Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรแถลงการยกเลิกการจัดโครงการประชุมวิชาการปาฐกถาในโครงการประชุมวิชาการในวาระครบ 55 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ เพราะถูกวิจารณ์ว่าเชิญ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักวิชาการอิสระ มาปาฐกถาเรื่อง ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่มหาวิทยาสัยไม่ยืนหยัดปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ

อย่างที่เราทราบกัน ไม่ใช่แต่มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่ “ทุกมหาวิทยาลัยไทย” ต่างก็ไม่ยืนหยัดปกป้อง “เสรีภาพทางวิชาการ” อย่างจริงจัง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านั้นต่างอ้างมาตลอดว่า “เป็นกลาง” ระหว่างฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง แต่ถ้าไม่ยืนหยัดปกป้องเสรีภาพจะเอาอะไรมา “เป็นกลาง” ให้ทุกคนทุกฝ่ายที่เห็นต่างได้แสดงออกอย่างเท่าเทียม 

ถ้าพูดตรงไปตรงมา การอ้างว่า “เป็นกลาง” ของมหาวิทยาลัยต่างๆ หมายถึงการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านั้นกระทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยยอมปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ หรือเสรีภาพในการพูด การแสดงออกของฝ่ายเสรีนิยมที่ตั้งคำถามและวิจารณ์ประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย ซึ่งใครๆ ที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลต่างก็งงๆ ว่า ทำไมบรรดาผู้บริหารมหาลัยจึงกล้าอ้าง “ความเป็นกลาง” แบบผิดเพี้ยน (absurd) เช่นนั้นมาตลอด

ในสังคมเสรีประชาธิปไตยมีคุณค่า 2 อย่างหลักๆ ที่แตกต่าง แต่ “เหลื่อมซ้อนกัน” อยู่ ได้แก่ 

1. คุณค่าทางการเมือง (political values) คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักนิติรัฐ หลักการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม หลักประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น

คุณค่าทางการเมืองดังกล่าว ถือเป็น “คุณค่าแกนกลาง” (core values) หรือคุณค่าหลักของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ เพื่อใช้บังคับให้ทุกสถาบันทางสังคมการเมือง และเศรษฐกิจปฏิบัติตาม เช่น ประมุขของรัฐ รัฐสภา หรือรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ระบบราชการโดยรวม สถาบันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ต้องยึดถือปฏิบัติตามด้วย โดยเฉพาะต้องปฏิบัติตามหลักเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

2. คุณค่าทางศีลธรรม (moral values) แบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ คือ “ศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล” (individual morality) ได้แก่ ศีลธรรมตามความเชื่อศาสนาและความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ ที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนเลือกเองได้อย่างแตกต่างและหลากหลาย 

ศีลธรรมส่วนบุคคลที่ว่านี้เชื่อมโยงกับ “คุณค่าทางการเมือง” ในสองมิติสำคัญคือ มิติแรก เพราะมีคุณค่าทางการเมืองคือ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายเลือกศีลธรรมตามความเชื่อส่วนตัวที่แตกต่างและหลากหลายได้จริง และ มิติที่สอง เมื่อปัจเจกแต่ละคนจะนำความเชื่อทางศีลธรรมตามหลักศาสนาต่างๆ หรือปรัชญาต่างๆ ที่ตนเองสมาทานมาอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะที่เกี่ยวกับประเด็นสิทธิและความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง จำเป็นต้องตีความหลักความเชื่อส่วนตัวนั้นๆ ให้สอดคล้องกันคุณค่าทางการเมืองอันเป็นคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตย จะนำความเชื่อส่วนตัวทางศาสนาหรือปรัชญาใดๆ ที่ขัดหลักการประชาธิปไตยมาออกกฎหมาย หรือกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะไม่ได้

ส่วนคุณค่าทางศีลธรรมอีกประเภท คือ “ศีลธรรมสาธารณะ” (public morality) ของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ได้แก่ การมี “สามัญสำนึก” (common sense) และความกล้าหาญในการปกป้องรักษาสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง ศีลธรรมสาธารณะจึงสอดคล้องและสนับสนุนคุณค่าสาธารณะทางการเมือง เพราะคุณค่าสาธารณะทางการเมืองที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ จะเป็นจริงในทางปฏิบัติและมั่นคงต่อเนื่องจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้ ก็ต่อเมื่อพลเมืองเสรีและเสมอภาคทั้หลายมีสามัญสำนึกและความกล้าหาญในการปกป้องรักษาคุณค่าทางการเมืองเหล่านั้นอย่างเป็นวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตทางสังคม การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับคนอื่นๆ 

