[Live] คุยกับศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ว่าด้วย 5 ก้าวต่อไปหลัง #เลือกตั้ง66

บันทึกถ่ายทอดสดการสนทนากับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ เพื่อประเมินแนวโน้มความเป็นไปได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการหลังเลือกตั้งทั่วไป และความพยายามจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อประชาชนโดยการนำของพรรคก้าวไกล รวมทั้งการประกาศข้อตกลงร่วมหรือ MOU ดันวาระ 23 ข้อ หนทางอุปสรรค์ ปัจจัยคุกคามต่างๆ พร้อมทั้งข้อวิพากษ์ภาษีความมั่งคั่ง และ capital gain tax รวมถึงประเด็นล่าสุดอย่างเรื่องสัญลักษณ์ค้อนเคียวที่ กกต.เรียกสอบ 

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ถึงข้อเสนอ 5 ประการเพื่อการกดดันต่อพรรคการเมืองในการสร้างรัฐสวัสดิการหลังการเลือกตั้งนั้นว่า เป็นการย้ำนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้หาเสียงไว้ที่ทุกคนพูดกันจริงจังว่าเรื่องรัฐสวัสดิการเปป็นเรื่องสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่ตนพูดไม่ใช่การกดดัน แต่เป็นการย้ำจากสิ่งที่พรรคการเมืองเองพูด

"ผมไม่อยากเห็นภาพประมาณว่ารัฐบาลที่ประชาชนมีความหวังมาก แต่ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องที่ดูเหมือนสำคัญกับประชาชนถูกพับเก็บเพื่อที่ว่าจะสามารถไปคุยเรื่องอื่นที่ฟังดูง่ายไม่มีใครเสียประโยชน์กัน เช่น เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องลดภาษีกระตุ้นการลงทุน หรือว่านำเข้าส่งออก โควต้าอะไรต่างๆ ผมไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็น priority หลัก"  ษัษฐรัมย์

ทั้งนี้ ษัษฐรัมย์ เสนอแนวทาง 5 ประการเพื่อการกดดันต่อพรรคการเมืองในการสร้างรัฐสวัสดิการหลังการเลือกตั้ง ประกอบด้วย (1) นโยบายบำนาญถ้วนหน้า (รูปธรรมคือการให้เงินบำนาญขั้นต่ำประมาณ 3,000 บาท แก่ทุกคนที่มีอายุเกิน 60 ปี) (2) นโยบายการยกระดับการศึกษาระดับสูงให้เป็นการสนับสนุนโดยรัฐ (แก้ปัญหาหนี้กู้ยืมยิมเพื่อการศึกษาและโอกาสในการยกระดับฐานะของชนชั้นกลางในพื้นที่ต่างจังหวัด การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสิทธิพื้นฐาน) (3) นโยบายด้านคนทำงานที่เพิ่มอำนาจของคนวัยทำงาน (ค่าแรง การเลือกปฏิบัติ สวัสดิการและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในที่ทำงาน การประกันสังคมถ้วนหน้าที่จะดึงผู้คนให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน) และ (4) นโยบายด้านการรวมตัว (การส่งเสริมการรวมตัวตั้งแต่ในสถานประกอบการ รวมถึงปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ที่กีดขวางการรวมตัว จะเป็นประตูสำคัญสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ)

รวมทั้งการป้องกันการ “ดีล” ใต้โต๊ะ ของชนชั้นนำที่มักเกิดขึ้นเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุด โดยลดประเด็น (นโยบาย) แหลมคมที่ประชาชนคาดหวังด้วยโยบายอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลและควบคุมการประนีประนอมของชนชั้นนำอย่างเข้มงวดเพื่อการสร้างสถานภาพอย่างเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม

ชี้ 'ก้าวไกล' เป็นพรรคของชนชั้นแรงงาน และรัฐสวัสดิการจะเป็นความปกติใหม่

นอกจากนี้ ษัษฐรัมย์ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งกับปรากฏการณ์พรรคก้าวไกลว่า พื้นที่ที่พรรคก้าวไกลได้เป็นว่าที่ ส.ส.เขต เป็นพื้นที่ที่สัดส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 พื้นที่ที่มีผู้ใช้แรงงานเยอะก็จะเป็นพื้นที่พรรคส้มชนะ เป็นสัดส่วนที่มีสถานประกอบการหรือมีระดับความเป็นอุตสาหกรรมมีระดับความเป็นทุนนิยมสูงก็เป็นพื้นที่ของพรรคก้าวไกล

"พรรคก้าวไกลเป็นพรรคของผู้ใช้แรงงาน เป็นพรรคของชนชั้นแรงงานไม่ว่าตัวพรรคจะตั้งใจหรือไม่ แต่ภาพออกมาเป็นแบบนี้ และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยว่านับจากนี้ไปคำว่า รัฐสวัสดิการ จะเป็น New Normal ของสังคมไทยแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องจินตนาการเพ้อฝันไม่ใช่เรื่องของนักอุดมคติด้วยซ้ำ" ษัษฐรัมย์ กล่าว และระบุด้วยว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคของชนชั้นกลางหรือว่าไม่ได้เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่เพราะพื้นที่ที่ชนะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีเด็กเยอะอย่างมีนัยสำคัญ

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า คำว่ารัฐสวัสดิการจะเหมือนกับคำว่าประชาธิปไตย คนเท่ากัน สิทธิมนุษยชน นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่รัฐสวัสดิการเป็นความปกติใหม่จะสำเร็จหรือไม่อีกเรื่องแต่เป็นความปกติใหม่ของสังคมแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท