กรรมการตุลาการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลาอาญากรณีถอนหมายจับ “สว.อุปกิต” กรณีเอี่ยวฟอกเงินและขบวนการค้ายา
4 ก.ย.2566 เว็บไซต์สำนักงานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) เผยแพร่เอกสารผลการประชุม กต.มีการระบุว่าที่ประชุมมีการพิจารณาเกี่ยวกับการสอบสวนข้าราชการตุลาการที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบกรณีผิดวินัยร้ายแรง 2 เรื่อง
เรื่องแรก รับทราบกรณีศาลอาญามีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการกระทําการอันเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัยในการพิจารณาสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวจํานวน 3 ราย
เรื่องที่สอง พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการตุลาการกรณีมีพฤติกรรมและการปฏิบัติหน้าที่มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยให้สํานักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อไป จํานวน 1 ราย
ทั้งนี้หลายสื่อมีการรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับทั้งสองเรื่องนี้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน
สำนักข่าวอิสราที่รายงานตั้งแต่เมื่อวานนี้มีการระบุถึงแหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรมให้ข้อมูลว่าในการพิจารณา ก.ต. มีมติเสียงข้างมากตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีแทรกแซงการเพิกถอนหมายจับ อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในคดีพัวพันกับการฟอกเงินขบวนการค้ายาเสพติดของ ‘ทุนมินลัต’
นอกจากนั้นเดลินิวส์ยังรายงานโดยอ้างว่ามีการวิจารณ์ภายในกลุ่มตุลาการถึงความขัดแย้งในหน่วยงานซึ่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่ กต.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนั้นยังเป็น 1 ใน 3 ผู้พิพากษาที่ศาลอาญาตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหายาเสพติดด้วย
ทั้งนี้กรณีของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญารายดังกล่าวเคยถูกเปิดเผยชื่อโดยรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ระบุไว้ว่าเป็น อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลจากกรณีเปิดเผยเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงินของระหว่างกลุ่มทุนมินลัตและอุปกิต ปาจรียางกูร วุฒิสมาชิก ในรัฐสภาเมื่อ 15 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา
รังสิมันต์กล่าวถึงกรณีถอนหมายจับนี้ว่า ตำรวจ บก.สส. บช.น.ขอศาลออกหมายหมายจับ ส.ว. อุปกิตไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่ ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน ศาลอนุมัติหมายจับให้ด้วย แต่บ่ายวันเดียวกันนศาลกลับถอนหมายจับ โดยก่อนจะมีคำสั่งมีการประชุมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาขอหมายจับ มีผู้พิพากษาที่เพิ่งอนุมัติหมายจับให้ มีอธิบดีศาลอาญา และนอกจากนั้นยังมีอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีฯ เข้าร่วมประชุมด้วยและหลังจากการประชุมดังกล่าวก็มีคำสั่งถอนหมายจับออกมา
นอกจากนั้นในประเด็นนี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลยังเคยร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ตรวจสอบทั้ง 3 ผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วย