"อุ๊งอิ๊งค์" โพสต์ "ทักษิณ" กลับบ้าน 10 ส.ค.นี้ เคารพการตัดสินใจของพ่อแม้ครอบครัวจะเป็นห่วง รวมคดีที่ทักษิณจะต้องเจอกับคดีอะไรบ้างที่รออยู่
26 ก.ค.2566 เวลา 10.50 น. แพทองธาร ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าพ่อของเธอ ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค.2566 นี้ หลังจากถูกรัฐประหารเมื่อกันยายนปี 2549 และเดินทางกลับมาไทยหนึ่งครั้งเมื่อปี 28 ก.พ.2551 แต่ต้องลี้ภัยทางการเมืองออกไปอีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันรวมแล้วเป็นเวลา 15 ปี
แพทองธารระบุในโพสต์ของเธอว่าพ่อของเธอจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค.นี้โดยมาลงที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งทำให้เธอและครอบครัวมีความรู้สึกทั้งดีใจและเป็นห่วงต่อการเดินทางกลับครั้งนี้อย่างไรก็ตามยังคงเคารพการตัดสินใจของทักษิณ
“สำหรับพี่น้องที่อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อเป็นคนไทยคนหนึ่ง เป็นนายกฯที่ถูกพูดถึงว่ามีผลงานมากที่สุด และประสบชะตากรรม ถูกกระทำแสนสาหัส การตัดสินใจกลับบ้านครั้งนี้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อพูดอย่างจริงจังต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แม้จะอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และในฐานะคนไทยคนนึง แต่คำนึงถึงอย่างที่สุด ต่อความสบายใจ และกังวล ห่วงใย ของทุกคนค่ะ” แพทองธารระบุในโพสต์
ก่อนหน้านี้ทักษิณได้แจ้งทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปไม่ถึงสัปดห์ว่าจะเดินทางกลับไทยในช่วงก่อนวันเกิดของตัวเองในเดือนกรกฎาคมปีนี้ และย้ำถึงแผนเดินทางกลับบ้านของตัวเองอีกครั้งเมื่อ 16 พ.ค.2566 ทางรายการ Care Talk อีกครั้ง โดยทั้งสองครั้งมีการยืนยันว่าจะกลับมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของไทยเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับพรรคเพื่อไทยแม้จะต้องถูกคุมขังในเรือนจำ และเขาได้เหตุผลไว้ว่าทีเดินทางกลับเป็นเหตุผลเรื่องอยากเจอหน้าครอบครัวและหลานของเขา
อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 18 ก.ค. สื่อหลายสำนักมีการรายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด พล.อ.อภิรัชต์, แหล่งข่าวทหารระดับสูง และแหล่งข่าวจากกองทัพ ระบุว่า กรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ เดินทางไป เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5-7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.สส. ร่วมคณะ และถูกโยงว่ามีการพบ ทักษิณ อดีตนายกฯ ซึ่งเป็น "ดีลลับ" การเมืองก่อนเลือกตั้ง ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ทางการเมือง และไม่ได้ไปพบเจออดีตนายกฯตามที่มีข่าวปรากฏในโซเชียลแต่อย่างใด แต่เป็นการเดินทางไปพบปะแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่มีการนัดหมายไว้ว่าเพื่อพูดคุยถึงแนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาในพื้นที่
ทักษิณกลับมาต้องเจออะไร
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทักษิณเฉพาะที่มีการตั้งสำนวนและถูกรายงานเป็นข่าวมีคดีรวมแล้ว 8 คดี ซึ่งเป็นคดีที่มีคำพิพากษาจำคุกแล้ว 4 คดี ยกฟ้อง 2 คดี และอยู่ในการไต่สวนของ ปปช. 2 คดี
คดีที่มีคำพิพากษาจำคุก 4 คดีได้แก่
- คดีจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงโทษจำคุก 2 ปี
- คดีให้ EXIM Bank ปล่อยเงินกู้ให้พม่า 4,000 ล้านบาท ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี
- คดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี และถูกออกหมายจับมาเพื่อลงโทษตามคำพิพากษา
- คดีทุจริตหวยบนดิน ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี
คดีที่ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา
- คดี ครม.อนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบิน A340-500 10 ลำ ช่วงปี 2546-2547 มีส่วนต่าง 700 ล้าน
คดีศาลยกฟ้อง/ไม่ฟ้อง
- คดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ยกฟ้องเมื่อปี 2561 เนื่องจากทักษิณไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการแสวงผลประโยชน์ให้ตนเองหรือเพื่อผู้อื่นในการเสนอชื่อคณะกรรมการบริหารแผน 5 คนใหม่ และแผนฟื้นฟูยังได้รับความยินยอมจากธนาคาร เจ้าหน้า ลูกหนี้ สภภาพแรงงาน รวมทั้งเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง
- คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริตวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท ศาลยกฟ้อง โดยศาลวินิจฉัยว่า ตามชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการ ธ.กรุงไทย เป็นพยานที่ให้การไม่ตรงกันและเป็นการคาดเดาของพยาน ว่าคนสั่งการคือ “ซูเปอร์บอส” หรือ “บิ๊กบอส” ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าคือทักษิณ หรือพจมาน ดามาพงศ์
- คดีทุจริตระบายข้าว จีทูจี ภาค 2 ที่มีผู้ต้องหาทั้งหมด 71 ราย โดยมีทั้งชุดเดิมในคดีแรกอย่าง บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังมีการกล่าวหา เยาวภา วงศ์สวัสดิ์และทักษิณเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามข่าวเมื่อ 19 ธ.ค.มีรายงานว่า ป.ป.ช.มีมติตีตกข้อกล่าวหาเนื่องจาก ป.ป.ช.เองเคยมีมติไม่แจ้งข้อกล่าวหาในคดีส่วนที่สองนี้ไปก่อนแล้ว การนำเข้ามาพิจารณาและแจ้งข้อหาใหม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานเอาผิด