Skip to main content
sharethis

เปิดเหตุผลการอารยะขัดขืนครั้งล่าสุดของ หยก เยาวชนอายุ 15 ปี หันหลังให้บัลลังก์ผู้พิพากษาเพื่อปฏิเสธอำนาจศาลไม่ยื่นขอประกันตัวจากการถูกจับกุมที่ไม่เป็นธรรมในคดีมาตรา 112 เผยปรับวิธีการจากกรณีทนายประเวศ ยืนยันพร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแม้อาจไม่ได้รับการประกันตัว 

วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันเปิดภาคการศึกษาวันแรกของโรงเรียนมัธยมหลายแห่งในประเทศไทย แต่กลับมีนักเรียนคนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าไปนั่งเรียนหรือใช้ชีวิตวัยมัธยมกับเพื่อนได้เช่นปกติ เพราะกำลังถูกขังอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี

ป้ายรณรงค์สิทธิของหยก

หยก หรือ ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุม “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” ที่บริเวณเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมการรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้ป้ายผ้าและการเขียนข้อความ  ซึ่งขณะนั้นหยกมีอายุเพียง 14 ปี 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หยกถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 หลังติดตามบังเอิญ (นามสมมติ) ศิลปินอิสระอายุ 25 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุพ่นสีข้อความบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ไปที่ สน. พระราชวัง โดยการจับกุมหยกตอนแรกเจ้าหน้าที่ยังไม่ระบุสาเหตุการจับกุม แต่ต่อมาได้อ้างหมายจับในคดีมาตรา 112 ที่ออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงวันที่ 28 ก.พ. 2566 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ หยกได้มอบหมายให้ทนายความทำหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 9 เม.ย. 2566 เนื่องจากอยู่ระหว่างการเตรียมสอบจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยได้ส่งหนังสือให้กับพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไปร้องขอศาลเยาวชนฯ ให้ออกหมายจับ

หยกปฏิเสธการลงนามในเอกสารและการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมคือ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” และถูกนำตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุมในวันที่ 29 มี.ค. 2566 หยกได้เลือกนั่งหันหลังให้บัลลังก์ของคณะผู้พิพากษาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าต้องการปฏิเสธอำนาจและกระบวนการยุติธรรม โดยเธอปฏิเสธกระบวนการทั้งหมดและไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่ถูกกล่าวหาข้อหามาตรา 112 นี้

เมื่อประชาชนไม่สามารถเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 ถึงปัจจุบัน (15 พ.ค. 2566) มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 244 คน ใน 264 คดี

จากการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีและประชาชนหลายคนเกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการดังกล่าวว่ามีความโปร่งใสและเป็นธรรมจริงหรือไม่ โดยเฉพาะกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 

ความไม่เที่ยงตรงของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นนำไปสู่การประท้วงในเรือนจำของผู้ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่การอดอาหารของ เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) การถอนประกันตัวเองของตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมอิสระ) และแบม (อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมอิสระ) การอดนอนประท้วงของเก็ท (โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ) กระทั่ง ‘หยก’ เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ปฏิเสธอำนาจศาลจากการจับกุมที่ไม่ชอบธรรม 

การปฏิเสธอำนาจและกระบวนการยุติธรรม: กรณีศึกษาจากทนายประเวศ-เพนกวิน

ประเวศ ประภานุกูลกิจ (ที่มาภาพ: Facebook Banrasdr Photo)

ย้อนกลับไปช่วงปี 2560 ประเวศ ประภานุกูลกิจ เป็นทนายความที่ตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้ข้อหาตามมาตรา 112 ศาลจะให้ยกฟ้องโดยไม่ได้ระบุเหตุผล แต่ด้วยความผิดในข้อหาอื่นทำให้เขาถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำรวม 14 เดือน

“โดยที่ศาลไทยไร้ความชอบธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงขอประกาศไม่ยอมรับกระบวนพิจารณาคดีนี้ของศาลไทยโดยศาลอาญา และข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีนี้ โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายความเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล”

ข้อความข้างต้นมาจากแถลงการณ์ของทนายประเวศเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2560 เป็นการแถลงเพื่อยืนยันในการไม่ยอมรับกระบวนการใด ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างถูกดำเนินคดีหรือเรียกว่า การปฏิเสธอำนาจศาล ซึ่งมีความเสี่ยง คือ ผู้ที่เลือกใช้วิธีนี้ในการต่อสู้อาจไม่ได้รับแม้แต่การประกันตัว

แน่นอนว่าทนายประเวศรู้ถึงความเสี่ยงนั้นแต่เขาก็ยังเลือกใช้เครื่องมือนี้เนื่องจากเขาเคยเป็นทนายให้กับ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) เมื่อปี 2551 และได้พบกับประสบการณ์ที่เปลี่ยนมุมมองของเขาต่อกระบวนการยุติธรรมโดยสิ้นเชิง และต้องการชี้ให้สังคมเห็นถึงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของศาลในการดำเนินคดีเพราะรู้ว่าการสู้ในระบบยุติธรรมดังกล่าวสู้อย่างไรก็แพ้  

ขณะที่ 18 เม.ย. 64 เพนกวินได้เขียนคำร้องต่อศาลเรื่องขอถอนทนายความในคดีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ14พฤศจิกา แต่ศาลไม่ได้อนุญาตให้ถอน ทนายจึงทําหน้าที่ว่าความต่อไปโดยคำร้องที่เพนกวินเขียนมีข้อความว่า

“เนื่องด้วยข้าพเจ้ายังมิต้องคำพิพากษาให้มีความผิดสถานใดถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แต่ศาลกลับด่วนคุมขังข้าพเจ้าไว้ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นผลให้ข้าพเจ้าไม่อาจสู้คดีได้อย่างเต็มที่ กระบวนการที่ดำเนินในกระบวนการนี้จึงไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองเหมือนกับศาลในระบอบนาซีเยอรมัน ข้าพเจ้าจึงขอถอนทนายและไม่ยอมรับกระบวนการในคดีนี้จนกว่าข้าพเจ้าจะได้รับสิทธิในการประกันตัวให้สู้คดีอย่างเต็มที่” 

หากพิจารณาจุดร่วมของการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมจากจำเลยคดีทางการเมืองทั้งสองจะพบว่าสาเหตุของการต่อสู้ดังกล่าวมาจากการที่พวกเขาไม่เชื่อว่าการดำเนินคดีเหล่านั้นจะเป็นไปตามหลักยุติธรรม ทั้งจากประสบการณ์ที่เคยว่าความให้กับคดีการเมืองของทนายประเวศหรือการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวของเพนกวิน

วิธีการในการปฏิเสธอำนาจศาลของเพนกวิน คือ การเขียนคำร้องขอถอนทนายความในคดีแต่ศาลไม่รับคำร้องทำให้การใช้เครื่องมือดังกล่าวไม่เป็นผลในคดี #ม็อบ14พฤศจิกา ส่วนการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของหยกจะมีความคล้ายคลึงกับของทนายประเวศ คือ ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือหรือไม่ให้การร่วมมือในชั้นสอบสวน ไม่แต่งทนายความเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย และไม่ลงชื่อในเอกสารใด ๆ ของศาล

กระบวนการยุติธรรมที่ผู้ถูกดำเนินคดีรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม

“เราไม่เอาอำนาจของศาล เพราะมองว่าศาลไม่มีความเป็นกลางหรือเป็นธรรมในการพิจารณาคดีอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะความเป็นกลางระหว่างคู่กรณีหรือผู้เสียหายแห่งคดี” 

ประโยคข้างต้นเป็นการยืนยันความคิดของหยกที่มีต่อการปฏิเสธอำนาจศาล หยกเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าตนเองเคยรับรู้เรื่องการปฏิเสธอำนาจศาลจากกรณีของทนายประเวศผ่านการรับชมรายการไฟเย็นและรู้สึกว่าเป็นวิธีการต่อสู้ที่น่าสนใจ

นอกจากนั้น หยกยังได้ติดต่อกับทนายประเวศหลังจากถูกจับกุมเพื่อปรึกษาวิธีการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ด้านทนายประเวศได้อธิบายถึงหลักการพร้อมยืนยันให้ประกันตัวเองออกไปก่อน โดยบอกว่าการประกันตัวก็ถือเป็นการปฏิเสธอำนาจศาลอีกรูปแบบหนึ่ง 

“ให้ลองคิดว่าคุณได้เอาอนาคตของคุณไปวางไว้แล้ว ขอเลื่อนแล้ว แต่คุณกลับถูกตลบหลังโดยการที่เขาออกหมายจับทั้งที่ไปขอเลื่อนด้วยอนาคตที่คุณจะไปรายงานตัวกับโรงเรียนในวันที่ 2 เม.ย. 66 คุณมีสอบปลายภาค แต่เขากลับออกหมายจับลับหลังเรา มีการจับกุมจากแค่เราไปไลฟ์สด เราถูกดึงและลากไป ไม่มีอะไรถูกต้องเลย”

