คณะทำงานด้าน สธ. เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุข 'ลดการลาออก-ลดภาระงาน-เพิ่มคนทำงาน'

  • คณะทำงาน สธ. รัฐบาลประชาธิปไตย เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาภาระงานคนทำงานสาธารณสุข 'ลดลาออก ลดภาระงาน และเพิ่มบุคลากร'
  • สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน โพสต์ผิดหวังการแถลงของ สธ. ไม่มีความชัดเจนเรื่องปัญหาความขาดแคลนบุคลากร ละเลยการพูดถึงปัญหาอื่นๆ อย่างวัฒนธรรมในองค์กร ความโปร่งใสด้านการจัดสรรภาระงาน ฝากเป็นบทเรียนถึง รมว.สธ.คนต่อไป

จากกรณีเมื่อ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา 'ปุยเมฆ' พญ.นภสร วีระยุทธวิไล นักแสดงดีกรีแพทย์ วัย 26 ปี โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย 'ทวิตเตอร์' เผยสาเหตุที่ลาออกจากการทำงานระบบโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากภาระงานที่ล้นเกิน จนไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่ตาย แต่เสียทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ต่อมา โพสต์ดังกล่าวจุดกระแสการวิจารณ์ระบบสาธารณสุข และตั้งคำถามด้วยว่าเหตุใดยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้จะมีการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2565 

อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีสื่อรายงานว่า ปุยเมฆ ได้ลบโพสต์ทวิตเตอร์ดังกล่าวแล้ว เนื่องจากไม่ต้องการให้เรื่องส่งผลกระทบต่อผู้อื่น

7 มิ.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก 'พรรคก้าวไกล' โพสต์ข้อความวันนี้ (7 มิ.ย.) ‘เก่ง’ วาโย อัศวรุ่งเรือง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอแนวทางแก้ปัญหาลดภาะงานบุคลากรทางการแพทย์ คณะทำงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Team) โดยมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธานคณะทำงาน ได้ตั้งคณะทำงานด้านสาธารณสุข ซึ่งจะมุ่งเน้นภาระการทำงานที่มากเกินไปของบุคลากรทางการแพทย์เป็นวาระเร่งด่วน

คณะทำงานด้านสาธารณสุขของพรรคก้าวไกลเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบ โดยต้นตอที่สำคัญ ได้แก่ ข้อจำกัดของบุคลากรและงบประมาณ การเพิ่มการผลิตแพทย์หรือบุคลากรเพียงอย่างเดียว แต่ไม่อุดรอยรั่ว และไม่สามารถขจัดปัญหาได้

การลดภาระงาน การกระจายปริมาณและสถานที่ของงาน รวมไปถึงการเพิ่มตัวช่วยอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานนั้นมีความจำเป็น นอกจากนี้ การส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้แข็งแรง ลดความแออัดที่สถานพยาบาลนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำไปควบคู่กัน คณะทำงานฯ จึงมีวาระต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปผลักดัน ได้แก่

ลดการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์

ตั้งเป้าหมายลดชั่วโมงการทำงานและเพิ่มชั่วโมงการพักผ่อนให้เหมาะสม พรรคก้าวไกลเห็นว่า ชั่วโมงการทำงานแพทย์อย่างแย่ที่สุดไม่ควรเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ พยาบาลไม่ควรเกิน 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ และต้องมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยหากทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง หรือทำงานในกะดึก (0.00-8.00 น.) จะต้องได้พักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนที่จะกลับมาเริ่มทำงานกะต่อไป

ทบทวนค่าตอบแทนใหม่อย่างเป็นธรรม เนื่องจากอัตราค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลากว่า 4 ปี มีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่มต้องการให้มีการปรับเพิ่มขึ้นโดยไม่น้อยไปกว่าอัตราเงินเฟ้อ และสำหรับบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่ม เช่น บุคลากรในห้องฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลา 8 ชั่วโมง ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน สมควรมีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสม โดยค่าตอบแทนต้องวางเกณฑ์ที่คำนึงถึงหลัก “ทำมากได้มาก” ค่าตอบแทนแปรผันตามปริมาณงาน

แก้ไขระเบียบบางอย่างเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน เช่น ระเบียบเครื่องแต่งกาย ที่อนุญาตให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถใส่ชุดสครับในการทำงาน

สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ การเปิดช่องทางร้องเรียนของบุคลากรทางการแพทย์ต่อผู้บริหาร ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ดีของบ้านพักบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์

เพิ่มการทำงานเชิงป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ทำให้คนไทยสุขภาพดี ลดจำนวนการเข้าโรงพยาบาล ด้วยการยกระดับสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีฟรีโดยมีค่าเดินทางให้, ยกระดับสิทธิวัคซีน, ยกระดับการตรวจหามะเร็งสำหรับกลุ่มเสี่ยง, การจัดทำฐานคะแนนสุขภาพโดยมีแรงจูงใจ (Personal Health Scoring) และการพัฒนาอบรม อสม. ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผ่านการฝึกอบรมและให้ได้รับมาตรฐาน เพื่อช่วยปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของระบบสุขภาพในชุมชน และลดภาระงานของแพทย์

กระจายผู้ป่วยในด้านปริมาณและสถานที่ ไม่ให้แออัดที่โรงพยาบาล โดยการ

- ยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้ง Telemedicine และ Telephamarcy เพื่อให้บริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานและทำการจ่ายยาที่สถานบริการใกล้บ้านได้ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs)

- พัฒนาศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยระยะประคับประคองที่ติดเตียงสามารถกลับไปอยู่ใกล้บ้านของตัวเองมากขึ้น ลดความแออัดที่โรงพยาบาล

กระจายผู้ป่วยด้านเวลาให้บริการ ด้วยการให้ใช้ระบบ Telemedicine คัดกรองผู้ป่วย และ Smart Queing เพื่อจัดคิวผู้ป่วยในช่วงเวลาต่าง ๆ และสงวนห้องฉุกเฉิน (ER) ไว้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่แท้จริง

ลดภาระงานเอกสาร ปรับฐานข้อมูลดิจิทัล ปรับระบบข้อมูลส่วนหนึ่งจาก Intranet เป็น Internet เพื่อให้โรงพยาบาลปลายทางสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วยและทำการส่งตัวได้โดยสะดวก ร่วมกับ

ศูนย์บริหารจัดการเตียงกลาง (Central Referal Center) สงวนเตียงจำนวนหนึ่งจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อเข้าศูนย์บริหารจัดการ ทำให้การส่งตัวผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลมีความสะดวกมากขึ้น

เพิ่มการผลิตบุคลากรทางการแพทย์จากทั้งภาครัฐและเอกชน

ต่อยอดการผลิตและส่งเสริมให้เพิ่มขึ้น เน้นสนับสนุนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) สนับสนุนสถาบันการผลิตแพทย์เพิ่มจากฝั่งเอกชน แต่เพิ่มการควบคุมมาตรฐานให้รัดกุมสูงขึ้น

เลิกเป่าลมลงในถุงก้นรั่ว แต่อุดรูรั่วด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมในการทำงาน มีกำลังกายและกำลังใจที่ดีในการทำงาน ย่อมส่งผลต่อผลิตภาพและคุณภาพในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน แถลงผิดหวัง สธ.ชี้แจงขาดความชัดเจน ละเลยปัญหาอื่นๆ

ในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก "สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน" โพสต์ข้อความ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่มีแพทย์ลาออกจาก สธ. ที่กำลังเป็นประเด็นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 

แถลงการณ์ได้สหภาพฯ ขอบคุณทางกระทรวงสาธาณสุขแถลงต่อสาธารณชนวานนี้ (6 มิ.ย. 2566) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขปัจจุบัน การสูญเสียแพทย์ออกจากระบบ และภาระงานที่ล้นเกินศักยภาพ ทั้งจำนวนชั่วโมงการทำงานที่สูงถึง 100 ชม.ต่อสัปดาห์ รวมถึงค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทาง สธ.ได้ยอมรับถึงปัญหา และข้อจำกัดดังกล่าว  

อย่างไรก็ตาม สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุในแถลงการณ์้ต่อว่า ปัญหาการทำงานต่อเนื่องจนเกิน 80 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากทำให้ประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยลดลงแล้ว ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐมองเข้าความสำคัญมาโดยตลอด จนกลายเป็นปัญหาฝังรากลึกในระบบมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ การแถลงของ สธ. เมื่อ 6 มิ.ย. 2566 ถึงข้อจำกัดและปัญหายังขาดความชัดเจน และเมินเฉยที่จะพูดถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น วัฒนธรรมในองค์กร การแก้ไขปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรภาระงาน หรือการเพิ่มการเข้าถึงการบริการสุขภาพในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้พยายามเชิญรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าร่วมการประชุมและหาทางออกร่วมกันจากหลายภาคส่วน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมาแต่อย่างใด จนถึงวันนี้พวกเราแพทย์กลับได้คำตอบเพียงว่า ปัญหาเหล่านั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของกระทรวงที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องค่าตอบแทนและตำแหน่งเพิ่มเติมที่เหมาะสมให้กับแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในฐานะผู้บริหารระบบสาธารณสุขของประเทศ

ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ขอยืนหยัดเคียงข้างแพทย์ผุ้ปฏิบัติงานทุกท่าน ไม่ว่ากี่รัฐบาลจะเปลี่ยนผ่าน เราจะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกว่าวิชาชีพของพวกเรา จะสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้โดยปราศจากความกังวลและแรงกดดันจากการทำงานที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนถัดไป จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับกฏเกณฑ์ที่ขัดขวางการพัฒนาวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขไทย โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง หยุดเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วย คืนความเป็นมนุษย์ให้แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท