Skip to main content
sharethis

'24 มิถุนาฯ' ยื่นหนังสือถึง กกต. จี้ให้รับรองผลการเลือกตั้ง ให้เวลาภายใน 20 มิ.ย. 66 เชื่อไม่มีเหตุให้รอประกาศวันสุดท้าย 13 ก.ค. 66 และ กกต.ต้องไม่รับคำร้องเรียน ปม 'พิธา' ถือหุ้นสื่อ ITV เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ได้ทำสื่อนานแล้ว 

 

8 มิ.ย. 2566 สื่อ Voice TV ถ่ายทอดสดติดตามการทำกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมการเมือง และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำโดย ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อให้มีการรับรองผลการเลือกตั้งปี 2566 ภายในวันที่ 20 มิ.ย. 2566 จากกำหนดการเดิมคือ 13 ก.ค.นี้ หรือ 2 เดือนหลังการเลือกตั้ง

ธนพร กล่าวก่อนการยื่นหนังสือวันนี้ว่า กลุ่มนักกิจกรรมได้มีการยื่นหนังสือถึง กกต. อย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพื่อจับตาดูการทำงานของ กกต. โดยครั้งนี้กลุ่มมายื่นหนังสือเนื่องจาก กกต.ไม่ได้ทำหน้าที่บทบาทที่ควรคือการรับรองผลการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ กกต.ทำคือการรับเรื่องร้องเรียน เพื่อสกัดกั้นรัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตย

"วันนี้เราให้เวลามาพอสมควรแล้ว และคิดว่าภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ กกต.จะต้องมีการประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ และเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลและการเปิดประชุมการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย" ธนพร กล่าว

ธนพร วิจันทร์

ไม่มีเหตุผลให้รับรองผลช้า

สมยศ หนึ่งในแกนนำที่มายื่นหนังสือวันนี้ ระบุว่าต้องการมาส่งสัญญาญาณเตือน กกต. ว่าให้ทำหน้าที่ให้ชัดเจน เนื่องจากไม่มีเหตุผลที่ กกต.จะไม่รับรองผลการเลือกตั้ง เพราะการรับรองผลฯ จะนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาล และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เมื่อเราได้ประธานสภาฯ และฝ่ายนิติบัญญัติ เข้าสู่การเลือกนายกฯ เป็นไปตามกฎหมาย

สมยศ ให้ความเห็นว่า กกต. สามารถรับรองผลไปก่อนได้เลย แต่ถ้าพบการทุจริตการเลือกตั้งภายหลัง กกต.สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ตัดสินได้ ไม่มีเหตุผลที่จะปล่อยให้การรับรองยาวไปถึงวันสุดท้าย 13 กรกฎาคม 2566 

สมยศ: จี้ กกต.ปัดคำร้อง 'พิธา' ถือหุ้นสื่อ เหตุถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

สมยศ เผยว่า ระหว่างการรอรับรองผล อาจจะมีหยิบยกคำร้องของนักร้องขึ้นมาพิจารณา ซึ่งเขามองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อสกัดกั้น 'พิธา' จากการเป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่าช่วยปกป้องเสรีภาพ และประชาธิปไตย พร้อมกันนี้ สมยศ ยังยกตัวอย่างกรณีของสมัคร สุนทรเวช ซึ่งต้องอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์รายการทำอาหารหนึ่ง

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ มองกรณีที่มีการร้องพิธา ปมถือหุ้นสื่อ ITV อาจนำไปสู่การถอดถอนพิธา จากตำแหน่งทางการเมืองนั้น ปัจจุบัน สาธารณชนทราบดีอยู่แล้วว่า ITV ไม่ได้เป็นสื่อสาธารณะ หรือทำข่าวอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลว่าพิธา ถือหุ้นสื่อแล้วผิด เวลามีข้อกฎหมายต้องพิจารณาทั้งเจตนาและที่มา ซึ่งชัดเจนแล้วว่า พิธา ไม่ได้ถือหุ้นมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสื่อ ITV และรับมรดกนี้มาจากบิดา ตอนนี้พิธา โอนมรดกนี้ให้กับทายาทอื่นเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ หุ้นสื่อ ITV ที่พิธา ถือครองยังเป็นจำนวนหุ้นที่น้อยมาก ไม่มีอิทธิพลต่อการชี้นำหรือสั่งการใดๆ ใน ITV จึงไม่มีเหตุผลอื่นๆ ให้ กกต.รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา

สมยศ ระบุด้วยว่า เราจึงเห็นว่าการร้องเรียน และรับเรื่อง ตีไปได้ตามเจตนาร้าย เป็นไปในทิศทางที่จะโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย เราเห็นการเชื่อมโยงพวกนี้จากประจักษ์พยาน กกต. ถูกแต่งตั้งจาก ส.ว. และ ส.ว. มาจากประวิตร และประยุทธ์ ซึ่งอยู่กับพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย หรือประชาชนไม่ได้เลือกให้พวกเขาเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งถ้าการตัดสินใจของ กกต.ในการรับเรื่องทั้งหลายให้มาวินิจฉัย นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความโน้มเอียงทางการเมือง และมีส่วนสำคัญและเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารปี 2557

"ถ้า กกต.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา และยังไม่ประกาศผล เราเห็นว่า กกต. ทำงานรับใช้เผด็จการทหาร กกต.กำลังรับใช้ผู้ที่แต่งตั้งตัวเองคือ ส.ว. 250 และ ส.ว. 250 กำลังทำงาน เพื่อรับใช้อำนาจเก่า ประวิตร และก็ประยุทธ์ ซึ่งประชาชนไม่ปรารถนาให้คนเหล่านี้มาอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป" สมยศ กล่าว

นอกจากนี้ สมยศ กล่าวด้วยว่า ถ้า กกต.ตัดสินใจรับเรื่องร้องเรียนพิธา ไว้พิจารณา อาจทำให้เกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ และทำให้เกิดการชุมนุมบนท้องถนน เนื่องจากประชาชนเขาไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเดียว แต่พวกเขาตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ และมีความหมายต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้าเขาจะออกมา ก็เป็นสิทธิเสรีภาพที่จะปกป้องประชาธิปไตย และป้องกันไมให้เสียงของพวกเขา ตกเป็นของรัฐบาลเผด็จการเสียงข้างน้อย

ทั้งนี้ ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ให้มุมมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะได้รัฐบาลมาบริหารประเทศ และแก้ไขปัญหาช้าลง และทางกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จะมาติดตามความคืบหน้าในวันที่ 20 มิ.ย. 2566 อีกด้วย

หลังจากนั้น ตัวแทนนักกิจกรรม อ่านรายละเอียดในหนังสือที่มายื่นกับ กกต. 

รายละเอียดดังนี้

เรื่อง ขอให้รับรองผลการเลือกตั้งทันทีและยุติการขัดขวางประชาธิปไตย 

เรียน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้ง การใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแต่ละพรรคได้รับ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ 8 พรรคการเมืองได้เสียงข้างมากในสภาถึง 312 ส.ส. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการเสนอให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

การที่ กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ร้อยละ 95 ทำให้กระบวนการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่าช้า และไม่สามารถจัดการประชุมรัฐสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยเร็ว เป็นการทำให้รัฐบาลรักษาการพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจต่อไป และเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้าแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่ยอมรับให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชน จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จนเป็นเหตุแห่งวิกฤติการณ์การเมืองในขณะนี้ 

นอกจากนี้ การที่ กกต.เร่งรีบมรการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อ ITV อันอาจนำไปสู่ การขาดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีกระทั่งอาจไปถึงการยุบพรรคก้าวไกล ทีการดำเนินการสื่อ ITV และไม่ได้ส่งผลต่อการได้รับคะแนนนิยมท่วมท้นจากประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น หาก กกต.พิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้ย่อมเข้าใจได้ว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด ถือเป็นการทำลายประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของการสมคบคิดกับอำนาจเก่าอันจะนำมาซึ่งวิกฤติการเมืองไทยได้

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องให้ กกต. อย่าได้เตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวการรับรองผลการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ขอให้ประกาศการรับรองผลการเลือกตั้งให้ได้มากกว่าร้อยละ 95 ภายใน 20 มิถุนายน 2566 โดยเร็วที่สุด เพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และประชุมรัฐสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด และไม่ควรรับคำร้องกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อ ITV ไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการใช้ข้อกำหนดรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นการสมคบคิดกับกลุ่มอำนาจเก่าทำลายล้างประชาธิปไตย รวมทั้งจะกลายเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง และจะทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงกันขนานใหญ่ได้

ธนพร วิจันทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net