ศูนย์ทนายฯ รายงาน ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ในฐานะคนเสื้อแดงผู้ถูกจองจำฝากข้อความถึงพรรคเพื่อไทย ระบุ “เพื่อไทยต้องไม่หักหลังคนเสื้อแดง” ย้ำ ทักษิณพยายามกลับไทยหลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งต้องแลกกับการสูญเสียที่ไม่คุ้มค่า
8 ส.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2566 ศาลอาญาได้เบิกตัว “เอกชัย หงส์กังวาน” จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมการสืบพยานโจทก์ในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเดินต่อเนื่องไปยังหน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2561 หรือคดี UN62
ปัจจุบันเอกชัยถูกคุมขังในฐานะ “ผู้ต้องขังเด็ดขาด” อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2566 ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 1 ปี ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) จากการโพสต์เล่าประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย
เรือนจำแจ้งเอกชัยว่า เขามีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 4 ก.พ. 2567 หรืออีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเคยถูกคุมขังในคดีนี้มาแล้ว 1 ครั้ง ระหว่างฎีกา เป็นเวลา 154 วัน (ราว 5 เดือน) ระหว่างวันที่ 19 เม.ย. – 19 ก.ย. 2565
'เอกชัย' ฝากข้อความว่า “เพื่อไทยต้องไม่หักหลังคนเสื้อแดง”
ทักษิณ ชินวัตร พยายามกลับไทยหลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งต้องแลกกับการสูญเสียที่ไม่คุ้มค่า
ครั้งที่ 1 ช่วงการชุมนุมที่ยืดเยื้อของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 เขาประกาศบนเวทีการชุมนุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า “ถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายการชุมนุม เขาจะกลับไทยทันที” แต่เมื่อศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยบาดเจ็บนับพัน เขาก็ไม่กลับมา
ครั้งที่ 2 การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ (พ.ศ. 2555 – 2556) เพื่อไทยนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสู่รัฐสภา เพื่อนิรโทษกรรมให้กับคดีที่เกิดจากการชุมนุมของ นปช. แรกๆ มีเพียงการนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง แต่ประชาธิปัตย์ป่วนการประชุมรัฐสภา จนทำให้ร่าง พ.ร.บ. นี้ล่มในปี 2555
ต่อมา เพื่อไทยดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสู่การรัฐสภาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 แต่มีการสอดไส้เพื่อรื้อคดีระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ จนนำไปสู่การสลายการชุมนุมของ กปปส. และจบลงด้วยการยุบสภาฯ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการรัฐประหารของคณะ คสช.
ครั้งที่ 3 ก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ทักษิณประกาศจะกลับไทยก่อนวันเกิดของเขา (26 ก.ค. 2566) จนเกิดกระแสข่าวลือการจับมือระหว่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ จนทำให้ก้าวไกลชนะการเลือกตั้งอย่างเหลือเชื่อ
ครั้งที่ 4 ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าเขาจะกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เพื่อรอยื่นฎีกาขออภัยโทษ การแตกหักระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลยิ่งตอกย้ำข่าวลือการจับมือระหว่าง ‘เพื่อไทย’ และ ‘พลังประชารัฐ’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลายปีที่ผ่านมาคนเสื้อแดงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อต่อต้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เพื่อไทยต้องไม่ทรยศคนเสื้อแดงด้วยการจับมือกับพรรคการเมืองที่หนุนฝ่ายเผด็จการ
เป็นไปไม่ได้เลยที่ทักษิณจะกลับไทยภายในเดือนนี้ เดี๋ยวก็รู้ว่าระหว่าง “ชูวิทย์” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ใครกันแน่ที่ “เพ้อเจ้อ”
เอกชัยเล่ายังแสดงความผิดหวังต่อท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่ออีก ในฐานะอดีต “คนเสื้อแดง” เขาไม่เห็นด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายวันมานี้ที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU หันหลังให้กับก้าวไกล ไปจัดตั้งรัฐบาลของตัวเองกับพรรคร่วมที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นพรรคสืบทอดเผด็จการ