อะไรทำให้ นักเขียนการ์ตูนการเมือง หายไปจากหน้าสื่อของฮ่องกง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการ์ตูนล้อการเมืองในฮ่องกงนั้นเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงยุคสมัยที่มีการประท้วงใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2562-2563 แต่หลังจากนั้นการ์ตูนการเมืองก็ทยอยหายไปจากหน้าสื่อฮ่องกง นักเขียนการ์ตูนการเมืองในฮ่องกงหายไปไหนกันแน่ อะไรทำให้พวกเขาหายไป


ที่มาภาพประกอบ: 黃埔體育會 Whampoa Sports Club (CC BY 2.0)

ย้อนไปในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย. 2562 ถึง ม.ค. 2563 ในช่วงที่ฮ่องกงมีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนรวมถึงมีเหตุการณ์วุ่นวายบนท้องถนน ในช่วงนั้นการ์ตูนการเมืองและวงการศิลปะมีความเบ่งบาน และในช่วงเวลานั้นเอง จัสติน หว่อง นักวิชาการและนักวาดการ์ตูนการเมืองก็ได้ทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างการ์ตูนการเมืองและภาพวาดทางการเมืองจากศิลปินมากกว่า 100 ราย เพื่อนำมาทำการวิจัย

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทางการจีนออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่บังคับใช้กับฮ่องกงเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นต่อการ์ตูนการเมืองในฮ่องกง โดยที่ในกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวระบุเอาผิดกับ "การแบ่งแยกดินแดน, การบ่อนทำลาย, การสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ และการก่อการร้าย" ตามนิยามที่ทางการจีนตีความ รวมถึงการที่รัฐบาลฮ่องกงเริ่มนำกฎหมายยุคอาณานิคมอย่างกฎหมายการยุยงปลุกปั่นกลับมาใช้ลงโทษเอาผิดคนเห็นต่างกับรัฐบาล

สิ่งที่เกิดตามมาจากการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้คือการที่การ์ตูนการเมืองในฮ่องกงลดลงอย่างมาก กลายเป็นของหายาก หลายคนเลิกเขียนการ์ตูนการเมืองเพราะว่าเสรีภาพในการแสดงออกของฮ่องกงถดถอยลง

ทางการฮ่องกงอ้างว่ากฎหมายฉบับใหม่จะช่วยให้ฮ่องกงมีเสถียรภาพมากขึ้น และอ้างว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายขั้นพื้นฐานซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรัฐธรรมนูญของฮ่องกง อย่างไรก็ตามผู้สังเกตการณ์ชี้ว่ากฎหมายความมั่นคงฮ่องกงได้ทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สื่อฮ่องกงฟรีเพรส ได้ทำการประมวลเรื่องราวเกี่ยวกับนักวาดการ์ตูนฮ่องกงที่เป็นที่รู้จัก และนำเสนอว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขากับผลงานของพวกเขาหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง

Zunzi

Wong Kei-kwan เป็นนักวาดการ์ตูนการเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในฮ่องกงที่รู้จักกันในนามปากกาว่า Zunzi เขาเคยวาดการ์ตูนเชิงเสียดสีรัฐบาลออกมาบนหน้าสื่อ Ming Pao เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 แต่เพราะการ์ตูนชุดนี้เองทำให้ Ming Pao ประกาศยกเลิกการ์ตูนทางการเมืองเมื่อกลางเดือน พ.ค. หลังจากที่ Zunzi วาดให้สื่อฉบับนี้มาเป็นเวลามากกว่า 40 ปีแล้ว

Ming Pao ประกาศยกเลิกการ์ตูนทางการเมืองหลังจากที่ทางการฮ่องกงวิพากษ์วิจารณ์งานการ์ตูนของ Zunzi รวม 6 ครั้งนับตั้งแต่ เดือน ต.ค. 2565 หลังจากที่ Ming Pao ประกาศยกเลิกการนำเสนอการ์ตูนการเมืองของ Zunzi ห้องสมุดก็ทำการถอดหนังสือของ Zunzi ออกจากชั้นด้วย

Justin Wong

Justin Wong เริ่มทำงานการ์ตูนเชิงเสียดสีให้กับ Ming Pao ในปี 2549 เขาเลิกผลิตงานการ์ตูนให้กับสื่อแห่งนี้หลังจากที่มีตำรวจร้องเรียนว่างานชิ้นหนึ่งของเขาในเดือน ก.ย. 2564 "หมิ่น" การฝึกอบรมยุวชนตำรวจ (JPC) ของฮ่องกงอีกทั้งก่อนหน้านี้ Wong ยังได้ปิดเพจเฟสบุคของตัวเองหลังจากที่สื่อสนับสนุนประชาธิปไตย แอปเปิลเดลี ปิดตัวลงในเดือน มิ.ย. ปีเดียวกัน

Wong ทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชาทัศนศิลป์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบ็ปติสต์ เขาเดินทางออกจากฮ่องกงเมื่อเดือน พ.ย. 2564 หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยแจ้งตำรวจเกี่ยวกับบทความที่เขาเขียนไว้เรื่องการประท้วงปี 2562

Ah To

นักเขียนการ์ตูนสนับสนุนประชาธิปไตยฮ่องกงอีกรายหนึ่งคือ Ah To บอกไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2565 ว่า เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องออกจากฮ่องกง เขาบอกว่าการสร้างผลงานการ์ตูนล้อการเมืองต่อไปในขณะที่ยังอยู่ในฮ่องกงนั้นจะทำให้เขา "เครียดหนัก"

งานการ์ตูนของ Ah To เคยเผยแพร่ใน Ming Pao Weekly และใน Yahoo News มาก่อน แต่ทั้งสองคอลัมน์ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อเดือน ก.ค. 2563 ไม่นานหลังจากที่ทางการจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในวันที่ 30 มิ.ย. ปีนั้น

vawongsir

ไม่ถึง 1 เดือนหลังจากที่ Ah To ประกาศจะออกจากฮ่องกง มีนักเขียนการ์ตูนการเมืองอีกคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า vawongsir ประกาศจะออกจากฮ่องกงเช่นกันเมื่อเดือน พ.ค. 2565

vawongsir เคยทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาทัศนศิลป์มาก่อน หน่วยงานด้านการศึกษาของฮ่องกงเคยเพิกถอนเขาออกจากทะเบียนรับรองการเป็นอาจารย์ vawongsir บอกว่าเขามีความกังวลในเรื่องที่ฮ่องกงมีการใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นที่มีมาตั้งแต่ฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ ในการใช้อ้างจับกุมผู้คน รวมถึงนักอรรถบำบัด (ผู้บำบัดแก้ไขการพูดให้กับผู้ป่วยที่มีความพิการหรือโรคหลอดเลือดสมอง) 5 คน ที่ถูกจับในข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" เพียงเพราะหนังสือเด็กของพวกเขาที่เกี่ยวกับแกะ

Hong Kong Worker

นักเขียนการ์ตูนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยนามปากกาว่า Hong Kong Worker ประกาศว่าจะออกจากฮ่องกงเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 เขาอ้างเหตุผลว่าเพราะมีความกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกที่ลดลงในฮ่องกง

Hong Kong Worker เริ่มทำการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานของเขาลงในโซเชียลมีเดียในปี 2563 การ์ตูนของเขาไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ยังพูดถึงเรื่องกิจกรรมชุมชนด้วย

Baak Sui Comic

นักเขียนการ์ตูนเสียดสี Brian Chan ที่เป็นที่รู้จักในนาม Baak Sui กล่าวไว้เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2564 ว่าเขาจะหยุดวาดซีรีส์ Boiling Frog (กบในน้ำเดือด) ที่ทำการวาดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี Chan บอกอีกว่าจะมีการถอดผลงานของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในเว็บไซต์ The News Lens ของไต้หวันในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาออกจากเว็บด้วย

Harry Harrison

คอลัมนิสต์การ์ตูนการเมือง Harry Harrison เริ่มวาดรูปการตูนล้อเลียนการเมืองรายวันให้กับสื่อ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ มาตั้งแต่ปี 2544 ในตอนนี้ Harrison ยังคงเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองรายเดียวที่ยังคงทำงานอยู่อย่างต่อเนื่องให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในฮ่องกง

เรียบเรียงจาก
Explainer: Where did Hong Kong’s political cartoonists go?, HKFP, 23-05-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท