ประชัน ประชามติ: "นิมิตร์ เทียนอุดม" วิพากษ์ รธน.ฉบับ "น่าเสียดาย" การรณรงค์ประชามติ "ไร้วุฒิภาวะ





นับ ถอยหลัง 19 สิงหาคม วันลงประชามติ รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งจะมีผลกำหนดอนาคตสังคมการเมืองไทยอย่างสำคัญ ท่ามกลางเหตุผลจุดยืนที่แตกต่าง ประชาไทสัมภาษณ์ เรียบเรียง รวมถึงหยิบยกประเด็นสำคัญๆ จากหลากหลายฝ่าย มาให้ผู้อ่านถ่วงดุลไตร่ตรอง ก่อนตัดสินใจ 

ที่ผ่านมา นอกเหนือจากเวทีร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินงานโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารแล้ว ยังมีอีกหลายเวทีที่เดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญนอกสภาคู่ขนานกันไป ด้วยตามความตั้งใจเดิมของหลายส่วนในสังคมที่เห็นว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 ในวาระของภาคประชาชน โดยภาคประชาชน

เวทีในการนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวทีหนึ่งที่พัฒนามาจากการประชุมสมัชชาสังคมไทย คือเวทีประชาธิปไตยประชาชน หรือ ไทยพูด ที่มี นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นหนึ่งในทีมประสานงานให้เกิดขึ้น

วันนี้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ออกมาแล้วและรอการลงประชามติ คำตอบของนิมิตร์ต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้เป็นอย่างไร โปรดติดตามก่อนจะถึงวันเข้าคูหา!

0000

 

"นิมิตร์ เทียนอุดม"

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์

ประชาไท - มีความเห็นอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550?
นิมิตร์ - ส่วนของภาคประชาชนเคยคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นอะไรที่ใกล้กับประชาชน ใช้งานได้ จับต้องได้ เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องระบบการเมือง การเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เท่านั้น หวังว่าจะพูดเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้นว่าต้องได้มาเพราะเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่ได้มาโดยรัฐสงเคราะห์ หรือมองว่าคนกลุ่มนี้น่าเห็นใจ น่าสงสารก็เลยจะมอบสวัสดิการให้ เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังพูดว่า ผู้ยากไร้ ผู้พิการ จะได้รับการรักษาฟรีจากรัฐ พอพูดไว้อย่างนั้นเหมือนกับว่าโดยความเข้าใจ โดยเจตนารมณ์ของรัฐไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นสิทธิของประชาชน แต่ว่าถูกจัดไว้ในหมวดสิทธิของบุคคลในรัฐธรรมนูญ

เลยรู้สึกว่าเมื่อจะมีการเขียนขึ้นมาใหม่จากการแก้ไขฉบับของประชาชนควรจะนำบทเรียนหรือสิ่งที่ประชาชนคิดว่าเป็นปัญหาและอยากแก้ให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่จับต้องได้ เกิดผลประโยชน์กับประชาชนจริงๆ แต่มันไม่เกิด รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นฉบับน่าเสียดาย  

 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีไหม ?
ข้อดีอันหนึ่งคือเรื่องของการทำสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันต่ออาณาเขตปกครองประเทศหรือมีผลต่อการแก้กฎหมายภายใน หรือมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประชาชน ต้องเข้าสู่สภา เป็นเรื่องดีที่กระบวนการรับฟังหรือกระบวนการเสนอความคิดขึ้นของกลุ่มประชากรที่แอคทีฟในเรื่องเหล่านี้ได้รับการฟัง ซึ่งเป็นผลมาจากที่ประเด็นนี้เห็นผลกระทบแล้ว เลยง่ายหน่อยที่เขาจะยอมรับ แต่จริงๆ แล้วยังมีผลกระทบที่ยังเห็นไม่ชัดอีกเยอะ ซึ่งต้องการสติปัญญาของสภาร่างฯ ที่มากกว่านี้ที่จะมาช่วยกันคิดและยอมรับเงื่อนไขต่างๆ เข้าไปในรัฐธรรมนูญใหม่ ก็โอเคว่านี่คือที่คิดว่าดูดี  

อีกอันซึ่งพออ่านละเอียดแล้ว น่าสนใจ รัฐธรรมนูญนี้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ตัดคำว่า "การประหารชีวิตไม่ถือว่าเป็นการทารุณตามกฎหมาย" ทิ้งไป นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของประชาชนและยกเลิกโทษประหารชีวิตออกไปโดยปริยาย  

แล้วคิดอย่างไรกับบทบัญญัติเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง ?
ระบบการเมืองยังกลับไปอยู่ในวังวนของการเมืองแบบเก่าที่ไปให้ความสำคัญกับจำนวนตัวเลขของ ส.ส. จำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะได้เข้ามา หรือไปตัดสินใจแทนประชาชนว่าถ้าเลือก ส.ว. แล้ว ส.ว. ไม่สามารถ
balance (ถ่วงดุล) ทางการเมืองได้เพราะว่าถูกแทรกแซงจากพรรคการเมือง จากผู้มีอิทธิพล เพราะฉะนั้น ขอเป็นคนเลือก ส.ว. แทนประชาชน ให้คน 7-8 คน มาเป็นคนสรรหาแทน ซึ่งตรงนี้ยิ่งไปซ้ำเติมทำให้ระบบการเมืองไทยไม่มีวุฒิภาวะมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคุณคิดว่ามีคนดี คนเก่ง คนที่พร้อมจะตัดสินใจแทนประชาชนอยู่จำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้นคนจำนวนนี้จะตัดสินใจแทนประชาชน มันไม่น่าเป็นอย่างนั้น  

ถ้าอย่างนั้นข้อเสนอของภาคประชาชนคืออะไร ?
มีการพูดเรื่องว่าให้มีการส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน ให้ยอมรับบทบาทของกลุ่มหรือองค์กรภาคประชาชนที่เข้ามา balance ทางการเมือง แต่ทีม ส.ส.ร. เอง ไม่ได้ทำการบ้านหรือไม่ได้คิดที่จะพัฒนาต่อ เพราะภาคประชาชนเองก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดทุกอย่างทะลุปรุโปร่งในเรื่องทางการเมือง เพียงแต่มีไอเดียว่าทำอย่างไรคำว่า การเมืองภาคประชาชนถูกรองรับ ถูกยอมรับอยู่ในรัฐธรรมนูญ  

เรายังต้องการการช่วยกันคิดต่อว่าการเมืองภาคประชาชนจะไปอย่างไร จะเป็นแบบไหน จะเป็นอีกดุลอำนาจหนึ่งทางการเมืองการปกครองได้ไหม ถ้ามีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติแล้วก็ฝ่ายตุลาการ จะมีฝ่ายประชาชนได้ไหมที่ทำให้เห็นว่า การเมืองภาคประชาชนก็มีที่ยืน ถูกยอมรับในรัฐธรรมนูญ  

แต่ว่าด้วยเงื่อนไขต่างๆ นานา ภาคประชาชนก็ต้องการเวลาคิดและพัฒนาแนวคิดนี้ออกมา แต่โดยระบบของการฟังความเห็นหรือระบบการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไปวนอยู่แต่เรื่องเดิมว่าจะเขตเดียวหลายคน หรือเขตเดียวคนเดียว แล้วก็ไปพูดว่าจำนวน ส.ส. ลดลงหรือเพิ่มขึ้น ส.ว. จะเป็นอย่างไร จังหวัดละคนและเลือกอีกจำนวนหนึ่ง ไปสนใจกันแต่ตรงนี้

ผมจึงคิดว่า มันก็แสดงเจตนารมณ์ว่าโดยวิธีการก็ไม่ได้พูดถึงการเคารพสิทธิของประชาชนจริงๆ หรือว่าให้เวลาที่จะช่วยให้ประชาชนสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ขึ้นมา จึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้หรือพัฒนาการเมืองภาคประชาชนเท่าไหร่  

อยากขอความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการรณรงค์การลงประชามติ ?
กระบวนรณรงค์เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน รัฐควรต้องให้ความสำคัญกับการให้การศึกษากับประชาชน  เปิดให้ประชาชนได้เรียนรู้หรือเข้าใจรัฐธรรมนูญจริงๆ เพราะฉะนั้นการประชามติครั้งนี้มีจุดอ่อนเยอะ ตั้งแต่การที่ให้รับทั้งฉบับหรือไม่รับทั้งฉบับ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรแบ่งออกมาเป็นส่วนๆ ที่ให้คนรับหรือไม่รับ เพื่อให้คนมีเวลาไตร่ตรองทีละหมวดได้ หรือใครชอบหมวดไหนไม่ชอบหมวดไหนก็จะได้หยิบยกขึ้นมาทีละหมวด ก็จะเป็นกลวิธีให้คนอ่านรัฐธรรมนูญมากขึ้น หมวดนี้น่าเอา หมวดนี้ปล่อยผ่านไปได้ หรือต้องแก้เพื่อให้คนมีทางออก  

การที่รัฐใช้กลไกอำนาจทั้งหมดที่มีแล้วรณรงค์ให้คนออกไปลงประชามติ และการรณรงค์โดยนัยยะ โดยโทน โดยน้ำเสียงของมันส่อไปทางว่าให้รับ นายกฯ ก็พูดตรงไปตรงมาว่า การลงประชามติรับร่างฯ ครั้งนี้ เป็นทางออกของสังคมไทย เราจะเดินหน้ากันต่อได้ เราจะไปสู่การเลือกตั้ง มีการพูดกันถึงขั้นว่ามันจะเป็นแนวทางของความสมานฉันท์ อำนาจเก่าจะกลับมาไม่ได้  

ผมเห็นว่ามันพูดไม่หมด เพราะการออกไปรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไรเสียก็ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะปฏิวัติทำขึ้นมาก็บอกไว้ว่าถ้าประชามติไม่ผ่าน ก็เอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาแก้แล้วก็เลือกตั้ง โดยกระบวนก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะรับหรือไม่รับ ก็ไม่ควรพูดว่าสังคมจะไม่มีทางออก หรือไม่ไปสู่การเลือกตั้ง  

ประเด็นต่อมาคือ การลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญไม่สามารถจะป้องกันการกลับมาของอำนาจเก่าได้ เพราะถึงที่สุดแล้วจะเกิดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเก่าก็เกิด พรรคการเมืองใหม่ก็เกิด พรรคการเมืองที่ถูกยุบไปก็ไปแตกหน่อเป็นพรรคนู้นพรรคนี้เพื่อที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งใหม่ แล้วก็กลับไปสู่วังวนการเมืองแบบเดิม ซึ่งจะไม่มีพรรคไหนที่มีเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตนเอง ทิศทางของการเมืองก็จะไม่ได้เป็นเรื่องการชูนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์พยายามชูนโยบายมา 3 อาทิตย์แล้วแต่ก็ไม่เป็นกระแสเลย ไม่มีกระแสตอบรับที่ฮือฮา พรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ก็ไม่ได้มีสมาธิอยู่กับการชูนโยบาย มีแต่สมาธิว่าจะรักษาคนไว้ หรือดูด ส.ส. เก่าอย่างไร มันจึงกลับไปเป็นวังวนแบบเดิม อำนาจเก่าก็กลับมาได้ ระบอบทักษิณก็กลับมาได้ คนของทักษิณก็กลับมาได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า อำนาจเก่าจะไม่กลับมา ยังไงก็มา ถ้าการเมืองยังเป็นแบบนี้ ถ้าเรายังไม่ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชนมากกว่านี้ก็จะเป็นแบบนี้

ประเด็นที่ ส.ส.ร. ออกมาโฆษณาเรื่องลดจำนวนคนเข้าชื่อให้แล้วเหลือ 20,000 ชื่อในการขอแก้กฎหมาย และรัฐธรรมนูญนี้ยังเป็นฉบับแรกที่ให้ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ มีความเห็นอย่างไร ?
ประชาชน 60 ล้านคน จะมีใครที่ลุกขึ้นมาบอกว่า ขอรวมชื่อ 20,000 คนเพื่อจะขอแก้เรื่องนั้นเรื่องนี้ จำนวนตรงนี้ต้องเกิดมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มหรือเครือข่ายประชาชนเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งที่แอคทีฟ ที่รู้สึกว่าอยากแก้ตรงนี้ๆ คือมันไม่ใช่เรื่องอัตโนมัติหรือเรื่องง่าย การลดจำนวนเหลือ 20,000 หรือ 50,000 ถ้าคุณไม่มีกระบวนการที่สนับสนุนให้ภาคประชาชนเคลื่อนไหว หรือให้กลุ่มที่เห็นปัญหาแล้วออกมาเคลื่อนไหวเพื่อระดมรายชื่อได้ ก็ไม่ง่ายอยู่ดี  

การจะได้ชื่อสักชื่อหนึ่งหมายความว่ากลุ่มประชากร กลุ่มประชาชนตรงนั้นต้องลุกขึ้นมาแล้วบอกกับประชาชนว่า เฮ้ย ตรงนี้มันไม่ดียังไง หรือดียังไงถ้ามันมีกฎหมายตรงนี้ ก็ต้องมีกระบวนการสื่อสาร แล้วประชาชนจะสื่อสารผ่านใคร จะผ่านสื่อของรัฐก็ไม่มีปัญญาเข้าถึงสื่อของรัฐ ผ่านสื่อที่มีอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเป็นประเด็นที่สื่อไม่สนใจ ไม่ฮือฮาก็ไม่ได้ คุณก็ไม่เป็นข่าว คนทั่วไปก็ไม่รับรู้ เพราะฉะนั้นก็ต้องผ่านขายตรง ส่งคนลงชุมชน ต้องใช้เวลา เข้าหมู่บ้านหนึ่ง ออกหมู่บ้านหนึ่ง ไปอำเภอหนึ่งออกอำเภอหนึ่ง เพราะฉะนั้นกลไกแบบนี้มันดูดีในกระดาษ แต่รัฐไม่ได้คิดระบบที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นถ้าเราให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชนตั้งแต่แรกๆ กระบวนการแบบนี้ก็จะเป็นจริงได้ ถูกชื่นชมได้  

มันเหมือนกับเห็นปลากระป๋อง หิวแทบตาย แม้จะวางที่เปิดไว้ให้ แต่มือไม้ต้องแบกจับไอ้นู่นไอ้นี่เต็มมือ ไม่มีปัญญาจะมาหยิบไอ้ที่เปิดกระป๋องได้ ด้วยความยากลำบากกว่าจะเปิดมากินได้มันไม่ง่าย ไม่จริงเท่าไหร่  

คิดเห็นอย่างไร กรณีที่ภาคประชาชนบางกลุ่มจะรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะข้อเสนอบางส่วนของตนได้รับการใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญ ?
การลงประชามติครั้งนี้เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนกันทางสังคมอยู่พอสมควร จึงแบ่งคนเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ และไม่มีกระบวนการศึกษาเพื่อให้เข้าใจคน 3 กลุ่มได้จริงๆ อย่าง กลุ่มแรก ที่ถูกตัดสิน เป็นคนกลุ่มที่เคลื่อนไหวไม่เอารัฐธรรมนูญ อาจเพราะเขาเชื่อว่ารัฐธรรมนูญหรือกระบวนการทางการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ได้ช่วยอะไร ยังเชื่อว่าการปกครองหรือมีพรรคการเมืองแบบพรรคไทยรักไทย มีผู้นำอย่างทักษิณที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ โกงบ้างไม่เป็นไร แต่ก็กล้าตัดสินใจแล้วก็กระจายรายได้ มีนโยบายเศรษฐกิจแบบที่นักธุรกิจจะพอใจ ชนชั้นกลางที่ยุ่งอยู่กับตัวเลขการลงทุนจะพอใจ คนกลุ่มนี้อาจรู้สึกว่าสภาพเงื่อนไขทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่นี้ เขาไม่รับดีกว่า อยากได้ทักษิณกลับมาก็มี คนที่คิดแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าเขาแย่ เขาเลว เขาก็มีฐานประสบการณ์ความคิด และเห็นว่าระบบทักษิณตอบปัญหาบางอย่างของเขาได้ เพราะฉะนั้น การลงประชามติไม่รับ โดยที่เขาถูกบอกว่าเป็นสาวกทักษิณ อย่างนี้ก็ไม่แฟร์แล้วก็ทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยง  

กลุ่มที่สอง คนที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่ารากเหง้ามันไม่ดี การเอารัฐธรรมนูญหรือการยอมรับที่จะเดินตามเกมนี้เท่ากับเป็นการยอมรับให้มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองด้วยการปฏิวัติอยู่เรื่อยๆ และเรายอมเป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิวัติ เพราะฉะนั้นพอมีช่องทางที่จะขัดขืน และการขัดขืนในที่นี้ก็คือการออกไปไม่รับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเคารพในวิธีคิดมุมมองทางการเมืองของเขาที่คิดว่าเป็นอำนาจของประชาชนที่จะขัดขืน ในรัฐธรรมนูญ 40 ก็เขียนไว้ว่าประชาชนลุกขึ้นมาขัดขืนได้ และเขาก็พยายามจะขัดขืน พอเขาขัดขืนบางทีสังคมก็เหนื่อยเกินไปที่จะคิดตามเขาและมองว่าเป็นความวุ่นวาย เพราะฉะนั้นสังคมเราก็ไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้อีก กลายเป็นประณามคนกลุ่มนี้อีก จริงๆ เราก็อาจจะต้องชื่นชมเขาก็ได้ที่เขามีจุดยืนที่ชัดเจนในการไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย  

กลุ่มที่สาม คนที่ไม่เอารัฐธรรมนูญเพราะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางอย่างที่รับไม่ได้จริงๆ เช่น ไม่ยอมรับเรื่องของการให้ความสำคัญกับระบบการเลือกตั้งแบบที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้ การเลือก ส.ว. แบบนี้ การที่ไม่เห็นหัวประชาชนในเรื่องของการเมืองภาคประชาชน การไม่ใส่ใจเรื่องของรัฐสวัสดิการที่จะต้องเขียนไว้รองรับสิทธิของประชาชน ไม่ใช่เรื่องการสงเคราะห์ เพราะฉะนั้นก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อ่านรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่เอาเพราะว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อ ถึงแม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะลอกมาจากรัฐธรรมนูญ 40 แต่เนื้อหลักๆ ที่มันควรจะดีกว่านี้กลับไม่ดี เพราะฉะนั้น เมื่อมันไม่ดีก็กลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ดีกว่า และนัยยะหนึ่งก็เพื่อไม่ต้องยอมรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแบบนี้ด้วย  

เพราะฉะนั้นการลงประชามติที่รัฐพยายามจะทำอยู่ตอนนี้ รัฐอาจต้องมีวุฒิภาวะในการระดมหรือรณรงค์ลงประชามติที่มากกว่านี้ แล้วเปิดช่องทางให้ประชาชนได้เรียนรู้ และอยู่บนสภาพเงื่อนไขที่จะอยู่กันบนความแตกต่างทางความคิดได้อย่างสันติสุขจริงๆ ไม่ประณาม ตัดสิน หรือเรียกมันว่าความวุ่นวาย เรากำลังต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กันตรงนี้ แต่ผมว่าการรณรงค์ของรัฐไม่มีวุฒิภาวะ เป็นเหมือนเด็กเล่นขายของ ออกมาโฉ่งฉ่างมากว่า ต้องออกไปรับ ถ้าไม่รับจะอย่างนั้น ไม่รับจะอย่างนี้  