หยกกล่าวว่า ตนเองรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมตั้งแต่การจับกุมทั้งที่ไม่มีสาเหตุให้ต้องจับกุม เพราะตนเพียงไปไลฟ์สดบริเวณที่มีคนพ่นสีกำแพงวังแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาลากตัวไป ทำให้รู้สึกว่ากำลังถูกจับกุมแบบไม่ถูกต้องและเป็นการจับกุมแบบไร้สิทธิมนุษยชน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ให้ทนายทำหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้วพร้อมระบุเหตุผลว่าอยู่ในช่วงสอบ ทั้งขณะที่ถูกลากตัวนั้นก็ไม่มีใครทราบเลยว่าหยกถูกจับกุม แม้พยายามติดต่อทนายก็ถูกแย่งอุปกรณ์การสื่อสารไป

อีกสาเหตุที่ทำให้หยกตัดสินใจไม่ยื่นขอประกันตัว คือ ขณะที่กำลังนั่งหันหลังให้ศาลและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวได้ หยกเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงต้องไปขอการประกันจากศาล ทั้งที่ศาลสามารถปล่อยตัวหยกได้เลยโดยไม่ต้องร้องขอ วินาทีนั้นเธอจึงตัดสินใจปฏิเสธอำนาจดังกล่าวเพราะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมปรับวิธีการจากทนายประเวศเป็นแบบของตัวเอง คือ การไม่ยื่นขอประกันตัวอีกเลย

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีของหยกว่าการที่หยกตัดสินใจไม่ยื่นขอประกันตัวต่อศาลเป็นการแสดงอารยะขัดขืนต่อกระบวนการยุติธรรมโดยใช้ชีวิตและช่วงวัยเยาว์ของตนเองเข้าแลก เพื่อให้สังคมเห็นถึงความบิดเบี้ยวของการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดกับหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ กล่าวคือศาลมักมีธงในใจอยู่แล้วว่าผู้ละเมิดกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นมีความผิด

จากทนายประเวศถึงหยกสะท้อนการต่อสู้กับระบบด้วยร่างกาย ชีวิต สิทธิและเสรีภาพ 

ภาพหยกนั่งหันหลังให้ผู้พิพากษาบนบัลลังก์เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าปฏิเสธอำนาจศาล วันที่ 29 เม.ย. 66

“หลายคนอาจคิดว่าผมยุยงแต่มันไม่ใช่.. หยกทำหลายอย่างล้ำไปจากผมมาก การหันหลังให้ศาลในห้องพิจารณาคดีก็เป็นสิ่งที่ผมคิดไม่ถึง เรื่องการประกันตัวผมก็อยากให้หยกยื่นประกันตัวเพราะมองว่ามันก็ไม่ได้เสียหาย…” ทนายประเวศกล่าว

เขารู้สึกว่าการที่หยกตัดสินใจใช้วิธีปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายเพราะส่วนตัวเคยขายไอเดียนี้ให้นักกิจกรรมคนอื่น ๆ แต่ก็ไม่มีใครนำไปใช้ ขณะที่ตนเองถูกดำเนินคดีก็ไม่ได้ดันเพดานการต่อสู้เท่าหยก

เสกสิทธิ์อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการต่อสู้ของทนายประเวศสู่หยกว่าเป็นเรื่องปกติที่วิธีการประท้วงของคนหนึ่งจะถ่ายทอดไปสู่อีกคน เพราะโดยธรรมชาติวิธีการประท้วงมักไม่ได้ถูกใช้แค่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะเกิดการแพร่กระจายยุทธวิธีและถอดบทเรียนสู่ผู้อื่นผ่านการรับรู้หรือการมีปฏิสัมพันธ์

แน่นอนว่าการปฏิเสธอำนาจศาลรูปแบบของทนายประเวศถูกรับรู้โดยหยก เธอจึงเลือกตีความและดัดแปลงรูปแบบให้เข้ากับโอกาสและสถานการณ์ของตนเอง เสกสิทธิ์มองว่าเงื่อนไขสำคัญของการนำยุทธวิธีเก่ามาใช้ใหม่นั้นมีเงื่อนไขสำคัญอยู่สองอย่าง คือ การพิจารณาว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้แล้วได้ผลและสภาวะตึงเครียดทางการเมืองขณะนั้น

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ ประเทศไทยได้ตกอยู่ในสภาวะที่รัฐใช้อำนาจตุลาการมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 ที่มีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 การไม่ให้สิทธิในการประกันตัวหรือการจับกุมอย่างไม่ชอบธรรมหลายครั้งทำให้นักกิจกรรมส่วนใหญ่รู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมในกระบวนการดังกล่าวและทำให้เกิดการประท้วงด้วยการทรมานตนเองหลายครั้ง เช่น การยื่นขอถอนประกันตนเอง การอดอาหาร การอดนอน เป็นต้น

“ระบบยุติธรรมเช่นนี้บีบคั้นให้นักเคลื่อนไหวจำนวนมากเลือกใช้วิธีการสุดโต่งมาง้างกับระบบ ยิ่งมีความบีบคั้นมากก็ยิ่งต้องดึงเครื่องมือที่ตนมีอยู่มาใช้ให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่านักเคลื่อนไหวเหล่านี้มีทรัพยากรไม่มาก นอกจากร่างกาย ชีวิต สิทธิและเสรีภาพ พวกเขาไม่มีอาวุธหรืออุปกรณ์ใด ๆ ในการต่อสู้กับอำนาจเหล่านี้” เสกสิทธิ์กล่าว

นักกิจกรรมรณรงค์สิทธิของหยก ที่ลานสยามสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 2 เม.ย.66 (ภาพโดย แมวส้ม )

กระบวนการยุติธรรมในรัฐบาลใหม่กับการจัดการกับคดีทางการเมือง

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่มีเยาวชนอายุเพียง 15 ปี ใช้วิธีการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงการไม่ยื่นขอประกันตัวทำให้ถูกคุมขังในบ้านปราณีกว่า 51 วัน กระทั่งศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวในวันที่ 18 พ.ค. 2566 ทำให้เกิดความสงสัยว่าท่าทีในการปฏิบัติงานของศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจะทำให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรู้สึกได้รับความเป็นธรรมขึ้นบ้างหรือไม่

“ไม่มีหรอกครับ เพราะระบบเหล่านี้ถูกปลูกฝังมานานผ่านระบบการศึกษาอะไรทั้งหลาย พูดง่าย ๆ จะสอบเข้าให้ได้ต้องล้างสมองตัวเองให้คิดแบบเขาและตอบข้อสอบแบบเขา” ทนายประเวศกล่าวพร้อมหัวเราะออกมาเล็กน้อย

อาจเพราะที่ผ่านมาเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาจนกลายเป็นทนายและจำเลยเสียเอง เขาจึงให้ความเห็นว่าระบบตุลาการนั้นไม่ต่างจากเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ คือ มีการควบคุมตั้งแต่ผู้มีอำนาจสูงสุดมาจนถึงผู้อยู่ข้างล่างสุด

นอกจากนั้น ทนายประเวศยังรู้สึกว่าศาลไทยมีความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจมากกว่าการยึดหลักกฎหมาย โดยยกตัวอย่างเหตุการหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของคณะราษฎรที่ศาลตัดสินให้ยึดทรัพย์สินของร. 7 หรือผู้มีเชื้อสายเจ้าเดิม แต่เมื่อขั้วการเมืองพลิกผันและสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีอำนาจ ศาลกลับไม่กล้างัดข้อและยอมเป็นเครื่องมือให้ใช้ในการจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

ขณะที่เสกสิทธิ์มองว่าการตัดสินใจของหยกและการประท้วงกระบวนการยุติธรรมด้วยวิธีทรมานตนอื่น ๆ ช่วยกระทุ้งมโนสำนึกของตัวแสดงในระบบตุลาการ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่บริเวณแกนใจกลางของอำนาจตุลาการ เช่น ศาลในต่างจังหวัด หรือเหล่าอดีตผู้พิพากษา นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ที่มักแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ถูกกดขี่และร่วมกดดันหน่วยงานที่ตนเคยข้องเกี่ยว  ซึ่งเสกสิทธิ์คาดว่าแรงกระทุ้งเหล่านี้จะส่งผลต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในอนาคต

“หนูไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถจัดการอะไรได้มั้ยเพราะมันไม่แน่ใจเรื่องโครงสร้างระหว่างอำนาจของรัฐบาลกับอำนาจศาล ไม่รู้ว่าเขาจัดการกันยังไง หรือบางทีศาลก็อยู่ภายใต้อำนาจของคู่กรณีนั่นแหละ” หยกตอบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net