูชา ในปี 2562 ถึงปัจจุบัน

•    ทำงานเก็บเงินส่งกลับบ้านประมาณ 40-50% ของรายได้ จากสถิติการโอนเงินจาก True money transfer ระบุว่า ลูกค้าเมียนมาโอนเงินกลับไปให้คนที่บ้าน เฉลี่ย 18,000 บาทต่อเดือน และลูกค้ากัมพูชา เฉลี่ย 12,000 บาทต่อเดือน (ข้อมูลการโอนตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2566)

•    80% ใช้สมาร์ทโฟน ราคาประมาณ 4,000 – 6,000 บาท โทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่ 33 เป็นทั้งแหล่งความบันเทิงคลายเหงา อัปเดตข่าวสารที่เมียนมา กัมพูชา

•    ในปี 2565 แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกค้าดีแทค มีปริมาณการใช้งานดาต้า (Data) เพิ่มขึ้นรวม +39% ขณะที่การใช้งานการโทร (Voice) ลดลง -19% เมื่อเทียบกับการใช้งานในปี 2564

•    การใช้งานดาต้า 3 ประเภทที่โตขึ้นจากปีที่แล้ว

1.) โซเชียลมีเดีย โตขึ้นจาก 64% เป็น 86% และแอปยอดนิยม 5 อันดับ คือ Facebook/ YouTube/ FB messenger/ Instagram/ TikTok

2.) สตรีมมิ่ง (Live) โตขึ้นจาก 58% เป็น 87%

3.) เกม โตขึ้นจาก 39% เป็น 63%

•    ดูละครผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น อาทิ Facebook แต่ก็จะเป็นละครที่เมียนมาเป็นหลัก ชาวเมียนมาที่ดูละครไทยจะเป็นคนที่อยู่ไทยมานาน จนฟังภาษาไทยรู้เรื่อง แอปที่ใช้เยอะคือ Facebook / Facebook Messenger / YouTube / TikTok / WhatsApp / Line ไว้คุยงานกับนายจ้างคนไทย

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 29/5/2566

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย 4 ธุรกิจ รับผลกระทบหนักจากนโยบายขึ้นค่าแรง ชี้เพิ่มคุณภาพแรงงานยั่งยืนกว่า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอกชนที่ใช้แรงงานจำนวนมากให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่การจ่ายค่าตอบแทนแรงงานอิงกับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนสูง เช่น ภาคเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล ขณะที่ โจทย์ด้านแรงงานเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่จะต่อเนื่องไป แม้หลังมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ได้ในอัตราที่มากกว่า/เร็วกว่าอัตราการเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำเป็นหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนควรช่วยกันผลักดันให้เกิดการดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ตลาดแรงงานในช่วงเวลานี้และข้างหน้ามีความซับซ้อน และเป็นโจทย์เชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยหลายๆ มาตรการและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการจัดการ โดยไม่เพียงแต่การขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานพื้นฐานและแรงงานฝีมือในธุรกิจต่างๆ จะยิ่งท้าทายมากขึ้น เมื่อไทยเป็นสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ผนวกกับทักษะแรงงานที่มีอยู่ ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สอดคล้องไปกับความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปตามพลวัตทางธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการแรงงานก็คงจะต้องมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับค่าครองชีพและแข่งขันได้ในตลาด ฯลฯ  

การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยลูกจ้างให้มีความสามารถในการใช้จ่ายได้มากขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ทำให้นายจ้างมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีแนวทางจะดำเนินมาตรการนี้ ต่างกันเพียงระดับและจังหวะเวลา ดังนั้น เป็นที่คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่คงจะเดินหน้าปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบัน ที่อยู่ที่เฉลี่ยราว 337 บาท/วันทั้งประเทศ (แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน) สอดรับกับฝั่งแรงงานที่ก็คาดหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอกชนที่ใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor-intensive) ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่การจ่ายค่าตอบแทนแรงงานอิงกับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนสูง เช่น ภาคเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล เป็นต้น โดยกรณีที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มราว 30% และนายจ้างต้องปรับค่าตอบแทนแรงงานส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้อิงกับค่าแรงขั้นต่ำตามเกณฑ์ปกติ เช่น 5% ด้วย พบว่าต้นทุนแรงงานของภาคเอกชนเฉลี่ย (ณ ปลายปี 2565 มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 44% ของลูกจ้างทั้งหมด) จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 16%

ขณะที่หากแยกตามประเภทธุรกิจ ธุรกิจเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 18-28%[1] เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีสัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือนต่อลูกจ้างทั้งหมด สูงกว่าภาคเอกชนเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม ผลสุทธิต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ คงจะขึ้นอยู่กับทั้งฝั่งรายได้และต้นทุนอื่นๆ ว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นไร รวมถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัวว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ความสามารถในการสร้างรายได้และการบริหารจัดการต้นทุน การปรับราคาขายสินค้าและบริการ เป็นต้น ซึ่งแต่ละธุรกิจและแต่ละกิจการจะมีสถานะที่แตกต่างกันไปตามหน้าตักของตนเอง

ด้วยโจทย์ของตลาดแรงงานที่จะยังอยู่ แม้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ได้ในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่าอัตราการเพิ่มของต้นทุนแรงงาน จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากรัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรที่จะเข้ามาช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานนี้ รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบาง ให้สามารถข้ามผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน นอกจากนี้ ควรจะพิจารณาการสร้างกลไกหรือแรงจูงใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานอย่างต่อเนื่องในช่วงข้างหน้าด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 29/5/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net