ในหลวง ร.10 มีพระบรมราชโองการพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ “ทักษิณ” เหลือจำคุกอีก 1 ปีจาก 8 ปี หลังเข้าคุกไป 10 วัน เนื่องจากเคยทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังยอมรับผิดมีความสำนึก พร้อมทั้งยังมีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องรักษา
1 ก.ย.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้แก่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 ทำให้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศกว่า 15 ปีและเพิ่งได้กลับไทยมาเมื่อ 22 ส.ค.2566 นี้
พระบรมราชโองการระบุว่า ตามที่ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี
- คดีที่ 1 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี
- คดีที่ 2 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการความผิดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐกำหนดโทษจำคุก 2 ปี
- คดีที่ 3 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี
คดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี และรวมคดีที่ 3 ที่มีโทษจำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสามคดีเป็น 8 ปี รับโทษมาแล้ว 10 วัน เหลือโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ในพระบรมราชโองการมีการระบุเหตุผลที่ให้มีการลดโทษครั้งนี้ว่า ทักษิณเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
“ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษาเพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสังคมและประชาชนสืบไป”
พระบรมราชโองการฉบับนี้มีผู้ลงนามรับสนองคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้การเดินทางกลับประเทศครั้งนี้ทักษิณได้ประกาศครั้งแรกก่อนเลือกตั้งทั่วไปเพียง 1 สัปดาห์เมื่อ 9 พ.ค. 2566 โดยเขาเคยทวีตข้อความแสดงความต้องการจะกลับไทยภายในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้เพื่อกลับมาเลี้ยงหลานทั้งนี้ในวันเดียวกันเขายังทวิตระบุว่าเขายินดีกลับมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
“ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันธ์กับครอบครัว/แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา” ทักษิณระบุในทวีตดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตามแผนกลับประเทศของทักษิณก็ถูกเลื่อนออกไปจนแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของเขาประกาศยืนยันว่าจะเดินทางกลับมาเมื่อ 22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมาและเมื่อถึงวันนั้นทักษิณก็ได้เดินทางกลับมาตามกำหนดและถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
อย่างไรก็ตามในเวลา 00.20 ของวันที่ 23 ส.ค.เขาจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเนื่องจากแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ลงความเห็นว่าควรส่งตัวรักษาหลังทักษิณปรากฏอาการแน่นหน้าอกกระทันหัน ค่าออกซิเจนต่ำ และค่าความดันโลหิตสูงมาก
ภาพจากการสืบค้นในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
อนึ่ง จากการตรวจสอบเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พบว่าครั้งนี้เป็นการออกพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ เป็นการเฉพาะรายครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้ต้องย้อนไปในปี 2440 ซึ่งเป็นการปล่อยและลดโทษนักโทษ แต่ก็เป็นการทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะราย