ชาวพม่าในไทยรณรงค์ขอแรงงานข้ามชาติอย่าทำตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลเผด็จการทหาร SAC บังคับแรงงานส่งเงินกลับบ้านผ่านระบบธนาคารที่ทางการรับรอง สัดส่วน 25% ของรายได้ กังวลเงินถูกเอาไปใช้ซื้ออาวุธฆ่าประชาชน
24 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 ก.ย.) เมื่อเวลา 8.34 น. ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนินนอก 'Bright Future' ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติเมียนมาที่อาศัยในไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ให้แรงงานพลัดถิ่นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลทหาร ที่บังคับให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานในต่างประเทศทุกคนต้องเปิดบัญชี และโอนเงินเข้าเป็น 25% ของรายได้เข้าระบบธนาคารของรัฐบาล SAC เหตุที่พวกเขารณรงค์ เนื่องจากกังวลว่าเงินที่ส่งเข้าระบบดังกล่าว อาจถูกนำไปใช้ซื้ออาวุธปราบประชาชนต่อ
เว็บไซต์อิระวดี รายงานเมื่อ 12 ก.ย. 2566 ระบุว่ารัฐบาลทหารพม่า SAC ที่ปัจจุบันยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและปกครองสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า ออกกฎเกณฑ์บังคับให้แรงงานข้ามชาติต้องส่งรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ จำนวน 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดที่หามาได้กลับประเทศผ่านระบบธนาคารเอกชนที่ทางการพม่ารับรอง หากฝ่าฝืนอาจถูกสั่งห้ามทำงานต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ใบอนุญาตทำงานปัจจุบันสิ้นสุดลง
ระเบียบส่งเงินใหม่นี้เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยแรงงานพม่าที่มีกำหนดการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ จะต้องเปิดบัญชีธนาคารร่วมในธนาคารที่ดูแลควบคุมโดยธนาคารกลางพม่า (Central Bank of Myanmar) และต้องโอนเงินรายได้คิดเป็นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ เข้าบัญชีดังกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลทหารพม่ากำหนดให้บริษัทนายหน้าจัดหางานแก้ไขสัญญาของแรงงานพม่าในต่างแดน โดยมีการบังคับให้มีการโอนรายได้จากการทำงาน 25 เปอร์เซ็นต์ ผ่านระบบธนาคารที่ทางการพม่ารับรอง
แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยจัดหาสกุลเงินต่างประเทศเข้ามาในคลังของทางการเมียนมา แต่ก็ถูกวิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานชาวเมียนมาว่า เป็นการเอาเปรียบแรงงานเกินไปหรือไม่ เนื่องจากเงินอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินของทางการเมียนมา มักจะต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป
สมมติว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ระหว่างเงินสกุลจ๊าต กับดอลลาร์สหรัฐ ในราคาตลาดทั่วไป จะอยู่ที่ 3,400 จ๊าต ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อัตราแลกเปลี่ยนทางการเมียนมา จะอยู่ที่ 2,100 จ๊าต ต่อดอลลาร์ฯ
หรือกรณีของเงินไทย เรทของตลาดทั่วไประหว่างจ๊าต กับบาทไทย อยู่ที่ 100 จ๊าตต่อ 1 บาท แต่เรทเงินของทางการเมียนมา จะอยู่ที่ 56 จ๊าตต่อ 1 บาท ซึ่งเรื่องนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติในไทยบางส่วนกังวลว่า ครอบครัวในเมียนมาจะได้เงินน้อยลง หากส่งเงินผ่านระบบบัญชีธนาคารของทางการเมียนมา
ทั้งนี้ อิระวดี อ้างแหล่งข้อมูลจากกระทรวงแรงงานพม่า เปิดเผยว่า มีจำนวนแรงงานพม่าที่เดินทางไปทำงานในประเทศไทยสูงเกือบ 2 ล้านคน นั่นหมายความว่า เงินจำนวนหลายล้านบาทจะไหลเข้าสู่คลังของรัฐบาลทหารพม่า หากมีการบังคับใช้มาตรการนี้อย่างจริงจัง
ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ออกมารณรงค์ให้แรงงานเมียนมาอย่าทำตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเงินที่แรงงานส่งเข้าระบบธนาคารของทางการเมียนมาอาจถูกนำไปซื้ออาวุธ เพื่อก่อการร้ายกับประชาชนในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุรัช กีรี จากกลุ่ม Bright Future และผู้จัดงานชุมนุมหน้า UN กล่าวว่า "เงินในคลัง (รัฐบาล SAC) กำลังจะหมดลง และเขากำลังจะเอาเงินจากแรงงานข้ามชาติเมียนมาไปซื้ออาวุธฆ่าประชาชน อันนี้เรารับไม่ได้อย่างแรง เลยมาแสดงออกหน้าสหประชาชาติว่า เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเขา และเขาจะไม่ได้สักบาทจากเรา"

สุรัช กีรี
สุรัช ระบุว่าข้อเรียกร้องวันนี้ เขาอยากมารณรงค์ให้แรงงานข้ามชาติไม่ต้องทำตามข้อบังคับของมินอ่องหล่าย ไม่ต้องส่งเงินให้รัฐบาล SAC
"อยากบอกให้แรงงานรับรู้ว่าไม่ต้องส่งผ่านธนาคารของเผด็จการมินอ่องหล่าย คุณมีสิทธิอะไรจะมาเก็บกับเรา 25% ไม่มีใครอยากอยู่ในประเทศของมินอ่องหล่าย เราก็เลยมาทำมาหากิน ไหนแรงงานจะต้องจ่ายค่าพาสสปอร์ต และค่าใบอนุญาตทำงานอื่นๆ อีก
"อยากให้มินอ่องหล่าย รับรู้ว่าจะไม่มีวันได้เงินจากเราสักบาท และอยากส่งเสียงให้โลกฟังว่าเรายังไม่ยอมแพ้" สุรัช ระบุ
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการบังคับใช้ กับแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือแรงงานบัตรอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ หรือบัตรสีชมพูอย่างไร
สำหรับกิจกรรมวันนี้ สุรัช ระบุว่าจะมีกิจกรรมตั้งแต่ช่วง 10.00-11.00 น. ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงในการทำกิจกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นการรณรงค์ให้แรงงานข้ามชาติไม่ทำตามมาตรการบังคับส่งเงินกลับบ้านของรัฐบาล SAC
วันดี (Vandee) แรงงานข้ามชาติในไทย ให้ความเห็นว่า เขาไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลมินอ่องหล่าย ที่จะเอาค่าแรง 25% ไปใช้ เลยไม่ยอมและมาชุมนุม เขาทำงานด้วยตัวเอง รัฐบาลเมียนมาไม่มีสิทธิมาหักเงินพวกเขาไป

วันดี
"100 % ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมอยู่แล้ว ทำงานแต่ละวันลำบากขนาดไหน และจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร เพื่อประชาชนหรือเปล่า เขาเอาไปฆ่าชาวพม่าแหละ" วันดี ตั้งคำถามต่อจุดมุ่งหมายของมาตรการดังกล่าว
บรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ มีการปราศรัยจากชาวพม่า และอ่านคำแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อมาตรการบังคับให้แรงงานข้ามชาติต้องส่งเงิน 25 เปอร์เซ็นต์เข้าบัญชีธนาคารของทางการเมียนมา และมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อส่งถึงรัฐบาลไทย สหประชาชาติ และประชาคมอาเซียน ได้แก่ 1. เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโมเดล "Humanitarian Corridor" บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา 2. ขอให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือและเร่งยอมรับขบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา
3. เร่งกดดันให้เมียนมาทำปฏิบัติตามแผน ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยเฉพาะข้อที่ 1 ยุติความรุนแรงทั้งหมดในเมียนมา และ ข้อที่ 4 ภารกิจด้านมนุษยธรรม และสุดท้าย ข้อ 4. กดดันให้รัฐบาลเมียนมาเร่งคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนเมียนมา และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด เร่งสร้างเสถียรภาพภายในประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้จะได้ไม่ต้องพึ่งพามาตรการขูดรีดแรงงานข้ามชาติ
เว็บไซต์อิระวดี ประเมินด้วยว่ามีแรงงานชาวพม่าราว 5 ล้านคน ทำงานอยู่ในประเทศไทยทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ซึ่งตัวเลขนี้กล่าวอ้างสูงกว่าตัวเลขในระบบของทางการไทย อิระวดี ระบุด้วยว่า มีแรงงานพม่าที่มีบัตรอนุญาตทำงานจำนวน 4 แสนคน ที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย ภายหลังจากมีการทำรัฐประหารพม่าเมื่อต้นปี 2564
เมื่อเวลา 10.44 น. หลังจากอ่านแถลงการณ์ ผู้นำกิจกรรมได้ประกาศยุติกิจกรรม ก่อนที่ฝนจะตกลงมา และประชาชนทยอยแยกย้ายออกจากพื้นที่ชุมนุม
รายละเอียดแถลงการณ์ของ Bright Future
หยุดรีดไถประชาชนเพื่อเอาเงินไปเลี้ยงรัฐบาลฆาตกร
สืบเนื่องจากข่าว The Irrawaddy เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาเตรียมออกมาตรการให้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาต้องส่งเงินรายได้สกุลเงินต่างชาติกลับประเทศเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้ทั้งหมดผ่านระบบธนาคารที่ทางการรับรอง โดยหากฝ่าฝืนอาจถูกห้ามทำงานต่างประเทศ 3 ปี พวกเรากลุ่ม Bright Future ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องออกมาคัดค้านพฤติกรรมการกดขี่ขูดรีดแรงงานดังกล่าวให้ถึงที่สุด
ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คนธรรมดาได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหารทั้งด้วยสันติวิธี และการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลทหารของมินอ่องหล่าย เริ่มทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ทำให้นักสู้บางส่วนต้องพลัดถิ่นไปทำงานหาเลี้ยงชีพในต่างแดน ถึงวันนี้รัฐบาลทหารของมินอ่องหล่าย ได้คุมขังนักโทษการเมืองกว่า 23,000 คน ใช้อาวุธปืน ไปจนถึงการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ เข่นฆ่าประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 3,728 คน และทำให้มีผู้ลี้ภัยอีกนับไม่ถ้วน
เหตุที่ประเทศเมียนมาในวันนี้ขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้นก็คือการทำรัฐประหารล้มประชาธิปไตย เพราะในเมื่อความมั่นคั่งของประเทศนั้นมาจากประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ผลิตสินค้าและบริการ รัฐบาลของมินอ่องหล่ายที่ตั้งตนเป็นศัตรูของประชาชนเช่นนี้ จึงไม่มีแรงงานที่ผลิตสินค้าและบริการ รัฐบาลของมินอ่องหล่ายที่ตั้งตนเป็นศัตรูของประชาชนเช่นนี้จึงมไ่มีแรงงานผู้ใดสนใจทำงานให้อีกต่อไป พวกมันจึงเหลือหนทางเดียว นั่นคือการปล้นประชาชนด้วยกฎหมาย และความรุนแรง ซึ่งนอกจากจะเป็นอาชญากรรมแล้ว ยังเป็นความโง่เขลาที่จะยิ่งทำให้ปัญหาทุกด้านแย่ลงด้วย
พวกเรากลุ่ม Bright Future ขอเรียกร้องไปยังสหประชาชาติ รัฐบาลไทย และประชาคมอาเซียน
1. เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามโมเดล Humanitarian Corridor บริเวณชายแดนไทยทั้งหมดติดกับเมียนมา โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และปราศจากปฏิบัติการทางทหาร
2. เร่งกดดันแผนการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (Five-point Consensus) โดยเฉพาะข้อที่ 1 การยุติความรุนแรงทั้งหมดในประเทศเมียนมา
3. ให้รัฐบาลไทยเร่งยอมรับขบวนการประชาธิปไตยเมียนมาในรูปแบบของการรับฟังและร่วมมือกับกลุ่ม Civil Disobedience Movement (CDM), People Defense Force (PDF) และรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar (NUG) โดยเฉพาะภายในพื้นที่ประเทศไทย
4. กดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้เร่งคืนอำนาจประชาธิปไตยสู่ประชาชน คืนความยุติธรรมและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทุกคน เพื่อนำประเทศกลับสู่สภาวะปกติ และสร้างเสถียรภาพในด้านต่างๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องพึ่งพาแผนการรีดไถเงินจากผู้ใช้แรงงานดังในปัจจุบัน
เงินของเราจะไม่มีวันตกถึงมือรัฐบาลฆาตกร
Bright Future
24 กันยายน 2023