บางคนให้เหตุผลในการรับร่างฯ ว่า เป็นเพราะกลัวจะได้ฉบับที่ล้าหลังกว่านี้ ?
ถ้า พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) เคยพูดว่าจะนำรัฐธรรมนูญ40 กลับมาแก้ไขก็ต้องไม่ลืม ก็มีคนเรียกร้องตั้งนานมาแล้วว่ารัฐต้องบอกประชาชนด้วยว่า ถ้าเกิดประชาชนไม่รับจะไปเอาฉบับไหนมาใช้ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะรู้ อันนี้แสดงถึงวุฒิภาวะอย่างหนึ่งของความเป็นรัฐว่าต้องแสดงวุฒิภาวะว่าไม่ได้ปฏิวัติเพื่อตัวเอง แต่ปฏิวัติเพื่อแก้วิกฤตของชาติ และถ้าปฏิวัติเพื่อแก้วิกฤตของชาติ มันผ่านพ้นตรงนั้นหรือยัง ถ้าผ่านพ้นภาวะวิกฤตแล้ว กำลังจะไปข้างหน้าต่อ แต่ว่ามีความขัดแย้งอันใหม่เกิดขึ้น คนไม่ชอบการกระทำที่ผ่านมา หรืออยากรู้ว่าจะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 40 ได้ไหม เพราะรัฐธรรมนูญ 40 ก็เป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่งถึงแม้ว่าจะมีจุดอ่อน ถ้าบอกออกมา คนก็จะได้เรียนรู้ว่าโอเค ถ้าจะยอมรับเข้าใจกติกาที่คุณใช้วิธีปฏิวัติเพื่อแก้วิกฤตก็โอเค มันผ่านมาแล้วจะทำอย่างไรได้ เพราะฉะนั้นขอรัฐธรรมนูญ40 คืนมาได้ไหมแล้วก็ว่ากันตามขั้นตอนของการผลักดันทางการเมืองต่อไป

ตรงนี้คือจุดที่ต้องพูดออกมาให้ชัด และมีคนเรียกร้องตั้งเยอะแล้ว ซึ่งก็ทำให้เขาต้องพูดออกมาว่าจะเอารัฐธรรมนูญ40 กลับมาใช้ แต่มันก็ไม่มีหลักประกันทางการเมือง พูดแล้วอาจจะไม่ทำก็ได้  

คิดว่าผลของประชามติจะเป็นอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ?
คิดว่าประชามติคงผ่าน รัฐลงทุนขนาดนี้ ใช้กลไกทุกอย่างขนาดนี้ แล้วก็มีกระบวนการทางความคิดว่าถ้าไม่ผ่านจะยุ่งอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นบล็อกโหวตโดยรัฐอย่างหนึ่ง    

มันก็จะกลับไปสู่ภาวะยุ่งเหยิงเหมือนเดิม คือ กลับไปสู่การเลือกตั้งแบบเก่าๆ ที่ใช้หัวคะแนน พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับอิทธิพลท้องถิ่นที่สามารถกุมคะแนนเสียงมาได้ แล้วก็ใช้ตัวเลขมาต่อรองตำแหน่งกัน

เราจะไม่เห็นการนำพาประเทศด้วยนโยบาย ไม่เห็นว่าพรรคการเมืองฟังเสียงประชาชนเท่าไหร่ คือที่ผ่านมา สมัยทักษิณก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีการนำเสนอในเชิงนโยบายออกมา ซึ่งก็มีบางมุมที่ต้องคิดต่อว่าเอายังไง ประชาธิปัตย์ก็พยายามจะบอกว่าทำวาระประชาชนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันนิ่งมาก พรรคอื่นยังไม่ได้พูดอะไรออกมา ยังรวมตัวกันไม่ติด ยังคุยว่าจะรวมกันยังไง จะมีอำนาจต่อรองอย่างไร

นี่เป็นการกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นสถานการณ์การปฏิวัติก็ทำให้เราถอยหลังกลับไปพอสมควร แต่สถานการณ์แบบที่อยู่กับทักษิณ มันก็ยิ่งทำให้เป็นแบบผูกขาดเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นสังคมไทยก็อยู่ในภาวะการเรียนรู้ เพราฉะนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเปิดช่องให้คนเรียนรู้และเติบโตทางการเมือง  

ภาคประชาชนจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป ?
ภาคประชาชนต้องทำงานของตัวเองต่อ ต้องพัฒนากระบวนการของตัวเองที่ทำอย่างไรให้ไม่พูดแต่ปัญหา แต่สามารถวิเคราะห์ปัญหาไปสู่แนวทางพัฒนาประเทศไปข้างหน้าให้ได้ นี่ก็เป็นจุดอ่อนของเครือข่ายประชาชนอยู่ หรือถ้ารัฐธรรมนูญ 50 ผ่านออกมาแล้วมีบางประเด็นที่เราไม่เอา เช่น เรื่องสุขภาพ เราอาจจะลองแก้รัฐธรรมนูญขอให้ตัดคำว่า ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ที่จะได้รับการรักษาฟรี ออกไป เป็นประชาชนทุกคนได้รับการรักษาฟรี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท