Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเปิดจดหมายของแรงงานข้ามชาติที่ถูกบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย พร้อมชี้ปัญหาที่นายจ้างมักยึดเอกสารของแรงงานทำให้หนีไม่ได้จนนำไปสู่การบังคับใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายและปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐไทย

6 มิ.ย.2566 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF) เผยแพร่รายงานและจดหมายของแรงงานข้ามชาติ 4 คนที่ถูกบังคับใช้แรงงานและถูกละเมิดสิทธิจากการค้ามนุษย์ที่ยังต้องในอุตสาหกรรมประมงของไทย

เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของมูลนิธิระบุว่าการทำงานของลูกเรือประมงกลุ่มนี้คือออกทะเล 11-12 วัน ไม่เกิน 16 วัน แล้วกลับขึ้นฝั่งประมาณ 2-3 วัน เพื่อเตรียมขนปลา ทำงานส่วนใหญ่ในห้องน้ำแข็งใต้ท้องเรือ เวลาการทำงานไม่ชัดเจนและมักเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน นอกจากนั้นการกระทำของนายจ้างยังเข้าข่ายเป็นการบังคับใช้แรงงานด้วย โดยพบว่านายจ้างจะยึดเอกสารของแรงงานไว้ทำให้ลูกจ้างอยู่ในสภาวะจำยอมไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือลาออกได้

จดหมายของลูกเรือประมงทั้ง 4 คน ที่ถูกบังคับใช้แรงงานสะท้อนปัญหาที่พวกเขาต้องขาดงานมา 5-6 เดือนและเสียรายได้ที่จะใช้เลี้ยงชีพและครอบครัว หลังจากมีการดำเนินคดีกับนายจ้าง โดยพวกเขาอยากให้คดีดำเนินไปให้เร็วที่สุดเพื่อ

ทั้งนี้ในรายงานของ HRDF ระบุว่าในปี 2565-2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิแรงงานบนเรือประมง16 เรื่อง ผู้เสียหาย จำนวน 82 คน และเพ็ญพิชชายังระบุด้วยว่าแม้กรณีส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นแรงงานพม่า แต่ยังพบกรณีของแรงงานสัญชาติไทยที่ไปทำงานในเรือประมงของประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งปัญหาที่พบเช่นเรื่อง ค่าจ้างค่าแรง เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้เพราะถูกนายจ้างยึดเอกสาร การถูกทำร้ายร่างกาย เป็นต้น

นอกจากนั้นจุดเริ่มต้นของปัญหาคือเมื่อนายจ้างยึดเอกสารของแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานบนเรือประมงจนทำให้ลูกจ้างต้องอยู่ในภาวะจำยอมทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนงานใหม่หรรือหนีออกจากงานที่ไม่เป็นธรรมได้ โดยนายจ้างมักอ้างกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าลูกจ้างติดหนี้ค่าใช้จ่ายเรื่องเอกสารให้แรงงานทำให้การทำงานเป็นการทำงานขัดหนี้ โดยทาง HRDF ทราบจากแรงงานข้ามชาติว่าค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาท/คน

“บางทีนายจ้างมักจะอ้างว่าการเก็บหรือยึดเอกสารแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เพราะกลัวว่าแรงงานจะทำหาย ลักษณะการทำงานประมงทำให้เขาไม่สามารถเก็บเอกสารของตัวเองได้ แต่พอเป็นประเด็นเรื่องเอกสารการดำเนินการทางกฎหมายก็มีปัญหาเพราะไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการตีความระหว่าง การ เก็บ และ ยึด” เพ็ญพิชชากล่าว

ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านค้ามนุษย์ยังระบุอีกว่า การจ่ายเงินค่าแรงให้กับลูกจ้าง นายจ้างยังใช้วิธีจ่ายเป็นเงินสดแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ต้องโอนเงินเข้าบัญชีของลูกจ้าง แต่นายจ้างก็ยังใช้วิธียึดบัตรเอทีเอ็มของลูกจ้างไว้แล้วกดเป็นเงินสดมาให้ทำให้นายจ้างมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่

เพ็ญพิชชากล่าวว่าแม้แนวโน้มจำนวนคดีค้ามนุษยช์จะลดลง แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากรัฐมีมาตรการที่ดีขึ้น หรือในทางกลับกันอาจเกิดจากปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายก็ได้

“ภาคประชาสังคมกลับได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น สถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับการยึดเอกสารประจำตัวแรงงาน โดยกรมการจัดหางานก็มีเพียง 1 - 2 กรณี ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาร้องเรียนต่อภาคประชาสังคมจำนวนมากจากหลายหลายพื้นที่” ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านค้ามนุษย์ระบุ

เพ็ญพิชชายกรายงานรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2022 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ชี้ว่าระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการบังคับใช้แรงงานของไทยยังคงมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบกรณีละเมิดแรงงานที่อาจเชื่อมโยงสู่การบังคับใช้แรงงาน และการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อตัวชี้วัดเรื่องการบังคับใช้แรงงาน ก็เป็นปัญหาหลักที่รายงานฉบับดังกล่าวระบุ ซึ่งกรณีที่เราพบบ่อยคือ ปัญหาการตีความกฎหมายเรื่อง การยึดหรือเก็บเอกสารประจำตัว ลักษณะการข่มขู่หรือขู่เข็ญให้ทำงาน การทำงานขัดหนี้หรือชดใช้หนี้ที่ไม่โปร่งใส การโกงค่าจ้างและการหักค่าจ้างโดยไม่ชอบ ความอิสระในการเปลี่ยนย้ายงาน และความสมัครใจในการทำงานหรือจำยอมต้องทำ

“ความเข้าใจผิดที่มักจะพบเวลาพูดเรื่องแรงงานบังคับคือ มักจะถูกมองว่าต้องเข้าเรื่องค้ามนุษย์ก่อนถึงจะเป็นแรงงานบังคับได้ หรือ ต้องเกิดแรงงานบังคับก่อนถึงจะมีเรื่องค้ามนุษย์ได้ ทั้งที่ความจริงควรแยกพิจารณาเป็นคนละเรื่องกัน การที่ความผิดฐานบังคับใช้แรงงานถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่ง หรือ เป็นความผิดฐานหนึ่งในกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผลที่เกิดขึ้นคือ ในหลายกรณี แม้ว่าจะพบองค์ประกอบที่เข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตีความว่าไม่เข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ ความผิดฐานบังคับใช้แรงงานก็มักจะตกไปด้วย” เพ็ญพิชชากล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net