ตัวอย่างการที่มหาวิทยาลัยไทยขาดสามัญสำนึกและความกล้าหาญที่จะยืนหยัดปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ก็คือตัวอย่างการขาดศีลธรรมสาธารณะที่สอดคล้องและสนับสนุนคุณค่าสาธารณะทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย 

รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือ การที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกกฎจริยธรรมว่า 

“ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรมด้วยการยึดมั่น ส่งเสริม สนับสนุน และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการแสดงออกถึงความภูมิใจในชาติ รักษาผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศชาติปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ”

จะเห็นว่าจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว ไม่ได้แยกระหว่าง “จริยธรรมส่วนบุคคล” กับ “จริยธรรมสาธารณะ” เพราะการกำหนดให้ “ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ” แสดงถึงกระทรวงฯ ก้าวล่วงเสรีภาพในเรื่องศีลธรรมส่วนบุคคล ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นชาวพุทธทำผิดศีล 5 หรือชาวมุสลิมกินหมู เป็นต้น จะถือว่าเขาผิดหลักจริยธรรมบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเช่นนั้นหรือ

ส่วน “คุณค่าแกนกลาง” (core values) ของหลักจริยธรรมนี้ ก็คือ “การยึดมั่น ส่งเสริม สนับสนุน และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ดังนั้น ถ้าเกิดสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กับการยืนยัน “คุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตย” คือ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” ในการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์, การเสนอแก้ไขหรือยกเลิก 112, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นต้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยย่อมเลือกที่จะปิดกั้นเสรีภาพมากกว่า เพราะมองว่าการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการเสนอแก้ไข, ยกเลิก 112 หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่การพิทักษ์รักษาไว้ แต่เป็น “การล้มล้าง” ดังที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยืนยัน

แต่การมองว่าการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการเสนอแก้ไข, ยกเลิก 112 หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็น “การล้มล้าง” ย่อมเป็นมุมมองที่ไม่มีหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริงสนับสนุน เพราะประเทศประชาธิปไตยที่ยังมีสถาบันกษัตริย์หลายประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น ก็ล้วนแต่เป็นประเทศที่มี “เสรีภาพ” ในการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่สถาบันกษัตริย์ก็มั่นคง และ “เป็นกลาง” ทางการเมืองได้จริง ไม่มีการทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ หรือการใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ละเมิดเสรีภาพทางการเมือง หรือเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกของประชาชนเหมือนประเทศไทย

ทำไมแม้แต่มหาวิทยาลัยก็ยังยึดทัศนะผิดๆ ที่ไม่มีหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริงสนับสนุนเช่นนั้นมาเป็นข้ออ้างในการปิดกั้นหรือละเมิด “เสรีภาพทางวิชาการ” ได้อย่างเป็นปกติ? ก็เพราะมหาวิทยาลัยถูกกำหนดเดินตามระบบการปกครองที่ไม่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ เพราะถือว่าสถานะและอำนาจของกษัตริย์สูงกว่าสามัญชน อันเป็น “สถานะทางศาสนา” ที่สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ด้วยบุญญาธิการเหนือคนธรรมมาตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ 

ในรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัยต่างๆ เช่นญี่ปุ่น จักรพรรดิญี่ปุ่นประกาศว่า “จักรพรรดิคือมนุษย์ ไม่ใช่เทพอย่างที่คนเชื่อกันมา” แม้พิธีราชาภิเษกจะมีพิธีศาสนาชินโต ซึ่งแสดงความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาชินโตกับความเป็นจักรพรรดิ แต่ก็แค่รักษา “ประเพณี” เท่านั้น ในความเป็นจริงจักรพรรดิญี่ปุ่นไม่ได้มี “สถานะและอำนาจทางศาสนา” ที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้เหมือนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็น “ประมุขของรัฐ” ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง แต่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลเหมือนประชาชนทั่วไป 

ดังนั้น ถ้ารัฐไทยมีการแยกศาสนาจากรัฐ เป็นรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัยเหมือนญี่ปุ่นที่กษัตริย์มีสถานะทางศาสนาตามประเพณีเท่านั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นเทพที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ เป็นประมุขของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ และอยู่ใต้ “หลักเสรีภาพ” อันเป็นคุณค่าหลักของระบอบประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์ก็ยังมั่นคงได้คู่กับระบอบประชาธิปไตยเหมือนญี่ปุ่น โดยไม่มีการนำสถาบันกษัตริย์มาอ้างในการทำรัฐประหาร หรือการแบ่งฝ่ายของประชาชนให้เกิด “ความแตกแยก” ได้อีก

พูดอีกอย่าง ถ้าแยกศาสนาจากรัฐ เป็นรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัยแบบญี่ปุ่น ก็จะมีการแยกศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล กับศีลธรรมสาธารณะอย่างชัดเจน ศีลธรรมตามหลักความเชื่อทางศาสนาก็ถือเป็นความเชื่อส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคลของกษัตริย์และประชาชนทั่วไป ส่วนศีลธรรมสาธารณะ คือการมีสามัญสำนึกเคารพและปกป้องรักษาคุณค่าสาธารณะทางการเมือง อันได้แก่ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยก็คือ “พันธะ” ที่ต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกันทั้งของสถาบันกษัตริย์ สถาบันรัฐสภา พรรคการเมือง กองทัพ ศาล ระบบราชการโดยรวม และประชาชนที่เป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคน

แต่ถ้าไม่แยกศาสนาจากรัฐ ศีลธรรมตามความเชื่อศาสนาที่เป็นเรื่องส่วนตัวก็จะถูกทำให้สับสนปนเปกับศีลธรรมสาธารณะ และในที่สุดศีลธรรมสาธารณะก็ปฏิบัติไม่ได้จริง เมื่อเผชิญหน้ากับความเชื่อเชิงศาสนาเกี่ยวกับสถานะสูงส่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ และความเป็นศาสนาในแบบอื่นๆ ที่ถูกกำหนดให้เหนือกว่าคุณค่าสาธารณะทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ การที่เพนกวิน (เป็นต้น) ใช้สามัญสำนึกและความกล้าหาญทางศีลธรรมสาธารณะในการต่อสู้ปกป้องหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน และความยุติธรรมอันเป็นคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตย แต่เขากลับโดนคดี 112 และคดีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ศีลธรรมสาธารณะ” ทำงานไม่ได้ในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย

นอกจากนั้น ภายใต้ระบบไม่แยกศาสนาจากรัฐ ศีลธรรมส่วนบุคคลตามหลักความเชื่อศาสนา ก็ “เสื่อม” จากความเชื่อของคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมอ้างธรรมะ ศีลธรรม ความเป็นคนดีแบบพุทธไทยมาใช้สนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยม ทำให้พุทธศาสนากับประชาธิปไตยเดินสวนทางกันมายาวนาน เช่นเร็วๆ นี้มิตรสหายโพสต์เฟสว่า 

"บางทีคนบางกลุ่มไม่ต้องเรียกร้องอะไรมากมายก็ได้สิทธิทางการเมืองไปตามกระแส แต่คนบางกลุ่มต้องติดคุกติดตาราง ลี้ภัย เสียชีวิต เพื่อขยายสิทธิทางการเมืองให้พวกเราทุกคน แต่พรรคการเมืองที่ว่าก้าวหน้านั้นต่างเอาข้อเสนอของพวกเขาทิ้งขยะบ้าง รอเอาไปคุยในสภาบ้าง ถอดออกจากเอ็มโอยูบ้าง นี่คือสังคมที่ขาด moral เราอยู่ในสังคมแบบนี้"

ผมเห็นด้วยว่าสังคมเราขาด moral จริงๆ เพราะสิ่งที่ปลูกฝังกันเป็นด้านหลักในบ้านเราคือ “ศีลธรรมแบบศาสนา” ซึ่งถ้าคนที่มีศีลธรรมแบบนี้ไม่ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมแล้วก็เอาศีลธรรมศาสนามาอ้างอิงใช้มั่วๆ ในทางสังคมและการเมือง เราไม่เคยถูกปลูกฝังให้คิดหรือเชื่อว่าการมีสามัญสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นคนคือ moral พื้นฐานในทางสังคม การเมือง และความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ

ถ้าแยกศาสนาจากรัฐ หรือเปลี่ยนเป็นรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัย อำนาจแบบศาสนาของชนชั้นปกครอง และอิทธิพลศีลธรรมศาสนา ก็จะไม่สามารถครอบงำหรืออยู่เหนือคุณค่าสาธารณะทางการเมืองและศีลธรรมสาธารณะได้อีกต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net